วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: ภาพลักษณ์เชิงบวกขององค์กรท้องถิ่นจะทำอย่างไร

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: ภาพลักษณ์เชิงบวกขององค์กรท้องถิ่นจะทำอย่างไร 

สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐

          รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
          ผมเข้าใจว่า "ภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" มีทั้งด้านบวกและด้านลบขึ้นอยู่กับว่าเราจะพิจารณามองด้านใดเป็นสำคัญ แต่โดยหลักการแล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลไกหรือเป็นเครื่องมือในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อให้ อปท.เป็นองค์กรหลักองค์กรหนึ่งในการจัด บริการสาธารณะแทนรัฐบาล เป็นแหล่งฝึกหัดประชาธิปไตย ฝึกความเป็นผู้นำ ที่สำคัญ อปท. เป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดกับปัญหาและความต้องการของประชาชนมากที่สุด จึงทำให้คุณภาพการให้บริการสาธารณะมีมาตรฐานดีกว่าส่วนราชการ ซึ่งเห็นว่ามีหลาย อปท. จัดทำบริการสาธารณะที่ดีๆ สามารถเป็นต้นแบบหรือเป็นแบบอย่าง (Best Practice) ให้ศึกษาก็มีอีกมาก
          ในขณะที่หลาย อปท.เช่นกันที่ยังไม่รู้สึกตระหนักถึงเป้าหมายภาระหน้าที่ที่สำคัญของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแต่กลับกระทำในสิ่งที่เป็นลบหรือสร้างภาพลบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงทำให้ภาพรวม อปท. ในช่วงเวลานี้ไม่สู้จะดีนัก
          โดยเฉพาะข่าวคราวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (17-23 พฤษภาคม 2560) ที่มีองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง(อบต.) ในจังหวัดนนทบุรีนำคณะสมาชิกสภา อบต. และบุคลากรจำนวนหนึ่งไปศึกษาดูงานที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จนทำให้เป็นข่าวเกี่ยวกับสมาชิกสภา อบต. คนหนึ่งติดต่อแม่เล้า เรียกซื้อบริการเด็กหญิงและเมื่อเด็กหญิงที่ให้บริการถามว่าพี่เป็นใครจึงอ้างตัวเองบอกไปว่าเป็น "ผู้ว่าราชการจังหวัด" จนนำไปสู่การสอบสวนหาความจริงกันพัลวันของตำรวจเกี่ยวกับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน จนในที่สุดก็กลายเป็นสมาชิกสภา อบต.
          นอกจากนี้ เรื่องของ อบต. ก็พัวพันไปถึงการถูกตรวจสอบเกี่ยวกับการไปศึกษาดูงาน ชื่อบุคคลที่ไปดูงานกับการเบิกจ่ายงบประมาณว่า การเบิกจ่ายถูกต้องหรือไม่เพียงใด
          เราจึงเห็นว่า จากเหตุการณ์ภาพลบของ อปท. ใน "กรณีของสมาชิกสภา อบต.กับการไปศึกษาดูงาน" ทำให้เห็นว่า อปท.ได้รับบทเรียนรู้ และสามารถนำมาร่วมขบคิด เปิดใจรับฟัง และทบทวนสิ่งที่ได้กระทำลงไป เพื่อนำมา พัฒนาปรับปรุงภาพลักษณ์ของตนเองให้ดีขึ้น รวมทั้งให้อปท. ทั่วประเทศ ในนามของสมาคมองค์กรท้องถิ่นทั้งหลาย จะได้ถือโอกาสจากเหตุการณ์ดังกล่าวนำมาปรับปรุงและพัฒนาตนเองไปในตัว โดยเฉพาะการทบทวนการศึกษาดูงานในพื้นที่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มักจะมีประเด็นที่เป็นภาพลบต่อท้องถิ่นอยู่บ่อยๆ
          ส่วนการจัดประชุมสัมมนา ตลอดจนการฝึกอบรมของ อปท. ไม่ว่าจะเป็นส่วนของผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และบุคลากร หรือเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น ที่จัดขึ้นโดยสมาคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทต่างๆ หรือร่วมมือกันจัดขึ้นตามสถาบัน หรือองค์กรต่างๆก็ตาม ก็มักจะถูกกล่าวขานในเรื่องนี้ไปในทางลบว่า ใช้การประชุมสัมมนาและการฝึกอบรมเป็นการบังหน้า เพราะส่วนหนึ่งมาร่วมการประชุมสัมมนาและไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ซ้อนทับกัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับการประชุมสัมมนา การฝึกอบรมที่ไม่ครบตามจำนวนเวลาที่กำหนดและการขออนุมัติมาราชการเพื่อการศึกษาดูงานเป็นการบังหน้า แต่เอาเวลาส่วนใหญ่ไปเที่ยวสังสรรค์ หรือไปทำกิจกรรมอื่นๆ เป็นต้น
          ทั้งหลายทั้งปวงนี้ จึงทำให้ อปท.ในส่วนที่มีการบริหารจัดการในแนวภาพบวก เมื่อมาผสมกับ อปท. ที่มีแนวภาพลบ จึงทำให้ อปท.ทั้งหมดกลายเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่น่าจะสวยมากนัก ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ทำให้ อปท.ทั่วประเทศติดภาพลักษณ์นั้นไปโดยไม่รู้ตัว ส่วนหนึ่ง อปท.จะต้องยอมรับความจริงว่า ยังมีเรื่องราวในลักษณะนี้อยู่ ดังนั้น "สิ่งที่จะต้องก้าวเดินต่อไปนั่นก็คือ การร่วมกันสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับ อปท."
          การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับอปท. จึงเป็นประเด็นที่ต้องผนึกกำลังกันหาแนวทาง และวิธีคิดใหม่ โดยเฉพาะการจัดทำให้เป็นแบบอย่าง และการสร้างต้นแบบของแนวทางปฏิบัติที่ดีๆ (Best Practice) ให้กับสังคมได้ทราบ
          ทั้งนี้เพราะในห้วงเวลาเกือบ 20 ปีที่ได้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเต็มรูปแบบ ในแง่ของการปรับโครงสร้างท้องถิ่นการกำหนดภารหน้าที่ของท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในท้องถิ่น ตลอดจนการส่งเสริมให้ท้องถิ่นจัดบริการสาธารณะด้วยแนวทางการสร้างนวัตกรรมท้องถิ่นเราได้พบว่า การจัดบริการสาธารณะของท้องถิ่นได้เกิดนวัตกรรมท้องถิ่นใหม่ขึ้นในหลากหลายรูปแบบ และในบางพื้นที่ บางองค์กรปกครองท้องถิ่น ก็ก่อให้เกิดนวัตกรรมท้องถิ่นที่สามารถนำมาเป็นรูปแบบที่ดีได้ เป็นต้นว่า การส่งเสริมบริการสาธารณะที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของประชาชน การดูแลผู้สูงอายุ จัดให้มีโรงเรียนผู้สูงอายุในรูปแบบต่างๆ การดูแลผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้ไร้ความสามารถต่างๆนอกจากนี้ การพัฒนาและส่งเสริมสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะการดูแลสุขภาวะขั้นพื้นฐาน การดูแลและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน เช่นการดูแล ดิน น้ำ ป่า ที่ชุมชนสามารถสร้างกติกาดูแลร่วมกันเองได้ ตลอดจนการน้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาสืบสานปณิธาน เช่น การจัดให้มีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง การจัดให้มีโรงเรียนเกษตรกรและการทำการเกษตรทางเลือก เป็นต้น
          ในส่วนของการจัดการศึกษาดูงานและการสัมมนา การฝึกอบรม ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่จะต้องมาทบทวนปัญหานี้กันอย่างจริงจัง โดยต้องคิดร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้ อปท.เป็นแบบอย่างที่ดีในการร่วมประชุมสัมมนา และการฝึกอบรมที่คนท้องถิ่นมีความตั้งใจที่จะอบรมสัมมนาอย่างจริงจัง และการศึกษาดูงานก็เช่นกัน ต่อนี้ไปจะต้องไม่มีวาระแอบแฝงที่จะใช้การศึกษาดูงานบังหน้าแล้วเอาเวลาไปทำประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งอาจจะมีมาตรการ โดยประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า เราจะศึกษาดูงานกันอย่างจริงจัง โดยจะนำความรู้ ทั้งในการฝึกอบรมและความรู้ที่ได้จากการศึกษาดูงาน กลับมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานกับ อปท.ของตนเองให้เกิดผลอย่างจริงจัง
          ผมจึงเรียกร้องให้ สมาคม อปท.แห่งประเทศไทยทุกประเภท และสมาคมบุคลากร เจ้าหน้าที่ รวมทั้งสมาคมปลัดอปท. ทั่วประเทศเช่นกัน จัดเวลามาร่วมประชุมวางแนวทาง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ในเชิงบวกให้กับองค์กรท้องถิ่น และเห็นว่าในห้วงเวลานี้ จะต้องร่วมทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ทั้งในรูปของกิจกรรมหรือโครงการที่ดีๆ มานำเสนอต่อสาธารณชนว่า ท้องถิ่นที่บริหารกิจการสาธารณะที่ดีๆ หรือคิดสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ชี้นำสังคม เพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ น่าจะเป็นข้อเสนอเพื่อให้สาธารณชนรับรู้เป็นที่ประจักษ์ นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ อปท.ทั้งหลายควรจะกระทำ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้เกิดขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น