วันอังคารที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

10สัญญาประชาคม หลักยุทธศาสตร์ชาติ คาดเลือกตั้ง19ส.ค.61

10สัญญาประชาคม หลักยุทธศาสตร์ชาติ คาดเลือกตั้ง19ส.ค.61 
เดลินิวส์  ฉบับวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐

          เปิดร่างสัญญาประชาคม ร่ายยาว 10 ข้อ!! ยึดหลักลุยยุทธศาสตร์ชาติ วาดฝัน เลือกตั้งโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม ขจัดโกงโยกย้าย-ซื้อขายตำแหน่ง "บิ๊กตู่" งัดไม้เด็ดชง ตรวจสอบนโยบายพรรค สร้างนักการเมืองซื่อสัตย์  นปช.เตือนวิกฤติรอข้างหน้า เพื่อไทยเย้ยใช้แต่คำสวยหรู ไม่ลงลึกรากเหง้าขัดแย้ง ด้าน กกต. คาด กาเบอร์ 19 ส.ค.61 ลุ้น วันนี้ 5 เสือเคาะมติยื่นศาล รธน.ตีความกฎหมายลูก กกต. "สมชัย" แง้ม ใช้ช่องยื่นผ่านนายกฯ  ชี้ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ส่อขัดรัฐธรรมนูญ  บิ๊กป้อม-บิ๊กป๊อก ปัดตอบปรับ ครม. โยน ถาม "บิ๊กตู่" พล.อ.ประวิตร ขอนั่งเก้าอี้กลาโหมต่อ
          "บิ๊กป้อม"ปัดถูกโยกคุม มท.ตาม
          ความคืบหน้าภายหลังมีกระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยจะโยกพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไปนั่งในตำแหน่ง รมว.มหาดไทย เพื่อคุมการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2561 นั้น
          เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 17 ก.ค. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยืนยันไม่ทราบกระแสข่าวการปรับ ครม. และไม่ทราบจะถูกย้ายไปเป็น รมว.มหาดไทยหรือไม่ แต่หากถามใจตนเองก็อยากทำงานที่กระทรวงกลาโหมต่อไป เพราะที่ผ่านมาได้ร่วมงานกับรมว.กลาโหมอาเซียน 10 ประเทศ จนเกิดความสนิทสนมคุ้นเคย อีกทั้งที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ ไม่เคยพูดประเด็นปรับ ครม.แต่อย่างใด และหากมีการปรับ ครม.จริงต้องรอให้ผ่านพ้นพระราชพิธีสำคัญไปก่อน
          โยนถาม พล.อ.ประยุทธ์
          พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ไม่มีความคิดเห็น เรื่องกระแสข่าว ปรับ ครม. ขอสื่อมวลชนไปถาม พล.อ.ประยุทธ์เพราะเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี เป็นผู้พิจารณาคนเดียว
          ขณะที่ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม ปฏิเสธให้ความเห็นถึงกระแสข่าวปรับ ครม. โดยระบุเพียงว่า อำนาจการปรับ ครม.เป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ ตนเองไม่มีสิทธิ และไม่ขอออกความคิดเห็นใด ๆ ทั้งสิ้น
          ปิดประตูสลับเก้าอี้ ป้อม-ป๊อก
          ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงที่ใกล้ชิดพล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีไม่มีแนวความคิดที่จะปรับ ครม.ในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นห้วงเวลาใกล้งานพระราชพิธีสำคัญอีกทั้งการขับเคลื่อนงานของรัฐบาลกำลังเดินหน้าไปด้วยดีโดยเฉพาะงานสร้างความปรองดองและการปฏิรูปต่าง ๆ รวมถึงสถานการณ์การเมืองขณะนี้ หากมีการปรับ ครม.อาจเกิดเงื่อนไข ต่าง ๆ แทรกซ้อนขึ้นมาอีก
          สำหรับประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตอาจจะมีการสลับตำแหน่งระหว่าง พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ ไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องด้วย พล.อ.ประวิตร ต้องดูแลภาพรวมงานด้านความมั่นคงทั้งหมด อีกทั้งช่วงนี้เป็นฤดูกาลปรับ ย้ายนายทหารชั้นนายพลประจำปี จึงไม่มีทางเป็นไปได้ สำหรับกรณีมีกระแสข่าวปรับย้าย พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน และนาย สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม ก็เป็นไป ไม่ได้เช่นกัน โดยเฉพาะ พล.อ.ศิริชัย เพราะถือเป็นน้องรัก ของ พล.อ.ประวิตร
          เปิด 74 ศูนย์รับแจ้งโกง
          ที่กองบัญชาการกองทัพบก  (บก.ทบ.) ถนนราชดำเนิน พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช.เปิดเผยว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้กำชับให้หน่วยงานเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกประชาชนที่เข้ามาแจ้งข้อมูลที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนความประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามนโยบายนายกรัฐมนตรีที่ให้เปิดตู้ ป.ณ.444 เปิดสายด่วน 1299 และเปิดหน่วยทหารให้ประชาชนแจ้งเบาะแสเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตโดยขณะนี้ คสช.จัดตั้งศูนย์รับเรื่อง ร้องเรียนฯ ทั่วประเทศแล้ว 74 แห่ง
          นอกจากนี้ พล.อ.เฉลิมชัยได้สั่งตั้ง คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลเพื่อพิจารณา รายละเอียดความน่าเชื่อถือของข้อมูล ก่อนส่งเรื่องให้หน่วยงานเกี่ยวข้องรับเรื่องไปดำเนินการต่อไป ทั้งนี้หากเรื่องใดที่เป็นการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยทหารโดยตรง กองทัพจะดำเนินการตรวจสอบตามระเบียบราชการคู่ขนานไปอีกทางหนึ่งด้วย
          โชว์ร่างสัญญาประชาคม
          ที่หอประชุมกองทัพภาคที่ 1 พล.ท. กู้เกียรติ ศรีนาคา แม่ทัพน้อยที่ 1 เป็นประธานเปิดเวทีเสวนาสาธารณะ "สัญญาประชาคมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง" ในพื้นที่ภาคกลาง 26 จังหวัด โดยมีตัวแทนภาคประชาชน กลุ่มการเมืองและพรรคการเมือง จำนวน 312 คน เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายชวลิต วิชัยสุทธิ์ อดีตรักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. และนายธนา ชีรวินิจ อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น
          หัวใจสำคัญเดินหน้า ปท.
          พล.ท.กู้เกียรติ ได้กล่าวเปิดงานเสวนาช่วงหนึ่ง ระบุว่า ร่างสัญญาประชาคม ประกอบด้วยข้อเสนอจากทุกภาคส่วน และส่วนตัวเชื่อ สัญญาประชาคมจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปสู่อนาคตได้
          จากนั้น พล.ต.อภิศักดิ์ สมบัติเจริญนนท์ ผู้แทนคณะอนุกรรมการพิจารณาการ บูรณาการข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองและ พล.ต.ชนาวุธ บุตรกินรี ผู้แทนคณะอนุกรรมการจัดทำข้อ เสนอกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดอง บรรยายสรุปว่า ร่างสัญญาประชาคมมาจาก การรับฟังความเห็นประชาชนตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.- 8 พ.ค. 2560 โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ ไปแก้ปัญหาเพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงต่อไป
          โชว์ 10 ข้อสร้างปรองดอง
          สำหรับเนื้อหาร่างสัญญาประชาคมจะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1. บทนำ 2. ความคิดเห็นร่วมและ 3.ภาคผนวก ในส่วนความคิดเห็น ร่วม ประกอบด้วย 10 ข้อดังนี้
1.คนไทยทุก คนพึงร่วมมือกันสร้างบรรยากาศความสามัคคีปรองดองเพื่อให้ประเทศไทยมีความเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขใช้สิทธิเสรีภาพอย่างถูกต้องในกรอบกฎหมาย ยอมรับความแตกต่างทางความคิด ส่งเสริมสถาบันการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใสบริสุทธิ์ยุติธรรมและยอมรับผลการเลือกตั้งซึ่งถือเป็นฉันทามติของคนไทยทั้งประเทศและการแก้ไขปัญหาโดยใช้กลไกรัฐสภา ย้ำเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ
         
2.คนไทยทุกคนพึงน้อมนำศาสตร์พระราชา ประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิตประกอบอาชีพอย่างสุจริตพึ่งพาตนเองได้

3. คนไทยทุกคนพึงยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรมไม่สนับสนุนการทุจริตและพฤติกรรมมิชอบ

4.คนไทยทุกคนพึงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า

5.คนไทยทุกคนพึงส่งเสริมการดูแลคุณภาพชีวิตและสาธารณสุข

6.คนไทยทุกคนพึงเคารพเชื่อมั่นและปฏิบัติตามกฎหมาย สนับสนุนกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม
         
7.คนไทยทุกคนพึงใช้ความรอบคอบในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไม่บิดเบือน

8.คนไทยทุกคนพึงตระหนักในการส่งเสริมสังคมให้มีมาตรฐานสากลตามกฎกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี

9.คนไทยทุกคนพึงส่งเสริมการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ให้สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกันและ

10.คนไทยทุกคน พึงเรียนรู้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ

          ไม้เด็ดตรวจนโยบายพรรค
          สำหรับเนื้อหาภาคผนวกที่เป็นความเห็นของนายกรัฐมนตรี มีทั้งหมด รวม 15 ข้อ มีเนื้อหาสรุป อาทิ พรรคการเมืองต้องไม่ใช้อำนาจบริหารเพียงหวังคะแนนเสียง ต้องมีกลไกควบคุมให้พรรคการเมืองมีความรับผิดชอบต่อการประกาศนโยบายพรรค รวมทั้งกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและรับ ผิดชอบต่อประชาชน
          "การทุจริตระดับนโยบายจะต้องได้ รับการตรวจสอบอย่างจริงจัง เช่นการตรวจ สอบนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองและประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบทรัพย์สินภาครัฐ นักการเมืองทุกคนต้องยึดถือจริยธรรมและจรรยาบรรณในอาชีพ ภาคการ เมืองต้องปรับปรุงกระบวนการคัดสรรบุคคลเข้าสู่ระบบการเมืองที่เหมาะสม" เนื้อหาส่วนหนึ่งของภาคผนวกระบุ
          ขจัดโยกย้าย-ซื้อขายตำแหน่ง
          นอกจากนี้ เนื้อหาส่วนใหญ่ยังคงเน้นในเรื่องการนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิต โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขณะที่การบริหารงานของหน่วยงานภาครัฐต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรม และต้องขจัดการซื้อขายตำแหน่งเรียกรับ ผลประโยชน์ในทุกโครงการ เป็นต้น
          "บิ๊กป้อม"มั่นใจฉลุย
          ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า หากทุกภาคส่วนปฏิบัติตามสัญญาประชาคม จะทำให้ประเทศชาติเกิดความสงบสุข และมีความปรองดองเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และส่วนตัวมั่นใจทุกอย่างจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
          "จตุพร"เตือนระวังวิกฤติ
          ด้าน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ยืนยัน นปช. พร้อมให้ความร่วมมือสร้างความปรองดอง และหวัง พล.อ.ประยุทธ์ จะสร้างความปรองดองได้สำเร็จ ไม่เช่นนั้น หนทางข้างหน้าจะเกิดวิกฤติ ปัญหาและสถานการณ์ต่าง ๆ จะเลวร้าย ดังนั้น ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เวลาที่เหลือทำเรื่องปรองดองให้เห็นผล เป็นรูปธรรม
          "ถ้าเราปรองดองกันได้ก็ไม่ต้องกลับไปเหมือนเดิม เรื่องรบกันไม่ยากแต่เรื่องรักกันยาก ผมหวังให้การสร้างความปรองดองสำเร็จหากไม่สำเร็จ หนทางข้างหน้าก็จะเกิดวิกฤติ" นายจตุพร กล่าว
          นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรักษาการ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ร่างสัญญาประชาคมมีการประดิษฐ์ถ้อยคำที่สวยงาม หลังจากนี้ต้องจับตาดูว่าสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบสัญญาประชาคมไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดเรื่องสาเหตุความขัดแย้งและการเยียวยา อย่างไรก็ตามยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยพร้อมร่วมมือสร้างความปรองดองอย่างเต็มที่
          ปชป.หนุนปรองดองเต็มที่
          ด้าน นายธนา ชีรวินิจ อดีตส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลตั้งใจสร้างความปรองดองและขอยืนยันพรรคประชา ธิปัตย์เห็นด้วยกับการสร้างความปรองดองโดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ในส่วนร่างสัญญาประชาคม 10 ข้อไม่ขอวิจารณ์ แต่เชื่อว่าประชาชนที่ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ จะเข้าใจในวิวัฒนาการที่เปลี่ยนไป
          โอกาสน้อยตั้ง กมธ.3 ฝ่าย
          ที่รัฐสภา นายอุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่าในวันที่ 19 ก.ค. กรธ.จะนัดประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบแล้วในวาระ 3 โดย กรธ.จะดูเนื้อหาร่างกฎหมายลูกฉบับดังกล่าวว่ามีประเด็นใดที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวมองว่าในหลักการไม่มีปัญหาและไม่มีส่วนใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
          ส่วนกรณีที่มีบางประเด็นในร่างกฎหมายลูก เช่น การเปิดให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลย หรือกรณีให้ศาลดำเนินการตามกระบวนการตรวจสอบโดยจำเลยไม่ปรากฏตัวต่อศาลนั้น หากตัวแทนศาลยุติธรรมมองว่ามีปัญหาอาจส่งประเด็นมาให้ กรธ. พิจารณาร่วมด้วยก็ได้ และมองว่ามีโอกาสน้อยที่จะตั้งกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่าย ขึ้นเพื่อพิจาณา ร่างกฎหมายลูกคดีอาญานักการเมือง เนื่องด้วยขณะนี้ ป.ป.ช. ยืนยันแล้วว่า ร่างกฎหมายลูกฉบับดังกล่าว ไม่มีเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
          สนช.ปัดไล่ล่าแม่มด
          นายสมชาย แสวงการ โฆษก กมธ. วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายลูกคดีอาญานักการเมือง ยืนยัน หลักการพิจารณาคดีลับหลังไม่ขัดหลักสากล และไม่มีเจตนาล่าแม่มด สำหรับเหตุที่ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเปลี่ยนวิธีพิจารณาคดี เนื่องด้วยกฎหมายฉบับเก่าจับ นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรมว.สาธารณสุข มาติดคุกได้เพียงรายเดียว ส่วนผู้ต้องสงสัยที่เหลือหลบหนีออกนอกประเทศไปทั้งหมด
          "มาร์ค"ชี้ไม่ขัดหลักยุติธรรม
          นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าร่างกฎหมายลูกคดีอาญานักการเมืองพยายามแก้ไขปัญหาผู้มีอิทธิพลหนีคดี สำหรับประเด็นที่เปิดให้ศาลพิจารณาคดีลับ ส่วนตัวมองว่า ไม่ขัดหลักความยุติธรรม เนื่องด้วยจำเลยสามารถตั้งทนายสู้คดีได้ อีกทั้งหากจำเลยตัดสินใจกลับมาสู้คดี และมีพยานหลักฐานใหม่ที่จะส่งผลต่อคำพิพากษาได้ ก็สามารถรื้อฟื้นคดีได้จึงถือเป็นการให้ความยุติธรรมกับจำเลย
          "สมชัย" ชี้ 4 ช่องยื่นศาล รธน.
          อีกด้านหนึ่ง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีกกต.เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายลูก กกต.ที่มีเนื้อหาให้ 5 เสือ กกต.ชุดปัจจุบันถูกเซตซีโร่ว่า ขณะนี้มี 4 ช่องทาง ประกอบด้วย 1.ช่องทางแรก ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 (2) 2. ใช้มติ กกต. ยื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (1) ที่กำหนดว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยกฎหมายหรือร่างกฎหมายว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือ ไม่ 3. กกต.แต่ละคนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่ง ยื่นได้เฉพาะประเด็นเซตซีโร่กกต. และ 4. ภายหลังร่างกฎหมายลูก กกต. บังคับใช้ กกต.สามารถยื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 ต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งช่องทางทั้งหมดจะมีการนำเข้าหารือในที่ประชุม กกต. วันที่ 18 ก.ค.
          "สมชัย"จ่อยื่นด้วยตัวเอง
          นายสมชัย กล่าวว่า หากที่ประชุม กกต.มีมติไม่ยื่นตีความ ส่วนตัวจะยื่นเองหรือไม่นั้น ยังไม่คิด และถึงผมจะยื่นก็ไม่ได้ยื่นเพื่อให้ตัวเองอยู่ต่อ แต่เป็นการยื่นเพื่อให้รู้ว่ารัฐธรรมนูญมีความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ประชาชนเพียงคนเดียวรู้ว่าสามารถยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
          "เมื่อรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว กรธ. ก็บอกเองว่าประชาชนมีสิทธิยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ อาจจะเป็นครั้งแรกของประเทศ ไทย ที่ประชาชนคนไทยจะสามารถใช้สิทธิเพื่อพิสูจน์ความศักดิสิทธิ์ของกฎหมาย หากศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่สามารถยื่นคำร้องได้ ก็จะได้รู้ว่าสิทธิของประชาชนที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นอาจจะไม่เป็นจริง" นายสมชัยกล่าว
          ขย่มซ้ำปมผู้ตรวจเลือกตั้ง
          นอกจากนี้ นายสมชัย เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 ก.ค. จะเสนอที่ประชุม กกต. ให้พิจารณาประเด็นการกำหนดให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งว่า เป็นการเขียนกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากกลไกผู้ตรวจการเลือกตั้งขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 78 และ มาตรา 224(2) เนื่องจากกลไกผู้ตรวจการเลือกตั้ง เป็นกลไกที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม และไม่สามารถทำให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมได้
          "แรงบันดาลใจในเรื่องนี้ ได้รับจาก นายมีชัย ประธาน กรธ. ที่หันมาทบทวนประเด็นไพรมารีโหวตว่า อาจเป็นกลไกที่ทำให้การเลือกตั้งไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นเมื่อผมเห็นว่า เรื่องผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นกลไกที่หากนำไปใช้อาจไม่สามารถทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมได้ อีกทั้งเป็นการแต่งตั้งจากส่วนกลาง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ขาดการมีส่วนร่วม ผมจึงเห็นสมควรเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว" นายสมชัยกล่าว
          ชี้ยื่นผ่านนายกฯไม่ได้
          ทั้งนี้มีรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาของกกต.ที่มีนายสุรินทร์ นาควิเชียร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา ให้ความเห็นว่า กกต. ไม่สามารถขอให้ นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 ( 2) ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่รับหรือผ่านคำร้องให้ฝ่ายใด
          นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ยอมรับว่า ขณะนี้ไม่ติดใจร่างกฎหมายลูก กกต. เนื่องด้วยได้ทำหน้าที่โต้แย้งใน คณะ กมธ. วิสามัญร่วม 3 ฝ่ายอย่างเต็มที่  ดังนั้น ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุม กกต. ในวันที่ 18 ก.ค.
          คาดเปิดคูหา 19 ส.ค. 61
          วันเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนัก งาน กกต.ได้จัดประชุมเพื่อเตรียมความพร้อม จัดการเลือกตั้ง โดยมีผู้บริหาร กกต.และภาคส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมประชุม 110 คน โดยที่ประชุมประเมินว่า ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อาจสร้างปัญหาเรื่องการคำนวณจำนวน ส.ส. แต่ทั้งหมดต้องรอความชัดเจนจาก กรธ.ต่อไป
          ส่วนกรอบเวลาเลือกตั้งประเมินว่า หากร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาไม่เกินวันที่ 31 มี.ค. 2561 จากนั้นกกต.จะออกระเบียบเกี่ยวข้องในช่วงต้นเดือน เม.ย. 2561 เพื่อนำไปสู่การรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ ในช่วง 2-6 ก.ค. 2561 และคาดการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 19 ส.ค. 2561 สำหรับประเด็นเรื่อง ส.ว.แต่งตั้ง กกต. ประเมินจะมีการประกาศรายชื่อ 200 ส.ว. ในวันที่ 8 มิ.ย. 2561
          ขณะที่นายศุภชัย ชี้แจงว่า การประเมินเลือกตั้งวันที่ 19 ส.ค. 2561 เป็นเพียงตารางทำงานของเจ้าหน้าที่เท่านั้น กกต. จำเป็นต้องมีแผน ไม่เช่นนั้น อาจทำให้เกิดความฉุกละหุกได้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น