วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

อปท.ร้อยเอ็ดถอดบทเรียนกำจัดขยะส่งเสริมปชช.มีส่วนร่วม/บริหารจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน

อปท.ร้อยเอ็ดถอดบทเรียนกำจัดขยะส่งเสริมปชช.มีส่วนร่วม/บริหารจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน
สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐

          ร้อยเอ็ด: เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมเดือนเพ็ญ อาคารแกรนด์คอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรมเพชรรัชต์การ์เด้น ต.เหนือเมือง อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผวจ.ร้อยเอ็ด เป็นประธาน
          เปิดการประชุมสัมมนาถอดบทเรียน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดำเนินงานโครงการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ภายใต้แนว
          คิดการจัดการขยะเหลือศูนย์ (ภายใต้โครงการ สร้างความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศจังหวัดร้อยเอ็ด ปีงบประมาณพุทธศักราช 2560)  โดยการดำเนินงานของ นายอิสระ พรหมเดชบุญ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดร้อยเอ็ด และคณะผู้ร่วม
          ประชุมจากผู้แทนอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชนรวมทั้งสิ้น160 คน
          นายอิสระกล่าวว่า สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ภายใต้แนวคิด การจัดการขยะเหลือศูนย์ โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และสร้างเครือข่ายชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความถนัดและสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการขยะ ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 12 แห่งได้แก่ ทต.โพนสูง ทต.เกาะแก้ว ทต.โพนทอง ทต.จังหาร ทต.เกษตรวิสัย ทต.ปทุมรัตต์ ทต.สุวรรณภูมิ ทต.ชัยวารี ทต.เมืองสรวง  อบต.หนองแวงอบต.บ้านฝาง และ อบต.ป่าสังข์
          ด้านนายสฤษดิ์กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขมาโดยตลอด และเป็นโอกาสที่ดี ในการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส จึงเกิดแนวคิดในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยตามโครงการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ภายใต้แนวคิดศูนย์สาธิตการจัดการขยะเหลือศูนย์ (ze ro waste) จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อลดและบรรเทาปัญหา ผลกระทบจากขยะมูลฝอยในปัจจุบัน ทุกท่านที่อยู่ที่นี้ล้วนเป็นผู้นำท้องถิ่นในการเฝ้าระวังป้องกัน ดูแล รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
          "ผมมีความเชื่อว่าถ้าหากพวกเราสามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือได้อย่างเป็นระบบ และสามารถร่วมกันบริหารจัดการขยะในท้องถิ่นของตนเอง ให้มีความเชื่อมโยง และมีความสัมพันธ์กันโดยใช้ความเชื่อมโยงในการบริหารจัดการขยะชุมชนเหลือศูนย์  ซึ่งเป็นกลไกสร้างความร่วมมือ ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในลักษณะเชิงบูรณาการ ตั้งแต่ขั้นตอนของการร่วมรับรู้ แสดงความคิดเห็น ตัดสินใจดำเนินการ และติดตามประเมินผลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน อันเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดความยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป" นายสฤษดิ์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น