วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2560

'อปท.'ค้านใช้เงินสะสมหวั่นสูญงบ-ไม่ช่วยฉุดศก.

'อปท.'ค้านใช้เงินสะสมหวั่นสูญงบ-ไม่ช่วยฉุดศก.
มติชน (กรอบบ่าย)  ฉบับวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๐

          สมาคมสันนิบาตเทศบาล-อบต. ค้านคลังดึงเงินสำรองสะสม อปท. ชี้ไม่ช่วยกระตุ้น ศก. หวั่นสูญงบโดยไม่จำเป็น
          อปท.ค้านเงินสะสมกระตุ้นศก.
          เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม นายศุภสัณห์ หนูสวัสดิ์ อุปนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) เปิดเผยกรณีปลัดกระทรวงการคลังมีนโยบายจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต. ) และเทศบาลใช้เงินสะสม หรือเงินทุนสำรองเงินสะสม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นว่า ขณะนี้เงินสะสมของ อปท.ทั่วประเทศมีประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่นำมาใช้ได้ภายใต้ข้อจำกัดตามความจำเป็นกำหนดไว้ในระเบียบและมาตรการที่รัฐบาลผ่อนปรนให้ใช้จ่ายได้ตามความเหมาะสม เชื่อว่าจะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับมหภาคได้ตามที่รัฐบาลต้องการมากนัก เนื่องจากบางโครงการที่ อปท.เสนอแผนให้ดำเนินการโดยรัฐจ่ายงบให้บางส่วนและ อปท.จ่ายสมทบไม่ได้เป็นการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้มีการจ้างแรงงานเพื่อเสริมสภาพคล่องในระดับพื้นที่ ขณะที่ อปท.บางแห่งอาจเสนอโครงการจากการใช้งบสะสมด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษาและด้านสาธารณสุข ซึ่งไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ นอกจากนั้นที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้านบาท ต่อมายังมีงบให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านไปทำประชาคมกับประชาชนเพื่อให้เสนอโครงการอีกหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท ถือเป็นภารกิจซ้ำซ้อนในพื้นที่ อปท.ที่สำคัญพบบางพื้นที่สร้างความขัดแย้งจากการนำเสนอโครงการ ดังนั้นการใช้งบสะสมของ อปท.ตามมาตรการที่นำเสนอควรประเมินให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายกับ อปท.
          หวั่นสูญเปล่าเสียงบไม่จำเป็น
          นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ รักษาการเลขาธิการสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกสภาการปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) การปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า การใช้งบสะสมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน อปท.โดยใช้งบลงทุนเพื่อให้เกิดการจ้างงานผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะเกิดสภาพคล่องกับผู้รับเหมาโครงการไม่กี่ราย แต่รายได้ของประชาชนในพื้นที่ไม่เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนที่ตั้งเป้าหมาย ที่สำคัญการทำโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจทำให้ อปท.สูญเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็น ขณะที่ปัญหาสำคัญที่รอการแก้ไขอย่างเร่งด่วนของรัฐบาล ต้องทำให้ประชาชนระดับพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้พบว่าราคาพืชผลด้านการเกษตรตกต่ำ ราคาสินค้าสูงขึ้น ที่ผ่านมาการใช้งบตำบลละ 5 ล้านบาท หมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนที่วางไว้ ดังนั้นหากจะทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่ม รัฐบาลต้องมีโครงการให้ อปท.จัดงบจ้างแรงงานประชาชนได้โดยตรง เพื่อสร้างรายได้หรือสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียน เช่นเดียวกับในอดีตที่มีการทำโครงการจากงบเงินกู้มิยาซาวาของประเทศญี่ปุ่น
          ชี้งบตำบล5ล้านบาทไม่เข้าเป้า
          นายทวีศักดิ์ ศรีทองกิติกูล ประธานมูลนิธิปลัด อบต.แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจากการใช้งบสะสมของ อปท.คงไม่ได้ผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบตำบลละ 5 ล้านบาท และหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท ผ่านกลไกการบริหารจัดการของกระทรวงมหาดไทย ที่สั่งการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านดำเนินการขับเคลื่อน ทั้งที่ อปท.มีอำนาจหน้าที่สามารถดำเนินการได้ สำหรับการใช้งบสะสมอาจติดขัดจากระเบียบปฏิบัติบางประการในการใช้งบ และขณะที่รัฐจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ และ อปท.มีปัญหาจากการใช้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง 2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคมนี้ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนจากการใช้ พ.ร.บ.ตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดจะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการหยุดชะงัก
          นางสัญญา ไชยเชียงของ คลังจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เชียงใหม่ไม่ค่อยมีปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณตามปกติ ส่วนใหญ่เบิกจ่ายตรงตามงวด มีบางส่วนเบิกจ่ายล่าช้า หรือค้างท่อ หากเบิกจ่ายไม่ทันจะเก็บเป็นเงินสะสมในปีหน้าแทนซึ่ง อปท.บางแห่งมีภาระหนี้ผูกพัน 3-5 ปี ต้องตั้งงบรายจ่ายไว้ล่วงหน้า หรือนำเงินสะสมที่เหลือจากปีที่ผ่านมามาใช้หนี้แทน
          "อปท.มีกฎหมายและระเบียบของตนเอง สามารถตั้งงบรายจ่ายประจำปีได้ เช่น แผน 3 ปี ซึ่งต้องทำแผนโครงการผ่านสภาเห็นชอบก่อน บางแห่งให้ประชาคมมีส่วนร่วมจัดทำแผนและโครงการตามความจำเป็นเร่งด่วน กรณี อปท.ใช้เงินฝากหรือเงินสะสมกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น สามารถทำได้ถ้ามีแผนและโครงการชัดเจน ไม่ผิดระเบียบ เพื่อบริการสาธารณะและพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่วนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นตามนโยบายกระทรวงการคลัง ต้องหารือกับจังหวัดและท้องถิ่นจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่เป้าหมายที่วางไว้" นางสัญญากล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น