วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

หลักการใหม่ๆในร่างประมวลกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


หลักการใหม่ๆในร่างประมวลกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
๑.การกำหนดให้มีสภาองค์กรปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ หรือ ส.ท.ช.
          ตามแนวคิดในการร่าง จะกำหนดให้มี สภาองค์กรปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่กำหนดขึ้นมารับผิดชอบในการดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แทนกระทรวงมหาดไทย ส.ท.ช.นี้ มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง (อาจได้แนวคิดมาจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) มีเลขาธิการสภาองค์กรปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ เป็นระดับ ซี ๑๑ ข้าราชการในสังกัด มีแนวความคิดกำหนดให้เป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการในสภาแห่งนี้สามารถโยกย้ายออกไปเป็นข้าราชการในท้องถิ่นได้ และในขณะเดียวกันข้าราชการในท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล อบจ. ก็สามารถเติบโต หรือย้ายเข้ามาปฏิบัติงานในสภานี้ได้เช่นกัน ซึ่งคิดว่าในการบริหารงานก็คงต้องจัดตั้งเป็นสำนักงาน เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบงานของสภาฯ อาจเรียกชื่อเล่นๆ ว่า สำนักงานสภาองค์กรปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ ในสำนักงานแห่งนี้ก็จะแบ่งส่วนราชการ ออกเป็น
          ๑. คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
          ๒.คณะะกรรมการส่งเสริมการจัดบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
          ๓.คณะกรรมการคลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
          ๔.คณะกรรมการกลางบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
          สมมุตินะครับว่าจัดตั้งสี่หน่วยงานนี้ขึ้นมา เป็นหน่วยงานเทียบเท่ากรม แนวคิดผมเองนะครับ ไม่อยากให้รับโอนคนของสำนักนายกและมหาดไทย มาครับ เพราะถ้ารับโอนมาก็จะต้องรับวัฒนธรรมและแนวคิดในการทำงานแบบของสำนักนายกและของคนมหาดไทยเข้ามาครอบงำองค์กรเหมือนเดิม
          และหน่วยงานที่ ๕ ที่เสนอให้มีเพิ่มเติมก็คือ สำนักเลขาธิการสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครับ ไม่งั้นเลขาธิการไม่มีมือ ทำงานละแย่เลย
          ที่มาของคณะกรรมการสภา อำนาจหน้าที่ ไม่ขอกล่าวซ้ำนะครับ เพราะในร่างได้นำลงไว้แล้ว
๒.ข้อเสนอเกี่ยวกับผู้บริหารท้องถิ่น ร่างประมวลนี้ต้องกำหนดให้มีที่มาของผู้บริหารท้องถิ่นได้หลายรูปแบบ ครับ เช่น มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม หรืออาจเป็นรูปของผู้จัดการเมือง
๓.มีบทบัญญัติให้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมกิจการขององค์กรปกครองท้องถิ่น ลักษณะเดียวกับ กองทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล โดยกองทุนอาจจ้างนักบริหารกองทุนมืออาชีพเข้ามาบริหารงานได้ เพื่อให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการเป็นสมาชิกกองทุน
๔.มีการรับรองการจัดตั้งสันนิบาตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท เช่น สันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถจ่ายค่าบำรุงได้ และกำหนดบทบาทหน้าที่ของสันนิบาตให้ชัดเจนในการเป็นสมาคมวิชาชีพ คือประมาณว่าจะได้ไม่ต้องทะเลาะกันเอง และไม่ต้องไปทะเลาะกับ สตง. ว่าจ่ายเงินได้หรือไม่ได้
๕.มีการกำหนดในเรื่องของความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งประเภทเดียวกันและต่างประเภท ให้สามารถทำกิจการร่วมได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำกิจการร่วมกับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชนได้ คือควรมีความชัดเจนและมีกฎหมายรองรับไว้ เพราะในอนาคตผมว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีการรวมตัวกันทำกิจการใหญ่ๆ เช่น ทุกท้องถิ่นในอำเภออาจรวมตัวกันและร่วมกับภาคเอกชน จัดตั้งโรงฆ่าสัตว์ที่ทันสมัย เป็นต้น
ข้อเสนอแนะครับ
๑.ในประมวลกฎหมายนี้ ควรมีบทกำหนดให้ท้องถิ่น สามารถยุบรวม เพื่อจัดตั้งและเปลี่ยนแปลงสถานะเป็นท้องถิ่นขนาดใหญ่ได้ง่าย เช่น เทศบาล อบต. ทั้งอำเภอยุบรวมเป็น เทศบาลขนาดใหญ่ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปพิเศษ เช่น จัดตั้งเป็น เมือง หรือ นคร หรือ มหานคร โดยมีมาตรการในเรื่องรายได้เข้ามาสนับสนุน
๒.การกำกับดูแลท้องถิ่น บทบาทอำนาจหน้าที่ของผู้กำกับ ใครจะเป็นผู้กำกับ ท้องถิ่นยังควรอยู่ใต้อำนาจการกำกับดูแลของราชการส่วนภูมิภาคหรือไม่ หรือควรออกแบบการกำกับดูแลโดยภาคประชาชน หรืออยู่ในกำกับดูแลของสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบัญญัติผ่านสภาแล้ว นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถลงนามประกาศใช้ได้เลยหรือไม่
๓.ในประมวลกฎหมาย ควรกำหนดอำนาจในการออกข้อบัญญัติของท้องถิ่น ให้สามารถออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ได้ครอบคลุมในกิจการต่างๆ ได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถกำหนด ควบคุมดูแล กิจการในท้องถิ่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น