วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561

สายตรงท้องถิ่น: กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นยังมีความหวังอยู่หรือ ?

สายตรงท้องถิ่น: กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นยังมีความหวังอยู่หรือ ?
สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๑

          ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
          หัวข้อบทความชื่อ "กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยังมีความหวังอยู่หรือ" เป็นหัวข้อที่ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมอภิปรายที่หอประชุมเทศบาลเมือง จังหวัดกระบี่ ซึ่งสมาคมข้าราชการท้องถิ่นเป็นผู้เชิญและเป็นผู้จัดสัมมนาตามหัวข้อดังกล่าว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2561 โดยมีผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีตัวแทนจากสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล และตัวแทนจากเทศบาลเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ซึ่งก็คือนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองกระบี่
          ในการเสวนาตามหัวข้อดังกล่าวครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากคนในวงการท้องถิ่นจำนวนมากพอสมควร ทั้งที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และบุคลากรที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานท้องถิ่น รวมแล้วมีผู้เข้าร่วมประมาณ 300 คน ส่วนสาระของการพูดในหัวข้อ "กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยังมีความหวังอยู่หรือ" นั้น วิทยากรผู้ร่วมสัมมนาแต่ละท่านได้ให้มุมมองที่เป็นสาระสำคัญๆ ดังต่อไปนี้
          มุมมองของตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเห็นว่า การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตั้งแต่ ปี 2540 เป็นต้นมา มีพัฒนาการที่มีความก้าวหน้ามาตลอด เป็นต้นว่า การจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นมีลักษณะเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนปี 2540 มาก ซึ่งก่อนปี 2540 งบประมาณท้องถิ่นจะได้รับอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 10-12 ของสัดส่วนงบประมาณแผ่นดิน และเห็นว่าจนถึงขณะนี้ สัดส่วนงบประมาณท้องถิ่นที่จัดสรรเป็นเงินอุดหนุนได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่ร้อยละ 20 จนถึงปัจจุบันเกือบร้อยละ 29 ในส่วนของข้าราชการท้องถิ่นก็เช่นกัน มีความก้าว หน้าขึ้นเป็นลำดับและเห็นว่าความก้าวหน้านี้ไม่น้อยหน้าไปกว่าข้าราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ในเชิงพัฒนาการของโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ดำเนินไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 และปี 2550 ตามลำดับ
          โครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ค่อนข้างจะลงตัวและมีพัฒนาการในรูปแบบของประชาธิปไตยอย่างเต็มที่เป็นต้นว่า สมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผู้บริหารท้องถิ่นก็เช่นเดียวกัน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเช่นเดียวกัน ในระบบการเลือกตั้งดังกล่าวถือว่ามีพัฒนาการของประชาชนที่ได้พิจารณาเลือกตั้งอย่างที่เรียกว่า เลือกผู้ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ จึงทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่คนใดคนหนึ่งอีกต่อไป แต่มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนโดยได้คนที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ในการบริหารมากขึ้น
          ในส่วนของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า มีการพัฒนาที่ทำให้ชุมชนมีความเจริญเติบโตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการสาธารณสุข ตลอดจนด้านอื่นๆ เป็นที่ประจักษ์มากขึ้น และในการพัฒนาด้านต่างๆนี่เอง ยังเป็นที่ประจักษ์ว่า ก่อให้เกิดนวัตกรรมท้องถิ่นใหม่ๆ ที่เป็นแบบอย่างและมีความหลากหลายในหลายๆ ท้องถิ่นเช่นกัน
          นี่เป็นมุมมองจากตัวแทนของสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่มองว่า การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นยังมีความหวัง และในอนาคตตามรัฐธรรมนูญปี 2560 รวมทั้งแนวทางการปฏิรูปท้องถิ่นบ่งชี้ชัดว่า การกระจายอำนาจกำลังจะเดินหน้าเพื่อทำให้การปกครองท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีขีดความสามารถและมีความเข้มแข็งในที่สุด โดยเฉพาะการร่างกฎหมายสนับสนุนการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญ เช่น ร่างพระราชบัญญัติกระจายอำนาจและหน้าที่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่างพระราชบัญญัติรายได้ท้องถิ่นที่ส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีรายได้ที่เพียงพอตามความสามารถ และยังมีประมวลกฎหมายท้องถิ่นที่ต้องการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีศักยภาพและขีดความสามารถเพิ่มขึ้น
          ส่วนตัวแทนซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองกระบี่ให้มุมมองว่า การบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำหรับผู้บริหารท้องถิ่นจะต้องคิดบวก และต้องบริหารจัดการท่ามกลางปัญหาอุปสรรคต่างๆ ให้รอดพ้นไปได้ และจะต้องใช้ภาวะผู้นำของตนเอง โดยเฉพาะการดึงภาคีเครือข่ายและภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม และร่วมกันกำหนดอนาคตชุมชนและเมืองของตนเองให้มีอัตลักษณ์เพื่อดึงดูดความสนใจจากคนทั่วไป และทำให้เป็นแบบอย่าง
          นอกจากนี้ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองกระบี่ยังให้ข้อคิดในการบริหารจัดการท้องถิ่นว่า จะต้องบริหารจัดการท้องถิ่นที่ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะความเป็นนวัตกรรมท้องถิ่น รวมทั้งการคำนึงถึงทุนทางทรัพยากรในท้องถิ่นเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการ และการบริหารที่ดีนั้นจะต้องคำนึงถึงบริบทของชุมชนท้องถิ่น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคม การศึกษา วัฒนธรรม และประเพณีของท้องถิ่น หากเป็นไปตามความคิดดังที่กล่าวมานี้ ก็จะทำให้ท้องถิ่นรู้จักการจัดการตนเองของท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นมีความหวังและการกระจายอำนาจก็มีความหวัง
          ส่วนตัวแทนขององค์การบริหารส่วนตำบลให้มุมมองว่า การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะมีความหวัง มีความจำเป็นที่จะต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายลุกขึ้นมาปฏิรูปตนเอง และข้อเสนอหนึ่งที่จะเชิญชวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันทำก็คือ การร่วมกับปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นโดยชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะการ่วมมือกับภาคีภาค
          ส่วนต่างๆ เช่น ภาคธุรกิจเอกชน ภาคนักวิชาการมหาวิยาลัย สมาคมมูลนิธิต่างๆ และภาคประชาสังคม เพื่อเชิญชวนให้เกิดแนวความคิดว่าการปฏิรูปประเทศต้องใช้ฐานชุมชนท้องถิ่น
          นอกจากนี้มีจุดร่วมที่ตรงกันว่า การพัฒนาประเทศต้องใช้ฐานชุมชนท้องถิ่นและองค์กรปกครองท้องถิ่น และต้องทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพ กับอีกส่วนหนึ่งต้องทำให้พลเมืองมีส่วนร่วมในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังนั้นจึงต้องส่งเสริมความเข้มแข็งของพลเมือง
          การกระจายอำนาจในก้าวต่อไปเพื่อทำให้มีความหวังเห็นตรงกันว่า ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับทุกภาคส่วน ในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นและการใช้ฐานการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นฐานในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะนโยบายรัฐนักการเมือง คณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง กรมต่างๆ จะต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจน
          โดยเฉพาะการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา และสถาบันพระปกเกล้า รวมทั้งภาคส่วนอื่นๆ เช่น สื่อมวลชน จะต้องร่วมกันสร้างความเข้าใจและนำสิ่งที่เป็นแบบอย่างของท้องถิ่นที่ดีๆ ไปเผยแพร่และก่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น นี่คือความหวังของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น