วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ขอใช้รถไปราชการ ... แต่แวะผ่านงานศพ !


ขอใช้รถไปราชการ ... แต่แวะผ่านงานศพ !

(หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน 2555) 

คดีที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ เป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะผู้ที่ขออนุญาตใช้รถยนต์ของราชการไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ แต่ได้นำรถยนต์ไปทำธุระอย่างอื่นซึ่งมิใช่ในหน้าที่ราชการด้วยเห็นว่าเป็นเส้นทางผ่านพอดี หรืออยู่ใกล้กับสถานที่ที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่แล้ว และได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นในระหว่างนั้น
เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นกับรถยนต์ของทางราชการผู้ขออนุญาตต้องรับผิดหรือไม่

ข้อเท็จจริงในคดีนี้มีอยู่ว่า นาย ก. รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัย (ผู้ฟ้องคดี) ได้ขออนุญาต ใช้รถยนต์ของวิทยาลัย นำคณะครูและเจ้าหน้าที่ ไปศึกษาดูงานที่วิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด แต่เมื่อดูงานเสร็จ นาย ก. และคณะไม่ได้เดินทางกลับทันที แต่แวะไปงานศพมารดาของครูวิทยาลัยเดียวกัน หลังจากนั้น ระหว่างเดินทางกลับ รถยนต์เกิดอุบัติเหตุลื่นไถลชนกับเนินดิน รั้วบ้านและท่อประปาหมู่บ้านทำให้รถยนต์ได้รับ ความเสียหาย 

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (ผู้ถูกฟ้องคดี) จึงมีคำสั่งให้นาย ก. ชำระค่าเสียหาย เป็นเงิน 213,625.50 บาท ตามความเห็นของกระทรวงการคลังว่า การที่นาย ก. ขออนุญาตนำรถยนต์ไปราชการและ ไปงานศพต่อ ไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นนาย ก. ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทางราชการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นมิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.. 2539 

นาย ก. เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการแวะเคารพศพมารดา ของผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจแก่บุคลากร มีประโยชน์ในการพัฒนาองค์กร และเป็นเส้นทาง ที่รถผ่านอยู่แล้ว อีกทั้ง อุบัติเหตุเกิดขึ้นเพราะฝนตกถนนลื่นและทางโค้ง สถานที่เกิดเหตุก็ไม่ใช่บริเวณงานศพ จึงฟ้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนคาสั่งดังกล่าว

การขออนุญาตใช้รถในคดีนี้ถือเป็นการใช้รถในการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือไม่ ?
ซึ่งตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.. 2539 หากการกระทำละเมิด เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น 

แต่หากมิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่จะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งก็หมายความว่าไม่ว่าจะกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือประมาทเลินเล่อธรรมดา เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดเป็นการเฉพาะตัวและรับผิดในความเสียหายเต็มจำนวนอย่างสิ้นเชิง 

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า แม้นาย ก. จะได้รับอนุญาตให้นำคณะครูและเจ้าหน้าที่ ไปศึกษาดูงาน ที่วิทยาลัยอื่น แต่เมื่อพิจารณาขั้นตอนการขออนุญาตโดยนาย ก. มีบันทึกลงวันที่ 7 สิงหาคม 2544 ขออนุญาตไปดูงาน ซึ่งเป็นเวลาที่กระชั้นชิดกับการเดินทางไปศึกษาดูงานวันที่ 10 สิงหาคม 2544 และไม่ปรากฏหลักฐานการจัดเตรียมแผนงานในการศึกษาดูงาน ประกอบกับมีบันทึกประสานไปยังสถานที่ที่จะดูงานก่อนวันเดินทางเพียงหนึ่งวัน อีกทั้ง ไม่ปรากฏว่างานที่นาย ก. รับผิดชอบมีปัญหาอุปสรรค อันจะมีเหตุผลถึงขนาดที่ต้อง ไปศึกษาดูงานดังกล่าว และเดินทางไปถึงสถานที่ดูงานในช่วงเวลาเย็น และใช้เวลาศึกษาดูงานไม่ถึงชั่วโมง แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติในการเดินทางไกลเพื่อไปศึกษาดูงานอย่างชัดเจน ประกอบกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งร่วมเดินทางไปด้วยให้การว่า การเดินทางไปศึกษาดูงานครั้งนี้ มีเจตนาที่แท้จริงคือ ต้องการไปงานศพพร้อมกับได้นำเงินทำบุญพร้อมของถวายพระไปด้วย
 
การขออนุญาตใช้รถยนต์จึงมีวัตถุประสงค์ที่แท้จริง คือ ต้องการใช้รถยนต์เพื่อไปงานศพ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ 

ดังนั้น เมื่อระหว่างเดินทางกลับ รถยนต์ได้เกิดอุบัติเหตุเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย นาย ก. จึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดเป็นการส่วนตัว ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.. 2539 เมื่อรถยนต์ได้รับ ความเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 213,625.50 บาท ผู้ฟ้องคดีจึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายเต็มตามจำนวนค่าเสียหาย ที่แท้จริง คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายจึงชอบแล้ว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 15/2555) 

คดีนี้จึงเป็นอุทาหรณ์สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งผู้ขออนุญาตใช้รถยนต์ของทางราชการหรือ ผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลรถยนต์ของทางราชการว่า จะต้องใช้รถยนต์ของราชการเพื่อประโยชน์ของราชการเท่านั้น และหากแม้ได้ใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการแล้ว ก็ควรจะรีบส่งรถยนต์คืนให้ราชการเสียโดยเร็ว มิใช่นำรถไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวในเรื่องอื่นๆ เพราะหากเกิดความเสียหายขึ้นอาจต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ... ครับ !

นายปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น