วันอังคารที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เปิดเวทีสภาเด็กและเยาวชนทุกระดับขับเคลื่อนงานแก้ปัญหาในพื้นที่ เสริมพลัง "พลเมืองคุณภาพ"

เปิดเวทีสภาเด็กและเยาวชนทุกระดับขับเคลื่อนงานแก้ปัญหาในพื้นที่ เสริมพลัง "พลเมืองคุณภาพ"
ไทยรัฐ  ฉบับวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐

          ทีมข่าวการพัฒนาสังคม
          การกำหนดให้มีสภาเด็กและเยาวชนในทุกระดับ ประเด็นสำคัญที่ได้มีการผลักดันจากทุกภาคส่วนจนนำไปสู่การปรับแก้และบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (ฉบับที่2) พ.ศ.2560 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560
          ข้อบัญญัติที่ให้ดำเนินการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวประกอบด้วย
1.สภาเด็กและเยาวชนตำบลและสภาเด็กและเยาวชนเทศบาล ตามมาตรา22 ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน
2.สภาเด็กและเยาวชนเขตตามมาตรา 24 ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน
3.สภาเด็กและเยาวชนอำเภอตามมาตรา 25 ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน
4.สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดตามมาตรา26 ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันและ
5.สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 28 ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน
          ขณะที่ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ(กดยช.)ครั้งที่3/2560 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็นประธานได้เห็นชอบพร้อมมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย(มท.) โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์(พม.)โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน(ดย.)ดำเนินการจัดให้มีสภาเด็กและเยาวชนระดับต่างๆให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลากำหนด นับแต่วันที่พ.ร.บ.บังคับใช้ ขณะเดียวกันก็ให้สร้างความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีสภาเด็กและเยาวชนทุกระดับให้แล้วเสร็จตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งติดตามประเมินผลและรายงานผลต่อ กดยช.
          นายวิทัศน์ เตชะบุญ อธิบดีดย.กล่าวว่า "ขณะนี้สภาเด็กและเยาวชนระดับตำบล และเทศบาล 7,775 แห่งระดับอำเภอ 878 แห่ง และกรุงเทพมหานคร 50 เขต ได้จัดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนระดับจังหวัดจะเริ่มคัดเลือกวันที่ 4 พ.ย. จากนั้นจะเป็นการคัดเลือกระดับประเทศเดือน ธ.ค.ขณะเดียวกัน ดย.ได้จัดอบรมเจ้าหน้าที่แต่ละพื้นที่เพื่อเป็นครูหรือพี่เลี้ยงในการให้ความรู้ความเข้าใจสภาเด็กฯ โดยเฉพาะระดับตำบลที่เรียกว่าเพิ่งตั้งไข่ ได้รู้ถึงบทบาทภารกิจรวมถึงการจัดทำแผนโครงการกิจกรรม เพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนจาก ดย.ผ่านบ้านพักเด็กและครอบครัว ซึ่งดย.ได้จัดสรรงบประมาณลงไปในแต่ละพื้นที่แล้ว โดยระดับอบต./เทศบาลจะได้ 20,000 บาท อำเภอ 30,000บาทจังหวัด 120,000-300,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดจังหวัด เบื้องต้นอยากให้เน้นการทำงานจิตอาสาการประสานข้อมูลในพื้นที่กับอบต.เทศบาล เพื่อร่วมทำงานและแก้ปัญหาพื้นที่ ซึ่งต่อไปสภาเด็กฯจะถูกถ่ายโอนไปขึ้นกับพื้นที่จึงต้องบูรณาการทำงานอย่างใกล้ชิด ในการจัดการปัญหาและพัฒนาพื้นที่ของตนเองอย่างเข้มแข็ง"
          "ดย.คาดหวังให้สภาเด็กฯระดับต่างๆ เป็นแกนนำขับเคลื่อนส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ร่วมกันศึกษาสอดส่องนำปัญหาในพื้นที่มาร่วมกันป้องกันและแก้ไขรวมถึงสร้างสรรค์กิจกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันปัญหาต่างๆทั้งการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ยาเสพติด การติดเกม รวมไปถึงการเป็นจิตอาสาพัฒนาชุมชน ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม การดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ในชุมชนของตนเอง" นายวิทัศน์กล่าวย้ำถึงความสำคัญของสภาเด็กฯ
          ด้านศ.ดร.สมพงษ์จิตระดับผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชนคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสะท้อนภาพว่า "ในเชิงปริมาณตัวเลขที่จะเกิดสภาเด็กฯ ทุกตำบลเป็นสิ่งที่ดีแต่สิ่งที่น่าห่วงคือ เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นถ้าผู้ใหญ่ไม่ช่วยเหลือประคับประคองจะเลือนหายไปตามธรรมชาติตามงบประมาณที่จัดสรรให้ ทั้งที่สภาเด็กและเยาวชนตำบลเป็นระดับสำคัญที่สุด เป็นหน่วยที่อยู่กับพื้นที่เป็นรากฐานในการสร้างคนทำอย่างไรให้คงอยู่ มีกิจกรรมเคลื่อนไหวสภาเด็กฯเองก็ต้องมองที่ตัวพื้นที่ที่อยู่นั้นสำคัญที่สุด ขณะที่สภาเด็กฯระดับจังหวัดระดับประเทศทำหน้าที่สนับสนุนไม่ใช่เป็นลักษณะการสูบเด็กขึ้นข้างบน จนข้างล่างกลายเป็นสุญญากาศ ขณะเดียวกันพม.ต้องเปลี่ยนระบบคิดในการทำงานกับสภาเด็กฯ ต้องมองหน่วยตำบลสำคัญที่สุดและประคับประคองให้อยู่รอดเข้มแข็งโดยร่วมมือกับ อบต.เทศบาลและเครือข่ายในพื้นที่"
          "ผมอยากเห็นเด็กสามารถกำหนดนโยบายที่เกิดขึ้นจากข้างล่างว่าเขาต้องการอะไร ทำอะไรและนำเข้าสู่กดยช.ได้ ถ้าเราสร้างเด็กและเยาวชนที่โตจากข้างล่างขึ้นมา จะพัฒนาความคิดการสร้างสรรค์การมีส่วนร่วมความเป็นพลเมืองประชาธิปไตย สภาเด็กและเยาวชน ขณะนี้เป็นการสร้างและหล่อหลอมคนครั้งใหญ่ของประเทศ ดังนั้นเวทีและกิจกรรมกำลังถูกเปิดหน้าที่ พม.ต้องมองแบบพี่เลี้ยงให้คำแนะนำคอยจัดกระบวนการสร้างหลักสูตรส่งเสริม อีกทั้งต้องให้ความสำคัญกับทิศทาง นโยบายและงบประมาณสนับสนุนการทำงานของสภาเด็กฯ ลดบทบาทตัวเองแต่เพิ่มบทบาทเด็ก ขณะเดียวกันเด็กก็ต้องมีวิธีคิดรักษาความเป็นธรรมชาติของเด็ก ความมีจิตอาสาทำกิจกรรมหวังดีกับประเทศ อย่าคิดหวังการเข้าสู่เวทีสภาเด็กฯ เพื่อฟอกตัวเองนำไปสู่การเมืองระดับบน" รศ.ดร.สมพงษ์กล่าวเน้นความสำคัญสภาเด็กฯ ทีมข่าวการพัฒนาสังคมมองว่าการเปิดเวทีให้สภาเด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย ดำเนินงานรวมถึงแก้ปัญหาในพื้นที่น่าจะเป็นตัวช่วยสำคัญ เพื่อให้การแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนเป็นไปอย่างตรงจุด
          ขณะเดียวกันการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่เด็กและเยาวชนได้ลงมือปฏิบัติจริงน่าจะเป็นเสมือนวิตามินสำคัญที่ช่วยเติมพลังบวก
          เพื่อเสริมสร้างพลังความเป็นพลเมืองคุณภาพในอนาคต.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น