ลดสัดส่วนสมาชิก อบต.สัญญาณ'ยุบ-รวม' |
มติชน ฉบับวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๖๐ |
อาจถือเป็นการ
"โยนหินถามทาง"ก็น่าจะได้ สำหรับข้อเสนอเพิ่มเติมของ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ
อธิบดีกรม ส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)
ในการปรับปรุงกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้น ในอนาคต โดยเฉพาะในส่วนของการ
เลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหาร ส่วนตำบล (ส.อบต.)
จากปัจจุบันกำหนดให้แต่ละหมู่บ้านมี ส.อบต.ได้ 2 คน ก็จะลดสัดส่วนลงเหลือ 1
คน ข้อเสนอดังกล่าวอาจจะด้วยเหตุผลประหยัดงบประมาณ อาจเพื่อให้การบริหารงานคล่องตัวขึ้น อีกด้านอาจหมายถึงการ ส่งสัญญาณเกี่ยวกับการยุบหรือควบรวม อบต. เพื่อลดกระแสต่อต้านจากฝ่ายท้องถิ่น ด้วยเหตุผลใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือจะช่วยผลักดันให้การบริหารงานเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดหรือไม่ ลองไปฟังความเห็นจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง วิชัช ไตรรัตน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย ให้มุมมองว่า เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และเชื่อว่าไม่มีปัญหาในการทำงาน เนื่องจากในพื้นที่ยังมีผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทำงานร่วมกัน ข้อเสนอลดจำนวนสมาชิก อบต. ถือเป็นการส่งสัญญาณให้ทราบว่าการยุบหรือควบรวม อบต.ยกฐานะเป็นเทศบาล ตามเกณฑ์รายได้และประชากรที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ศึกษาไว้ จะไม่เกิดขึ้นในระยะสั้นอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม การลดจำนวนสมาชิกจะทำให้ อบต.ทั่วประเทศมีงบประมาณเหลือจ่ายจากค่าตอบแทน สามารถนำไปพัฒนาด้านอื่นที่เป็นประโยชน์กับประชาชนในท้องถิ่นได้ เช่น โครงการศักยภาพผู้สูงอายุ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อย่างไรก็ตาม สำหรับ จุฬา มีบุญรอด นายกสมาคมสมาชิกสภา อบต.แห่งประเทศไทย กลับมองคนละมุมว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับลดสมาชิก อบต.เหลือหมู่บ้านละคน แต่จะไม่ทำหนังสือทักท้วงเพราะเชื่อว่าเป็นแค่การนำเสนอแนวคิดเพื่อหยั่งกระแสเท่านั้น ขณะที่ประมวลกฎหมายท้องถิ่นเพื่อกำหนดกติกาอยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่มีผลบังคับใช้ หากจะมองว่าการลดสมาชิกเหลือ 1 คนจะประหยัดงบประมาณ ก็เห็นว่ายังไม่ตอบโจทย์ เพราะขณะนี้สมาชิก อบต.ขนาดใหญ่รับค่าตอบแทนสูงสุดเพียงรายละ 7,920 บาท/เดือน ส่วนสมาชิกใน อบต.ขนาดเล็ก รับค่าตอบแทนไม่เกิน 7,200 บาท "ผมเป็นประธานสภา อบต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี รับค่าตอบแทนเดือนละ 12,140 บาท ถามว่าถ้าลดแล้วเงินที่เหลือก็ไม่มาก จะนำไปพัฒนาได้อย่างไร นอกจากนั้นประชาชนทั่วประเทศทราบดีว่า ที่ผ่านมาการเลือกตั้งสมาชิก อบต.จะเลือกได้ 2 คน 2 หมายเลขต่อหมู่บ้าน บางพื้นที่ชาวบ้านต้องการเลือกตัวแทนเพื่อให้เข้าไปถ่วงดุลกันเองในหมู่บ้าน เพื่อให้แข่งขันกันทำงานรับใช้ประชาชน แต่ถ้าให้เลือกคนเดียวก็คงมีปัญหาเพิ่ม หากเลือกคนที่ไม่มีผลงาน ไม่มีความสามารถ ปัญหาก็ตกอยู่กับชาวบ้าน ที่สำคัญเมื่อสมาชิก อบต.เหลือน้อยลง ฝ่ายนายก อบต.ก็สามารถเข้าครอบงำการทำหน้าที่ได้ง่ายขึ้น" ขณะที่ในความเห็นของนักวิชาการอย่าง ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เห็นว่าการลดจำนวนสมาชิก อบต.เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายเรียกร้องมานาน แต่ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องการกระจายอำนาจ เพราะปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีเพียงหน้าที่ แต่ยังไม่มีอำนาจ ไม่มีความเป็นอิสระตามหลักการที่แท้จริง ดังนั้นการลดจำนวนถือเป็นการส่งสัญญาณว่าการยุบหรือควบรวม อบต.ยังไม่เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลอาจประเมินว่าการปฏิรูปท้องถิ่นควรจะทำตามขั้นตอนโดยผ่อนปรน หากเปลี่ยนแปลงทันทีจะมีแรงต่อต้านจากกลุ่มผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น และจะมีผลกระทบในการขอความร่วมมือหลายด้านจาก อปท. โดยเฉพาะการใช้งบสะสม 1.5 แสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก พัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทย เห็นว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นน่าจะมีการประเมินข้อดี ข้อเสีย ความคุ้มค่าในการทำงานไว้พอสมควร รวมทั้งประเมินจากงบประมาณรายจ่าย ระหว่างการมีสมาชิก 2 คน หรือ 1 คน นอกจากนั้นจะต้องติดตามผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาว่า การทำงานโดยภาพรวมเป็นอย่างไร เช่น การจัดทำ แผนการพัฒนาท้องถิ่น หรือรับฟังและสะท้อนความเห็นจากประชาชน เพื่อเสนอแนวทางให้ฝ่ายบริการนำไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่ ที่สำคัญในอนาคตหลายฝ่ายต้องการเห็นมิติในการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด สมาชิกสภาท้องถิ่นควรทำงานร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยใหญ่บ้าน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสำคัญจากรัฐบาล โดยไม่ต้องแบ่งแยกระหว่างฝ่ายท้องที่หรือท้องถิ่น สำหรับการยุบหรือควบรวมท้องถิ่นที่ผ่านมามีการศึกษาไว้นานแล้ว ปิดท้ายในฝ่ายผู้คุมกฎการเลือกตั้ง เสน่ห์ รักรงค์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสงขลา ให้ความเห็นว่า การมีสมาชิก อบต. 2 คน หรือ 1 คน ประสิทธิภาพในการทำหน้าที่เพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหารไม่แตกต่างกัน แต่ปัจจัยหลักอยู่ที่การตัดสินใจลงคะแนนของประชาชน จะตั้งใจเลือกคนดีมีคุณภาพเข้าไปทำงานหรือไม่ เนื่องจากการเลือกตั้งหลายปีที่ผ่านมากฎหมายแยกให้เห็นชัดเจนว่า มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือเลือกนายก อบต. ได้ 1 คน บัตรอีกใบเลือกสมาชิกได้หมู่บ้านละ 2 คน มีเจตนารมณ์เพื่อให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายสภานิติบัญญัติทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อถ่วงดุลอำนาจ แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมาประชาชนยังเห็นภาพของผู้สมัครสมาชิก อบต. เดินตามหลังผู้สมัครนายก อบต. เพื่อหาเสียงร่วมกันในทีมเดียวกัน และเมื่อสมาชิก อบต.ที่อยู่ในทีมของนายก อบต.ได้รับการเลือกตั้งเข้าไป หากได้ไปทำงานร่วมกัน การตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่จะทำได้จริงหรือไม่ ขณะเดียวกันการใช้กฎหมายเดิม กรณีการเสนอข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หากฝ่ายบริหารเสนอแล้ว แต่สภาท้องถิ่น ไม่รับหลักการในครั้งแรก ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อเสนอใหม่ โดยมีนายอำเภอเข้ามากำกับดูแล หากมีข้อสรุปแล้วนายก อบต.ไม่เสนอเข้าสภาก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง หรือเสนอแล้ว แต่สภาไม่รับหลักการอีกก็ต้องยุบสภา ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการทำงานเพื่อถ่วงดุลที่มีเหตุผลระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายสภาไม่ได้เกิดขึ้นจริง |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันพุธที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ลดสัดส่วนสมาชิก อบต.สัญญาณ'ยุบ-รวม'
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น