วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ราชการแนวหน้า: การดำเนินการทางวินัยกับนายกเทศมนตรี

 

ราชการแนวหน้า: การดำเนินการทางวินัยกับนายกเทศมนตรี 
แนวหน้า  ฉบับวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
          โดย...ปฏิรูป
          1.เราได้เสนอเรื่องการดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะเป็นข้าราชการพนักงาน ลูกจ้างทั้งในราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและราชการส่วนท้องถิ่น ตลอดจน ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยมาเป็นระยะ
          2.ครั้งนี้เป็นกรณีของนายกเทศมนตรีของเทศบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการป.ป.ช.ได้รับเรื่องกล่าวหานายกเทศมนตรี คนหนึ่งว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่โดยคณะกรรมการป.ป.ช.ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่านายกเทศมนตรีกระทำความผิดทางอาญา จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่การกระทำของนายกเทศมนตรีดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจึงให้ส่งสำนวนการไต่สวน ดังกล่าวไปให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอนเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 98 วรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาแล้วเห็นว่าประเด็นกรณีนี้มีปัญหาเกี่ยวกับฐานความผิดดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจ แต่งตั้งถอดถอนหรือไม่ ประการใด
          3.ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้หารือปัญหาดังกล่าวมาถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและได้ส่งปัญหาในกรณีดังกล่าวไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายกระทรวงมหาดไทยพิจารณาให้ความเห็นต่อไป
          4.คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้ว มี ความเห็นโดยสรุป ดังนี้
          1) การที่ผู้มีอำนาจถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นจะสามารถดำเนินการกับผู้ถูกกล่าวหาตามที่คณะกรรมการป.ป.ช.มีมติได้เพียงใดนั้นจะต้องปรากฏเหตุอันเป็นที่มาแห่งการถอดถอนนั้นด้วยว่า คณะกรรมการป.ป.ช.ได้ชี้มูล ความผิดตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่
          2) มาตรา 28(2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีหน้าที่และอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
          3) ในกรณีคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดฐานอื่นโดย ไม่มีความผิดสามฐานหลักอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 28(2) ดังกล่าว จะต้องดำเนินการสอบสวนตามหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดใน กฎกระทรวงการสอบสวนฯ (ความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ คณะที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563)
          4) เมื่อคณะกรรมการป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายกเทศมนตรี ว่ามีความผิดตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 โดยไม่ได้ชี้มูลความผิดสามฐานหลักตามมาตรา 28(2) ดังกล่าว ดังนั้นการดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่กับนายกเทศมนตรีในกรณีนี้จึงต้องดำเนินการตามกฎกระทรวงการสอบสวนผู้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่งในเทศบาล พ.ศ.2563 (ความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 วันที่ 12 ม.ค. 2565)
          5.กรณีนี้เป็นกรณีที่พิเศษครับ เพราะเป็นกรณีเกี่ยวกับการพิจารณาถอดถอนผู้บริหารพ้นตำแหน่ง ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งจึงต้องดำเนินการโดยรวดเร็วและถูกต้อง มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาหลายประการตามมาครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น