(หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คอลัมน์คดีปกครอง ฉบับวันเสาร์ที่
5 พฤษภาคม 2555)
ปรับภูมิทัศน์ริมน้ำ ... รุกล้ำที่งอกริมตลิ่ง
!
คดีปกครองที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้
เป็นเรื่องเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองได้ทำการ ปรับภูมิทัศน์ริมแม่น้ำในที่ดิน ซึ่งเจ้าของที่ดินอ้างว่าเป็น
“ที่งอกริมตลิ่ง”
แต่หน่วยงานทางปกครองเห็นว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์เพราะเป็น
“ที่ชายตลิ่ง”
ทำให้เจ้าของที่ดินนั้นได้รับความเสียหายและนำคดีมาฟ้องต่อ
ศาลปกครอง
เรื่องมีอยู่ว่า ... ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่
131 มีอาณาเขตที่ดินด้าน ทิศตะวันตกติดแม่น้ำปิง ต่อมาที่ดินดังกล่าวมีที่งอกริมตลิ่งเกิดขึ้น
โดยปู่ของผู้ฟ้องคดีได้แจ้งการครอบครอง ที่งอกนั้นไว้ตาม ส.ค.
1 และผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินในที่งอกริมตลิ่งดังกล่าว
ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานที่ดิน
ผู้ถูกฟ้องคดี (เทศบาล) ได้จัดทำโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออก
โดยการก่อสร้างเขื่อนกันดิน ทางเดินเท้า ปลูกหญ้า และต้นไม้ ซึ่งมีส่วนที่จะต้องดำเนินการในที่ดินของเอกชนหลายคนรวมถึงที่ดินผู้ฟ้องคดีด้วย
โดยที่ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้ให้ความยินยอม
แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่าพื้นที่พิพาทดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินของผู้ฟ้องคดีแต่เป็นที่สาธารณประโยชน์
เพราะอาณาเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดตรง “หลักหมุด” จึงได้ดำเนินการต่อไปจนแล้วเสร็จ
โดยมีการตอกเสาเข็ม ทำให้บ้านของผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย
ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1308 บัญญัติว่า ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของที่ดินแปลงนั้น
ซึ่งตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้และคำพิพากษาศาลฎีกา
ได้ให้ความหมายของ “ที่งอกริมตลิ่ง” หมายถึง ที่ดินที่งอกไปจากตลิ่งตามธรรมชาติซึ่งเกิดจากการที่สายน้ำพัดพาที่ดินจากที่อื่นมาทับถมกันริมตลิ่งจนเกิดที่งอกขึ้น
มิใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาตลิ่ง และที่งอกริมตลิ่งน้ำท่วมไม่ถึง
ส่วน “ที่ชายตลิ่ง” หมายถึง ที่ชายตลิ่งที่เวลาน้ำขึ้นตามปกติจะท่วมถึง
ดังนั้น
จึงเป็นปัญหาว่าที่ดินพิพาทที่หน่วยงานทางปกครองทำการปรับภูมิทัศน์เป็น “ที่งอกริมตลิ่ง”
หรือ “ที่ชายตลิ่ง” เพราะหากเป็นที่งอกริมตลิ่งที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว
และการที่หน่วยงานทางปกครองปรับภูมิทัศน์รุกล้ำที่ดินย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า
โดยสภาพเดิมของพื้นที่ก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะเข้าไปปลูกสร้างตามโครงการมีพื้นดินระดับเดียวกับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 131 มีต้นไม้ใหญ่และวัชพืชขึ้นปกคลุมหนาแน่น
ประกอบกับ ส.ค. 1 ที่ทางราชการออกให้ตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2498 ระบุว่าทิศตะวันตกจดฝั่งแม่น้ำปิง
และไม่มีพยานให้การในทางอื่น จึงเชื่อว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติงอกไปจากตลิ่ง
มิใช่เกิดจากแม่น้ำปิงตื้นเขิน หรือเกิดจาก การกระทำของมนุษย์ ที่ดินดังกล่าวจึงมีสภาพเป็นที่งอกริมตลิ่ง
เมื่อที่งอกริมตลิ่งนั้นเกิดจากที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 131 ของผู้ฟ้องคดี ดังนั้น ที่งอกริมตลิ่งดังกล่าวจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี
และเมื่อไม่ปรากฏว่าหลักหมุดได้ทำขึ้นเมื่อใด แต่จากรายงานการรังวัดที่ดินครั้งแรก
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน
2518 สันนิษฐานได้ว่าหลักหมุดน่าจะถูกจัดทำขึ้นในวันดังกล่าว ซึ่งนับจนถึงวันที่ถ่ายภาพเป็นเวลา
26 ปี อันเป็นระยะเวลายาวนานเพียงพอที่ที่งอกริมตลิ่งจะเกิดขึ้นต่อเนื่องออกไปจากหลักหมุด
อาณาเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้สิ้นสุดตรงหลักหมุดดังกล่าว ที่ดินของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นที่งอกริมตลิ่งที่มีอาณาเขตจดแม่น้ำปิง
การที่โครงการ ใช้พื้นที่หน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีในส่วนที่น้ำท่วมไม่ถึง
จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็น ที่ของเอกชนไม่ใช่ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะมีอำนาจในการบำรุงรักษาทางบก
ทางน้ำ การสาธารณูปโภค หรือสาธารณูปการ การดูแลรักษาที่สาธารณะหรือการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(มาตรา
56 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
พ.ศ. 2542) นอกจากนี้ ยังขัดต่อเงื่อนไขข้อ 7 ของใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำ
ลงวันที่ 26 กันยายน 2543 เพราะเป็นการปลูกสร้างโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออกในบริเวณที่พิพาท
จึงเป็น การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายบางส่วน
และเมื่อการดำเนินโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออกเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายบางส่วน
จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีในส่วนที่ใช้พื้นที่หน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดี
จึงต้องเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ได้กระทำในพื้นที่ดังกล่าวออกไป
สำหรับค่าเสียหายจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดิน
และค่าเสียหายอันเป็นความเสี่ยงจากน้ำท่วม เป็นความเสียหายที่ยังไม่เกิดขึ้น ถือว่าไม่ได้รับความเสียหาย
พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ได้กระทำบนที่งอกริมตลิ่งของผู้ฟ้องคดี
และชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน 30,000 บาท (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่
อ. 535/2554)
คดีนี้คงเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับหน่วยงานทางปกครองในการจัดทำโครงการต่างๆ
ว่า แม้การจัดทำบริการสาธารณะจะเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมก็ตาม
แต่ก่อนที่จะดำเนินโครงการใดๆ ตามอำนาจหน้าที่ก็ควรที่จะตรวจสอบข้อกฎหมาย รวมถึงข้อเท็จจริงแวดล้อมต่างๆ
อย่างรอบคอบ เพราะการกระทำทางปกครองไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดในทางปกครอง
ศาลปกครองมีอำนาจตรวจสอบได้ครับ
!
นายปกครอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น