วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

สนช.หนุนยึดคืนถนน อปท. คมนาคมเล็งแก้กฎหมายรับโอนปี 61

สนช.หนุนยึดคืนถนน อปท. คมนาคมเล็งแก้กฎหมายรับโอนปี 61
สยามธุรกิจ  ฉบับวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

          หลังจากที่รัฐบาลได้กระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น "ถนนสายรอง" ถือเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ใหญ่ที่ต้องหลุดออกจากแผนงานของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยได้ถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นระยะทางกว่า 52,100 กิโลเมตร และถ่ายโอนถนนสายย่อย 6,100 กิโลเมตร พร้อมถ่ายโอนถนนโครงข่ายสายรองที่ไม่สำคัญ จำนวน 13,810 กิโลเมตร
          ช่วงแรกที่ได้รับการถ่ายโอนถนนลงมาสู่ท้องถิ่นถือว่าเป็นไปด้วยดี แต่หลังจากถึงเวลาซ่อมถนน เสียงพร่ำบ่นจากผู้ใช้รถใช้ถนนดังกึกก้องมาอย่างหนาหู เพราะบางเส้นทางถนนก็ไม่ได้มาตรฐาน สังเกตได้จาก การเดินทางด้วยรถยนต์ผ่านไปตามหมู่บ้านต่างๆ ถนนแต่ละเส้นจะแตกต่างกันไป จะไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ที่สำคัญถนนพังง่ายเกินไป และไร้งบประมาณลงไปซ่อมแซม การร้องเรียนผ่านสื่อจึงมีให้เห็นทุกวัน
          ล่าสุด กระทรวงคมนาคม ได้ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับคณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถึงแนวทางการรับโอนคืนถนนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาให้กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดูแลเช่นเดิม
          "ไพรินทร์ ชูโชติถาวร" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกัน ทางกรรมาธิการคมนาคมได้เสนอให้กระทรวงคมนาคม ซึ่งกำกับดูแล ทล. และ ทช. พิจารณาแนวทางการรับโอนคืนถนนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาดูแลเช่นเดิม เนื่องจากปัญหาเรื่องการซ่อมบำรุงรักษาทางให้ได้มาตรฐาน ภายหลังจากทางเหล่านี้เสียหาย เพราะถนนตรงรองรับการเติบโตของชุมชนและมีการนำรถเข้ามาวิ่งในเส้นทางดังกล่าว
          "เรื่องนี้หากโอนกลับจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย โดยจะให้หน่วยงานที่เกี่ยว ข้องไปหารือร่วมกันว่าจะทำได้หรือไม่ แล้วเสนอกลับมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อนำไปหารือกับกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกครั้ง โดยกระทรวงคมนาคมอยากให้แก้ไขกฎหมายเสร็จสิ้นในปี 2561"
          ส่วนสาเหตุที่ทางกรรมาธิการคมนาคม สนช. เสนอให้มีการโอนถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทล. และ ทช. กลับมาสังกัดกระทรวงคมนาคม เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า ถนนส่วนมากที่อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนท้องถิ่นจะประสบกับปัญหาถนนชำรุด ทรุดโทรม เมื่อมีการใช้งานประกอบกับเป็นถนนท้องถิ่น ประชาชนที่อาศัยในท้องถิ่นทำอาชีพเกษตรกรรม และจะมีรถบรรทุกขนส่งสินค้าเกษตรบรรทุกน้ำหนักเกิน ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุทำให้ถนนเสียหายและเมื่อมีการซ่อมแซมก็ไม่ได้มาตรฐานเช่นสมัยที่ถนนสังกัด ทล. และ ทช. ประกอบกับการซ่อมแซมก็ไม่ได้ยาวตลอดเส้นทาง เพราะถนนเส้นทางหนึ่งอาจจะผ่านหลายองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หลายตำบล การซ่อมแซมจึงไม่พร้อมกัน
          ด้าน "พิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน" อธิบดี กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ถนนที่เคยอยู่ในสังกัด ทช.และโอนย้ายไปสังกัดกรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศและโอนย้ายมาตั้งแต่ปี 2545-ปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 60,000 กม. ส่วนของ ทล.มีประมาณ 1,000 กม. แต่ขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายเรื่องการโอนย้าย เป็นเรื่องที่ไม่สามารถดำเนินการได้ง่ายๆ อย่างไรก็ตาม ต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อสรุป นอกจากนี้ ที่ผ่านมาทาง ทช.เคยเข้าไปซ่อมแซมถนนของท้องถิ่นตามที่ท้องถิ่นร้องขอมาและเคยสนับสนุนเครื่องจักรและอุปกรณ์เข้าไปช่วยท้องถิ่นซ่อมถนน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น