วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

'เทศบาลไผ่กองดิน'คว้ารางวัล ชุมชนต้นแบบแยกขยะที่ต้นทาง

'เทศบาลไผ่กองดิน'คว้ารางวัล ชุมชนต้นแบบแยกขยะที่ต้นทาง
ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐

          แก้ปัญหาขยะล้นเมืองที่ ทต.ไผ่กองดินได้ผล เมื่อ 3 ชุมชนผนึกกำลังมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง คว้าแชมป์จังหวัดสุพรรณบุรี ฐานะชุมชนมีส่วนร่วมทำให้ขยะลดลง
          ปัญหาขยะล้นเมืองต้องแก้ที่ตัวเรา นี่คือจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาขยะที่เทศบาลไผ่กองดิน อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เนื่องจากมีปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นจำนวน 1 ตันต่อวัน ประสบปัญหาเกี่ยวกับการบริหารการจัดการขยะ เช่นเดียวกับหลายท้องถิ่นที่ไม่สามารถบริหารจัดการขยะเองได้ จึงนำไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี เสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะเป็นเงินจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไป หรือขยะที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ขยะอันตรายและขยะรีไซเคิล
          เมื่อมีโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ภายใต้กรอบทิศทางการสนับสนุนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 23(4) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุพรรณบุรี เสนอให้ อปท.ทุกแห่งส่งชุมชนเข้าประกวด ทางเทศบาลตำบลไผ่กองดินจึงไม่รอช้า สมัครเข้าร่วมโครงการในทันที เล็งเห็นประโยชน์ขยะลด และสร้างจิตสำนึกให้ชุมชน
          เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน เทศบาลไผ่กองดินจึงได้มอบหมายให้นางมณทิพา ศรีท้าว ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดูแลโครงการ โดยนางมณทิพาเล่าให้ฟังว่า โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีการเตรียมความพร้อมให้กับภาคประชาชนในการคัดแยกขยะที่ต้นทางเพื่อรองรับการจัดการขยะรูปแบบใหม่ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 18 เดือน (1 พ.ย.2558-31 ธ.ค.2559) เทศบาลได้ทำการคัดเลือก 3 ชุมชน ครอบคลุมหมู่ที่ 3 และหมูที่ 4 เนื้อที่ 2,187.5 ไร่ จำนวน 42 ครัวเรือน มีเป้าหมายเพื่อให้มีชุมชนต้นแบบการคัดแยกขยะที่ต้นทาง อย่างน้อยจำนวน 1 หมู่บ้าน/ชุมชน 2.ปริมาณขยะที่นำไปกำจัดหลังจากการดำเนินโครงการ ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน/ชุมชนต้นแบบ และที่สำคัญโครงการนี้ได้มีข้อกำหนดชัดเจนว่า ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการทำโครงการจริงๆ
          "โครงการนี้ ถ้าชุมชนไม่มีส่วนร่วมทำไม่ได้ค่ะ เพราะเขาต้องให้ชุมชนเซ็นยินยอมว่าจะทำโครงการนี้ เราเป็นเพียงคนขับเคลื่อน ประสาน ภายใต้คณะกรรมการที่เราคัดเลือกจากชุมชนทั้งหมด เราดึงเข้ามาทั้งหมด ทั้งโรงเรียน กศน. วัด รพ.สต. ปราชญ์ชุมชน ประธานชุมชน" ผู้อำนวยการกล่าว
          ผลการดำเนินโครงการปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดหลังจากดำเนินโครงการ ลดลงร้อยละ 35 ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการจัดการขยะ โดยการรณรงค์ผ่านกิจกรรมทอดผ้าป่าขยะรีไซเคิล และขยะรีไซเคิลแลกบุญ โดยจัดตั้งตะแกรงเพื่อให้ประชาชนสามารถนำขยะรีไซเคิลมาร่วมกิจกรรมได้ในจุดต่างๆ ในชุมชน เกิดฐานการเรียนรู้ในชุมชน ชุมชนที่ 1 บ้านต้นแบบในด้านการจัดขยะอินทรีย์ และขยะรีไซเคิล
          ได้แก่ บ้านอาจารย์รำรวล มยุรา บ้านอาจารย์ประไพ สุพัฒธี บ้านนางสาวศุภิสร วงศ์ศิลป์ชัย ชุมชนที่ 2 ชุมชนต้นแบบในด้านการจัดการขยะอินทรีย์ และขยะรีไซเคิล ได้แก่ บ้านนางยุพิณ ทรัพย์พันธ์ (ศูนย์สมุนไพรพอเพียง) โรงเรียนวัดช่องลม (ธนาคารขยะรีไซเคิล) ชุมชนที่ 3 ศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะอินทรีย์รวม ได้แก่ บ้านนายสุนทร เจริญผล บ้านนายประจวบ กลั่นศรี
          เมื่อชุมชนร่วมแรงร่วมใจ เทศบาลหนุนเสริมเต็มกำลัง ที่สำคัญไม่ได้ทำเพื่อหวังเพียงรางวัลเท่านั้น แต่หวังเพื่อให้บ้านตนเองสะอาดขึ้น แต่ผลลัพธ์กลับมาน่าชื่นใจ เมื่อผลการประเมินจากคณะกรรมการแจ้งกลับมาที่เทศบาลว่าโครงการนี้ผู้ได้รางวัลที่ 1 ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี คือ เทศบาลตำบลไผ่กองดินนั่นเอง "ที่เขาถูกใจที่นี่เพราะ 1.ชุมชน เพราะชุมชนทำแล้วมีความสุข ชุมชนมีส่วนร่วม เพราะวันที่คณะกรรมการได้ลงไปตรวจเขาได้เห็นจริงๆ ว่าชุมชนทำจริงๆ คือเขาเห็น เขาเชื่อว่าชุมชนทำ เพราะชุมชนให้ความร่วมมือ คณะกรรมการยัง
          บอกว่าถ้าเรารักษาตรงนี้ไว้ได้ การทำงานทุกเรื่องเราจะได้เปรียบ และที่สำคัญทุกภาคส่วนในชุมชนเข้ามาร่วมกันหมดเลย ชุมชนเวลาเขามาเจอคณะกรรมการเขามีความสุข เขาภูมิใจที่ได้มาทำงานตรงนี้ พอชาวบ้านรู้ว่าได้ที่ 1 เขาก็ดีใจ บอกว่าหายเหนื่อยกับที่ทำมา"
          นายพัสกร อุ่นอ่อน ปลัดเทศบาลตำบลไผ่กองดิน ในฐานะผู้สนับสนุนให้เกิดโครงการ กล่าวว่า เราไม่ได้คาดหวัง แต่อยากปลุกกระแสให้ชาวบ้านเขารู้จักการแยกขยะ ลดขยะเท่านั้น ก็คิดว่าพอได้ผล ก็มาคุยกับท่านนายก (นายทีฆโชติ งามถาวรวงษ์) ให้ทำโครงการต่อในลักษณะเพื่อนชวนเพื่อน ก็จำแนวคิดจากอาจารย์ทรงพลว่าไม่ต้องใหญ่ เริ่มจากเล็กๆ ก่อน ถ้าเล็กๆ แล้วโอเคเดี๋ยวก็ขยายไปเอง เรามีต้นแบบในพื้นที่เราแล้วมันก็สะดวก
          อาจารย์ปรีชา บุญเสถียร จากโรงเรียนวัดช่องลม ผู้เข้าร่วมโครงการฯ เผยว่า โรงเรียนเป็นธนาคารขยะ มีนักเรียนเข้าร่วม 15 คน มีหน้าที่รับขยะนำมาคัดแยกและไปโรงแยกขยะ และทำน้ำหมักชีวภาพ ทางโรงเรียนมีผักที่แม่ครัวทำอาหารที่เหลือก็นำมาทำ ทำมา 1 ปี ขยะในโรงเรียนลดลง เด็กๆ สามารถแยกขยะได้ ตอนนี้เศษใบไม้เราไม่ทิ้งเอาไปทำปุ๋ย ความคาดหวังต่อโครงการนี้คือ ทำให้ขยะลดลงให้มากที่สุดและการปลุกจิตสำนึกนักเรียน
          นี่คือความภาคภูมิใจในพลังของของชุมชน และคือความภาคภูมิใจของเทศบาลตำบลไผ่กองดิน ในฐานะผู้ดำเนินโครงการ นางมณทิพาได้ย้ำถึงความสำเร็จนี้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรนักถักทอชุมชนได้นำสิ่งที่เรียนรู้กับอาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการ สรส. ผู้ซึ่งทำหน้าที่วิทยากรให้ความรู้นำมาปรับใช้ในการทำงานและนำมาใช้ในชีวิตประจำวันและครอบครัวจนเกิดผลดีกับตนเอง
          "การดำเนินโครงการนี้เป็นสิ่งที่เรานำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากหลักสูตรนักถักทอชุมชนมาปรับใช้ เราต้องรู้ด้วยว่าบ้านนี้ ชุมชนนี้จะต้องไปจัดที่บ้านไหน ทำกับใคร คือ เราจะไปคิดเองไม่ได้ เราต้องเห็นก่อนเขียนโครงการแล้วว่าลงชุมชนนี้แล้วเราทำได้ ถ้าไม่มองตรงนี้ ถ้าเราได้งบมาเราก็ทำไม่ได้ เพราะบางที่เป็นปัญหา คือ ได้งบมาแล้วชุมชนไม่เอา ทำไม่ได้  เหมือนที่อาจารย์ทรงพลบอก ให้เขาเห็นประโยชน์แล้วเขาก็จะทำ" นางมณทิพากล่าวทิ้งท้าย
          เทศบาลตำบลไผ่กองดิน อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี หนึ่งในพื้นที่เป้าหมายในโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2: หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ดำเนินงานโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนับโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สพบ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
          แม้ว่าโครงการนี้จะเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ปี 2558 แต่การเรียนรู้ที่ได้จากหลักสูตรนักถักทอชุมชน กับบทบาท "นักถักทอชุมชน" ยังขับเคลื่อนอยู่ในหลายพื้นที่ ได้นำความรู้ที่ได้มาช่วยกัน "ถักทอชุมชน" ให้เจริญก้าวหน้า เช่นเดียวกับที่ ทต.ไผ่กองดินได้ทำให้เห็นแล้วนั่นเอง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น