วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เงินอุดหนุนท้องถิ่น7,853แห่งลด2หมื่นล้านห้างร้าน-ประชาชนอ่วม 'อบจ.-อบต.-เทศบาล' เล็งบี้ภาษีชดเชย



เงินอุดหนุนท้องถิ่น7,853แห่งลด2หมื่นล้านห้างร้าน-ประชาชนอ่วม 'อบจ.-อบต.-เทศบาล' เล็งบี้ภาษีชดเชย
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๙

          เปิดลายแทงจัดสรรงบท้องถิ่นทั่วประเทศ 7,853 แห่ง ผู้บริหารท้องถิ่นโอด "เงินอุดหนุน" ปี'60 วูบกว่า 2 หมื่นล้าน เหตุรัฐบาลเพิ่มฐานภาษีใหม่ผลักให้ อปท.ไปจัดเก็บ รายได้เอง หวั่นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ชะงัก ปรับแผนใช้งบฯเน้นพัฒนาโครงการ-แก้ไขปัญหาตามสภาพ ชี้การลงทุนร่วมรัฐบาล-อปท.โครงการละไม่เกิน 10 ล้านช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจิ๊บจ๊อย
          ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไปกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะเริ่ม ใช้จ่ายงบประมาณก้อนใหม่แล้ว ซึ่งหากโฟกัสไปที่การจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ 7,853 แห่ง มีวงเงินทั้งสิ้น 6.79 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2559 กว่า 2.29 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 1.รายได้ที่ อปท. จัดเก็บเอง และรายได้ที่รัฐบาลเก็บให้และแบ่งให้ 4.41 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปีก่อน 4.38 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11
          2.เงินอุดหนุน จำนวน 2.37 แสนล้านบาท ลดลง 2.09 หมื่นล้านบาท โดยแยกเป็นเงินอุดหนุน อบจ. เทศบาล และ อบต. จำนวน  2.15 แสนล้านบาท ลดลงจาก ปี 2559 จำนวน 2.47 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 10.3 ส่วนกรุงเทพมหานคร ได้ 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.82 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.6 และเมืองพัทยาได้ 1.589 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6 แสนบาท
          เงินอุดหนุน อปท.วูบ 2 หมื่นล้าน
          ทั้งนี้สำนักงบประมาณ ระบุว่า แผนงาน บูรณาการส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปี 2560 เงินอุดหนุน 2.37 แสนล้านบาทนั้น ตั้งเป้าให้ อปท.เป็นหน่วยงานหลักในการจัดบริการสาธารณะในระดับพื้นที่ (Area) ทั้งหมด 5 ด้าน คือ 1. ด้านสังคม ตั้งงบฯไว้ 8.70 หมื่นล้านบาท ในการวางแนวทางจัดทำโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด, สร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ, ส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เชิงรุก, สนับสนุนการ เสริมสร้างสวัสดิการทางสังคมให้แก่ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และผู้ด้อยโอกาสทาง สังคม
          2.ด้านการศึกษา ตั้งงบฯไว้ 7.91 หมื่นล้านบาท มี 2 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ DLIT 3.ด้านบริหารจัดการ ตั้งงบฯไว้ 5.64 หมื่นล้านบาท มีทั้งในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ดำเนิน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการท้องถิ่น และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะดำเนินโครงการส่งเสริมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
          4.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งงบฯไว้ 1.21 หมื่นล้านบาท จัดทำโครงการส่งเสริมสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ได้แก่ การก่อสร้างและปรับปรุงระบบประปาหมู่บ้าน 3,147 แห่ง และพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนงานฎีกา 100 แห่ง และ 5.ด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งงบฯไว้ 2.39 พันล้านบาท ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการดำเนินโครงการถ่ายโอนการสนับสนุนแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการน้ำเสียในระดับจังหวัด เช่น การก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย (โซน 1 ศรีสมาน) เทศบาลนครปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และโครงการถ่ายโอนการสนับสนุนแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการขยะในระดับจังหวัด เช่น การก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพระบบกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อของ อบจ.นนทบุรี
          รัฐบาลดันเก็บภาษีชดเชยรายได้
          ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เงินอุดหนุนให้ อบจ. เทศบาล และ อบต. ในปีงบฯ 2560 ลดลงมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้ท้องถิ่นมีการจัดเก็บรายได้เอง โดยการเพิ่มฐานภาษีใหม่ ๆ เช่น ภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง ภาษีสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งน้ำเสีย ขยะ มลพิษจากอุตสาหกรรม ค่าธรรมเนียม ฤชา อากร ใบอนุญาต ค่าปรับ ค่าภาคหลวง ภาษีเหยียบแผ่นดินกรณีที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เชิงอนุรักษ์ รวมถึงให้ อปท.ออกข้อบัญญัติในการจัดเก็บรายได้ และการแบ่งสรรเงินจาก อบจ.ให้แก่เทศบาล (เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร ที่มีการควบ รวมกัน) โดยตั้งเป้ารายได้ท้องถิ่นจัดเก็บเองให้เพิ่มขึ้นจาก 7 หมื่นล้านบาทเป็น 112,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2560
          อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บรายได้ในรูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าว ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้ ทำให้ อปท.ต้องดิ้นรนอย่างมากที่จะจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยเงินอุดหนุนที่ลดลงไป เพื่อนำมาพัฒนาเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่
          โอดขาดงบฯพัฒนาท้องถิ่น
          นายชัยมงคล ไชยรบ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า งบประมาณอุดหนุนของ อปท.ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน หายไปกว่าหมื่นล้านบาท ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ อบจ.จะทำได้ลำบากขึ้น เพราะมีโครงการส่วนหนึ่งที่ อบจ.ได้รับโอนมาจากหน่วยงานอื่น แต่ปีนี้ กลับไม่มีงบฯในการพัฒนา ดังนั้น อบจ.จึงต้องเน้นพัฒนาโครงการและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามสภาพเป็นหลัก
          "งบฯโครงสร้างพื้นฐานปีนี้ ไม่ได้รับการอุดหนุนเลย เรียกว่าโครงสร้างพื้นฐาน หายหมด รวมทั้งงบฯการศึกษาก็หายไป อยากให้รัฐบาลส่วนกลางมองเห็นความสำคัญของท้องถิ่นมากขึ้น เพราะปัจจุบันทรัพยากรของต่างจังหวัดถูกดูดซับไปใช้กับส่วนกลางมาก การพัฒนายังคงก้ำกึ่งกันระหว่างรัฐบาลกลางและท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกลางกำเงินไว้แล้วเอาไปแจกจ่ายให้กับท้องถิ่น และงบประมาณในการพัฒนาก็อยู่กับท้องถิ่นเพียง 28% เท่านั้น บางครั้งไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน เราจึงได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนอยู่เรื่อย ๆ ว่าไม่มีตาหรืออย่างไร เราบอกว่าเราก็มี แต่ไม่มีมือไม้ที่จะทำ"
          รอลงทุนร่วมรัฐบาล-ท้องถิ่น
          ส่วนมาตรการสนับสนุนการลงทุนระหว่างรัฐบาลและ อปท.นั้น กำหนดให้ อบจ.เสนอมูลค่าโครงการละไม่เกิน 10 ล้านบาท ภายในไตรมาส 1 และเบิกจ่ายในไตรมาสที่ 1-2 ของปีงบประมาณ 2560 ทาง อบจ.ได้สั่งการให้พนักงานเตรียมพร้อมแล้ว หากมีระเบียบสั่งการลงมาก็พร้อมดำเนินการได้ทันที และมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนด โดยโครงการหลัก ๆ จะเน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้สูงอายุ แต่ทั้งนี้มองว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพเล็กและเป็นระยะสั้น ๆ มากกว่าเป็นการพัฒนาในองค์รวม
          ด้านนายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงเงินอุดหนุนที่ลดลงว่า ท้องถิ่นต้องใช้งบของตัวเองเพื่อไปแก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งแนวทางของ อบต.ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความต้องการของประชาชน คือ โครงสร้างพื้นฐาน เป็นหลัก เช่น การคมนาคม เกษตร น้ำ ซึ่งคงต้องรอความชัดเจนแนวทางการเก็บรายได้ ของท้องถิ่นแบบใหม่ หากปี 2560 ยังไม่ชัดเจนอีก ก็ยังต้องจัดเก็บรายได้แบบเดิม ดังนั้นงบประมาณที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่ารายได้ ท้องถิ่นจะเพิ่ม 4 หมื่นล้านบาทก็จะหายไป และเป็นอุปสรรคในการพัฒนา เพราะหลายโครงการอาจจะต้องเลื่อนออกไป
          สอดคล้องกับนายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ เลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล เปิดเผยว่า ท้องถิ่นทั่วประเทศได้รับผลกระทบในการพัฒนาโปรเจ็กต์ที่ยังค้างอยู่ ในปีงบประมาณ 2559 หรือโครงการลงทุนใหม่ในปี 2560 จะชะงักทันที ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนได้ รวมทั้งเงินจะไม่สะพัดในระบบเศรษฐกิจฐานราก
          "รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิการมากกว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยส่วนตัวเห็นว่าเรื่องสวัสดิการของผู้สูงอายุ คนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ควรจะเข้ามาดูแลแทน อปท.ให้มากกว่านี้ และให้ท้องถิ่นเดินหน้าโครงการที่จะก่อให้ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่" นายธีรศักดิ์กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น