วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560

นักวิชาการจี้รัฐ-อปท.แก้ขยะในทะเล อ.ธรณ์ชี้มีกม.ชัดเจน-ไม่ต้องใช้ม.44 ทส.เตรียมจัดการประชุมระดับชาติ

นักวิชาการจี้รัฐ-อปท.แก้ขยะในทะเล อ.ธรณ์ชี้มีกม.ชัดเจน-ไม่ต้องใช้ม.44 ทส.เตรียมจัดการประชุมระดับชาติ
มติชน  ฉบับวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๐

          นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทะเล รองคณบดีประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า กรณีขยะทะเลในประเทศไทยกำลังเป็นปัญหาวิกฤตระดับชาติในขณะนี้ แต่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาตามที่ผู้บริหารองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคตะวันออกเสนอแนะ เนื่องจากไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะเรือขนสินค้า ทิ้งขยะลงทะเล เพราะกรมเจ้าท่าสามารถใช้กฎหมายจัดการได้ตามปกติ แต่ขยะทะเลเป็นปัญหาจากแหล่งชุมชนใกล้ทะเลทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาระบบการบริหารจัดการ ทั้งจากภาคประชาชน และการใช้อำนาจหน้าที่ของ อปท. หน่วยงานรัฐ มีกฎหมาย อย่างชัดเจนแต่ถูกละเลยไม่ได้รับการปฏิบัติอย่าง ถูกต้องมานาน กระทั่งพบขยะหลากหลายประเภทถูกทิ้งในทะเลปีละ 5-6 ล้านตัน และไทยถูกจัดเป็นประเทศอันดับ 5 ของโลกที่ทิ้งขยะลงทะเล ซึ่งเดือนกันยายนนี้ จะมีการประชุมแก้ปัญหาขยะทะเลในระดับชาติ โดยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธาน และปลายเดือนพฤศจิกายน ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคอาเซียนเป็นครั้งแรก
          "ก่อนหน้านี้สหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีการประชุม โอเชียนคอนเฟอเรนซ์เพื่อแก้ปัญหาขยะทะเล มีรัฐมนตรีไทยเข้าร่วม ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกหลักเกณฑ์การแก้ปัญหาขยะทะเล โดยนายกรัฐมนตรี ให้ความสนใจและพูดในการประชุม ครม.หลายครั้ง ให้ทุกฝ่ายร่วมมือขับเคลื่อน ประสานการจัดการ อย่างเป็นระบบ แต่ระยะ 2 ปีที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดให้ความสนใจขยะทะเลเท่าที่ควร ทั้งที่มีกฎหมาย และขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างชัดเจน ขณะนี้ผม เริ่มรณรงค์จัดการปัญหาขยะทะเลในพื้นที่เกาะพีพี และอ่าวพังงา โดยห้ามนำถุงพลาสติกขึ้นเกาะ มีการแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนบนเกาะ แนะนำแนวทางให้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ท้องถิ่นที่มีอำนาจหน้าที่จัดการปัญหาตั้งแต่ต้นทาง สำหรับปัญหาขยะทะเล นอกจากกระทบกับสิ่งแวดล้อมทางทะเลแล้ว ยังทำให้สัตว์หายาก เช่น เต่าทะเลตายเฉลี่ย 300 ตัวต่อปี จากการกินขยะพลาสติก ส่วนโลมาได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน" นายธรณ์กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น