วันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560

รายงานพิเศษ: ตามดู6ร่างกม.ท้องถิ่น ก่อน"ปลดล็อก"เลือกตั้ง

รายงานพิเศษ: ตามดู6ร่างกม.ท้องถิ่น ก่อน"ปลดล็อก"เลือกตั้ง
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 องศา  ฉบับวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๐

          ใหม่ โคราช
          หลายท้องถิ่นตอนนี้ กำลังอยู่ในช่วง "เตรียมการบรรจุพนักงาน/ข้าราชการส่วนท้องถิ่น" รอบแรก จาก 3 หมื่นกว่าคน ที่ผ่านการสอบคัดเลือก เข้าทำงานในท้องถิ่นที่ตำแหน่งว่าง ประกอบกับงบประมาณปี 2561 ที่ได้รับอุดหนุนจากรัฐบาล และตั้ง เป็นบัญญัติ ขององค์การปรกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้นๆ กว่า 2 แสนล้านบาท
          ขณะที่ฝ่ายการเมืองบางแห่ง ที่ยังต้องรักษาการ ตามคำสั่งคสช. ที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 หลายแห่งยุติบทบาท เพราะมีผู้บริหารและสมาชิกท้องถิ่นครบวาระ หรือพ้น จากตำแหน่งด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ผู้บริหาร อบจ. จะหมดวาระไปพร้อมกันทั้งหมดทั่วประเทศ แต่ที่ยังรักษาการ เพราะยังมีคำสั่ง คสช. อยู่ ขณะที่ระดับ อบต. มีบางแห่งยังไม่หมดวาระ และยังไม่แน่ชัดว่าจะมีการควบรวมอบต.เป็นเทศบาลหรือไม่
          ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า ปัจจุบันมีตำแหน่งผู้บริหารและสมาชิก อปท.ว่างถึง 8,410 ตำแหน่ง เนื่องจากหมดวาระ และไม่เคยมีการเลือกตั้ง นับจาก คสช.เข้าบริหารประเทศในปี 2557 แต่ได้ใช้วิธีการสรรหา และแต่งตั้งแทน
          ส่วนรัฐบาลกำลังอยู่ในขั้นเตรียมความพร้อมในการแก้ไขกฎหมาย "ในเชิงโครงสร้าง" เพื่อเตรียมจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น มี "นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย" กระทรวงมหาดไทย กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สำนักงานกฤษฎีกา และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ร่วมเป็นเจ้าภาพ
          การแก้ไขกฎหมาย 6 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545, พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 (อบต.), พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 (อบจ.), พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ. 2528 และ พ.ร.บ.บริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 คือเป้าหมายที่จะ ต้องแก้ไข หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ยกร่าง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น โดยกระทรวงมหาดไทย จากนั้นจะเสนอเข้า ครม. และเข้าสู่สภานิติบัญญัติ (สนช.) ต่อไป
          เมื่อกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ บังคับใช้แล้ว จึงจะรู้ว่าจะมีการ เลือกตั้งท้องถิ่นประเภทใด จากนั้นจึงจะมีการ "ปลดล็อก" เฉพาะท้องถิ่น
          ล่าสุด กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น (กสถ.) เสนอไปยังนายวิษณุ ว่า "ถ้าแก้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นเสร็จเมื่อไร ก็จะบวกเพิ่มไปอีก 45 วัน ที่จะเตรียมการกำหนดเรื่องต่างๆ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้น"
          วันก่อน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ขีดเส้นไว้ว่า "สัปดาห์หน้า" คณะกรรมการร่างกฎหมาย ของกระทรวงมหาดไทย จะต้องจัดทำ "ร่างกฎหมาย 6 ฉบับ" ให้แล้วเสร็จ ก่อนส่งกลับไปยัง ครม.กฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
          การแก้ไขกฎหมาย 6 ฉบับ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย สำหรับกฎหมาย อบต., อบจ., เทศบาล, กทม. และเมืองพัทยานั้น เป็นการแก้ไขที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น การให้ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น จะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น หรือต้องให้สอดคล้องกัน เช่น เรื่อง "การปรับลดอำนาจของ อบต." ที่ต้องรอข้อยุติจาก สนช.ก่อน ว่าจะพิจารณากันอย่างไร
          คราวนี้มาดู "ร่างกฎหมาย" หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งมาให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อสอบถามความเห็นที่ ประกอบด้วย "ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ..." มีการแก้ไขเพิ่มเติมดังนี้
          1. แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของบุคคลซึ่งต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เช่น บุคคลซึ่งต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ในเรื่องนี้กฤษฎีกาได้แก้ไขมาตรา 34 (4) เป็น อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
          2. แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของบุคคลซึ่งต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 45 ที่ห้ามบุคคลผู้มีลักษณะ ดังต่อไปนี้ มาใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เช่น มาตรา 45 (2) เดิมกำหนดเป็นบุคคลล้มละลาย เพิ่มเป็น บุคคลล้มละลายหรือทุจริต มาตรา 45 (4) ได้เพิ่มว่า อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัคร รับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
          นอกจากนี้ ยังมีกรณีเคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการเพราะ ทุจริตต่อหน้าที่ เคยต้องคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ คนที่เคยถูกยึดทรัพย์ก็ไม่มีสิทธิที่จะมาสมัคร การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดเกี่ยวกับองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐหรือทุจริต ตามกฎหมายอาญา ฉ้อโกง ยาเสพติด ความผิดเกี่ยวกับการพนัน การค้ามนุษย์ การฟอกเงินก็จะไม่มีสิทธิเข้ารับสมัคร เคยต้อง คำพิพากษาถึงที่สุดอันเป็นการกระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง รวมถึงคนที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระไม่มีสิทธิที่จะสมัคร ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ว่าจะได้รับโทษหรือไม่ โดยพ้นโทษหรือต้องคำพิพากษามายังไม่ถึง 5 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง หลักการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เป็นต้น
          อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นในส่วนของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฤษฎีกา ที่ทางกรม ส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เห็นสอดคล้องกับที่กฤษฎีการ่างมา โดยยึดตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 97 และมาตรา 98 เป็นตัวตั้ง โดยจะใช้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกประเภท
          วันก่อน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดี กสถ. บอกว่า ได้ส่งความเห็นต่อการแก้ไขกฎหมาย กลับไปยังกระทรวงมหาดไทยแล้ว มีความเห็นสอดคล้องกับสิ่งที่กฤษฎีการ่างมาในเรื่องคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามที่ให้ใช้เช่นเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560
          สำหรับประเด็นที่ สถ.ได้เสนอเพิ่มเติมคือ การปรับลด จำนวนสมาชิกของ อบต. ซึ่งเดิม อบต.มีสมาชิกหมู่บ้านละ 2 คน ทางกรมเสนอให้เหลือหมู่บ้านละ 1 คน ยกเว้น อบต.ใดมีไม่ถึง 6 หมู่บ้าน ก็ให้มีให้ครบ 6 คนเป็นอย่างน้อย
          ข้อเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ถอดถอนผู้บริหาร และสมาชิกท้องถิ่น จากเดิมที่เป็นอำนาจของ รมว.มหาดไทยนั้น ประเด็นนี้ สถ.ไม่ได้เสนอความเห็นไป โดยให้เป็นไปตามกฎหมายเดิม ซึ่งบางส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถถอดถอนได้ บางส่วนเป็นอำนาจของ รมว.มหาดไทย
          ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ... กำหนดให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเขต และ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบ วาระ มีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 23 และมาตรา 52)
          โดยที่ในปัจจุบัน การลาออกจากตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระหว่างที่ยังดำรงตำแหน่งไม่ครบวาระ ส่งผลให้รัฐต้องสูญเสียเงินงบประมาณแผ่นดินอันเกิดจากค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้งซ่อมเพื่อสรรหาบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ จึงสมควรกำหนดให้ผู้ที่ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ มีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อเป็นการยับยั้งการใช้สิทธิลาออกตามอำเภอใจและมิให้รัฐต้องสูญเสียเงินงบประมาณแผ่นดินโดยไม่สมควร
          มาตรา 3 ให้เพิ่มความ "ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตาม (3) ให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครมีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการ เลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง" และมาตรา 4 ให้เพิ่มความ "ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตาม (3) ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง"
          ขณะที่ ร่าง อีก 4 ฉบับ มีหลักการเหตุผลคล้ายกัน คือ ได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้บทบัญญัติบางประการ ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันและเกิดปัญหาการบังคับ ใช้กฎหมายในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภา อปท. หรือผู้บริหาร อปท.
          รวมถึงการสอบสวน และวินิจฉัยกรณีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมาชิกสภาพของ อปท. ที่มีความล่าช้า ไม่สามารถป้องกันไม่ให้บุคคลที่ขาดคุณสมบัติกลับเข้ามารับตำแหน่งอีกครั้งหนึ่งได้ ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการสอบสวนและวินิจฉัยเมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ การสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งของ สมาชิก อปท.และผู้บริหาร อปท.เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น
          โดย ร่างกฎหมาย ทั้ง 4 ฉบับ กล่าวถึงกระบวนการ เช่น 1. เพิ่มเติมกระบวนการสอบสวนและวินิจฉัยกรณีมีข้อสงสัย เกี่ยวกับสมาชิกสภาพของสมาชิกสภาฯ ให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 19 วรรคสอง และวรรคสาม)
          2. เพิ่มกรณีที่สมาชิกสภาพของสมาชิกฯ สิ้นสุดลงพร้อมกันทั้งหมดให้ถือว่าเป็นการยุบสภาฯ (เพิ่มมาตรา 19 วรรคสี่)
          3. ยกเลิกคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของบุคคลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น นายกฯ อปท. กรณีต้องไม่เป็นผู้ที่พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น หรือที่ปรึกษาหรือเลขานุการของ ผู้บริหารท้องถิ่น เพราะเหตุมีส่วนได้เสียไม่ว่างทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่กระทำกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่ถึงห้าปี นับถึงวันรับสมัครเลือกตั้ง หรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งถูกให้พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากกระทำการ ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ เนื่องจากได้นำกรณีดังกล่าวไปกำหนดไว้เป็นเกณฑ์กลางเพื่อใช้แก่ผู้บริหารท้องถิ่นทุกประเภท ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว (ยกเลิกมาตรา 48 (เบญ (3) และ (4))
          4. แก้ไขเพิ่มเติมวิธีนับอายุของรองนายกฯ อปท. ชัดเจน ยิ่งขึ้น (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 48 นว)
          5. แก้ไขเพิ่มเติมการกระทำอันเป็นการต้องห้ามของนายกฯ รองนายกฯ ที่ปรึกษานายกฯ และเลขานุการนายกฯ (การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 48 จตุทศ)
          6. แก้ไขเพิ่มกระบวนการสอบสวนและวินิจฉัยกรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของนายกฯ รองนายกฯ ที่ปรึกษานายกฯและเลขานุการนายกฯ ให้มีความชัดเจนและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 48 ปัญจทัศ วรรคสามและมาตรา 48 โสฬส วรรคสาม)
          7. เพิ่มบทบัญญัติให้ "ปลัด อปท."ปฏิบัติหน้าที่ของ "นายกฯ อปท." เท่าที่จำเป็นในช่วงระยะเวลาระหว่างที่ไม่มีนายกฯ อปท. (เพิ่มมาตรา 48 ปัญจทศ วรรคสี่)
          8. แก้ไขเพิ่มเติมกระบวนการสอบสวนและวินิจฉัยใน กรณีที่นายกฯ รองนายกฯ ประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ ทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนความสงบเรียบร้อย หรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือมีความประพฤติในทางที่จำนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือแก่ อปท.หรือแก่ราชการ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 73)
          ทั้งหมด คือ 6 ร่างกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ กระทรวงมหาดไทย กำลังรอความชัดเจนในขั้นตอนของการแก้กฎหมาย โดยเฉพาะ ในประเด็นสำคัญเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ท้องถิ่น
          มีกระแสข่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม ได้ขอให้กระทรวงมหาดไทย จัดทำบัญชีรายชื่อและคุณสมบัติ "ผู้มีสิทธิลงรับสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น" หรือ รายชื่อผู้บริหารท้องถิ่นในปัจจุบัน แทนที่จะตรวจสอบเฉพาะเวลาเปิดรับสมัครเท่านั้น
          รวมถึงกรณีผู้บริหารท้องถิ่นที่ถูกพักงาน ด้วย มาตรา 44 คำสั่งระงับการปฏิบัติราชการและปฏิบัติหน้าที่ เป็นการชั่วคราว โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือสั่งย้ายไปช่วยราชการที่ศาลากลางจังหวัดขณะนี้ ก็ยังไม่มีการคืนตำแหน่ง ซึ่งทั้งหมดต้องรอให้ คสช.เป็น "ผู้คืนตำแหน่ง"
          แต่ที่เสร็จแล้วแน่ๆ คือ "บัญชีรายชื่อผู้ที่มีสิทธิออกเสียง เลือกตั้ง" ซึ่งมหาดไทยเตรียมพร้อมไว้บ้างแล้ว รวมถึงหน้าที่ใน การจัดการเลือกตั้งและอำนวยการการเลือกตั้ง จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งหมด.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น