เสียภาษีโรงเรือน แทนเจ้าของกรรมสิทธิ์
ไม่มีสิทธิ สมัครรับเลือกตั้ง
จัดทำโดย นายนิรัญ อินดร พนักงานคดีปกครองชำนาญการ
กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร
สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง
สมาชิกสภาเทศบาลถือเป็นกลุ่มบุคคลที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนนั้นๆ
ให้เดินหน้าพัฒนาต่อไปได้ ด้วยเทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมีหน้าที่บำบัดทุกข์
บำรุงสุขให้กับประชาชนภายในท้องถิ่นตน ซึ่งบุคคลจะมาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาลนั้น
มาตรา ๒๐ (๓) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๘๒ ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล
ว่าจะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาลที่สมัครเป็นเวลาติดต่อกันจนถึงวันสมัครไม่น้อยกว่าหกเดือน
หรือได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือตามกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ให้กับเทศบาลนั้นในปีที่สมัครหรือในปีก่อนที่สมัครหนึ่งปี
ซึ่งตามมาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕
ได้บัญญัติให้เจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี
กรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลโดยแสดงหลักฐานการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนเจ้าของบ้านในฐานะผู้เช่าตามสัญญาเช่าบ้านและสัญญาซื้อขายบ้าน (โดยไม่รวมที่ดินด้วย) มาแสดงจะถือว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๐ (๓)
แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๘๒ หรือไม่
? คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๓๒๔/๒๕๕๔ ได้วินิจฉัย ในเรื่องนี้ ดังนี้
ผู้ฟ้องคดีเป็นสมาชิกสภาเทศบาล
แต่มีผู้ร้องเรียนว่าผู้ฟ้องคดีใช้หลักฐานการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินที่มีการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อให้ได้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกตั้ง
ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (นายอำเภอ)
ได้สอบสวนข้อเท็จจริง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (ผู้ว่าราชการจังหวัด)
ได้วินิจฉัยว่า หนังสือสัญญาซื้อขายบ้านมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ
กรรมสิทธิ์บ้านยังไม่โอนไปเป็นของผู้ฟ้องคดี ถือว่าผู้ฟ้องคดีได้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนเจ้าของบ้าน
ผู้ฟ้องคดี ไม่มีคุณสมบัติสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล จึงมีคำสั่งให้สมาชิกภาพสมาชิก
สภาเทศบาลของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้องและเป็นธรรม
เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เช่าบ้านซึ่งต้องเสียภาษีตามข้อตกลงในสัญญาเช่า และการทำสัญญาซื้อขายมีเจตนาซื้อขายเฉพาะบ้านไม่รวมกับที่ดิน
จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากสมาชิกภาพสมาชิกสภาเทศบาล
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า
ในขณะสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ฟ้องคดีมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาล
การที่ผู้ฟ้องคดีได้นำหลักฐานการเสียภาษีตามใบเสร็จภาษีโรงเรือนและที่ดินของบ้านเลขที่
๓๙๗ มาเป็นหลักฐานประกอบการสมัครรับเลือกตั้ง โดยอ้างว่าได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านกับนาง
ก. เจ้าของกรรมสิทธิ์โดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
โดยสัญญาระบุว่าซื้อขายบ้านซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินที่มีโฉนดและผู้ขายยินยอมให้ผู้ซื้ออยู่ต่อไปจนกว่าจะแจ้งให้รื้อถอน
สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายเฉพาะตัวบ้านในลักษณะที่ยังคงสภาพเป็นอสังหาริมทรัพย์อยู่บนที่ดินของผู้ขาย
และผู้ขายยินยอมให้บ้านยังคงสภาพเป็นอสังหาริมทรัพย์ต่อไปจนกว่าผู้ขายจะมีหนังสือแจ้งให้รื้อถอนออกไปภายในระยะเวลาไม่เกิน
๑๐ ปี จึงเป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา
๔๕๖
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
สัญญาซื้อขายจึงเป็น โมฆะ กรรมสิทธิ์ในบ้านดังกล่าวยังคงเป็นของนาง ก. มิได้โอนไปเป็นของผู้ฟ้องคดีแต่ประการใด
และโดยที่
มาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕ บัญญัติว่า
ค่าภาษีนั้น ท่านให้เจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้เสีย จึงเป็นกรณีที่กฎหมายได้กำหนดตัวผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือน
และที่ดินไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า เจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษี มิใช่ผู้ใดจะเสียภาษีโรงเรือน
และที่ดินก็ได้ แม้กฎหมายจะมิได้ห้ามให้ผู้อื่นซึ่งไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเข้าเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน
แทนเจ้าของโรงเรือนและที่ดิน แต่ผู้เสียภาษีแทนผู้อื่นย่อมไม่อาจได้รับสิทธิใดๆ ที่กฎหมายกำหนดให้
สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย ดังนั้น การเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการ
เสียภาษีแทนนาง ก. เจ้าของกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย จึงไม่มีผลให้ผู้ฟ้องคดีเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิ
สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามนัยมาตรา ๒๐ (๓) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิก สภาเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๘๒ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่
๑ มีคำสั่งให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาเทศบาลของผู้ฟ้องคดี สิ้นสุดลงเนื่องจากขาดคุณสมบัติตามมาตรา
๑๙ (๔) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ แก้ไข เพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล
(ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ.
๒๕๔๖ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
จากคำพิพากษาดังกล่าว
ศาลปกครองสูงสุดได้วางบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดี เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครรับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง
สมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช ๒๔๘๒ ที่สำคัญ คือ สัญญาซื้อขายบ้านในลักษณะที่ยังคงเป็น
อสังหาริมทรัพย์อยู่บนที่ดินของผู้ขายต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๖ หากมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็น
โมฆะ และเจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา ๔๐
วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕ การที่ผู้เช่าบ้านได้เสียภาษีโรงเรือน
และที่ดินแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์ในฐานะผู้ให้เช่าหรือกรณีที่ผู้ซื้อบ้านซึ่งได้มีการทำสัญญาซื้อขาย
กับเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายเข้าเสียภาษี
โรงเรือนและที่ดิน ย่อมถือเป็นการเสียภาษีแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์ ไม่อาจรับสิทธิใดๆ ที่กฎหมาย
กำหนดให้สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย ผู้เสียภาษีแทนดังกล่าวจึงไม่สามารถนาหลักฐานการ
เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินที่เป็นการเสียภาษีแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์มาเป็นหลักฐานประกอบการสมัคร
รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น