วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2567

การขอเลขที่บ้าน

 

การขอเลขที่บ้าน  
มติชน  ฉบับวันที่ ๖ เษายน ๒๕๖๗
          "บ้าน" ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 (แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 หมายความว่า โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งมีเจ้าบ้านครอบครอง และให้หมายความรวมถึงแพ หรือเรือ ซึ่งจอดเป็นประจำและใช้เป็นที่อยู่ประจำ หรือสถานที่ หรือยานพาหนะอื่นซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยประจำได้ด้วย
          "ทะเบียนบ้าน" หมายความว่า ทะเบียนประจำบ้านแต่ละบ้าน ซึ่งแสดงเลขประจำบ้านและรายการของคนทั้งหมดผู้อยู่ในบ้าน
          ตามกฎหมายทะเบียนราษฎรกำหนดให้ทุกบ้านมีเลขประจำบ้าน บ้านใดยังไม่มีเลขประจำบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง เพื่อขอเลขประจำบ้านภายใน 15 วัน นับแต่วันสร้างบ้านเสร็จ เมื่อเจ้าบ้านหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน แจ้งขอเลขที่บ้านต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งประจำหมู่บ้าน (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) หรือนายทะเบียนผู้รับแจ้งประจำสำนักทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนผู้รับแจ้งประจำสำนักทะเบียนท้องถิ่น นายทะเบียนรับคำร้องตามแบบ ท.ร.9 และจะตรวจสอบว่าบ้านที่ขอกำหนดเลขประจำบ้านปลูกสร้างในเขตหรือนอกเขตประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร โดยจะกำหนดเลขประจำบ้านให้แก่ผู้แจ้งภายใน 7 วัน (กรณีบ้านอยู่ในเขตสำนักทะเบียนท้องถิ่น) หรือภายใน 30 วัน (กรณีบ้านอยู่นอกเขตสำนักทะเบียนท้องถิ่น)
          โดยมีหลักฐานเอกสารประกอบการขอ ดังนี้
          1) หลักฐานแสดงสิทธิครอบครองที่ดินที่ปลูกสร้างบ้าน ไม่ว่าจะครอบครองในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้เช่าที่ดิน หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดิน
          2) หนังสืออนุญาตปลูกสร้าง หรือใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารที่ออกโดยเจ้าพนักงานท้องถิ่น (กรณีบ้านปลูกสร้างอยู่ในเขตประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร)
          3) บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของที่ดิน หรือผู้มีอำนาจอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อการปลูกสร้างบ้าน
          นายทะเบียนจะตรวจสภาพบ้านที่ขอกำหนดเลขประจำบ้าน เป็นบ้านที่ปลูกสร้างเสร็จสมบูรณ์หรือสร้างเกือบเสร็จ และสามารถเข้าอยู่อาศัยได้เป็นปกติอย่างเหมาะสม แล้วจึงกำหนดเลขประจำบ้านและเลขรหัสประจำบ้านให้
          ทั้งนี้ หากเจ้าบ้านได้แจ้งเมื่อพ้นกำหนดเวลาการแจ้งเพื่อขอเลขที่บ้านจะไม่มีโทษปรับทางอาญา แต่จะถูกกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการแจ้งที่พ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย ดังนี้
          1) การแจ้งหรือขอที่พ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย ไม่เกิน 6 เดือน ครั้งละ 30 บาท
          2) การแจ้งหรือขอที่พ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายเกิน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี ครั้งละ 50 บาท
          3) การแจ้งหรือขอที่พ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายเกิน 1 ปี คิดค่าธรรมเนียมเพิ่มจาก 2) เป็นรายเดือน เดือนละ 10 บาท แต่เมื่อรวมกับค่าธรรมเนียมตาม 2) แล้วต้องไม่เกิน 500 บาท เศษของเดือน ถ้าเกิน 15 วัน ให้นับเป็น 1 เดือน
          ปัจจุบันเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก หากเจ้าบ้านไม่สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ สามารถมอบหมายให้บุคคลอื่นดำเนินการยื่นความประสงค์ขอเลขที่บ้านแทนได้ ผ่านแอพพลิเคชั่น ThaID (ไทยดี) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โทร 0-2791-7312-16 หรือสายด่วน 1548

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น