การก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต
และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ขัดต่อการใช้ประโยชน์ตามผังเมืองรวม
เป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้
เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมีอำนาจออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวและแม้ต่อมากฎหมายจะสิ้นผลใช้บังคับ
ก็ไม่เป็นเหตุให้คำสั่งที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย
กลายเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แต่เจ้าของอาคารสามารถขออนุญาตก่อสร้างอาคารได้
ในคดีที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ ๒ ชั้น ขนาด ๘ x ๑๒ เมตร ด้านหลังเป็นหลังคาคลุมใช้ประกอบกิจการร้านอาหาร ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้รื้อถอนอาคารหลังเดิมออกแล้วก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นใหม่ ๒ หลัง โดยหลังที่ ๑ ขนาด ๑๐ x ๑๐ เมตร หลังที่ ๒ ขนาด ๕ x ๘ เมตรและก่อสร้างป้ายโครงเหล็กขนาด ๑.๒๐ x ๑.๒๐ เมตร ชื่อร้านครัวริมน้ำ นายช่างโยธาซึ่งเป็นนายตรวจเขตได้รายงานการตรวจเขตควบคุมอาคาร เขตที่ ๒ ว่า ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างป้ายโครงเหล็กและอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และขัดต่อผังเมืองรวมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๒๗ (พ.ศ. ๒๕๔๐)ฯ นายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหาร(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒) ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงได้มีคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าว และมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนป้ายโครงเหล็กและอาคารที่ก่อสร้างทั้งหมด ผู้ฟ้องคดีจึงได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในเขตเทศบาลหรือเขตราชการส่วนท้องถิ่นอื่นในจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าววินิจฉัยว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดังกล่าว
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า
ผู้ฟ้องคดีได้ก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด ๕ x ๘ เมตร ใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการร้านอาหารและก่อสร้างป้ายโครงเหล็กขนาด ๑.๒๐ x ๑.๒๐ เมตร ชื่อร้านครัวริมน้ำ ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๘๕๐๕ ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ของผู้ฟ้องคดี ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่สีเขียวอ่อนตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๒๗ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๘ ใช้บังคับระหว่างวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๐ และให้ขยายเวลาใช้บังคับจนถึงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๗ โดยผู้ฟ้องคดีไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้างต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น การก่อสร้างอาคารของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวจึงเป็นการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตและเป็นการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ขัดต่อการใช้ประโยชน์ตามผังเมืองรวม ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนอาคารดังกล่าวได้ ตามมาตรา ๒๑ มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ [1]
ได้ แม้ว่าภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องเป็นคดีนี้กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๒๗ (พ.ศ. ๒๕๔๐)ฯ จะสิ้นสุดการใช้บังคับไปแล้ว และยังไม่มีกฎกระทรวงฉบับใหม่ใช้บังคับ อันอาจทำให้การใช้ประโยชน์จากอาคารพิพาทไม่ต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายกลายเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ประการใดเพียงแต่ทำให้ผู้ฟ้องคดีสามารถดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทได้ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๗ เท่านั้น (คำ
พิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่
อ.๒๘๖
/๒๕๕๒)
มาตรา ๒๑ ผู้ใดจะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารต้องได้รับใบอนุญาต จากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตรา ๓๙ ทวิ
มาตรา ๔๐ ในกรณีที่มีการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร โดยฝ่าฝืน บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการดังนี้
(๑) มีคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน ผู้ดำเนินการ ลูกจ้างหรือบริวารของบุคคลดังกล่าว ระงับการกระทำดังกล่าว
(๒) มีคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าว และจัดให้มีเครื่องหมายแสดงการห้ามนั้นไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณดังกล่าว และ
(๓) พิจารณามีคำสั่งตามมาตรา ๔๑ หรือมาตรา ๔๒ แล้วแต่กรณี ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีคำสั่งตาม (๑)
มาตรา ๔๑ ถ้าการกระทำตามมาตรา ๔๐ เป็นกรณีที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขออนุญาตหรือดำเนินการแจ้งตามมาตรา ๓๙ ทวิ หรือดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปอีกก็ได้ และให้นำมาตรา ๒๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๔๒ ถ้าการกระทำตามมาตรา ๔๐ เป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ หรือเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา ๔๑ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวันโดยให้ดำเนินการรื้อถอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตาม มาตรา ๘ (๑๑) หรือ ข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น