ย่อคำพิพากษา
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดี (เทศบาลตำบลศรีพนา) ได้มีคำสั่งที่
311/2548 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2548
ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิด
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอเพิกถอน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า
ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลศรีพนา
ได้ทำสัญญาซื้อที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 2123 จำนวนเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 83
ตารางวา จากนาย ป. ในราคา 1,365,000 บาท
ซึ่งการจัดซื้อที่ดินดังกล่าวเป็นการจัดซื้อเฉพาะแห่ง
และจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ซึ่งตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย
ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 21
กำหนดว่า ก่อนดำเนินการซื้อที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้าง
ให้เจ้าหน้าที่พัสดุทำรายงาน เสนอต่อผู้สั่งซื้อตามรายการดังต่อไปนี้ ...
(2) รายละเอียดของที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้างที่ต้องการซื้อ
รวมทั้งเนื้อที่และท้องที่ที่ต้องการ (3)
ราคาประเมินของทางราชการในท้องที่นั้น (4)
ราคาซื้อขายของที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้างใกล้เคียงบริเวณที่จะซื้อครั้งหลัง
สุดประมาณ 3 ราย ... และข้อ 50 กำหนดว่า การซื้อโดยวิธีพิเศษ
ให้หัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นแต่งตั้งคณะ
กรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษขึ้นเพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้ ... (6)
ในกรณีพัสดุที่เป็นที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้างซึ่งจำเป็นต้องซื้อเฉพาะแห่ง
ให้เชิญเจ้าของที่ดินโดยตรงมาเสนอราคา
หากเห็นว่าราคาที่เสนอนั้นยังสูงกว่าราคาในท้องตลาดหรือราคาที่คณะกรรมการ
เห็นสมควรให้ต่อรองราคาลงเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น
ในการจัดซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว จำต้องปฏิบัติตามระเบียบข้างต้น
แต่จากข้อเท็จจริงตามรายงานตรวจสอบสืบสวน
ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 6
และรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด
ของเจ้าหน้าที่
ของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
ปรากฏข้อเท็จจริงสอดคล้องกันว่า
คณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษไม่ได้นำข้อมูลราคาประเมินที่ดินและ
ราคาซื้อขายที่ดินใกล้เคียงบริเวณที่จะซื้อที่ดินครั้งหลังสุดจำนวน 3 ราย
ที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ดินจังหวัดหนองคาย สาขาเซกา
ประกอบการพิจารณาว่า สมควร
ที่จะซื้อที่ดินแปลงนั้นตามราคาที่เสนอหรือไม่
อีกทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 2123
เป็นที่ดินที่แบ่งแยกจากที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 99
ซึ่งเคยอยู่ในความครอบครองของผู้ฟ้องคดี แต่ได้ขายให้แก่นาย ป.
โดยตามคำให้การของนาย ป.
ที่ได้ให้การต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 6
ความว่า
หลักฐานสัญญาซื้อขายใบต่อรองราคาระหว่างตนกับผู้ถูกฟ้องคดีเป็นลายมือชื่อ
ของตนจริง สำหรับหลักฐานการซื้อขาย ระหว่างตนกับผู้ฟ้องคดี
ตนไม่ทราบรายละเอียด เพียงแต่ลงลายมือชื่อในเอกสารต่างๆ
และตนก็ไม่ได้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากผู้ฟ้องคดี และไม่ได้จ่ายเงินจำนวน
220,000 บาท ให้กับผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด กรณีจึงน่าเชื่อว่า
การซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวไม่มีการต่อรองราคา
และเมื่อพิจารณาพฤติกรรมของผู้ฟ้องคดีแล้ว น่าเชื่อว่า
การที่ผู้ฟ้องคดีขายที่ดินให้แก่นาย ป.
เป็นการทำนิติกรรมอำพรางโดยผู้ฟ้องคดีมีเจตนาหลีกเลี่ยงการมีส่วนได้เสียใน
สัญญากับ
ผู้ถูกฟ้องคดี ตามมาตรา 18 ทวิ
แห่ง พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 จากข้อเท็จจริงข้างต้นจึงเห็นได้ว่า
ผู้ฟ้องคดีจงใจซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างสวนสุขภาพ โดยไม่ดำเนินการตามข้อ 21
(2) (3) (4) และข้อ 50 (6) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย
ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535
เมื่อการกระทำดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องคดี
ผู้ฟ้องคดีจึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทางราชการด้วย ทั้งนี้
ตามมาตรา 10 ประกอบมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. ความรับผิด
ทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ดังนั้น
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้กำหนดความเสียหาย
ที่เกิดขึ้นโดยคำนวณจากส่วนต่างของราคาที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีจัดซื้อจากนาย ป.
กับราคาประเมินที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ดินจังหวัดหนองคาย สาขาเซกา
โดยให้ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดเต็มจำนวน คิดเป็นเงิน 1,148,400 บาท
และผู้ถูกฟ้องคดีได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่
ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดซื้อที่ดินที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายใน
กรณีเดียวกันนั้น
โดยกำหนดระดับความรับผิดแตกต่างกันไปตามระดับแห่งความรับผิดชอบ นอกจากนี้
ผู้ถูกฟ้องคดียังได้ระบุไว้ในคำสั่งว่า
หากผู้ถูกฟ้องคดีได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากผู้ฟ้องคดี
เมื่อนำมารวมกับจำนวนเงินของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดซื้อ
ที่ดินดังกล่าวแล้วเกินจำนวนความเสียหาย
ผู้ถูกฟ้องคดีจะคืนเงินที่ได้รับชำระไว้เกินให้แก่เจ้าหน้าที่
ที่เกี่ยวข้องตามสัดส่วนแห่งความรับผิดและที่ได้ชำระไว้ของแต่ละคน
จึงเป็นกรณีที่
ผู้ถูกฟ้องคดีได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
โดยคำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในกรณีดังกล่าว
ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 แล้ว
ดังนั้น คำสั่งผู้ถูกฟ้องคดี
ที่ 311/2548 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2548
ให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทางราชการเป็นเงินจำนวน
1,148,400 บาท จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาฉบับเต็ม
คดีหมายเลขดำที่ อ. ๖๒๐/๒๕๕๐
คดีหมายเลขแดงที่ อ. ๑๐/๒๕๕๔
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลปกครองสูงสุด
วันที่ ๑๗ เดือน มกราคม
พุทธศักราช ๒๕๕๔
นางเกตุแก้ว ศิริบุญนภา ผู้ฟ้องคดี
ระหว่าง
เทศบาลตำบลศรีพนา ผู้ถูกฟ้องคดี
ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำพิพากษา
ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๓/๒๕๔๙
หมายเลขแดงที่ ๒๑๑/๒๕๕๐ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองขอนแก่น)
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๘ แจ้งคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๓๑๑/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ ที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดตามความเห็นของกรมบัญชีกลางผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงการคลัง โดยกล่าวหาว่า ขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลศรีพนาได้จัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างสถานที่พักผ่อน ไม่มีความโปร่งใส ราคาซื้อสูงกว่าความเป็นจริง เนื่องจากก่อนที่จะมีการซื้อขายระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีกับนายประทีป สุลีสถิระ เพียง ๖ วัน ที่ดินดังกล่าวเดิมผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของและได้โอนขายให้นายประทีปในราคา ๒๒๐,๐๐๐ บาท แล้วขายให้ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเงิน ๑,๓๖๕,๐๐๐ บาท ซึ่งแพงกว่าราคาประเมินของกรมที่ดิน ๑,๑๔๘,๔๐๐ บาท พฤติการณ์ถือว่าอาศัยโอกาสในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๑,๑๔๘,๔๐๐ บาท ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ถึงแม้ว่าที่พิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีมาแต่เดิม แต่ผู้ฟ้องคดีได้ขายให้กับนายประทีปทั้งแปลงเนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๒ งาน ๗๐ ตารางวา ในราคา ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยทำสัญญาจะซื้อจะขายกันเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ และได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินทั้งหมดให้นายประทีปในวันทำสัญญา มิได้ซื้อขายกันเป็นเงินสด เพราะนายประทีปเป็นญาติลูกพี่ลูกน้องและทำงานกับนายเซีย ศิริบุญนภา สามีของผู้ฟ้องคดี โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือน หักจากเงินเดือนที่จะได้รับจากนายเซีย ต่อมานายประทีปได้ถมที่ดินดังกล่าวให้สูงกว่าเดิม ๒ เมตร ค่าถมที่ไร่ละประมาณ ๒ แสนกว่าบาท ที่ดินจึงมีราคาเพิ่มขึ้นกว่าเดิม และเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๓ นายประทีปได้นำเงินที่ค้างชำระตามสัญญาจะซื้อจะขายมาชำระค่าที่ดินบางส่วนให้กับผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงแบ่งแยกที่ดินที่พิพาทให้เป็นชื่อนายประทีป หลังจากนั้นนายประทีปได้ขายที่ดินดังกล่าวให้กับผู้ถูกฟ้องคดีจำนวน ๒ ไร่ ๑ งาน ๘๓ ตารางวา เป็นเงิน ๑,๓๖๔,๙๐๐ บาท (ที่ถูก คือ ๑,๓๖๕,๐๐๐ บาท) นายประทีปไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ฟ้องคดีตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด นอกจากนี้ ที่ดินบริเวณดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำเป็นถนนเพื่อเป็นทางเข้าสำนักงานเทศบาล และทางเข้าสวนสุขภาพของเทศบาล ซึ่งขณะนี้กำลังก่อสร้างสวนสุขภาพและต้องใช้ถนนที่ผู้ถูกฟ้องคดีซื้อจากผู้ฟ้องคดี การซื้อที่ดินเป็นการซื้อเฉพาะเจาะจงว่าที่ดินแปลงไหน ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ตั้งที่ดิน จึงไม่นำราคาข้างเคียงมาเปรียบเทียบกับที่ดินที่ต้องการซื้อ และเป็นการซื้อขายกันตามราคาที่เป็นจริงในท้องตลาด ซึ่งที่ดินบริเวณใกล้เคียงกันซื้อขายกันจริงตามราคาท้องตลาดถึงไร่ละหนึ่งล้านบาท ไม่ใช่ตามราคาประเมินของเจ้าหน้าที่ที่ดิน ซึ่งราคาประเมินของกรมที่ดินมีไว้เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเท่านั้น คณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ
เห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสมเพราะเป็นที่ดินที่มีการถมแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการถมที่ดินอีก ผู้ถูกฟ้องคดีได้ควบคุมกำกับการซื้อขายที่ดินพิพาทให้เป็นไปตามระเบียบและเกิดประโยชน์กับทางราชการแล้ว ไม่ได้มีเจตนาทุจริตแต่ประการใด แต่หากจะพิจารณาว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการละเมิดต้องรับผิด ค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีต้องชดใช้นั้นเป็นจำนวนที่มากเกินความเป็นจริง อีกทั้งคณะกรรมการต้องรับผิดเท่ากัน หาใช่แบ่งความรับผิดตามอัตราส่วน ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๘ ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งยกอุทธรณ์ โดยแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีทราบ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๙
ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี หากผู้ฟ้องคดีจะต้องรับผิดขอให้ศาลลดจำนวนเงินที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องชดใช้ลงมาอีก และให้คณะกรรมการมีส่วนรับผิดเท่าๆ กัน
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ ๖ จังหวัดอุดรธานี ได้แจ้งรายงานการตรวจสอบสืบสวนตามหนังสือร้องเรียน ฉบับวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๔ ผลการตรวจสอบ ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีโดยผู้ฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้อนุมัติในการจัดซื้อที่ดิน เนื้อที่ ๒ ไร่ ๑ งาน ๘๓ ตารางวา มีราคาแพงกว่าความเป็นจริงเป็นเงิน ๑,๑๔๕,๐๐๐ บาท ผู้ถูกฟ้องคดีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ต่อมาคณะกรรมการดังกล่าวได้เสนอรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ฉบับลงวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๘ ต่อนายกเทศมนตรี สรุปว่า จากพยานหลักฐาน ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีจัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างสวนสุขภาพ ปัจจุบันที่ดินแปลงดังกล่าวใช้ก่อสร้างถนน ค.ส.ล. เชื่อมระหว่างพื้นที่ที่ตั้งสำนักงานเทศบาลกับทางหลวง เป็นที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๑๒๓ เนื้อที่ ๒ ไร่ ๑ งาน ๘๓ ตารางวา แบ่งแยกจากที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๙๙ เนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๒ งาน ๗๐ ตารางวา ซึ่งมีชื่อผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดิน ต่อมาวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ผู้ฟ้องคดีได้ขายที่ดินแปลงแยกเลขที่ ๒๑๒๓ ให้กับนายประทีป ในราคา ๒๒๐,๐๐๐ บาท โดยได้รับความยินยอมจากธนาคารให้ยังคงติดจำนองเช่นเดิม ในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ นายประทีป ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับผู้ถูกฟ้องคดีโดยธนาคารยินยอมให้ขายโดยปลอดจำนองในราคา ๑,๓๖๕,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าที่ผู้ฟ้องคดีขายให้นายประทีปถึง ๑,๑๔๕,๐๐๐ บาท โดยช่วงเวลาที่มีการซื้อขายสองครั้งมีระยะห่างกันเพียง ๖ วัน ซึ่งผู้ฟ้องคดีทราบอยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ขายที่ดินให้นายประทีปในราคาเพียง ๒๒๐,๐๐๐ บาท ในการพิจารณาอนุมัติหากผู้ฟ้องคดีจะรักษาผลประโยชน์ของผู้ถูกฟ้องคดี ก็น่าจะสั่งการให้คณะกรรมการกลับไปต่อรองราคาใหม่ โดยนำราคาประเมินที่ดินของสำนักงานที่ดินมาเป็นข้อมูลในการต่อรองราคา แต่จากการสอบพยานบุคคล ฟังได้ว่า คณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษไม่ได้ติดต่อและต่อรองกับนายประทีป เจ้าของที่ดินโดยตรง แต่ได้ติดต่อกับนายเซีย สามีของผู้ฟ้องคดี และนายเซียเป็นผู้กำหนดราคาที่ดิน นายประทีปเพียงแต่ลงลายมือชื่อในเอกสารเท่านั้น และคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินไม่รอข้อมูลที่สอบถามจากสำนักงานที่ดินจังหวัดหนองคาย สาขาเซกา เกี่ยวกับราคาประเมินและราคาซื้อขายที่ดินใกล้เคียงมาประกอบการพิจารณาต่อรองราคา โดยอ้างว่าเป็นการจัดซื้อเฉพาะที่ ซึ่งต่อมาภายหลังสำนักงานที่ดินจังหวัดหนองคาย สาขาเซกา ได้แจ้งว่าที่ดินแปลงนี้มีราคาประเมินเพียง ๒๑๖,๖๐๐ บาท หรือไร่ละ ๘๐,๐๐๐ ถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท อีกทั้งราคาซื้อขายที่ดินบริเวณใกล้เคียงแปลงติดกันที่มีการซื้อขายเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๒ ระหว่างสุขาภิบาลศรีพนา กับ นายสนุก ไชยสุวรรณ เนื้อที่ ๑๘ ไร่ ๓ งาน ๗๙ ตารางวา ราคา ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท หรือไร่ละ ๗๙,๑๖๔ บาท คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ จึงเห็นว่าการจัดซื้อที่ดินแปลงพิพาทไม่เป็นไปตามข้อ ๒๑ (๒) (๓) (๔) และข้อ ๕๐ (๖) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๕ ทำให้เทศบาลเสียหายต้องซื้อที่ดินแพงและมีราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น เป็นเงิน ๑,๑๔๕,๐๐๐ บาท เห็นว่าผู้ฟ้องคดีในตำแหน่งนายกเทศมนตรีและในฐานะผู้อนุมัติจัดซื้อ และนายวิฑูรย์ ผันผ่อน ตำแหน่งปลัดเทศบาล ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดซื้อและในฐานะผู้ควบคุมกำกับให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดซื้อ มีความจงใจที่จะเสนอให้มีการจัดซื้อที่ดินพิพาทในราคาสูงกว่าความเป็นจริง ให้แต่ละคนรับผิดชอบกึ่งหนึ่งของจำนวนเงิน ๑,๑๔๕,๐๐๐ บาท กล่าวคือ คนละ ๕๗๒,๕๐๐ บาท นายกเทศมนตรีตำบลศรีพนาพิจารณารายงานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่แล้วเห็นชอบและได้รายงานกระทรวงการคลังพิจารณา ต่อมากรมบัญชีกลางผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงการคลังแจ้งผลการพิจารณาที่มีความเห็นแตกต่างจากคณะกรรมการ และผู้ถูกฟ้องคดีมีความเห็นชอบตามแนวการวินิจฉัยของกรมบัญชีกลางผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงการคลังว่า มีหลักฐานน่าเชื่อว่าการซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับนายประทีป เป็นการทำนิติกรรมอำพราง เพราะก่อนที่จะทำการซื้อขายระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีกับนายประทีป เพียง ๖ วัน ผู้ฟ้องคดียังเป็นเจ้าของผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีลงนามอนุมัติจัดซื้อโดยทราบอยู่แล้วว่าที่ดินแปลงดังกล่าว ราคาประเมิน ๒๑๖,๖๐๐ บาท และไม่นำราคาประเมินซึ่งต่ำกว่าราคาขายมาต่อรองหรือเป็นข้อมูลในการพิจารณาอนุมัติ ตามที่วิญญูชนพึงกระทำ ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีคำสั่งและพิจารณาอุทธรณ์ตามแนวทางของกฎหมายและระเบียบของทางราชการแล้ว
ผู้ฟ้องคดีคัดค้านคำให้การว่า ผู้ฟ้องคดีขายที่ดินแก่นายประทีปตามความเป็นจริง มิได้เป็นนิติกรรมอำพราง และตามสำนวนการสอบสวนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ ๖ ผู้ฟ้องคดีได้สอบถามนายเซีย และนายประทีปแล้ว ได้ความว่าไม่เคยให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ ๖ ว่าการซื้อขายดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพราง แต่เป็นการซื้อขายกันจริง นอกจากนี้การซื้อที่ดินพิพาทเป็นการซื้อขายที่ดินเฉพาะที่ เลือกซื้อที่อื่นไม่ได้ หากจะซื้อที่ดินแปลงอื่น จะต้องใช้เงินจำนวนมากในการถมดิน คณะกรรมการจึงได้มีมติให้ซื้อที่ดินดังกล่าวและราคาที่จัดซื้อเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว ทั้งนี้ หากมีความเสียหายตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้างจริง ค่าเสียหายก็คงไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และผู้ฟ้องคดีไม่ควรต้องรับผิดแต่เพียงผู้เดียว คณะกรรมการที่อนุมัติจัดซื้อที่ดินครั้งนี้ต้องร่วมรับผิดเป็นจำนวนเท่าๆ กันด้วย
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การเพิ่มเติมว่า ประเด็นที่ว่าการซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีกับนายประทีป เป็นการซื้อขายกันจริงหรือเป็นนิติกรรมอำพรางนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีได้พิจารณาจากพยานเอกสาร จากรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงทั้งของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่และของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ ๖ โดยเฉพาะบันทึกการสอบปากคำนายเซีย และนายประทีป ซึ่งนายประทีป ยืนยันคำให้การกับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เช่นเดียวกับที่เคยให้ไว้กับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ ๖ จากพฤติกรรมการซื้อขาย การรับเงิน การทำนิติกรรมสัญญา น่าเชื่อว่าจะเป็นการดำเนินการของนายเซียและผู้ฟ้องคดีเองทั้งหมด ส่วนนายประทีปกระทำนิติกรรมแต่เพียงในนามเท่านั้น ประกอบกับผู้ฟ้องคดีได้อนุมัติให้ดำเนินการจัดซื้อโดยไม่นำราคาประเมินมาพิจารณาประกอบ หรือสั่งให้คณะกรรมการจัดซื้อที่ดินด้วยวิธีพิเศษกลับไปทบทวนการจัดซื้อก่อน จึงเห็นว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผู้ถูกฟ้องคดีจึงได้มีคำสั่งให้รับผิดชดใช้เงินคืนตามความเห็นของกรมบัญชีกลางผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงการคลัง สำหรับข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีที่ว่าเป็นการจัดซื้อเฉพาะที่และเป็นราคาที่เหมาะสมแล้วนั้น เห็นว่า เดิมผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าว ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ขายที่ดินดังกล่าวให้นายประทีปในราคาเพียง ๒๒๐,๐๐๐ บาท ก่อนหน้าที่นายประทีปจะขายให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพียง ๖ วันต่อมาในราคา ๑,๓๖๕,๐๐๐ บาท ผู้ถูกฟ้องคดีจึงเห็นได้ว่าราคาที่ผู้ถูกฟ้องคดีซื้อจากนายประทีปเป็นราคาที่ไม่สมเหตุสมผล ส่วนประเด็นการรับผิดชดใช้เงินคืนนั้น กรมบัญชีกลางผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงการคลังได้วินิจฉัยโดยถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีจึงออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้เงินคืนตามความเห็นดังกล่าว
ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า การออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓๑๑/๒๕๔๘ ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีปัญหาต้องพิจารณาก่อนว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า กรมบัญชีกลางผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงการคลังได้พิจารณาจากพยานหลักฐานแล้วมีความเห็นสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ว่า ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีขณะลงนามอนุมัติให้จัดซื้อที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๑๒๓ จำนวนเนื้อที่ ๒ ไร่ ๑ งาน ๘๓ ตารางวา ในราคา ๑,๓๖๕,๐๐๐ บาท โดยไม่นำราคาประเมินที่ดินแปลงดังกล่าวที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ดินจังหวัดหนองคาย สาขาเซกา ที่ได้ประเมินราคาที่ดินแปลงนั้นไว้ทั้งแปลงราคา ๒๑๖,๖๐๐ บาท มาพิจารณาประกอบในการจัดซื้อ อีกทั้งผู้ฟ้องคดี
รู้ว่าตนมีชื่อในเอกสารสิทธิที่ดินที่จะซื้อ จึงได้โอนขายให้กับนายประทีปในราคาเพียง ๒๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจากถ้อยคำของนายประทีป และนายเซีย ซึ่งเป็นสามีของผู้ฟ้องคดี สอดคล้องกันว่าการซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีกับนายประทีปไม่มีการจ่ายเงินและรับเงินที่ได้ซื้อขายกัน แต่มีเจตนาเพื่อเปลี่ยนชื่อผู้ถือครองที่ดินทางทะเบียนเท่านั้น เพื่อที่เทศบาลจะได้ซื้อที่ดินจากนายประทีปได้โดยไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ แต่ผู้ฟ้องคดีในฐานะนายกเทศมนตรีตำบลศรีพนา กลับซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวในราคาสูงถึง ๑,๓๖๕,๐๐๐ บาท ซึ่งมีระยะเวลาซื้อขายทั้งสองครั้งห่างกันเพียง ๖ วัน และยังทราบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งขณะนั้นมีฐานะเป็นสุขาภิบาล ซึ่งผู้ฟ้องคดีเป็นประธานกรรมการสุขาภิบาลได้ซื้อที่ดินเนื้อที่ ๑๘ ไร่ ๑ งาน ๗๙ ตารางวา เพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานในราคาเพียง ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีจัดซื้อเพื่อสร้างสวนสุขภาพและราคาประเมินที่ดินของสำนักงานที่ดินจังหวัดหนองคาย สาขาเซกา ซึ่งแจ้งราคาประเมินเพียง ๒๑๖,๖๐๐ บาท ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างสวนสุขภาพมีราคาแพงกว่าความเป็นจริง พฤติการณ์ดังกล่าวน่าเชื่อว่าเป็นการทุจริต เป็นเจ้าพนักงานมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องคดีและโดยทุจริตแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เห็นควรแจ้งพนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย
สำหรับข้อต่อสู้ของผู้ฟ้องคดีและพยานฝ่ายผู้ฟ้องคดีในชั้นการสอบสวนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินนั้น ผู้ฟ้องคดีและนายประทีปอ้างว่าผู้ฟ้องคดีตกลงขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้นายประทีปในราคา ๓ ล้านบาท ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยผ่อนชำระค่าที่ดินเป็นรายเดือน เห็นว่า เมื่อมิได้จดทะเบียนซื้อขายที่ดินกันโดยถูกต้อง การกล่าวอ้างว่าผู้ฟ้องคดีได้ขายที่ดินให้แก่นายประทีปไปก่อนแล้ว จึงเป็นข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย และยังมีข้อพิรุธอีก เช่น การขายที่ดินด้วยราคาสูงถึง ๓ ล้านบาท กลับชำระราคากันเป็นเงินผ่อน ในส่วนของนายประทีปไม่ทราบว่าหนี้ค่าที่ดินคงเหลือเท่าใด อ้างว่าไม่มีหลักฐานการผ่อนชำระเก็บรักษาไว้ ซึ่งผิดวิสัยของวิญญูชนที่จะต้องดูแลรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตนเอง ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวจึงไม่น่าเชื่อถือ ยิ่งไปกว่านั้นการติดต่อซื้อขายที่ดินพิพาททั้งในการตั้งราคาจะขายที่ดินพิพาทในครั้งแรกและการต่อรองลดราคาลงเหลือ ๑,๓๖๕,๐๐๐ บาท สำนักงานเทศบาลติดต่อกับนายเซีย สามีของผู้ฟ้องคดี โดยนายประทีปมิได้รู้เห็นทั้งสิ้น แม้แต่การรับเงินค่าขายที่ดินของนายประทีป ก็ดำเนินการโดยนางสาวชฎาภรณ์ ประสานส่วน ลูกจ้างของนายเซีย ขณะเกิดเหตุผู้ฟ้องคดีกับนายเซียเป็นสามีภริยากันอยู่ เพิ่งมาจดทะเบียนหย่ากันในภายหลังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ กรณีจึงทำให้เข้าใจได้ว่าผู้ฟ้องคดีและนายเซียสามีรับทราบและรู้เห็นในการจัดการทรัพย์สินและในกิจการงานในหน้าที่ของแต่ละฝ่าย จากพฤติการณ์ที่ผู้ฟ้องคดีเสนอโครงการจัดซื้อที่ดินจนสภาเทศบาลพิจารณาอนุมัติ และสามีของผู้ฟ้องคดีเข้าเกี่ยวข้องรู้เห็นในการเข้าตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ต้นประกอบกับข้อเท็จจริงที่นายประทีป หรือนายเซีย อดีตสามีของผู้ฟ้องคดีต่างยอมรับว่าที่ดินดังกล่าวค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของนายเซีย กรณีจึงทำให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ ๖ มีความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทำการแบ่งขายที่ดินดังกล่าวไปให้แก่นายประทีป เพื่อจะอำพรางและให้นายประทีปเข้ามาสมอ้างเป็นเจ้าของที่ดินเพื่อเข้าเป็นคู่สัญญาในการขายที่ดินแปลงพิพาทให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี เนื่องจากผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองในท้องถิ่นและอยู่ในฐานะที่ต้องทราบเป็นอย่างดีว่าตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ บัญญัติห้ามมิให้นายกเทศมนตรีเข้าเป็นคู่สัญญาหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่ทำกับเทศบาล เพราะหากฝ่าฝืนกระทำการดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีได้ ดังนั้น โดยความเป็นจริงที่ดินแปลงพิพาทที่มีการซื้อขายกันก็คือที่ดินของผู้ฟ้องคดีนั่นเอง ส่วนข้อที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นการซื้อขายเฉพาะที่ ไม่เป็นเหตุผลที่ว่าผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะผู้ซื้อจะต้องยอมรับตามราคาที่ผู้ขายจะตั้งราคาขายได้ตามแต่ผู้ขายจะเรียกร้องเอาตามชอบใจ หากไม่นำราคาที่เคยมีการซื้อขายกันมาก่อนเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการพิจารณาราคาที่ควรจะเป็น ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะผู้ซื้อจะทราบได้อย่างไรว่าผู้ขายตั้งราคาที่ดินสูงเกินไปหรือไม่ เพียงใด ซึ่งตามข้อ ๒๑ และข้อ ๕๐ ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม อันเป็นระเบียบที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น กำหนดว่า ก่อนดำเนินการซื้อที่ดิน ให้เจ้าหน้าที่พัสดุรายงานเสนอต่อผู้สั่งซื้อ โดยมีรายการตามที่กำหนด ซึ่งรวมถึงรายการที่เกี่ยวกับราคาประเมินของทางราชการในท้องที่นั้น และราคาซื้อขายที่ดินใกล้เคียงบริเวณที่จะซื้อครั้งหลังสุดประมาณ ๓ ราย และในกรณีเป็นที่ดินซึ่งจำเป็นต้องซื้อเฉพาะแห่ง ให้เชิญเจ้าของที่ดินโดยตรงมาเสนอราคา หากเห็นว่าราคาที่เสนอสูงกว่าราคาในท้องตลาดหรือราคาที่คณะกรรมการเห็นสมควร ก็ให้ต่อรองลงเท่าที่ทำได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีและนายวิฑูรย์ ปลัดเทศบาล ซึ่งทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการจัดซื้อ ต่างก็ยอมรับข้อเท็จจริงในขณะให้ปากคำต่อคณะกรรมการสอบสวนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ ๖ ว่า คณะกรรมการจัดซื้อมิได้นำราคาประเมินของที่ดินและราคาซื้อขายที่ดินครั้งหลังสุด ๓ รายของสำนักงานที่ดินจังหวัดหนองคาย สาขาเซกา มาประกอบการพิจารณาในการจัดซื้อที่ดินที่พิพาท ความเห็นของกรมบัญชีกลางผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงการคลังที่ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำทุจริตแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากการจัดซื้อที่ดินดังกล่าว จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำการโดยจงใจฝ่าฝืนระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๕ ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ถือเป็นการกระทำละเมิดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
คดีมีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่า การกำหนดค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีต้องชดใช้นั้น ผู้ถูกฟ้องคดีได้คำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมแล้วหรือไม่ นั้น เห็นว่า การอนุมัติจัดซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวเกิดจากการทุจริตของผู้ฟ้องคดี ซึ่งมีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงาน มีอำนาจครอบงำให้คุณให้โทษผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งที่เป็นคณะกรรมการจัดซื้อและเจ้าหน้าที่พัสดุทุกระดับให้ต้องจำยอมปฏิบัติตามที่ผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์ โดยผู้ฟ้องคดีอ้างต่อบุคคลเหล่านั้นว่าการจัดซื้อที่ดินในราคา ๑,๓๖๕,๐๐๐ บาท สามารถกระทำได้เพราะเป็นการซื้อขายที่ดินเฉพาะที่ ประกอบกับเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า ที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีซื้อจากนายประทีปเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ได้รับประโยชน์เต็มจำนวนจากความเสียหายที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องชำระราคาที่ดินสูงเกินกว่าราคาประเมินไปเป็นเงิน ๑,๑๔๘,๔๐๐ บาท การออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการละเมิดเต็มจำนวนเงินที่กล่าวนั้น จึงเป็นการคำนึงถึงระดับ
ความร้ายแรงแห่งการกระทำของผู้ฟ้องคดีและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดีตามที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยถูกต้องแล้ว ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่ง ๓๑๑/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งที่พิพาท
ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นในประเด็นต่างๆ ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง ตามที่ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า การทำนิติกรรมสัญญาน่าเชื่อว่าจะเป็นการดำเนินการของนายเซีย ศิริบุญนภา และผู้ฟ้องคดีเองทั้งหมด ส่วนนายประทีป สุลีสถิระ กระทำนิติกรรมเพียงในนามเท่านั้น ผู้ฟ้องคดีขอชี้แจงว่า แม้ว่าที่พิพาทจะเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีมาแต่เดิม แต่ผู้ฟ้องคดีได้ขายให้กับนายประทีป ญาติลูกพี่ลูกน้องกับนายเซีย สามีของผู้ฟ้องคดีทั้งแปลง เนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๒ งาน ๗๐ ตารางวา ในราคา ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยทำสัญญาจะซื้อขายกันเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ และได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินทั้งหมดให้นายประทีปในวันทำสัญญาซื้อขายนั้น แต่มิได้ซื้อขายกันเป็นเงินสด เพราะนายประทีปทำงานกับนายเซีย จึงได้จ่ายค่าที่ดินกันในลักษณะผ่อนชำระเป็นรายเดือน โดยให้หักจากเงินเดือนที่จะได้รับจากนายเซีย ต่อมานายประทีปได้ถมที่ดินดังกล่าวสูงกว่าเดิม ๒ เมตร โดยเสียค่าถมไร่ละประมาณ ๒ แสนกว่าบาท จึงทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิม หลังจากนั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ นายประทีปได้นำเงินที่ค้างชำระตามสัญญาจะซื้อจะขายมาชำระค่าที่ดินบางส่วนให้กับผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงแบ่งแยกที่ดินที่พิพาทให้เป็นชื่อนายประทีป และนายประทีปได้ขายที่ดินดังกล่าวให้กับผู้ถูกฟ้องคดีเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ จำนวน ๒ ไร่ ๑ งาน ๘๓ ตารางวา เป็นเงินจำนวน ๑,๓๖๕,๐๐๐ บาท นายประทีปไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ฟ้องคดีตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด
ประเด็นที่สอง ตามที่ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีมีตำแหน่งนายกเทศมนตรี ขณะลงนามอนุมัติให้จัดซื้อที่ดินไม่นำราคาประเมินของสำนักงานที่ดินมาประกอบในการจัดซื้อและซื้อที่ดินดังกล่าวแพงเกินไป นั้น ผู้ฟ้องคดีขอชี้แจงว่า สาเหตุที่ไม่นำราคาประเมินของสำนักงานที่ดินมาประกอบการจัดซื้อนั้น เนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งจากนายวิฑูรย์ ผันผ่อน ปลัดเทศบาลตำบลศรีพนาว่าไม่จำเป็นต้องนำราคาประเมินของสำนักงานที่ดินมาประกอบการจัดซื้อ เพราะเป็นการซื้อขายเฉพาะที่ ซึ่งตามระเบียบข้อ ๒๑ และข้อ ๕๐ ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดไว้ว่า “กรณีเป็นที่ดินซึ่งจำเป็นต้องซื้อเฉพาะแห่ง ให้เชิญเจ้าของที่ดินโดยตรงมาเสนอราคา หากเห็นว่าราคาที่เสนอสูงกว่าราคาในท้องตลาดหรือราคาที่คณะกรรมการเห็นสมควรก็ให้ต่อรองลงเท่าที่ทำได้” นอกจากนั้น ที่ดินบริเวณดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำเป็นถนนเพื่อเป็นเส้นทางเข้าสำนักงานเทศบาล และทางเข้าสวนสุขภาพของเทศบาล การซื้อที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการซื้อเฉพาะเจาะจง ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ตั้งที่ดิน จึงไม่สามารถนำราคาข้างเคียงมาเปรียบเทียบกับที่ดินที่ต้องการซื้อได้ นอกจากนี้ การซื้อขายครั้งนี้เป็นการซื้อขายกันตามราคาที่เป็นจริงในท้องตลาด บริเวณใกล้เคียงกันนั้นทำการซื้อขายกันจริงตามราคาท้องตลาดถึงไร่ละหนึ่งล้านบาท ไม่ใช่ราคาประเมินของเจ้าหน้าที่ที่ดิน เพราะราคาประเมินของกรมที่ดินมีไว้เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเท่านั้น ราคาที่จัดซื้อคณะกรรมการจัดซื้อเห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสม เพราะเป็นที่ดินที่มีการถมแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการถมที่ดินอีก ผู้ฟ้องคดีได้ควบคุมกำกับการซื้อขายที่ดินพิพาทให้เป็นไปตามระเบียบและเกิดประโยชน์กับทางราชการแล้ว โดยไม่มีเจตนาทุจริตแต่ประการใด
ประการที่สาม ตามที่ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า การอนุมัติจัดซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวเกิดจากการทุจริตของผู้ฟ้องคดี ซึ่งมีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานมีอำนาจครอบงำให้คุณให้โทษผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งที่เป็นคณะกรรมการจัดซื้อและเจ้าหน้าที่พัสดุทุกระดับให้ต้องจำยอมปฏิบัติตามที่ผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์ โดยผู้ฟ้องคดีอ้างต่อบุคคลเหล่านั้นว่าการจัดซื้อที่ดินในราคา ๑,๓๖๕,๐๐๐ บาท สามารถกระทำได้เพราะเป็นการซื้อขายที่ดินเฉพาะที่ ประกอบกับเมื่อวินิจฉัยแล้วว่า ที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีซื้อจากนายประทีปเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้รับประโยชน์เต็มจำนวนเงินนั้น จึงเป็นการคำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำของผู้ฟ้องคดีและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดีตามที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยถูกต้องแล้ว นั้น ผู้ฟ้องคดีขอชี้แจงว่า หากการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการละเมิดต้องรับผิด ค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีต้องชดใช้นั้นเป็นจำนวนมากเกินความเป็นจริง อีกทั้งการจัดซื้อที่ดินดังกล่าวคณะกรรมการทุกคนได้ให้ความเห็นชอบ ควรให้คณะกรรมการรับผิดเท่าๆ กัน หาใช่แบ่งความรับผิดตามอัตราส่วน
ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น และมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี หากผู้ฟ้องคดีจะต้องรับผิด ขอให้ศาลปกครองสูงสุดลดจำนวนเงินที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องชดใช้ลงมาอีก และให้คณะกรรมการมีส่วนรับผิดเท่าๆ กัน
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำแก้อุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนด ศาลจึงมีคำสั่งให้รับไว้เป็นคำแถลง
ศาลปกครองสูงสุดออกนั่งพิจารณาคดี โดยได้รับฟังสรุปข้อเท็จจริงของ
ตุลาการเจ้าของสำนวน และคำชี้แจงด้วยวาจาประกอบคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดี
ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดี กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ ๖ จังหวัดอุดรธานี ได้รับหนังสือลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๔ ร้องเรียนกล่าวหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีจัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างสถานที่พักผ่อนสูงกว่าราคาประเมิน โดยมีพฤติการณ์ที่ไม่โปร่งใส ส่อไปในทางทุจริต จึงมีการตรวจสอบสืบสวน และเมื่อได้ดำเนินการตรวจสอบพยานเอกสารและพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้ว เจ้าหน้าที่ได้รายงานผลการตรวจสอบสืบสวนลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๗ สรุปความว่า ผู้ฟ้องคดี นายเซีย อดีตสามี เจ้าหน้าที่พัสดุ และคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษของผู้ถูกฟ้องคดีได้ร่วมกันดำเนินการจัดซื้อที่ดินดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับความเสียหายรวมเป็นเงิน ๑,๑๔๕,๐๐๐ บาท สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ ๖ จึงมีหนังสือลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๗ แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในกรณีดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีจึงได้มีคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓๑๐/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ต่อมาคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวรายงานผลเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๘ สรุปว่า ขณะเกิดเหตุผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ผู้ฟ้องคดีได้อนุมัติให้จัดซื้อที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๑๒๓ ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าที่ดินแปลงดังกล่าวราคาประเมิน ๒๑๖,๖๐๐ บาท เนื่องจากเดิมผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว และก่อนมีการซื้อขายเพียง ๖ วัน ผู้ฟ้องคดีโอนขายให้นายประทีปในราคา ๒๒๐,๐๐๐ บาท และนายประทีปนำมาขายให้ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเงิน ๑,๓๖๕,๐๐๐ บาท สูงกว่าราคาที่ควรจะเป็น เป็นเงิน ๑,๑๔๕,๐๐๐ บาท จึงให้ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้อนุมัติจัดซื้อที่ดิน และนายวิฑูรย์ ปลัดเทศบาล ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ แต่ละคนรับผิดชอบกึ่งหนึ่งของจำนวน ๑,๑๔๕,๐๐๐ บาท คือคนละ ๕๗๒,๕๐๐ บาท ส่วนผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ไม่ต้องรับผิดชดใช้เงิน หลังจากนั้นคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ได้เสนอความเห็นต่อนายอุดม เกิดลาภา นายกเทศมนตรีตำบลศรีพนา ซึ่งนายกเทศมนตรีตำบลศรีพนาพิจารณาแล้วเห็นชอบกับความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ และได้ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณา ต่อมากรมบัญชีกลางผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงการคลังแจ้งผลการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดกรณีนี้ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทราบตามหนังสือที่ กค ๐๔๐๖.๒/๓๒๕๖๒ ลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีจัดซื้อที่ดินสูงกว่าราคาความเป็นจริง และมีมูลค่าความเสียหายจำนวน ๑,๑๔๘,๔๐๐ บาท โดยคำนวณจากส่วนต่างของราคาที่ผู้ถูกฟ้องคดีจัดซื้อจากนายประทีป กับราคาประเมินจำนวน ๒๑๖,๖๐๐ บาท ที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ดินจังหวัดหนองคาย สาขาเซกา พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นการอาศัยโอกาสในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับความเสียหายจำนวน ๑,๑๔๘,๔๐๐ บาท และจากมูลค่าความเสียหายจำนวนดังกล่าวให้บุคคลที่เกี่ยวข้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังนี้ (๑) ให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดเต็มจำนวน ๑,๑๔๘,๔๐๐ บาท (๒) ส่วนความรับผิดของคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ นายวิฑูรย์ ผันผ่อน ในฐานะประธานกรรมการ ให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายในอัตราร้อยละ ๔๐ ของมูลค่าความเสียหาย นางสมจิตร สุระการ และนางวินิจ โพธิ์เวียง ในฐานะกรรมการ ให้แต่ละคนรับผิดในอัตราร้อยละ ๑๐ ของมูลค่าความเสียหาย (๓) ส่วนของผู้อนุมัติให้มีการจัดซื้อ นายวิฑูรย์ ผู้เสนอเรื่องให้อนุมัติการจัดซื้อ และนายบุญส่ง แก่นท้าว เจ้าหน้าที่พัสดุที่ทำรายงานขออนุมัติดำเนินการจัดซื้อ ให้แต่ละคนรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในอัตราร้อยละ ๑๕ ของจำนวนมูลค่าความเสียหายทั้งหมด อนึ่ง หากผู้ถูกฟ้องคดีได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากผู้ฟ้องคดี เมื่อนำมารวมกับจำนวนเงินที่นายวิฑูรย์ นางสมจิตร นางวินิจ และนายบุญส่งได้ชดใช้เกินจำนวนความเสียหาย ให้คืนแก่บุคคลผู้มีชื่อดังกล่าวตามสัดส่วนแห่งความรับผิดและที่ได้ชำระไว้ของแต่ละคน ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีคำสั่งที่ ๓๑๑/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ สั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงินค่าเสียหายจำนวน ๑,๑๔๘,๔๐๐ บาท ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า คำสั่งผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๓๑๑/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทางราชการเป็นเงินจำนวน ๑,๑๔๘,๔๐๐ บาท เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นตามคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีว่า ผู้ฟ้องคดีจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ทางราชการหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า มาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ กำหนดว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติข้างต้นกำหนดว่า หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงเห็นได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์ความรับผิดของเจ้าหน้าที่ในกรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ว่าหน่วยงานของรัฐจะใช้สิทธิเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ เพียงใด นั้น จะต้องพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ คดีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ผู้ฟ้องคดีได้กระทำการอันเป็นการละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลศรีพนา ได้ทำสัญญาซื้อที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๑๒๓ จำนวนเนื้อที่ ๒ ไร่ ๑ งาน ๘๓ ตารางวา จากนายประทีป ในราคา ๑,๓๖๕,๐๐๐ บาท ซึ่งการจัดซื้อที่ดินดังกล่าวเป็นการจัดซื้อเฉพาะแห่ง และจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ซึ่งตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๒๑ กำหนดว่า ก่อนดำเนินการซื้อที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้าง ให้เจ้าหน้าที่พัสดุทำรายงาน เสนอต่อผู้สั่งซื้อตามรายการดังต่อไปนี้ ... (๒) รายละเอียดของที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้างที่ต้องการซื้อ รวมทั้งเนื้อที่และท้องที่ที่ต้องการ (๓) ราคาประเมินของทางราชการในท้องที่นั้น (๔) ราคาซื้อขายของที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้างใกล้เคียงบริเวณที่จะซื้อครั้งหลังสุดประมาณ ๓ ราย ... และข้อ ๕๐ กำหนดว่า การซื้อโดยวิธีพิเศษ ให้หัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษขึ้นเพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้ ... (๖) ในกรณีพัสดุที่เป็นที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้างซึ่งจำเป็นต้องซื้อเฉพาะแห่ง ให้เชิญเจ้าของที่ดินโดยตรงมาเสนอราคา หากเห็นว่าราคาที่เสนอนั้นยังสูงกว่าราคาในท้องตลาดหรือราคาที่คณะกรรมการเห็นสมควรให้ต่อรองราคาลงเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น ในการจัดซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว จำต้องปฏิบัติตามระเบียบข้างต้น แต่จากข้อเท็จจริงตามรายงานตรวจสอบสืบสวน เรื่อง การซื้อที่ดินก่อสร้างสวนสุขภาพมีราคาสูงและไม่โปร่งใส ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ ๖ อุดรธานี และรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ปรากฏข้อเท็จจริงสอดคล้องกันว่า คณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษไม่ได้นำข้อมูลราคาประเมินที่ดินและราคาซื้อขายที่ดินใกล้เคียงบริเวณที่จะซื้อที่ดินครั้งหลังสุดจำนวน ๓ ราย ที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ดินจังหวัดหนองคาย สาขาเซกา ประกอบการพิจารณาว่า สมควรที่จะซื้อที่ดินแปลงนั้นตามราคาที่เสนอหรือไม่ อีกทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๑๒๓ เป็นที่ดินที่แบ่งแยกจากที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๙๙ ซึ่งเคยอยู่ในความครอบครองของผู้ฟ้องคดี แต่ได้ขายให้แก่นายประทีป เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ ในราคา ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ได้ทำสัญญาจะซื้อขายไว้ต่อกันโดยยังไม่มีการโอนเพราะนายประทีปยังจ่ายเงินยังไม่ครบ เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกไปจำนวน ๒ ไร่ ๑ งาน ๘๓ ตารางวา เป็น น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๑๒๓ แล้วโอนขายให้แก่นายประทีป ในราคา ๒๒๐,๐๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ โดยตามคำให้การของนายประทีปที่ได้ให้การต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ ๖ ความว่า การซื้อขายที่ดินแปลงพิพาท ผู้ถูกฟ้องคดีติดต่อผ่านนายเซีย นายเซียเป็นผู้ตั้งราคาเสนอขาย ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท แต่ยอมลดลงเหลือ ๑,๓๖๕,๐๐๐ บาท โดยตนไม่ได้ตกลงกับเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีโดยตรง เงินค่าขายที่ดินตนเป็นผู้รับเช็คจากเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี และนายเซียได้นำตนไปถอนเงินสดจากธนาคาร โดยมีนางสาวชฎาภรณ์ลูกจ้างของนายเซีย เขียนใบนำฝากเช็คเข้าธนาคารให้พร้อมกับเขียนใบถอนเงินจากธนาคารในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ตนเป็นผู้ลงลายมือชื่อผู้ถอนเงินและผู้รับเงิน เพื่อถอนเงิน ๑,๓๖๕,๐๐๐ บาท ถูกหักค่าที่ดินซึ่งตนเป็นหนี้อยู่ส่วนหนึ่ง มีเงินสดเหลือให้ตน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนเงินที่เหลือนายเซียเป็นผู้รับไปทั้งหมด ส่วนหลักฐานสัญญาซื้อขายใบต่อรองราคาระหว่างตนกับผู้ถูกฟ้องคดีเป็นลายมือชื่อของตนจริง สำหรับหลักฐานการซื้อขายที่ดินจำนวน ๒ ไร่ ๑ งาน ๘๓ ตารางวา ระหว่างตนกับผู้ฟ้องคดี ตนไม่ทราบรายละเอียด เพียงแต่ลงลายมือชื่อในเอกสารต่างๆ ตามที่นางสาวชฎาภรณ์นำมาให้และตนก็ไม่ได้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากผู้ฟ้องคดี และไม่ได้จ่ายเงินจำนวน ๒๒๐,๐๐๐ บาท ให้กับผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด ซึ่งนางสาวชฎาภรณ์ก็รับว่าได้พานายประทีปไปดำเนินการเบิกเงินที่ธนาคารจริง กรณีจึงน่าเชื่อว่า การซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวไม่มีการต่อรองราคา และเมื่อพิจารณาพฤติกรรมของผู้ฟ้องคดีแล้ว น่าเชื่อว่า การที่ผู้ฟ้องคดีขายที่ดินให้แก่นายประทีปเป็นการทำนิติกรรมอำพรางโดยผู้ฟ้องคดีมีเจตนาหลีกเลี่ยงการมีส่วนได้เสียในสัญญากับผู้ถูกฟ้องคดี ตามมาตรา ๑๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ จากข้อเท็จจริงข้างต้นจึงเห็นได้ว่า ผู้ฟ้องคดีจงใจซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างสวนสุขภาพ โดยไม่ดำเนินการตามข้อ ๒๑ (๒) (๓) (๔) และข้อ ๕๐ (๖) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๕ เมื่อการกระทำดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทางราชการด้วย ทั้งนี้ ตามมาตรา ๑๐ ประกอบมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
กรณีมีประเด็นต้องพิจารณาต่อไปว่า การกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี โดยให้ชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวน เป็นเงิน ๑,๑๔๘,๔๐๐ บาท นั้น ถูกต้องและเป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดี หรือไม่ เห็นว่า การอนุมัติให้จัดซื้อที่ดินแปลงพิพาทนั้นเป็นอำนาจของผู้ฟ้องคดี ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลศรีพนา ดังนั้น การตัดสินใจซื้อหรือไม่ย่อมอยู่ในอำนาจการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของผู้ฟ้องคดี เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีซื้อจากนายประทีป นายเซียสามีของผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เสนอราคาขายกับคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ โดยมิได้มีการต่อรองราคาไม่มีการเปรียบเทียบราคาประเมินของสำนักงานที่ดินและราคาซื้อขายที่ดินใกล้เคียงบริเวณที่จะซื้อครั้งหลังสุดประมาณ ๓ ราย ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้ฟ้องคดีแต่ได้โอนให้แก่นายประทีปเป็นการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและเพื่อให้มีการซื้อขายที่ดินราคาแพงกว่าความเป็นจริง สามีของผู้ฟ้องคดีและผู้ฟ้องคดีย่อมเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากราคาที่ดินที่แพงเกินความจริงดังกล่าวเต็มจำนวน ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้กำหนดความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยคำนวณจากส่วนต่างของราคาที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีจัดซื้อจากนายประทีปกับราคาประเมินที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ดินจังหวัดหนองคาย สาขาเซกา โดยให้ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดเต็มจำนวน คิดเป็นเงิน ๑,๑๔๘,๔๐๐ บาท และผู้ถูกฟ้องคดีได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดซื้อที่ดินที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในกรณีเดียวกันนั้น โดยกำหนดระดับความรับผิดแตกต่างกันไปตามระดับแห่งความรับผิดชอบ นอกจากนี้ ผู้ถูกฟ้องคดียังได้ระบุไว้ในคำสั่งว่า หากผู้ถูกฟ้องคดีได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากผู้ฟ้องคดีเมื่อนำมารวมกับจำนวนเงินของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดซื้อที่ดินดังกล่าวแล้วเกินจำนวนความเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดีจะคืนเงินที่ได้รับชำระไว้เกินให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามสัดส่วนแห่งความรับผิดและที่ได้ชำระไว้ของแต่ละคน จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยคำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในกรณีดังกล่าว ตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้ว ดังนั้น คำสั่งผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๓๑๑/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ ให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทางราชการเป็นเงินจำนวน ๑,๑๔๘,๔๐๐ บาท จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน
นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ตุลาการเจ้าของสำนวนและ
ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ตุลาการองค์คณะ
นายปรีชา ชวลิตธำรง
ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด
นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ตุลาการองค์คณะ
ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด
นายวิษณุ วรัญญู
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
นายนพดล เฮงเจริญ
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
ตุลาการผู้แถลงคดี : นายณัฐ รัฐอมฤต
คดีนี้มีเรื่องที่น่าสนใจ คือ
ตอบลบ๑.การทำนิติกรรมอำพราง เพื่อหลีกเลี่ยงการมีส่วนได้เสียในสัญญากับเทศบาล เพราะเป็นกรณีที่ นายกเทศมนตรีชายที่ดินให้กับเทศบาล
๒.กระบวนการดำเนินการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ ต้องมีการนำราคาที่ดินที่ซื้อขายจริง และราคาประเมิน มาใช้เป็นหลักในการเจรจราต่อรองราคาที่ดินที่จะจัดซื้อ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุ
๓.ความรับผิดทางละเมิด จำนวนเงินที่ต้องชดใช้ และผู้ที่ต้องชดใช้
น่าสนใจมากครับ