วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2561

สตง.โร่แจงปมโรคพิษสุนัขบ้า

สตง.โร่แจงปมโรคพิษสุนัขบ้า
ไทยโพสต์  ฉบับวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๑

          สตง. * ผู้ว่าฯ สตง.ร่ายยาว หลังโดนวิจารณ์หนัก เป็นต้นเหตุทำให้โรคพิษสุนัขบ้าระบาดทั่วประเทศ
          นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ชี้แจงกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทักท้วงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการจัดหาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ในช่วงปลายปี 2557 และมีการ กล่าวอ้างว่าทำให้การป้องกันพิษสุนัขบ้าของ อปท.ต้องหยุดชะงักเป็นเวลา 1-2 ปี จนเป็นเหตุให้มีการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงปี 2560 จนถึงปัจจุบัน
          ผู้ว่าฯ สตง.กล่าวว่า เป็นเรื่องที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ซึ่ง สตง.ในฐานะองค์กรตรวจเงินแผ่นดินตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน แต่ในขณะเดียวกัน สตง.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจหรือเพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด หลังจากที่กรม ปศุสัตว์มีหนังสือหารือไปยังสำนัก งานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องอำนาจหน้าที่ของ อปท.ตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 ในช่วงเดือนมกราคม 2558 สตง.ประชุมหาแนวทางร่วมกันกับกระทรวงมหาด ไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค รวมทั้งผู้แทนจากสมาคมองค์การ บริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
          ผู้ว่าฯ สตง.กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ประชุม อปท.มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท. 0891.3/ว1203 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2558 เรื่อง การดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าของ อปท. แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดว่า อปท.ในพื้นที่สามารถป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ทางจัง หวัดมีหนังสือแจ้งไปยังนายอำเภอ และ อปท.ต่างๆ ขอให้ อปท.พิจารณาดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าต่อไป ซึ่งหนังสือดังกล่าวเป็นไปตามผลการประชุมร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
          ผู้ว่าฯ สตง.ยืนยันว่า การ กล่าวอ้างว่าการทักท้วงของ สตง.มีผลทำให้การป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าของ อปท.ต้องหยุดชะงักเป็นเวลา 1-2 ปี น่าจะคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง เนื่องจาก สตง.มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด ในขณะเดียวกันกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีหนังสือเวียนแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดมีหนังสือแจ้งไปยังนายอำเภอ และ อปท.เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันแล้ว
          นายประจักษ์กล่าวว่า ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมีนาคม 2559 คณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยระบุว่า อปท.มีอำนาจหน้าที่ตาม ที่กฎหมายกำหนดในการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ก่อนหน้านี้ยังไม่มีระเบียบเกี่ยวกับ การป้องกันและระงับโรคติดต่อ ตามกฎหมายจัดตั้ง อปท. อย่าง ไรก็ตาม ภายหลังกระทรวงมหาด ไทยได้ออกระเบียบว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตาม อำนาจหน้าที่ของ อปท. พ.ศ.2560 ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางที่ สตง.ได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ และเป็นไปตามขั้นตอนที่ได้มีการหารือร่วมกันระหว่าง สตง.และ อปท. ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งระบุว่า อปท.ไม่กล้าที่จะดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากเกรงว่าจะถูกทักท้วงจาก สตง.นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ สตง.จะต้องประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยในเบื้องต้นจะมอบหมายให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดทำความเข้าใจกับ อปท.ในพื้นที่รับผิดชอบต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น