วันพุธที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560

'ปลดล็อก'แค่เกมยื้อปฏิรูปท้องถิ่นสิ้นหวัง

'ปลดล็อก'แค่เกมยื้อปฏิรูปท้องถิ่นสิ้นหวัง
กรุงเทพธุรกิจ  ฉบับวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๐

          ปกรณ์ พึ่งเนตร

          กรุงเทพธุรกิจ "เท่าที่ทราบลับๆ อาจจะไม่ใช่ทุกพื้นที่ แต่เป็นบางพื้นที่ มีการดีลกันว่าถ้ายอมให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน แล้วเมื่อมีการเลือกตั้งใหญ่ ก็เหมือนยื่นหมูยื่นแมวกัน สร้างความมั่นใจกับรัฐบาลว่าจะมีกี่เสียงกี่ที่นั่ง" การวิเคราะห์ในมุมมองของ รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปกครองท้องถิ่น
          จะว่าไป เกมต่อท่ออำนาจที่ใช้การ "ปลดล็อก" ให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเป็นเงื่อนไขต่อรอง จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายในทางการเมือง นักรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปกครองท้องถิ่นอย่าง รศ.ดร.วีระศักดิ์ บอกว่า การยอมให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นก่อนระดับชาติ เป็นแผนอันแยบยลของ คสช.เพื่อประเมินฐานเสียงและคะแนนนิยมของตนเอง ตลอดจนศักยภาพของรัฐบาลว่าสามารถบริหารจัดการได้มากน้อยขนาดไหน หากมีการเลือกตั้งใหญ่เกิดขึ้นจริงๆ "รัฐบาลพยายามหาทางออกในการประเมินเสียงของตัวเองว่ารัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้มากน้อยแค่ไหนคือยอมให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน แต่สิ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้น คือใช้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุน สร้างคะแนนเสียงในการเลือกตั้งระดับชาติ เหมือนเป็นการยื่นหมูยื่นแมวระหว่างกัน โดยการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนระดับชาติ ท้องถิ่นต้องรับประกันได้ว่า เมื่อมีการเลือกตั้งระดับชาติ รัฐบาลจะยังคงครองฐานเสียงในพื้นที่เหล่านี้"   และนี่เองที่ทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าน่าจะเป็นสาเหตุที่รัฐบาลเลือกจะปลดล็อกให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นแค่บางระดับเท่านั้น ไม่ปลดล็อกให้เลือกตั้งพร้อมกันทั้งหมดแม้ตามรัฐธรรมนูญจะสามารถทำได้ก็ตาม
          "เท่าที่ทราบลับๆ ว่ามีการดีลกันในบางพื้นที่ว่า ถ้ายอมให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน จากนั้นมีการเลือกตั้งใหญ่ ก็เหมือนยื่นหมูยื่นแมว ต้องสร้างความมั่นใจกับรัฐบาลว่าจะมีกี่เสียงกี่ที่นั่ง เพราะอะไรรัฐบาลถึงต้องทำแบบนี้ คำตอบคือหากประเมินสถานการณ์จะพบว่า หากรัฐบาลเลือกตั้งเร็ว หรือเลือกไปเลยโดยไม่ประเมินคะแนนก่อน โอกาสที่รัฐบาลจะแพ้มีสูงมาก ทั้งในแง่ปัญหาการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม เนื่องจาก 2 พรรคใหญ่ประกาศชัดว่าไม่เข้าร่วมกับรัฐบาล"
          สิ่งสำคัญคือเหตุผลเชิงเศรษฐกิจ สังคม อย่างปัญหาราคายางพารา ปัญหาภาคใต้ รวมถึงโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา เพราะฉะนั้นโอกาสที่รัฐบาลจะเพลี่ยงพล้ำมีสูงมาก วิธีแก้เกมคือทดสอบให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน เนื่องจากรัฐบาลมีแต้มต่อ หากคุมคะแนนเสียงได้สูง ก็จบ เลือกตั้งระดับชาติได้ แต่หากฐานเสียงน้อย ก็จบแค่นั้น แล้วหาวิธีใหม่
          ซึ่งรัฐบาลมีเครื่องมือเยอะมาก อาจใช้ตัวนี้เป็นยุทธศาสตร์แก้เกม แล้ววิธีนี้ก็ถูกวิจารณ์น้อย ขาดทุนน้อยที่สุด ถ้าทดสอบแล้วแพ้ก็หาหนทางอื่นในการอยู่ต่อ เพราะรัฐบาลมีกฎหมายพิเศษอยู่ในมือ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นหมากทางการเมืองที่รัฐบาลวางเอาไว้ ส่วนในทางการเมืองก็มีผลกระทบเช่นกัน เพราะเมื่อระยะเวลาผ่านไป ผู้ที่รักษาการนานๆ ก็ไม่ถูกทักท้วงจากฝ่ายตรวจสอบ เรียกว่าไม่มีการตรวจสอบเลยก็ว่าได้ สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ก็คือ รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อเดินหน้าปฏิรูประบบการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างที่ควรจะเป็นเลย
          "ส่วนเรื่องปฏิรูปท้องถิ่น ผมยังไม่เห็นรัฐบาลทำอะไรเลย คือไม่ได้ปฏิรูปอะไร ทั้งที่ควรปฏิรูประบบธรรมาภิบาล ระบบหัวคะแนน แต่ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ เช่น ถ้าเราบอกว่าอนาคตอยากให้การเลือกตั้งท้องถิ่นบริสุทธิ์ยุติธรรม คำถามคือได้มีการเขย่าฐานเสียงเดิม เขย่าหัวคะแนนที่มีอยู่เดิมหรือไม่ ซึ่งพบว่าตอนนี้ยังนิ่งอยู่ รวมไปถึงการตรวจสอบบัญชีทัรพย์สิน ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่เคยเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแม้แต่ข้อเดียว"
          เช่นเดียวกับแนวคิดการยุบ อบต.เพื่อยกระดับเป็นเทศบาลตำบล นักรัฐศาสตร์ผู้นี้ บอกว่า หลักการยุบองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดเล็ก หรือขยายพื้นที่ออกไป ไม่มีใครโต้แย้งรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ต้องดูเป็นรายพื้นที่ หากพื้นที่ขนาดเล็กแต่อยู่ห่างไกลกัน หรือดึงเอาพื้นที่กว้างใหญ่มารวมกัน ก็อาจทำให้ประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชนลดลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น