อำนาจไม่มี หน้าที่ไม่ใช่ จึงดำเนินการตามที่สั่งไม่ได้
การที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งทางปกครองให้ผู้รับคำสั่งซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารแก้ไขปรับปรุงอาคารให้เป็นไปตามแบบที่ได้รับอนุญาตได้
แต่ผู้รับคำสั่งไม่อาจปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้รับเพราะเหตุที่ได้มีการจดทะเบียนอาคารเป็นนิติบุคคลอาคารชุดไปแล้ว
กรณีเช่นนี้ผลที่เกิดขึ้น กับผู้รับคำสั่งจะเป็นเช่นไร?และคำสั่งดังกล่าวจะถือว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่?
เรื่องนี้มีตัวอย่างที่น่าสนใจตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 100/2554 ข้อเท็จจริงก็คือผู้ฟ้องคดีได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร
12 ชั้น และต่อมาได้รับใบอนุญาตให้ดัดแปลงเป็นอาคาร 13 ชั้น ต่อมามีผู้ร้องเรียนว่า ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต
ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วปรากฏว่า อาคารดังกล่าวมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดินข้างเคียงน้อยกว่า
3 เมตร และตั้งแต่ชั้นที่ 2 ถึงชั้นที่
13 ได้มีการก่อสร้างดัดแปลงผนังอาคารเป็นหน้าต่างบานเลื่อน ซึ่งผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาต
โดยผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (นายกเทศมนตรี)
รับรองว่าจะดำเนินการแก้ไขการก่อสร้างอาคารที่ผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาตแต่เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบแล้วปรากฏว่า
ผู้ฟ้องคดียังมิได้ดำเนินการแก้ไขอย่างใด
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงได้มีคำสั่งแรกในปี
พ.ศ. 2535 ให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขและให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างดัดแปลงในกรณีที่กระทำให้ผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาต
แต่ผู้ฟ้องคดีก็มิได้ดำเนินการแก้ไขแต่อย่างใด และมีคำสั่งครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2536 และครั้งที่สามในปี พ.ศ.
2545 ให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขการก่อสร้างให้ถูกต้องตามแบบและให้รื้อถอนอาคารบางส่วนในส่วนพื้นผนังและหน้าต่างชั้นที่
2 ถึงชั้นที่ 13 ให้มีลักษณะถูกต้องตามแบบแปลนแต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการใดๆ
และได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์)เนื่องจากอาคารพิพาทได้ยื่นจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอาคารชุดและห้องชุดประมาณร้อยละเก้าสิบได้มีการโอนขายให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว
จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะสามารถเข้าไปดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวได้ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่
3พิจารณาแล้วให้ยกอุทธรณ์ จึงฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่
2 และให้กลับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีก่อสร้างดัดแปลงอาคารโดยฝ่าฝืนต่อเทศบัญญัติ
เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2504 โดยมีผนังของห้องอยู่ห่างจากเขตที่ดินข้างเคียงน้อยกว่า
3 เมตรอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายควบคุมอาคาร ผู้ถูกฟ้องคดีที่
2 จึงมีอำนาจในการมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวตามมาตรา
42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.
2522 ได้ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขอาคารที่ก่อสร้างดัดแปลงผิดจากแบบที่ได้รับอนุญาตและผู้ฟ้องคดีได้รับทราบคำสั่งทั้งสามครั้งแล้ว
แต่ก็มิได้ดำเนินการใดๆ
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงได้ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอจดทะเบียนอาคารพิพาทเป็นนิติบุคคลอาคารชุดและเจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนให้ตั้งแต่วันที่
24 กันยายน 2534 โดยได้มีการขายห้องชุดบางส่วนไปยังบุคคลภายนอกก่อนวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่
2 จะมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารบางส่วนในปี พ.ศ.
2545 และเมื่อมาตรา 17ประกอบกับมาตรา
33 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.
2522 กำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่จัดการและดูแลทรัพย์ส่วนกลาง
และให้มีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ในการจัดการและดูแลทรัพย์ส่วนกลางตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว
ตามมติของเจ้าของร่วม
ดังนั้น การจัดการทรัพย์ส่วนกลางจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุด
และเมื่อมาตรา 15 (4)แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ได้กำหนดให้อาคารหรือส่วนของอาคารและเครื่องอุปกรณ์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันให้ถือเป็นทรัพย์ส่วนกลาง
ผนังของอาคารจึงเป็นทรัพย์ส่วนกลาง ประกอบกับเมื่อรับฟังได้ว่า
อาคารที่ผู้ฟ้องคดีขออนุญาตได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดตั้งแต่วันที่
24 กันยายน 2534 อำนาจในการจัดการเกี่ยวกับผนังอาคาร
ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนกลาง จึงตกเป็นของนิติบุคคลอาคารชุดนับแต่วันนั้นเป็นต้นมา ด้วยเหตุนี้
ผู้ฟ้องคดีจึงมีอำนาจหน้าที่เพียงแค่การจัดการทรัพย์ส่วนบุคคลที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของห้องชุดเท่านั้นโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทรัพย์ส่วนกลางแต่อย่างใด
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนผนังอาคารพิพาทบางส่วนอันเป็นทรัพย์ส่วนกลางซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่อาจปฏิบัติตามได้นั้น
จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบเช่นกัน
คดีนี้ถือเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีสำหรับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในการใช้อำนาจออกคำสั่งทางปกครองให้ผู้รับคำสั่งกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด
ซึ่งนอกจากผู้ออกคำสั่งจะต้องมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว การพิจารณาออกคำสั่งยังต้องพิจารณาถึงฐานะของบุคคลผู้รับคำสั่งว่ามีอำนาจหน้าที่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งในขณะที่มีคำสั่งด้วย
เพราะหากเมื่อใดมีการพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองโดยที่ผู้รับคำสั่งไม่มีอำนาจในการดำเนินการตามคำสั่ง
หรือไม่ใช่หน้าที่ที่ผู้รับคำสั่งจะต้องปฏิบัติแล้วผู้รับคำสั่งนั้นก็ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายได้
และยังส่งผลให้คำสั่งทางปกครองดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นายปกครอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น