วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559

'สมคิด'ปลุกลงทุนย่อยทั่วประเทศล้วงเงินก้นถุงท้องถิ่น3แสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ

'สมคิด'ปลุกลงทุนย่อยทั่วประเทศล้วงเงินก้นถุงท้องถิ่น3แสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ  ฉบับวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๙

          มหาดไทย ขานรับนโยบายรองนายกฯสมคิด เตรียมปลดล็อกนำเงินสะสมของท้องถิ่น 3 แสนล้าน ออกกฎกติกาใหม่เปิดช่อง อบจ.-อบต.-เทศบาล รวมทั้ง กทม.-เมืองพัทยา แงะกระปุกเบิกจ่ายเงินพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แหล่งท่องเที่ยว ปลุกเศรษฐกิจในพื้นที่
          แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงแก้ไขแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการ ใช้จ่ายเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องการให้หน่วยงานปกครองท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมทั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา นำเงินสะสมมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและเสริมสร้างเศรษฐกิจของท้องถิ่น โดยจะเร่งดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยก่อนเสนอนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงนามเพื่อแจ้งเวียนสร้างความเข้าใจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดถือเป็นแนว ปฏิบัติ
          ทั้งนี้ หากสามารถนำเงินสะสมที่ อปท.มีอยู่ประมาณ 2-3 แสนล้านบาท มาใช้ในการพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับท้องถิ่นได้จริง นอกจากจะทำให้ประชาชนในท้องถิ่น ชุมชนทั่วประเทศได้รับความสะดวกสบายจากสาธารณูปโภคสาธารณูปการ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่ อปท.นำเงินก้อนนี้ไปลงทุนพัฒนาแล้ว ความเจริญรวมทั้งถนนหนทางซึ่งช่วยให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วขึ้น จะหนุนให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวสามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่น ได้อีกทางหนึ่ง
          แหล่งข่าวกล่าวว่า สาเหตุที่เงินสะสมของท้องถิ่นซึ่งมีอยู่ 2-3 แสนล้านบาท ไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ มาจากกระทรวงมหาดไทยกำหนดเงื่อนไขและแนวทางปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงินอย่าง เข้มงวดเมื่อหลายปีก่อน หลังหน่วยงานตรวจสอบหลายหน่วยงานรวมทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือท้วงติงเกี่ยวกับ การใช้จ่ายเงินของท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลมาจากหลายท้องถิ่นใช้จ่ายเงินสะสมอย่างสุรุ่ยสุร่าย โดยไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับส่วนรวม
          ขณะเดียว กันบางกรณีมีการใช้จ่ายในลักษณะสุ่มเสี่ยงจะขัดต่อกฎหมาย ทำให้กระทรวงมหาดไทยเกรงว่าจะมีปัญหาตามมา จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเข้มงวด รัดกุม ส่งผลให้เงินสะสมเหลือค้างจ่ายเพิ่มขึ้น ต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้ ยอดเงิน 2-3 แสนล้านบาทซึ่งปัจจุบันฝากไว้กับสถาบันการเงินมาจากเงินเหลือจากการเบิกจ่าย แต่ละปีหลายส่วนด้วยกัน อาทิ เงินรายได้จากการจัดเก็บภาษีของท้องถิ่นเอง กับภาษีที่หน่วยงานส่วนกลางจัดเก็บให้ เงินที่ได้รับจัดสรรจากวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี เงินช่วยเหลือสนับสนุนหน่วยงานท้องถิ่น เป็นต้น แนวคิดนี้หากดำเนินการได้ก็จะช่วยปลุกเศรษฐกิจในพื้นที่ ได้มาก
          ทั้ง นี้ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 59 ได้อนุมัติโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ เพื่อ เพิ่มความเข้มแข็ง ของเศรษฐกิจ ฐานรากตามแนวทางประชารัฐที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อเพิ่มปริมาณการลงทุนในระดับชุมชนผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจำนวน 79,556 กองทุน ผ่านสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กองทุนละไม่เกิน 500,000 บาท ภายใต้วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท
          พื่อ ใช้ในการลงทุนด้านโครงสร้าง พื้นฐานในชุมชน เช่น ยุ้งฉางชุมชน โรงตาก พืชผลทางการเกษตร โรงสีชุมชน โรงงานผลิตปุ๋ยประจำชุมชน การจัดทำแหล่งเก็บน้ำชุมชน และเครื่องจักรสำหรับแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และเพื่อดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ที่ชุมชนเห็นว่าเป็นประโยชน์ โดยให้ดำเนินการเบิกจ่ายภายในระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ
          ผลจากการดำเนิน โครงการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นใน ระดับฐานรากและชุมชน ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจไทย ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น