วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559

โวยส่อทุจริตจัดสอบพนง.ท้องถิ่น

โวยส่อทุจริตจัดสอบพนง.ท้องถิ่น 

เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๙

          เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 5 ต.ค. นายสิระ พิมพ์กลาง ประธานชมรมพิทักษ์หลักนิติธรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (กสถ.) กระทรวงมหาดไทย จะจัดให้มีการสอบ เพื่อบรรจุและแต่งตั้งพนักงานส่วนท้องถิ่นขึ้นในปี 2559 นั้น ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า กระบวนการสอบส่อไปในทางทุจริตตั้งแต่เริ่มต้นไม่ชอบธรรมด้วยกฎหมาย กฎระเบียบ ตลอดจนข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการร่วมกันทุจริตครั้งมโหฬารอีกครั้ง ซ้ำรอยคดีฉาวที่มหาสารคาม
          นายสิระ เผยต่อว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะกรรมการ กสถ. และแต่งตั้งอนุกรรมการ 5 คณะ เพื่อดำเนินการจัดสอบ 3,415 อัตรา ทั่วประเทศ ตามกรอบอัตรากำลังเดิมในปีงบประมาณ 2558 โดยไม่มีการทำหนังสือสอบถามยืนยันไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศเสียก่อน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหา หาก อปท.ไม่ได้ตั้งข้อบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อจ่ายเงินเดือน ในปีงบประมาณ 2560 ไว้ ที่สำคัญ อปท.หลายแห่งได้ยกเลิกกรอบอัตรากำลังเดิมที่ตั้งไว้ตั้งแต่ปี 2558 ไปแล้ว
          นายสิระ เผยต่ออีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบคัดเลือกมหาวิทยาลัยจำนวนแค่ 11 แห่ง เพื่อทำหนังสือเชิญ มาเสนอเงื่อนไขและความพร้อมในการเข้ามาเป็นผู้ออกข้อสอบและดำเนินการสอบแข่งขันทั้งที่สถาบันอุดมศึกษารัฐและเอกชนทั่วประเทศมีอยู่กว่า 170 แห่ง ที่มีความพร้อมในการจัดสอบแข่งขันและระเบียบการประกาศหลักเกณฑ์การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นระบุชัดว่าให้จัดทำหนังสือเชิญชวนสถาบันการศึกษาเข้าร่วมการคัดเลือกอย่างแพร่หลาย
          ประธานชมรมพิทักษ์หลักนิติธรรมแห่งประเทศไทย ยังเผยด้วยว่า ล่าสุดมีการตอบกลับมาสถาบันอุดมศึกษาที่มีความประสงค์จัดสอบให้กับ กสถ. เพียง 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีกำหนดนำเสนอเงื่อนไขในวันที่ 6 ต.ค.นี้ ทั้งที่คณะกรรมการกลาง กสถ. ในตำแหน่งตัวแทน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพิ่งหมดวาระไปและยังไม่มีการคัดเลือกใหม่  จึงไม่เป็นไปตามมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับกระบวนการสอบแข่งขัน พ.ศ. 2558
          "การดำเนินการต่าง ๆ ไม่ควรจะเร่งรีบจนขาดความชอบธรรม หากปล่อยให้มีการล็อกสเปกในการพยายามที่จะกำหนดสถาบันการศึกษาเช่นนี้ที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลในสาธารณชนรับทราบว่าทั้ง 11 แห่งนั้นมีสถาบันอุดมศึกษาใดบ้างจึงเชื่อได้ว่ามีการวางแผนทุจริตอย่างแน่นอน ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ต้องขออนุมัติ จากกรมบัญชีกลางเพื่อดำเนินการจัดสอบในครั้งนี้ ไม่น้อยกว่า 90 ล้านบาท และร้องขอให้มีการตรวจสอบ กระบวนการจัดสอบของ กสถ.ว่ามีความโปร่งใส และชอบธรรมตามกฎหมายหรือไม่" นายสิระ กล่าว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น