วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เมื่อวันที่ ๑๔-๑๖ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมสัมมนา ตามโครงการของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศในหัวข้อที่เกี่ยวกับ การเสริมสร้างความรู้เรื่องประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียน หรือ AEC เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ๒๕๕๘ หรืออีก ๓ ปีข้างหน้า

ประเด็นที่น่าสนใจของการเข้าร่วมประชุมสัมมนา ในครั้งนี้ ก็คือ โจทย์ที่ว่า เมื่อเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว คนในชุมชนของท้องถิ่นจะได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์อย่างไร เพราะเป็นที่แน่นอนว่า บรรดาบริษัทใหญ่ๆ ทุนเยอะๆย่อมได้รับประโยชน์อย่างแน่นอนอยู่แล้ว แต่ประชาชนคนรากหญ้า โดยเฉพาะคนในชนบทที่อยู่ใน อบต. อยู่ในเทศบาลทั่วประเทศ และโดยเฉพาะคนที่อยู่ขอบตะเข็บชายแดนอย่างในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จะได้รับประโยชน์อย่างไร

การสัมมนาเริ่มที่การให้ความรู้ที่ว่าเมื่อเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้วจะเกิดอะไร
 - ประเด็นแรกที่เกิดคือ ตลาดการค้าเสรี การค้าในตลาดระหว่างประเทศในอาเซียน จะมีความเป็นเสรีมากขึ้น โดยไม่ถูกจำกัดด้วยอัตราภาษี และข้อจำกัดทางการค้า การเคลื่อนย้ายของสินค้าและบริการระหว่างกันจะเป็นไปโดยสะดวกมากยิ่งขึ้น
 - ประเด็นที่สอง การลงทุนและการเคลื่อนย้ายของทุนจะมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ทุนและการลงทุนระหว่างประเทศจะสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก ดังนั้นจึงอาจมีทั้งการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และทุนในประเทศไทยเคลื่อนย้ายไปลงทุนในประเทศอื่นที่เป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อัตราค่าแรงงาน สาธารณูปโภค สถานการณ์ทางการเมือง ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เป็นต้น
 - ประเด็นที่สาม การเคลื่อนย้ายแรงงานจะมีความเป็นอิสระเสรีมากขึ้น ในขั้นต้นแรงงานที่สามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานในประเทศต่างๆ ไม่ได้หมายความถึงแรงงานที่ขาดทักษะ หรือแรงงานไร้ฝีมือ แต่เป็นแรงงานที่มีทักษะวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก เป็นต้น

นี่คือประเด็นหลักๆที่จะเกิดขึ้นในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคต ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราต้องมาแยกประเด็นวิเคราะห์ผลกระทบทั้งทางด้านลบและด้านบวกที่จะเกิดขึ้นกับคนในชุมชนของเราต่อไปในอนาคต

ตลาดเสรี ผลกระทบที่จะตามมาก็คือ สินค้าแปลกๆใหม่จะถูกนำเข้ามาขายในตลาดภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งสินค้าบางอย่างอาจมีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ อันเนื่องมาจากปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตสินค้าในประเทศนั้นๆ เช่น ค่าแรงงานที่ถูกกว่า ปัจจัยการผลิตที่หาได้ง่ายกว่าเป็นต้น สิ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องดำเนินการหรือเข้ามามีบทบาท ก็คือในเรื่องของการคุ้มครองผุ้บริโภค ให้ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าและบริการ ได้รับความปลอดภัยในการใช้สินค้าและบริการ ซึ่งภารกิจการคุ้มครองผู้บริโภคนี้ก็เป็นภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนจากสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว เนื่องจากในหลักการของตลาดการค้าเสรี ต้องไม่ถูกจำกัดด้วยมาตรการทางภาษีและมาตรการอื่นๆ แต่สิ่งที่ประเทศต่างๆยินยอมให้มีการจำกัดได้ ด็ต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยของประชาชน

ในส่วนของการส่งเสริมสินค้าเพื่อการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นผลิตผลทางการเกษตร สินค้าที่ผลิตในชุมชน โอทอป สิ่งที่ต้องทำก็คือการให้ความรู้ในเรื่องของกฎกติกา และมาตรฐานของสินค้าแต่ละประเภทของแต่ประเภทที่มีกำหนดไว้ เพื่อการคุ้มครองสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของคนของตน เพื่อจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องสอดคล้องกับมาตรฐานของแต่ละประเทศที่จะเป็นคู่ค้า

ในเรื่องของทุน ท้องถิ่นเองอาจจะไม่มีขีดความสามารถในการส่งเสริมการไปลงทุนในต่างประเทศ แต่ก็มีขีดความสามารถในการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ด้วยมาตรการ และอำนาจหน้าที่ที่ตนเองมีอยู่ เช่น ในเรื่องของการจัดวางผังเมือง การกำหนดเขตต่างๆให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในเมือง เช่นในเมืองควรมีอุตสาหกรรม หรือไม่ประเภทใด ควรอยู่ในโซนไหน จึงจะไม่ไก่อให้เกิดปัญหาความเดือดร้อนของผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง การวางระบบเส้นทางคมนาคมขนส่ง ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย หรือในท้องถิ่นที่มีแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่สวยงามก็ต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวธรรมชาติ ในท้องถิ่นที่มีสิ่งก่อสร้างทางศิลปวัฒนธรรม หรือมีเรื่องราว ประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ก็นำสิ่งเหล่านี้มาลงทุน สร้างจุดขาย เป็นต้น

ในด้านของแรงงาน ท้องถิ่นก็ต้องเป็นผู้ดำเนินการเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานในด้านของการฝึกทักษะ หรือเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถให้กับแรงงาน ให้เป็นผู้มีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานในระดับนานาชาติ เช่น ท้องถิ่นที่มีโรงเรียน ก็อาจจะต้องเตรียมความพร้อมให้กับเด้กนักเรียน ในด้านของภาษาที่สอง เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาที่สาม เช่นภาษาของอาเซียน เป็นต้น ต่อไปในอนาคต เราต้องเตรียมความพร้อมของคนจากคนสัญาชาติไทย เชื้อชาติไทย ไปสู่คนสัฐชาติไทย เชื้อชาติอาเซียน ก็เป็นได้

วันนี้เราบอกว่ายังมีเวลา แต่คิดว่าคงมีเวลาอีกไม่มากในการเตรียมตัว คนที่จะได้รับประโยชน์ก็คือคนที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว หรือคนที่พร้อมแล้วนั่นเอง วันนี้บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคงต้องขยายบทบาทของตนเองจากคนกวาดถนน สร้างถนน ซ่อมไฟถนน ไปสู่บทบาทใหม่ นั่นคือบทบาทของ ผู้เตรียมการหรือผู้เตรียมความพร้อมให้กับคนในท้องถิ่น ซึ่งมีผู้เปรียบเทียบว่า คนในท้องถิ่นของเราทุกวันนี้ เหมือนเรือแจวหรือพาย ซึ่งกำลังถูกเข็นให้ออกไปสู่ทะเลใหญ่ ในนามของอาเซียน แล้วจะไปรอดหรือ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกัน เราคงต้องมานั่งคิดกันต่อไปว่าถ้าเรือเรายังเล้ก ยังไม่สามารถต่อสู้พายุใหญ่ได้ เราจะพุ่งออกทะเลท่าเดียว หรือจะเลาะริมหาดชายทะเล ไปก่อน คงต้องคิดดีๆนะครับ

ข้อเขียนนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว เพื่อนำเสนอให้ผู้สนใจได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เท่านั้น ในรายละเอียดเรื่องนี้ยังมีแง่มุมและแนวคิดต่างๆอีกมากมายครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น