วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การเสียภาษีบำรุงท้องที่ของสนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

เปิดคำวินิจฉัยกฤษฎีกา การเสียภาษีบำรุงท้องที่ของสนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 21:46:00 น.


มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อไม่นานมานี้ กรุงเทพมหานครได้มีหนังสือ  ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า  ด้วยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้มีหนังสือขอลดหย่อนเนื้อที่ดินในการชำระภาษีบำรุงท้องที่ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยให้เหตุผลว่าได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สิน ฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙  และกรุงเทพมหานครได้หารือกระทรวงมหาดไทย  กรณีที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งจัดให้หน่วยงานต่าง ๆ เช่าเพื่อใช้ประโยชน์ เป็นสถานพยาบาล สถานการศึกษา องค์กรการกุศล สวนสาธารณะ ศาสนกิจ ศาสนสถาน และสถานทูต เข้าข่ายได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ หรือไม่
 

กระทรวง มหาดไทยได้แจ้งว่าเจตนารมณ์ของมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ฯ กำหนดให้ที่ดินที่ใช้เฉพาะในกิจการหรือเป็นที่ตั้งของกิจการที่กำหนดไว้ตาม มาตรา ๘ (๑) ถึง (๑๒) ไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งเป็นหลักการที่คำนึงถึงตัวทรัพย์ที่เป็นที่ดินเป็นหลักไม่ว่าเจ้าของ ที่ดินจะนำไปใช้เองหรือให้บุคคลอื่นนำไปใช้ก็ตามโดยไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ตัว เจ้าของที่ดิน


ส่วน เจ้าของที่ดินจะมีรายได้อย่างใดก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่เจ้าของที่ดินมี หน้าที่ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ประเภทบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลตามประมวล รัษฎากร เมื่อปรากฏว่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้นำที่ดินไปให้ หน่วยงานต่าง ๆ เช่าเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการ ตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ฯ เช่น กรณีกิจการสาธารณะ ศาสนกิจและศาสนสถาน โดยมิได้หาผลประโยชน์ หรือกรณีกิจการสถานพยาบาล สถานการศึกษา องค์กรการกุศล และสถานทูต ไม่ว่าที่ดินดังกล่าวจะนำไปหาผลประโยชน์หรือไม่ก็ตาม เจ้าของที่ดิน (สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ก็ย่อมได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่  อีกทั้งมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ ก็ได้บัญญัติให้ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ที่เป็นทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติ ของแผ่นดินและทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้รับการยกเว้นจากการเก็บภาษี อากรไว้เช่นเดียวกัน


กรุงเทพมหานครได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ฯ มีเจตนารมณ์ให้เจ้าของที่ดินมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ตามมาตรา ๗ จึงต้องถือว่ากรณีนี้เป็นหลักของกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่ ส่วนข้อยกเว้นอยู่ในมาตรา ๘ ประกอบกับกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่เป็นกฎหมายมหาชน จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด หากกฎหมายไม่บัญญัติไว้ย่อมไม่มีอำนาจกระทำได้การตีความเกินกว่าตัวบทที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้น เมื่อบทบัญญัติมาตรา ๘ (๒) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ฯ ไม่ได้บัญญัติว่า หากเจ้าของที่ดินนำที่ดินให้ผู้อื่นเช่าเพื่อใช้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือที่ดินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐหรือสาธารณะโดยมิได้หาผลประโยชน์ หรือใช้ที่ดินในกิจการพยาบาลสาธารณะ การศึกษา หรือการกุศลสาธารณะแล้ว เจ้าของที่ดินไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่  จากเหตุผลในการพิจารณาหลักการตีความดังกล่าว จึงมีความเห็น ดังนี้


(๑) กรณีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ทำสัญญาให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรีเช่าที่ดินเพื่อเป็นที่ตั้งสถานศึกษาซึ่งตามพระราชบัญญัติ ภาษีบำรุงท้องที่ฯ มาตรา ๘ (๔) กำหนดว่าเจ้าของที่ดินไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินที่ใช้เฉพาะ การพยาบาลสาธารณะ การศึกษา หรือการกุศลสาธารณะ  เมื่อปรากฏว่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้นำที่ดินดังกล่าวออก ให้เช่าเพื่อใช้เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยโดยมีผลประโยชน์เป็นค่าเช่า ซึ่งกิจการดังกล่าวไม่ใช่กิจการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดย ตรง  กรณีนี้ถือได้ว่าเป็นการหาผลประโยชน์จากที่ดิน จึงไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามมาตรา ๘ (๔) และอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ฯ

(๒) กรณีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ทำสัญญาให้กรุงเทพมหานครเช่า ที่ดินเพื่อเป็นสวนสาธารณะ สวนธนบุรีรมย์ ซึ่งตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ฯ มาตรา ๘ (๒) กำหนดว่าเจ้าของที่ดินไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินที่เป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐหรือสาธารณะโดย มิได้หาผลประโยชน์ เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายเห็นว่า แม้ที่ดินเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือใช้ในกิจการของรัฐหรือสาธารณะ

ถ้าได้รับ ผลประโยชน์จากที่ดินนั้น ย่อมต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่เช่นเดียวกันกับที่ดินของบุคคลทั่วไป และการที่จะได้รับยกเว้นไม่เสียภาษีบำรุงท้องที่ ต้องปรากฏว่าไม่ได้รับผลประโยชน์จากที่ดินดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้นำที่ดินดังกล่าวออก ให้เช่าเพื่อใช้เป็นที่ตั้งสวนสาธารณะโดยมีผลประโยชน์เป็นค่าเช่าซึ่งกิจการ ดังกล่าวไม่ใช่กิจการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยตรง  กรณีนี้ถือได้ว่าเป็นการหาผลประโยชน์จากที่ดิน จึงไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามมาตรา ๘ (๒) และอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ฯ ด้วยเช่นกัน

 สำหรับความเห็นของกระทรวง มหาดไทยเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ฯ นั้น กรุงเทพมหานครเห็นว่าส่งผลต่อการตีความพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๙ (๒) ซึ่งกำหนดให้ทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะได้รับยก เว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินด้วยเนื่องจากพระราชบัญญัติภาษีบำรุง ท้องที่ฯ และพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ เป็นกฎหมายมหาชนเหมือนกัน และเป็นกฎหมายที่มุ่งเน้นในการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินเหมือนกัน 


ดัง นั้น การตีความกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน จึงต้องใช้หลักการตีความโดยเคร่งครัดเช่นเดียวกับกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่  ดังนั้น เพื่อให้กรณีดังกล่าวข้างต้นมีข้อยุติ จึงขอหารือในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติใน การจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่พ.ศ. ๒๕๐๘


คณะ กรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๒) ได้พิจารณาข้อหารือของกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครองและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) ผู้แทนกรุงเทพมหานคร และผู้แทนสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า  พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ได้กำหนดให้แยกทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ออกเป็น ๓ ประเภท คือ ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนพระองค์ โดยในส่วนของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่นอกเหนือไปจากที่เป็นเครื่อง อุปโภคบริโภคนั้น มาตรา ๕ วรรคสองได้กำหนดให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นหน่วยงานหลักที่ มีหน้าที่ดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์ในกองทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ มีไว้เพื่อใช้จ่ายสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ

สำหรับ การเสียภาษีอากรของทรัพย์สินทั้งสามประเภทนั้นได้มีการบัญญัติไว้ในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ฯ  ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ย่อมได้รับยกเว้นจากการเก็บภาษี อากรเช่นเดียวกับทรัพย์สินของแผ่นดินแต่ในเรื่องการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ หากเป็นกรณีทั่วไปย่อมต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ ดังนั้น การกำหนดให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้รับยกเว้นจากการเก็บภาษีอากรเช่น เดียวกับทรัพย์สินของแผ่นดินตามมาตรา๘ วรรคสอง ย่อมหมายความว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะเช่นเดียวกันกับทรัพย์สินของแผ่นดิน  ทรัพย์สินของแผ่นดินได้รับการยกเว้นจากการเสียภาษีอากรเพียงใด ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็ได้รับการยกเว้นเพียงนั้น

ถ้าทรัพย์สิน ของแผ่นดินไม่ได้รับยกเว้น ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้รับยกเว้นเช่นกัน ดังที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (อนุกรรมการร่างกฎหมาย ชุดที่ ๑) ได้เคยให้ความเห็นไว้แล้ว   นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือชี้แจงเพิ่มเติมถึงผู้อำนวยการ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ว่า มาตรา ๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ เป็นกฎหมายแม่บทที่ต้องนำมาใช้บังคับในทุกกรณี ถึงจะมีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีฉบับใดในภายหลังกล่าวถึงยกเว้นไม่เก็บภาษีและใน คำยกเว้นนั้นมิได้ระบุถึงทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ไว้ก็ตามมิใช่จะหมาย ความว่าทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะไม่ได้รับการยกเว้นและต้องเสียภาษี นั้น ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คงไม่ต้องเสียภาษีใหม่นี้อยู่นั่นเอง 

ทั้ง นี้ เพราะได้รับการยกเว้นเป็นการทั่วไปไว้ในพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สิน ฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ แล้ว ทำให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้รับการยกเว้นจากการเก็บภาษีอากรทั้ง ภาษีอากรที่จัดเก็บอยู่หรือภาษีอากรที่จะมีกฎหมายตราขึ้นให้จัดเก็บต่อไปภาย หน้าด้วยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงไม่ต้องเสียภาษีอากรใด ๆ ไม่ว่าที่เรียกเก็บอยู่ขณะนี้หรือจะมีมาในภายหน้า
 

อย่าง ไรก็ตาม ไม่อาจกล่าวได้ว่าเมื่อเป็นที่ดินที่เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แล้วจะ ได้รับยกเว้นภาษีบำรุงท้องที่ในทุกกรณีเนื่องจากทรัพย์สินของแผ่นดินก็ยังมี บางกรณีที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่  การจะพิจารณาว่าที่ดินที่เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ใดจะต้องเสียภาษี บำรุงท้องที่หรือไม่จึงต้องพิจารณาจากพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ฯประกอบ ด้วย  คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๒) จึงมีความเห็นในแต่ละประเด็นดังต่อไปนี้

ประเด็นที่หนึ่ง  ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหา กษัตริย์จัดให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเช่าที่ดินเพื่อใช้ เป็นที่ตั้งสถานศึกษาจะต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามมาตรา๘ (๔)แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ หรือไม่  เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา ๘ (๔) แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ฯ กำหนดให้เจ้าของที่ดินไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินที่ใช้เฉพาะ การพยาบาลสาธารณะ การศึกษา หรือการกุศลสาธารณะ แต่มิได้บัญญัติว่าที่ดินดังกล่าวจะต้องเป็นที่ดินของบุคคลใด 

ฉะนั้น ไม่ว่าที่ดินนั้นจะเป็นที่ดินของบุคคลใดก็ตาม หากใช้เพื่อการพยาบาลสาธารณะ การศึกษา หรือการกุศลสาธารณะแล้ว ย่อมอยู่ในข่ายได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าที่ดินดังกล่าวนั้นเจ้าของจะเป็นผู้ใช้เพื่อกิจการนั้น ด้วยตนเองหรือมอบให้ผู้อื่นใช้เพื่อกิจการนั้นประกอบกับในช่องหมายเหตุ (๑) ของบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ตามมาตรา ๗ ท้ายพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ บัญญัติว่า "ที่ดินที่ใช้ประกอบการกสิกรรมเฉพาะประเภทไม้ล้มลุกให้เสียกึ่งอัตรา แต่ถ้าเจ้าของที่ดินประกอบการกสิกรรมประเภทไม้ล้มลุกนั้นด้วยตนเอง ให้เสียอย่างสูงไม่เกินไร่ละ ๕ บาท" แสดงให้เห็นว่าอาจมีกรณีที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าของที่ดินเป็นผู้ใช้ ที่ดินก็ได้ จึงได้กำหนดอัตราภาษีบำรุงท้องที่ที่แตกต่างกัน หรืออีกนัยหนึ่งกฎหมายมิได้เจาะจงว่าจะต้องเป็นที่ดินที่เจ้าของใช้เพื่อ กิจการนั้นด้วยตนเอง แต่ถือเอาลักษณะของการใช้เป็นสำคัญ ซึ่งในเรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๗) ได้เคยให้ความเห็นไว้ด้วยแล้ว


ดัง นั้น กรณีที่ดินที่เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งจัดให้มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเช่าที่ดินเพื่อใช้เป็นที่ตั้งสถานศึกษาจึงเป็น การใช้ที่ดินเพื่อการศึกษาตามมาตรา๘ (๔)แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ฯ  สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้อง ที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว


ประเด็นที่สอง  ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหา กษัตริย์จัดให้กรุงเทพมหานครเช่าที่ดินเพื่อใช้เป็นที่ตั้งสวนสาธารณะจะต้อง เสียภาษีบำรุงท้องที่ตามมาตรา๘ (๒)แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ หรือไม่  เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นที่หนึ่งแล้วว่า การได้รับยกเว้นภาษีบำรุงท้องที่ตามมาตรา ๘ มุ่งพิจารณาจากการใช้ประโยชน์ในตัวที่ดินเป็นหลัก โดยมิได้กำหนดว่าเจ้าของที่ดินจะต้องเป็นผู้ใช้ที่ดินดำเนินกิจการต่าง ๆ ด้วยตนเอง  ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากลักษณะการใช้ประโยชน์ของที่ดินแล้ว ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งจัดให้กรุงเทพมหานครเช่า ที่ดินเพื่อใช้เป็นที่ตั้งสวนสาธารณะเพื่อพักผ่อนหย่อนใจย่อมเป็นการใช้ ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณะโดยมิได้หาผลประโยชน์ และโดยที่กรณีนี้หากเป็นที่ดินของรัฐอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้ใน กิจการของรัฐหรือสาธารณะโดยมิได้หาผลประโยชน์แล้วก็จะได้รับยกเว้นภาษีบำรุง ท้องที่ตามมาตรา๘ (๒) แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ฯ  ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งได้รับยกเว้นจากการเก็บภาษีอากรเช่นเดียว กับทรัพย์สินของแผ่นดินจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ด้วย

อนึ่ง โดยที่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า  การที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้นำที่ดินที่เป็นทรัพย์สินส่วน พระมหากษัตริย์ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและกรุงเทพมหานคร เช่านั้นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะได้รับค่าเช่าตอบแทน  กรณีการได้รับค่าเช่าดังกล่าวจะทำให้เจ้าของที่ดินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรง เรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพุทธศักราช ๒๔๗๕ หรือไม่ ย่อมต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน

-------------------
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๒)นายพนัส สิมะเสถียร ประธานกรรมการ
นายบดี จุณณานนท์ กรรมการ
คุณพรทิพย์ จาละ กรรมการ
นายสมชัย ฤชุพันธุ์ กรรมการ
นายปัญญา ถนอมรอด กรรมการ
นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ กรรมการ
นายธานิศ เกศวพิทักษ์ กรรมการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น