วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

“จำเรียง -อีโดกวังจาน” สะพาน ... ขาด ป้ายเตือนอยู่ไหน ... ครับ !



จำเรียง -อีโดกวังจานสะพาน ... ขาด   ป้ายเตือนอยู่ไหน ... ครับ !

(หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม 2555)

คดีปกครองที่จะนำมาเล่านี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับองค์การบริหารส่วนตำบลละเลยต่อหน้าที่ ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและซ่อมบำรุงรักษาถนนหนทางที่สัญจรไปมาทำให้ประชาชนได้รับอันตราย แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดให้มีป้ายเตือนให้ระวังทางชำรุดแต่ไม่เพียงพอที่จะป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุ จากการใช้ถนนได้

เรื่องมีอยู่ว่าผู้ฟ้องคดีใช้ให้นาย ก. ขับรถยนต์ของตนซึ่งอยู่ระหว่างการผ่อนชำระตามสัญญาเช่าซื้อไปส่งของที่บ้าน เมื่อนาย ก. ขับรถผ่านเส้นทางทางหลวงชนบท สาย พช 2066 จำเรียง -อีโดกวังจาน ในเวลาประมาณ 23 นาฬิกา ปรากฏว่านาย ก. ไม่ทราบว่าสะพานข้ามแม่น้ำป่าสักขาด เนื่องจากไม่มีการปิดทางบริเวณก่อนถึงสะพาน เพื่อป้องกันมิให้รถสัญจรผ่านไปถึงสะพานได้ ทำให้รถที่อยู่ในความครอบครองของผู้ฟ้องคดีคันดังกล่าวตกลงไปในแม่น้ำได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดี (องค์การบริหารส่วนตำบล) ชดใช้ค่าเสียหาย แต่ถูกปฏิเสธความรับผิด

ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยและเรียกค่าเสียหายจากการที่ไม่อาจใช้ประโยชน์จากรถยนต์พิพาทได้ ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่า ได้จัดทำป้ายเตือนขนาดใหญ่ความว่า อันตรายสะพานขาดขวางทาง เข้าถนนสาย พช 2066 สามารถมองเห็นได้ชัดเจน แต่ผู้ขับขี่เมาสุราจึงขับรถผ่านป้ายเตือน แสดงว่าผู้ฟ้องคดีสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยด้วยตนอง และผู้ฟ้องคดีเป็นเพียงผู้ให้นาย ก. ยืมรถไปใช้จนเกิดความเสียหาย นาย ก. ต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้เดือดร้อนหรือเสียหายที่จะฟ้องคดีได้

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลหรือไม่ ?

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ยังไม่ครบ แต่ก็มีสิทธิจะยึดถือรถยนต์และใช้ประโยชน์ในฐานะผู้เช่าซื้อได้ ตลอดจนมีหน้าที่ดูแลรักษารถยนต์ให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดี และเมื่อได้ใช้เงินครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว รถยนต์ย่อมตกเป็นสิทธิแก่ผู้ฟ้องคดี หรือหากเลิกสัญญาเช่าซื้อก็ต้องส่งรถยนต์คืนให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อในสภาพเดิม ฉะนั้น เมื่อรถยนต์เสียหายและขาดประโยชน์จากการใช้ และผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ความเสียหายเช่นว่านี้เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการงดเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดี และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่เกิดแก่รถยนต์และจากการขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์จำต้องมีคำบังคับของศาลตามที่กำหนดในมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.. 2542 โดยการสั่งให้ผู้ฟ้องคดีใช้เงินหรือให้ส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดี

และนาย ก. เป็นเพียงผู้ขับขี่รถยนต์ตามที่ผู้ฟ้องคดีมอบหมายและมิใช่กรณีการยืมใช้คงรูป ตามมาตรา 640 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น นาย ก. ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้

ส่วนการกระทำขององค์การบริหารส่วนตำบลเป็นการละเลยต่อหน้าที่หรือไม่

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีตั้งป้ายเตือนสะพานขาดบริเวณปากทางสาย พช 2066 จำเรียง -อีโดกวังจาน ซึ่งห่างจากสะพานที่เกิดเหตุประมาณ 2 กิโลเมตร ถึง 3 กิโลเมตร เพียงป้ายเดียวนั้น แสดงถึงความไม่ใส่ใจที่จะป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้กับประชาชนทั่วไป และการที่ละเลยไม่ปิดทางบริเวณก่อนถึงสะพานที่เกิดเหตุเพื่อป้องกันมิให้มีการสัญจรผ่านไปถึงสะพานได้นั้น ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ยังไม่พอสมควรแก่เหตุ และไม่ปรากฏว่าตั้งแต่สะพานขาดจนถึงวันที่รถยนต์ของผู้ฟ้องคดี ตกสะพาน ผู้ถูกฟ้องคดีได้ดำเนินการใดๆ ในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อซ่อมแซมสะพานให้ใช้ได้ดีดังเดิม จึงเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและและซ่อมแซม บำรุงรักษาทางซึ่งเป็นหน้าที่ตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.. 2537 ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีในผลแห่งละเมิด

อย่างไรก็ดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีจัดทำ ป้ายเตือนขนาดใหญ่ สามารถมองเห็นได้ชัดเจนตั้งขวางปากทาง ให้เหลือช่องทางเดินรถเพียงหนึ่งช่องทาง หากนาย ก. มีความระมัดระวังในการขับรถย่อมสังเกตเห็นป้ายเตือน อุบัติเหตุดังกล่าวจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนาย ก. รวมอยู่ด้วย แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีผลมาจาก การละเลยต่อหน้าที่ของผู้ถูกฟ้ องคดีมากกว่าความประมาทเลินเล่อของนาย ก. จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมรถยนต์ในอัตราร้อยละแปดสิบ ของราคาค่าซ่อม ค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีไม่อาจใช้ประโยชน์จากรถยนต์พิพาท และค่าเสียหายจากการว่าจ้างรถยนต์ผู้อื่น มาใช้แทน เนื่องจากไม่ได้ใช้รถยนต์ในการขายสินค้า (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 33/2554)

คดีนี้จึงเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับหน่วยงานทางปกครองที่มีหน้าที่ดูแลและบำรุงรักษาถนนหนทาง ทั้งทางบก ทางน้ำว่าจะต้องเอาใจใส่สอดส่องและซ่อมแซมให้ถนนหนทางอยู่ในสภาพที่ประชาชนผู้สัญจรไปมา สามารถใช้ได้ดีตลอดเวลา และถึงแม้จะได้ดำเนินการเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนั้นแล้ว ก็ควรที่จะต้อง พินิจพิจารณาว่าเพียงพอที่จะป้องกันมิให้เกิดอันตรายขึ้นหรือไม่ ส่วนผู้ที่ใช้ถนนหนทางสัญจรไปมาก็ควรที่จะใช้ ความระมัดระวัง เพราะที่สุดแล้วหากอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากความไม่ระมัดระวังของผู้ใช้ถนนหนทางเองก็ถือเป็น ผู้มีส่วนร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย ครับ!

นายปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น