วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: นโยบายการวางแผนด้านประชากรไทย

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: นโยบายการวางแผนด้านประชากรไทย
สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐

          ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
          ผมพยายามดูข้อมูลตัวเลข "ประชากรไทย" ในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปี 2559 พบสถิติที่เก็บโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีจำนวนประชากรไทยเพิ่มขึ้นน้อยมาก และน้อยจนน่าห่วง นั่นก็คือในปี 2540 ไทยมีประชากร 60,816,227 คน จนถึงปี 2549 มีประชากร 62,823,706 คน จะเห็นว่าในห้วงระยะเวลาดังกล่าวประชากรไทยเพิ่มขึ้นเพียง 2,012,479 คนหรือเพิ่มเพียงร้อยละ 3.31 และความน่าเป็นห่วงจากตัวเลข "การเพิ่มประชากรน้อยมาก" ดังกล่าว จะไปเกี่ยวพันกับเรื่องการขาดแรงงาน การลดลงของจำนวนนักเรียน นักศึกษา ที่มีผลกระทบต่อโรงเรียนและมหาวิทยาลัย
          ความเป็นห่วงในปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากรไทยน้อยลงมากจนเกินไปนั้น ได้กลับไปเพิ่มขึ้นและมากขึ้นให้กับประชากรวัยผู้สูงอายุในปัจจุบันจำนวนมากกว่า 10 ล้านคน และเข้าใจว่าในอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า เราจะมีตัวเลขจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากถึง 15 ล้านคน ซึ่งเห็นว่าเราต้องวางแผนพัฒนาประชากรในวัยผู้สูงอายุในหลายประเด็น ทั้งในแง่ของการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ ทั้งในแง่สุขภาพ ความเป็นอยู่ทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม ล้วนแล้วแต่ต้องวางนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาผู้สูงอายุ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีคุณค่าต่อสังคม
          เมื่อย้อนไปดูตัวเลขประชากรในปีที่แล้ว 2559 เรามีประชากรไทยจำนวน65,931,550 คน เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านี้ จะพบว่าไทยมีประชากรเพิ่มจำนวน 3,102,844 คน หรือเพิ่มร้อยละ 4.93 หากนำไปเปรียบเทียบในระยะเวลา 2 ทศวรรษ หรือ "20 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2540 ถึง 2559 จะพบว่ามีประชากรเพิ่มขึ้นเพียง 5,115,323 คน"คิดเป็นร้อยละ 8.41 โดยเฉลี่ยเพิ่มเป็นรายปี ร้อยละ 0.42 เท่านั้น
          นอกจากนี้ หากจะนำข้อมูลจำนวนคนเกิดและคนตายของไทยมาเปรียบเทียบ วิเคราะห์จะพบว่า จำนวนคนเกิดแต่ละปีลดน้อยลง โดยแยกเป็นรายปีดังนี้ในปี 2540 ประชากรไทยมีการเกิด880,023 คน แต่มาในปี 2549 มีคนเกิดจำนวน 802,924 คน เช่นกันในปี 2559 ปีที่ผ่านมามีคนเกิด 704,058 คน ซึ่งจะเห็นว่าการเกิดลดลงตามลำดับ
          ส่วนการตายมีสถิติ ดังนี้ คนตายในปี 2540 มีคนตาย 279,090 คน ส่วนปี2549 มีคนตาย 392,044 คน และในปี2559 มีคนตาย 486,434 คน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสถิติจำนวนคนตายในช่วงระหว่างปี2540ถึง2550 จำนวนคนตายเฉลี่ยประมาณปีละ 3 แสนกว่าคนหลังจากนั้นช่วงปี2551ถึงปี 2559 จำนวนคนตายได้เพิ่มขึ้นปีละกว่า 4 แสนคน โดยมีผู้ประมวลสาเหตุการตายเพิ่มขึ้นหลาย ประการ เป็นต้นว่า ประชากรวัยผู้สูงอายุตายมากขึ้น มีการประสบอุบัติเหตุตายมากกว่าเดิม และมีการตายจากคดีอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น
          ปรากฎการณ์ "วิกฤติประชากรไทย" จากความเป็นห่วงเรื่องการเพิ่มประชากรลดน้อยลงนั้น จะส่งผลกระทบในหลายๆ ประการ เป็นต้นว่า
          ประการแรก กำลังคนในวัยแรงงาน โดยพบว่า กำลังคนในวัยแรงงานภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ จนนำมาสู่ปัญหาแรงงานในปัจจุบันที่ประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัย "แรงงานต่างด้าว" จากต่างประเทศเข้ามาทำงานมากถึงประมาณ 4.5 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่แรงงานเหล่านี้มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพราะไทยขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง
          ประการที่สอง จำนวนนักเรียนในโรงเรียนลดลงทั้งของโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน ซึ่งเห็นว่ามีจำนวนตัวเลขนักเรียนในระดับประถมศึกษาอย่างน่าเป็นห่วง ซึ่งในโรงเรียนหลายๆ โรง มีนักเรียนน้อยมากจนน่าตกใจ เช่น มีราว 30-50 คน จนทำให้ต้องพิจารณาปิดโรงเรียนหรือยุบโรงเรียนไปรวมกับโรงเรียนอื่นๆ
          ประการที่สาม จำนวนนักเรียนมัธยมศึกษาและนักเรียนในระดับอุดมศึกษาก็มีสัญญาณว่าจะเริ่มลดลงเช่นกัน ซึ่งขณะที่ประชากรวัยการศึกษาทุกๆ ระดับเริ่มลดลง เรากลับมีจำนวนมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีแนวโม้มว่าหลายมหาวิทยาลัยอาจจะมี "วิกฤติจำนวนนักศึกษา" อาจจำเป็นต้องอาศัยการปิดตัว"ยุบมหาวิทยาลัย" หรือ "ทำการควบรวมมหาวิทยาลัย" ก็อาจจะเป็นไปได้
          ดังนั้น แนวความคิดที่จะต้องวางนโยบายการวางแผนด้านประชากรไทยจึงเห็นว่า มีความจำเป็นและมีคาวมหมายที่รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องตระหนักและให้ความสำคัญในการวางนโยบายเพื่อแก้ปัญหา "วิกฤติประชากร" เป็นต้นว่า "นโยบายการเพิ่มประชากร" โดยอาจจะดำเนินการส่งเสริมให้คู่สมรสมีบุตรในแต่ละครอบครัวมากกว่าครอบครัวละ 1 คน หรือมากกว่า 2-3 คนเป็นต้น
          นอกจากนี้ ประชากรไทยที่เป็นกำลังของชาติ มีความเห็นว่า ต้องเน้นการผลิตคนในวัยแรงงาน หรือผลิตในเรื่องการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับกำลังแรงงานของประเทศ ในระดับช่างเทคนิค อาชีวะ และเกษตรกรรมก้าวหน้า
          ส่วนมหาวิทยาลัย หากถึงวันที่ต้องวิกฤติผู้เรียน จำนวนนักศึกษาลดลงในบางสาขาวิชา ก็อาจถึงขั้นยุบสาขาวิชาจนกระทั่งนำไปสู่ "วิกฤติมหาวิทยาลัย"เพราะนักศึกษาลดลง โดยไม่สัมพันธ์กับจำนวนมหาวิทยาลัย ฝ่ายนโยบายก็ต้องทบทวนนโยบาย "การควบรวมมหาวิทยาลัย"
          อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องวางแผนในการวางนโยบายประชากรไทยในอนาคตจึงควรเน้นไปที่การส่งเสริมคุณภาพของประชากรให้เป็นพลเมืองของประเทศที่มีคุณภาพ ทั้งในแง่ของคุณภาพในเรื่องความรับผิดชอบทั้งตนเองและสังคม คุณภาพในการพัฒนาฝีมือแรงงานของตนเองที่มีคาวมก้าวหน้าและก่อให้เกิดนวัตกรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญที่สุดประชากรไทยที่มีอยู่แล้วจะต้องลดการสูญเสียประชากรลงไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลดการตายที่เกิดจากอุบัติเหตุและอาชญากรรม เป็นต้น
          สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ควรอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการวางแผนด้านประชากรไทย และมีความจำเป็นที่ต้องอยู่ในความคิดเรื่องการวางแผนในส่วนของการสร้างพลเมืองของประเทศไปสู่พลเมืองที่มีคุภาพได้อย่างไรและถือเป็นการสร้างคนที่สำคัญที่สุดของชาติในปัจจุบันและอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น