เลือกท้องถิ่นช้าสุดพ.ค.61 |
ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๐ |
กรุงเทพฯ
* 2 แคนดิเดต กกต.จากศาลฎีกาส่อเค้ามีปัญหาหนัก "พรเพชร" มองแนวเดียวกับ
"สมชัย" เผยถ้ายกมือโหวตก็จบแล้ว โฆษกศาลย้ำทำตามกฎหมาย ไม่ต่อปากต่อคำ
วิษณุบี้ชงเรื่องแก้ไขกฎหมายให้เลือกตั้งท้องถิ่นในเดือน ธ.ค.นี้
กกต.แจงไทม์ไลน์ช้าสุดได้หย่อนบัตร พ.ค.2561 เมื่อวันศุกร์ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นผู้ออกมาเปิดประเด็นท้วงติงการคัดเลือก กกต.ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าอาจไม่ถูกต้อง ตามกฎหมายเพราะเป็นการประชุมลับ ได้ตอกย้ำว่า เป็นการคัดเลือกที่ไม่ถูกต้อง เพราะ ตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ระบุว่าต้องเป็น การลงคะแนนโดยเปิดเผย จึงต้องการให้ลงมติใหม่ให้ถูกกฎหมายเท่านั้น ซึ่งใช้เวลาเพิ่มไม่เกิน 1 เดือน "สิ่งที่ผมทักท้วงมิใช่เรื่องที่อยากอยู่ต่อ แต่ไม่ต้องการให้เป็นปัญหาในอนาคตว่าที่มาของ กกต.ชุดใหม่เป็นไปโดยมิชอบ การทำงานในอนาคตก็เกิดความสง่างาม" นายสมชัยกล่าว และว่า ในวันที่ 12 ธ.ค. จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม กกต.หารือด้วย เพราะมาตรา 7 กำหนดให้ประธาน กกต.เป็น ผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ไม่ทราบรายละเอียดและข้อเท็จจริง คงต้องไปถามคณะกรรมการสรรหา กกต. แต่ถ้าผิดและเป็นโมฆะอย่างที่มีข้อสังเกตกันนั้น คงต้องมีการสรรหาใหม่ เมื่อถามว่า เมื่อตั้งข้อท้วงติง จำเป็นต้องออกมาให้ข้อยุติหรือไม่ นายวิษณุชี้แจงว่า เมื่อเรื่องมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เลขานุการที่ประชุมใหญ่ต้องออกมาชี้แจง หากไม่มีการชี้แจง คงมีวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้ได้ข้อยุติ เพราะก่อนนำความกราบบังคมทูลฯ เป็นหน้าที่ของผู้นำความกราบบังคมทูลฯ ต้องตรวจสอบไม่ได้ให้มีข้อสงสัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวว่า ยังไม่ได้ตรวจสอบว่าการลงมติของศาลฎีกาใช้วิธีประชุมลับจริงหรือไม่ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ลงคะแนนโดยเปิดเผย จะใช้วิธีลับไม่ได้ แต่ถ้ายกมือในการพิจารณาก็ถือว่าเปิดเผย ส่วนกรณีที่บางคนกลัวว่าผู้สมัคร กกต.บางท่านอาจไม่ผ่านความเห็นชอบของ สนช.นั้น พูดแทน สนช.ไม่ได้ แต่คนที่เป็นกรรมการสรรหานั้น เมื่อถึงเวลาประชุมจะไม่เข้าไปร่วมด้วย เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งถ้าหากมีคนที่ไม่ผ่าน แม้คนเดียวก็ต้องเข้าสู่กระบวนการสรรหาใหม่ ส่วนนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ระบุเพียงว่า การลงคะแนนคัดเลือกผู้สมควรได้เป็น กกต.ในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และศาลไม่ประสงค์ชี้แจง เพราะจะกลายเป็นการโต้ตอบไปมา มีรายงานว่า ในการประชุมใหญ่ศาลฎีกาในการลงคะแนนเลือกผู้สมควรได้เป็น กกต.มีการเรียกประชุมรวม 2 ครั้ง ซึ่งจำนวนผู้พิพากษาที่มีในศาลฎีกาและมีสิทธิเข้าประชุมคือ 176 คน แต่เนื่องจากบางคนติดภารกิจ จึงมีจำนวนผู้พิพากษาเข้าร่วมประมาณ 95% โดยการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2560 ได้ให้เฉพาะผู้พิพากษาที่มีสิทธิลงคะแนนและผู้เกี่ยวข้องการคัดเลือกเท่านั้นร่วมประชุม บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องไม่มีสิทธิเข้าร่วม โดยก่อนเริ่มกระบวนการเลือกผู้ถูกเสนอชื่อ ที่ประชุมได้หารือกันถึงความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับวิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผยว่าวิธีลงคะแนนจะเป็นอย่างไรต่อระดับการเปิดเผย ซึ่งผู้พิพากษาอาวุโสเสนอการลงคะแนนโดยไม่ต้องระบุชื่อ และเมื่อลงคะแนนให้นำบัตรนั้นหย่อนในตู้ที่ประชุม ซึ่งผู้พิพากษาทุกคนมองเห็นได้ โดยที่ประ ชุมก็มีมติเสียงข้างมากเห็นว่า การกา เครื่องหมายบนบัตรลงคะแนนที่ผู้พิพาก ษาแต่ละคนลงคะแนนโดยตรงจากจำ นวนบัตรที่พิมพ์ตามจำนวนผู้พิพากษาเป็นการกระทำโดยเปิดเผยแล้ว โดยผลการนับคะแนนเสียงที่ประชุมผู้พิพากษาข้างมากกว่า 100 คน ลงคะแนนให้นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาก็ผ่านด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้พิพากษาที่เข้าประชุม ส่วนอีก 4 คนที่ประชุมก็ลงคะแนนอีกในรอบที่ 2 แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดคะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งจากที่ประชุม จึงต้องรับสมัครใหม่ และเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ศาลฎีกาได้นัดลงคะแนนเลือกผู้สมัครใหม่ที่สมควรได้เป็น กกต.เป็นครั้งที่สอง ซึ่งที่ประชุมใหญ่ก็ได้พิจารณาประเด็นข้อกฎหมายถึงวิธีการลงคะแนนอีกเช่นกันแล้วว่าเป็นการกระทำการโดยเปิดเผย โดยที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยเสียงข้างมากแล้วชัดเจน 86 ต่อ 77 ตามที่นายสมชัยกล่าวถึง และเมื่อได้ลงคะแนนเลือกผู้สมัครที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ก็ได้นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ด้วยคะแนนเสียงประมาณ 106-107 คะแนน ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุม จากผู้สมัครที่ถูกเสนอชื่อครั้งนี้มี 2 คน จากนั้นกระบวนการลงคะแนนเลือกผู้สมควรเป็น กกต.ทั้ง 2 คน จึงได้ดำเนินการเสร็จสิ้นตามข้อกำหนดแล้ว และรอเสนอรายชื่อให้ สนช.พิจารณาเห็นชอบรวมกับอีก 5 คนที่คณะกรรมการ สรรหาฯ ได้ลงมติเลือกไว้เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. สำหรับความคืบหน้าการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับนั้น นายวิษณุกล่าวว่า มีการรายงานเข้ามาอย่างไม่เป็นทางการว่า คณะกรรม การกฤษฎีกาได้ถามความเห็นไปยังกระทรวงมหาดไทย (มท.) และ กกต.แล้ว โดย มท.ยังไม่ส่งความเห็นกลับมา ส่วน กกต.ทำงานอย่างรอบคอบ โดยได้เสนอว่าเมื่อจะแก้แล้วยังมีประเด็นอื่นที่ต้องแก้นอกจากที่ส่งไปด้วย จึงได้กำชับคณะกรรมการกฤษฎีกาไปแล้วว่า เมื่อมีการเสนออะไรมาให้รับไว้ทั้งหมด แล้วนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเร็ว กรณีที่มีการเสนอให้แก้ไขเกือบทั้งฉบับนั้น เราจะต้องนำมาพิจารณาว่าอะไรเกี่ยวพันหรือไม่เกี่ยวพันกับการเลือกตั้ง อะไรจำเป็นต้องแก้จะแก้ไข อะไรที่รอได้เอาไว้รอทีหลัง ตอนนี้จะเอาแต่ที่มีความจำเป็นหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยได้กำชับให้นำความเห็นกลับเข้ามาสู่ที่ประชุม ครม.ภายในเดือน ธ.ค.นี้ ด้านนายสมชัยกล่าวว่า กกต.ได้ประชุมร่วมกับตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกา และเห็นร่วมกันว่าควรมีการแก้ไขในประเด็นต่างๆ ที่ กกต.เห็นว่าจำเป็นให้เรียบร้อยในคราวเดียว ซึ่งเป็นไปตามที่เคยตั้งข้อสังเกตว่ามีหลายสิบมาตราที่ต้องแก้ไข ซึ่งที่ประชุมร่วมเห็นชอบให้ใช้ร่างของ กกต.เป็นหลัก โดยสำนักงาน กกต.จะใช้เวลาในการยกร่างส่วนที่ต้องแก้ไขประมาณ 1 เดือน และเสนอเข้าที่ประชุม กกต.ให้ความเห็นชอบในวันที่ 9 ม.ค.2561 นำส่ง ครม.โดยผ่านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ในช่วงกลางเดือน ม.ค. และหากผ่านมติที่ประชุม ครม.ช่วงปลาย ม.ค. สนช.น่าจะสามารถลงมติให้ความเห็นชอบในวาระ 3 ได้ภายใน 60 วัน หรือปลายเดือน มี.ค. ที่เหลือก็แล้วแต่บทเฉพาะกาลในกฎหมายว่า จะให้เวลาในการเตรียมการดำเนินการอย่างไร และจะกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทใด ก่อนและหลังอย่างไร แต่ไม่เร็วกว่ากลางเดือน พ.ค.2561 แน่นอน "เรื่องราวต่างๆ จะเร็วขึ้น ถ้าหากว่านายวิษณุเชิญ กกต.ไปร่วมหารือด้วยตั้งแต่ต้น เพราะ กกต.จะได้ชี้แจงปัญหาต่างๆ ได้ ซึ่งใครที่คิดจะลงเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทใด ให้เงี่ยหูฟังให้ดี ส่วนภารกิจการจัดการดังกล่าว คงเป็นที่หน้าที่ กกต.ชุดใหม่ที่คาดว่าจะเข้ามารับตำแหน่งได้ระหว่าง 15 ก.พ.-15 มี.ค.2561" นายสมชัยกล่าว. |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560
เลือกท้องถิ่นช้าสุดพ.ค.61
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น