วันพุธที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560

กรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่นแจง อปท.ใช้งบฯดูแลสุนัขไม่ผิดระเบียบ


กรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่นแจง อปท.ใช้งบฯดูแลสุนัขไม่ผิดระเบียบ
เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560

          ที่ จ.สระบุรี เมื่อวันก่อน ดร.ภาณุพงค์ ทิพยเศวต นายกเทศมนตรีเมืองสระบุรีเปิดเผยว่า ตามที่เทศบาลเมืองสระบุรี ขอให้ผู้ว่าราชการ จ.สระบุรี พิจารณาวินิจฉัยตามข้อ 103 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 กรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จ.สระบุรีได้ตรวจสอบการใช้เงินสำหรับ สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2558 ของเทศบาลเมืองสระบุรีแล้ว "มีข้อทักท้วง" ว่าการดำเนินโครงการเลี้ยงดูป้องกัน และรักษาโรคสุนัขจรจัดในเขตเทศบาลเมืองสระบุรี "ไม่ใช่ภารกิจและไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเทศบาลเมืองสระบุรี" และ จ.สระบุรีได้แจ้งให้เทศบาลเมืองสระบุรีทราบว่า จ.สระบุรีได้หารือเรื่องดังกล่าวไปยัง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วนั้น
          ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 60 จ.สระบุรีได้มีหนังสือตอบข้อหารือให้วินิจฉัยตามข้อ 103 ระเบียบกระทรวงมหาดไทย และ จ.สระบุรีได้หารือเรื่องดังกล่าวไปที่ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท.0810.5/10207 ลงวันที่ 27 ก.ย. 60 ตอบข้อหารือ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 29 กำหนดว่า เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชนในท้องถิ่น หรือเพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์ ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อกำหนดของท้องถิ่นกำหนดให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของพื้นที่ในเขตอำนาจของราชการส่วนท้องถิ่นนั้น เป็นเขตควบคุมการเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์ได้
          เมื่อเทศบาลเมืองสระบุรีได้ออกเทศบัญญัติ เรื่องการควบคุม (สุนัขจรจัด) การเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2548 ไว้แล้ว ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ก็สามารถดำเนินการตามมาตรา 30 ของ (พ.ร.บ.) สาธารณสุข ปี 2535 ได้ ดังนั้น จ.สระบุรีจึงมีความเห็นเช่นเดียวกับ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ว่า "หากเทศบาลเมืองสระบุรีมีความจำเป็นที่จะต้องเลี้ยงดูสุนัขจรจัด" ในเขตเทศบาลและมีภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เทศบาลเมืองสระบุรีก็สามารถดำเนินการตามงบประมาณที่ตั้งไว้ในหมวดรายจ่าย โดยถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น