ข่าวท้องถิ่น
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2568
แนะแก้กม.มุ่งดัดหลังนายกอบจ.
แนะแก้กม.มุ่งดัดหลังนายกอบจ. |
เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๘ |
ลาออกก่อนหมดวาระ ชี้ผลาญงบ-ทำคนเบื่อ นักวิชาการชี้นายก อบจ.ลาออกก่อนหมดวาระ ทำให้ท้องถิ่นต้องจัดงบเลือก ส.อบจ. อีกครั้งในเวลาห่างกันไม่นาน เปลืองงบประมาณ แถมทำให้คนเบื่อต้องออกไปใช้สิทธิหลายรอบ แนะดัดหลังแก้กฎหมายใช้วาระ อบจ.เหมือน ส.อบจ. ถ้าชิงลาออกก่อน คนมาใหม่จะอยู่ได้เท่าอายุที่เหลือของ ส.อบจ. หรือลาออกในช่วง 6 เดือนสุดท้ายก็ไม่ต้องมีเลือกตั้งใหม่ ศูนย์ข้อมูลเผยมี 14 จังหวัดที่นายก อบจ.ลาออกแล้วได้เลือกตั้งกลับมา มี 8 จังหวัดที่ได้คนที่ไม่เกี่ยวกับกลุ่มนายก อบจ.เดิม โคราชตั้งงบเลือกตั้งสูงสุด รองลงมาคือปากน้ำ วิป 3 ฝ่ายมีมติเลื่อนพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไปเป็น 13-14 ก.พ. "วันนอร์" ชี้ไม่มีผลกระทบเพราะอย่างไรก็ต้องรอกฎหมายประชามติบังคับใช้อีกร้อยกว่าวัน "วิสุทธิ์" แจงเลื่อนเพื่อความรอบคอบ "วุฒิชาติ" แบะท่า สว.ยังไม่เห็นด้วยแก้ไข ม.256 ตั้ง ส.ส.ร. หวั่นสุ่มเสี่ยงขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ สส.ปชน.ขอรัฐสภาคุมเข้มรักษาความปลอดภัย หวั่นเกิดเหตุกราดยิง เปิดสถิติเลือกอบจ.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กร Rocket Media Lab ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนที่รวบรวมข้อมูลใหญ่ หรือ Big data ประเด็นต่าง ๆ ได้สำรวจการเลือกตั้งนายก อบจ. ส่วนที่น่าสนใจคือ มีการเลือกนายก อบจ.ไปแล้ว 29 จังหวัด มี 26 จังหวัด ที่เป็นการเลือกตั้งใหม่จากการที่ นายก อบจ. ลาออกก่อนหมดวาระ มี 14 จังหวัดที่ นายก อบจ. คนเดิม ได้รับการเลือกตั้งกลับมา คือกำแพงเพชร ชุมพร นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยโสธร ราชบุรี สุโขทัย อ่างทอง อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอุบลราชธานี และ 7 จังหวัดที่เป็นเครือข่ายหรือพรรคเดิมได้รับการเลือกตั้งเข้าไป คือ กาญจนบุรี ชัยนาท ตาก พะเยา เลย สระแก้ว และอุดรธานี ในขณะที่อีก 8 จังหวัด ที่ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากกลุ่มใหม่ ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับนายก อบจ. คนเดิม ซึ่งก็คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครศรีธรรมราช ระนอง สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และปทุมธานี (จากการเลือกตั้งหลัง พล.ต.อ.คำรณวิทย์ลาออก ได้นายชาญ พวงเพ็ชร์ และต่อมาโดนใบเหลือง) การจัดการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้น กกต. ยกให้ อปท.จัดเอง อปท.ก็ต้องใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี และหากไม่เพียงพอก็จะต้องใช้เงินจากเงินสะสมหรือทุนสำรองสะสมของตนเองมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง โคราชตั้งงบเลือกตั้งสูงสุด จากรายงานประมาณการรายจ่ายในข้อบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2568 ของ อบจ. ทั่วประเทศ พบว่า มีการตั้งงบประมาณการจัดการเลือกตั้ง อบจ. ในปี 2568 ไว้ 1,853,876,869 บาท ยกเว้น อบจ.มุกดาหารและสุพรรณบุรี ที่ยังไม่ผ่านข้อบัญญัติงบประมาณ อบจ. ปี 2568, อบจ.แม่ฮ่องสอนที่ไม่มีการตั้งงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณ อบจ. ปี 2568 และ อบจ. กำแพงเพชร บึงกาฬ เลย และสมุทรสาคร ที่ไม่ตั้งงบค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ในการเลือกตั้งไว้ ส่วนจังหวัดที่ตั้งงบประมาณเลือกตั้ง เรียงตามลำดับคือ นครราชสีมา 188,098,000 บาท สมุทรปราการ 153,000,000 บาท เชียงใหม่ 100,000,000บาท บุรีรัมย์ 98,780,000 บาท ขอนแก่น 92,000,000 บาท ชลบุรี 90,000,000 บาท ปทุมธานี 89,000,000 บาท นนทบุรี 82,500,000 บาท อุดรธานี 81,800,000 บาท พระนครศรีอยุธยา 79,500,000 บาท เลือกสองครั้งทำเปลืองงบ ในกรณีของจังหวัดที่มีการเลือกตั้งนายก อบจ. ไปก่อนหน้าและยังต้องจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ. อีกครั้งในวันที่ 1 ก.พ. 2568 ก็อาจจะต้องใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งมากกว่าการใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งครั้งเดียว และหากจังหวัดใดมีการเลือกตั้งมากกว่า 2 รอบ เช่น ปทุมธานี ที่เลือกตั้ง นายก อบจ. ถึง 2 รอบในหนึ่งปี และยังจะต้องจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ. อีกครั้งในวันที่ 1 ก.พ. 2568 พบว่า ในปี 2567 ซึ่งมีการเลือกตั้งใหม่ถึง 2 ครั้ง มีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 79,000,000 บาท ส่วนในวันที่ 1 ก.พ. 2568 ปทุมธานีก็ยังต้องมีการจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ. อยู่ ก็มีการตั้งงบประมาณไว้ 89,000,000 บาท จะเห็นว่าการเลือกตั้งที่ไม่พร้อมกันหรือการลาออกก่อนหมดวาระที่ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ จะต้องใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งมากขึ้นไปอีก โดยหากงบประมาณที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอก็อาจจะต้องใช้เงินจากงบประมาณสะสม นักวิชาการแนะวิธีดัดหลัง นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การที่นายก อบจ. บางจังหวัดชิงลาออกก่อน ก่อให้เกิดปัญหา อาทิ เรื่องงบประมาณ เพราะต้องจัดการเลือกตั้งสองครั้งโดยไม่มีความจำเป็น เช่น จ.อุบลราชธานี ที่เพิ่งจัดการเลือกตั้งนายก อบจ. ไปเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2567 เมื่อถึงวันที่ 1 ก.พ. 2568 ระยะเวลาห่างจากกันเพียงเดือนเศษ ๆ ก็ต้องจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ. อีกรอบ เมื่อเลือกตั้งแยกจากการที่นายก อบจ. ชิงลาออกก่อน จะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิน้อยลงเพราะต้องไปเลือกตั้งหลายรอบ อาจจะทำให้ไม่อยากไปอีก "ต้องแก้กฎหมาย กำหนดวาระของนายก อบจ. และ ส.อบจ. ให้เหมือนกัน โดยเอาแนววาระการดำรงตำแหน่งของ ส.อบจ. คือถ้านายก อบจ. ลาออกก่อนครบวาระ คนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาใหม่จะอยู่ได้จนแค่ครบวาระ 4 ปีตามระยะเวลาในแบบ ส.อบจ. หรือลาออกในช่วง 6 เดือนสุดท้าย ก็อาจจะไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ก็ได้ตามที่กฎหมายเขียนเอาไว้เหมือน ส.อบจ. การแก้กฎหมายเป็นแบบนี้จะทำให้คนที่จะชิงลาออกก่อนน้อยลง หรือจัดเลือกตั้งด้วยเครื่องมืออื่น ที่ไม่จำเป็นจะต้องเดินทางกลับบ้านเพื่อไปเข้าคูหาเท่านั้น หรือการเลือกตั้งนอกเขต อาจเป็น กกต. เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง เหมือนการเลือกตั้งระดับชาติ ซึ่งจัดเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกเขตได้ เหมือนการเลือกตั้ง สส."นายสติธร กล่าว |
วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2568
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)