วันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2560

บทความพิเศษ: การจัดการศึกษาท้องถิ่น ตอนที่ 3: รร.มัธยมศึกษา

บทความพิเศษ: การจัดการศึกษาท้องถิ่น ตอนที่ 3: รร.มัธยมศึกษา
สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๐

          ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย
          ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 รวมแก้ไขเพิ่ม พ.ศ.2553 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถจัดการศึกษาได้ทุกระดับ ตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษาได้ ซึ่ง อปท. ส่วนใหญ่มีการจัดการศึกษาทั้งในรูปของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) การศึกษาในช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) ช่วงชั้นที่ 2 (ป.4-ป.6) ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1-ม.3) ช่วงชั้นที่ 4 (ม.4-ม.6) ซึ่งส่วนใหญ่ อปท. จะจัดการศึกษาใน "เด็กเล็ก" ได้แก่ เด็กก่อนปฐมวัย (2-3 ปี), เด็กปฐมวัย (4-6 ปี), เด็กประถมศึกษา (7-12 ปี)
          การจัดการศึกษาในช่วง "มัธยมศึกษา" คือในชั้นที่ 3 - 4 (ม.1-ม.6) เป็นช่วงอายุ "เด็กโต" หรือ "เด็กวัยรุ่น" อายุ 13-18 ปี นับเป็นการศึกษาต่อเนื่องมาที่ความสำคัญในลำดับต่อไป ที่มีสภาพปัญหาการบริหารจัดการศึกษาที่แตกต่างกันระหว่าง "เด็กเล็กและเด็กโต" โดยปกติ รร. มัธยมศึกษา มีการจัดการใน องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเมืองพัทยา (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) สำหรับเทศบาลตำบลก็มีการจัดการศึกษาเช่นกัน เพียงแต่ส่วนใหญ่จัดการศึกษา รร. ถึงเพียงชั้น ป. 6 มีน้อยรายที่มี รร.ขยายโอกาสถึงชั้นม. 3
          ลองมาดูข้อสังเกตต่างๆ ในสภาพปัญหาการจัดการศึกษาท้องถิ่นในระดับมัธยมศึกษา โดยเฉพาะ รร. มัธยมศึกษา อปท. ที่จัดตั้งใหม่ๆ เช่น
          (1) สถานที่ไม่พร้อม หรือไม่เอื้อต่อการจัดการศึกษา หากต้องสนองต่อความต้องการประชาชนแล้ว อาจทำให้การจัดการศึกษาไม่ได้คุณภาพ เพราะมีขั้นตอนการจัดการศึกษาที่ง่ายเพียงขออนุมัติเปิดโรงเรียนสภาท้องถิ่นในปีนี้ แล้วปีถัดไปก็สามารถเปิดการเรียนการสอนได้เลย ความพร้อมในหลักสูตรสถานศึกษาบางแห่งจึงยังไม่มีจึงมีผลต่อคุณภาพการศึกษาที่ตามมา
          (2) ปัญหาด้านบุคลากรทางการศึกษา มีไม่ครบทุกกลุ่มสาระ บางแห่งไม่มีการจัดกลุ่มสาระเพราะบุคลากรไม่เพียงพอ ครูขาดแคลน เช่น บางแห่งให้ครูคอมพิวเตอร์ไปสอนกลุ่มสาระการงานพื้นฐานอาชีพ ประเภท อุตสาหกรรม คหกรรม เกษตรกรรม แม้ว่าเป็นการจัดการศึกษาที่ได้ความรู้ แต่อาจไม่สามารถใช้งานได้จริง ด้วยทักษะการเรียนการสอนที่ไม่ตรง มองกลับในวิสัยทัศน์ผู้บริหารท้องถิ่นได้ว่า เพราะ อปท.ต้นสังกัดอาจไม่อยากให้โรงเรียนพัฒนาไปกว่า อปท.หรืออย่างไร
          (3) การจัดการศึกษาในช่วงชั้นที่ 3 ระดับ ม.1 -3 อปท.สามารถขยายโอกาสต่อจากประถมเป็นโรงเรียนขยายโอกาส (มัธยมศึกษา) ได้เลยโดยไม่ต้องอนุญาตจาก รร. มัธยมศึกษาศึกษาในระยะ 10 กิโลเมตร แต่หากจะมีการจัดการศึกษาช่วงชั้นที่ 4 ม.4-6 ต้องขออนุญาตจาก รร. มัธยมศึกษาในระยะ 10 กิโลเมตรเสียก่อน (โดยเฉพาะ รร. มัธยมศึกษาของกระทรวงศึกษาฯ) หาก รร.ดังกล่าวไม่ยินยอมอนุญาต อปท.ก็จะจัดการศึกษาในช่วงชั้นที่ 4 (มัธยมปลาย) ไม่ได้ เนื่องด้วยการจัดการศึกษาช่วงชั้นที่ 4 รร. ต้องมีรายได้มีค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา แต่ท้องถิ่นที่จะมาจัดการศึกษา จะจัดการจัดศึกษา "แบบให้ฟรี" ซึ่งเป็นข้อแตกต่างที่เห็นชัดเจนระหว่าง รร. มัธยมศึกษาของกระทรวงศึกษาฯ และ รร. ของ อปท.ท้องถิ่น ที่ท้องถิ่นมีทั้งเงินอุดหนุนทั้งจากส่วนกลางและจากท้องถิ่นเอง ซึ่ง รร.ของกระทรวงศึกษาฯอาจไม่มีงบประมาณมากในลักษณะเช่นนี้
          (4) การบริหารจัดการศึกษาของท้องถิ่นทุก อปท.จัดการศึกษาแบบอิสระเอกเทศใน "ลักษณะตัวใครตัวมัน" ที่แต่ละท้องถิ่นต่างก็ดูแลกันเอง ทำให้ขาดองค์ความรู้ในการถ่ายทอด การตรวจสอบ การปรับปรุง ซึ่งบางแห่งจะประสบกับการสอนที่ขาดมีคุณภาพได้ เพราะ รร. อปท. แต่ละแห่งอาจไม่รู้ไม่ทราบสถานะและคุณภาพการศึกษาของตนเอง จนกว่าจะได้มีการทดสอบผู้เรียนเมื่อไปเรียนต่อที่อื่นหรือไปทดสอบข้อสอบส่วนกลางเท่านั้น
          (5) ปัญหาทางด้านวิชาการ อปท. ไม่มีหน่วยงานสนับสนุนด้านวิชาการและไม่ให้สนใจด้านนี้นัก เพราะมีเพียงหน่วยงานส่วนราชการเล็กๆ ในกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลเพียง 2-3 คนแต่ดูแลเรื่องการศึกษานี้ให้ รร.เทศบาลกว่า 500 แห่ง หาก อปท. เองไม่เข้มแข็งจริง ก็จะบริหารโรงเรียนไปได้อย่างยุ่งยากลำบาก อันเป็นผลให้การพัฒนาการด้านต่างๆ ของครูท้องถิ่นยากและล่าช้า ด้วยติดขัดที่ต้องรอระเบียบกฎหมายต่างๆ ที่ต้องหยิบมาจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยการแก้ไขให้สอดคล้องกับระเบียบของท้องถิ่น เป็นอาทิ มีเรื่องเล่าเชื่อไหมว่าครูเทศบาลยังประเมินอาจารย์ 3 แบบเดิมอยู่เลย หากผ่านการประเมินแล้วถือว่าน่ากลัวมาก
          (6) ผู้บริหารท้องถิ่นอาจหวังการสร้างชื่อเสียงจาก รร.มัธยมศึกษา อาทิการมุ่งเน้นงานแสดง การประกวด การหาเสียงมากกว่างานวิชาการหรือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
          (7) รร. มัธยมศึกษาสามารถออกใบเสร็จบริจาคเงินไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลได้ ทำให้ รร. ออกหนังสือรับรองการบริจาคเงินที่ตรวจสอบได้ยากที่ไม่ตรงข้อเท็จจริงแก่บุคคลเพื่อนำไปใช้ในการลดหย่อนภาษีดังกล่าว โดยเฉพาะในวงเงินที่มากแก่นักการเมืองหรืออื่นใด
          (8) วงจรอุบาทว์ของการศึกษาท้องถิ่น ที่อาจเหมือนๆ กับวงการอื่นก็คือ"เรื่องการบริหารงานบุคคล" การเข้าสู่ตำแหน่งของบุคลากรด้านการศึกษา ทำให้"การสรรหา" ได้บุคลากรที่บกพร่องในคุณภาพ ด้อยคุณสมบัติ เพราะอาศัยระบบอุปถัมภ์ เส้นสาย เงินทอง ยกตัวอย่างเช่น การเข้ามาเป็นครูลูกจ้างท้องถิ่นให้ครบสามปี เพื่อรอสอบบรรจุกรณีพิเศษ การฝากชื่อฝึกสอนที่ไม่ได้สอนจริง การซื้อขายตำแหน่งเพื่อได้รับการบรรจุ รวมถึงการโอนย้ายการคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา การแสวงประโยชน์ทั้งทางตรงทางอ้อมในกระบวนการสรรหา รวมทั้งจากกรรมการสอบคัดเลือก เป็นต้น
          อนึ่ง บุคลากรทางการศึกษาท่านหนึ่งมีข้อสังเกตสภาพปัญหาการบริหารงานภายใน รร. มัธยมศึกษา ดังนี้
          (1) เรื่องการทำงานของครูอัตราจ้างบางแห่งถือว่าครูอัตราจ้างทำงานน้อยขาดการเห็นคุณค่าในการประเมินต่อสัญญาจ้าง เพราะหากเปรียบเทียบลักษณะการทำงานกับครูอัตราจ้างทางภาคใต้จะมีลักษณะการทำงานหนักมากกว่าเพื่อให้ได้ต่อสัญญาจ้าง
          (2) ความเคร่งครัดในเวลาการทำงานของครู ควรมีแผนรองรับการมาทำงานของครูในตอนเช้ามาสาย (หลัง 08.00 น.) เป็นในทุกๆ เช้า โดยเฉพาะเช้าวันจันทร์และเย็นวันศุกร์ เพื่อมิให้มาสายกลับก่อนของครูที่มิได้พักอาศัยอยู่ในท้องที่
          (3) ความบกพร่องในการอยู่เวรรักษาการณ์ทั้งกลางวันและกลางคืน อาทิมาช้า หาย ไม่มาอยู่เวร
          (4) ครูเสพสุรา เมาในเวลาราชการ ทำให้ไม่สามารถสอนนักเรียนได้ ให้แต่งานกับแบบฝึกหัด
          (5) การสอนแก้ในรายวิชาโดยใช้วิธีต่างตอบแทนแลกผลการเรียน แบบที่เรียกว่า "เรียนจบมาเพราะเอาไก่แลกมา" อาทิ ให้ซื้อของมาแก้ เช่น ไก่ โต๊ะ เก้าอี้นั่ง เมล็ดผักหวาน และหรืออื่นใด
          (6) การขาดความสามัคคีของคณะครูในโรงเรียน ด้วยต่างฝ่ายต่างมีลูกพี่จากระบบอุปถัมภ์ ยึดมั่นถือมั่นในตนเอง ทำให้เกิดความแตกแยก มีผลกระทบต่อบุคลากรที่ตั้งใจทำงาน ทำให้ทำงานลำบาก ขาดขวัญกำลังใจ
          (7) มีวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ได้มุ่งหวังที่นักเรียน แต่เพื่อประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก
          (8) กลุ่มนักเรียนบ้านนอกต่างไม่ค่อยสนใจการเรียน มุ่งเรียนเพื่อขอแค่จบการศึกษา เมื่อจบการศึกษาแล้วก็ไปรับจ้างเป็นสาวโรงงาน ทำงานรับจ้าง ทำให้มีความสนใจในการเรียนต่ำมาก
          (9) ปัญหากลุ่มนักเรียนชั้น ม.1-3 ที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ (รวมถึงอ่านเขียนไม่คล่องด้วย) มีอัตราที่สูง ทำให้ครูยากแก่การสอน
          (10) มีบ้านพักครู ไม่เหมาะสม ทั้งสภาพ หรือ ทำเลที่พัก มีสภาพที่ไม่น่าอยู่อาทิ ทั้งเก่า ทั้งพัง ทั้งทรุดโทรม แต่ครูก็จำเป็นต้องพัก
          ในวาระแห่งชาติของการ "ปฏิรูปการศึกษาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560"ปัจจุบันนี้เป็นอีกสภาพปัญหาหนึ่งของโรงเรียนมัธยมศึกษา อปท. แม้มิใช่ในทุกโรงเรียน แต่ก็เป็นสภาพที่เกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นจริงมาแล้ว ปัญหาเหล่านี้ อาจมีผลต่อการจัดตั้ง รร.มัธยมศึกษา รวมถึงการถ่าย "โอนสังกัดของ รร.มัธยมศึกษาอปท." ในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะเมื่อหลายปีก่อน มีปรากฏการณ์ว่าครู รร.มัธยมศึกษาทั้งหลายต่างพากันขอโอนย้ายไปสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แต่เพียงไม่ทันไร ครูเป็นจำนวนมากต่างยินดีและเต็มใจที่จะโอนย้ายสังกัดกลับคืนมาอยู่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กันเกือบหมด นอกจากนี้บุคลากรครู อปท. ยังเป็นสิ่งที่หอมหวลในฐานเสียงของบรรดาเหล่านักการเมืองท้องถิ่น และนักการเมืองระดับชาติอยู่ เพราะเป็นผู้กุมฐานเสียงสำคัญและเป็นหัวคะแนนให้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น