วันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

บทความพิเศษ: การจัดการศึกษาท้องถิ่น ตอนที่ 8: ภาษาสากลกับการสอนแบบสองภาษา

บทความพิเศษ: การจัดการศึกษาท้องถิ่น ตอนที่ 8: ภาษาสากลกับการสอนแบบสองภาษา
สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐

          ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย
          นวัตกรรมใหม่การเรียนการสอนแบบสองภาษา
          การปฏิรูปการศึกษาไทยครั้งสำคัญได้เกิดมาแล้วสองห้วงเวลาคือ (1) ในห้วงทศวรรษแรกช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ (2) ในห้วงทศวรรษที่สองช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษามาในระดับหนึ่ง สำหรับในห้วงทศวรรษช่วงรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 นี้ ถือเป็น "ห้วงทศวรรษที่ 3" ก็ว่าได้ จากบทความปี 2553 เรื่อง "การเรียนแบบสองภาษา (Bilingual Program) ประชานิยมหรือทางออกการศึกษาไทย" ของบาทหลวงสมเกียรติ จูรอด ผู้จัดการโรงเรียนดรุณากาญจนบุรี สะท้อนได้ดีโดยเฉพาะในห้วงของการปฏิรูปการศึกษา "ช่วงที่ 3"ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในที่นี้ คือการเรียนการสอนแบบ "เน้นสองภาษา" หมายความว่ามีอีกภาษาหนึ่งที่สามารถใช้เสมือนภาษาแม่ได้ ในที่นี้ก็คือ "ภาษาอังกฤษ" (English) นั่นเองแม้ในอดีตจะมีการเรียนการสอนแบบสองภาษา "ไทย-จีน" ในโรงเรียนที่สอนภาษาจีนในประเทศไทยมานานแล้วก็ตาม
          ประเทศสิงคโปร์สองภาษาสร้างชาติ
          ประสบการณ์ของลี กวนยู ประธานาธิบดีแห่งสิงคโปร์ถือเป็นแบบอย่างของประเทศที่ใช้ระบบสองภาษา "สร้างชาติ" อย่างได้ผลเป็น "นโยบายสองภาษา" ที่ให้คนสิงคโปร์ใช้ 2 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ และภาษาแม่ หรือภาษาของแต่ละเชื้อชาติ ได้แก่ จีน มาเลย์หรือภาษาทมิฬของคนสิงคโปร์เชื้อชาติอินเดีย เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศ "พหุวัฒนธรรม" ที่หลากหลายมาแต่แรกตั้งประเทศ ในปี 1959 ลี กวนยู ตั้งเป้าหมายว่า จะให้คนสิงคโปร์รุ่นใหม่พูดได้สองภาษา คือภาษาอังกฤษ และภาษาแม่ ในปี 1978 ลี ให้ยุบมหาวิทยาลัยหนานยาง ซึ่งสอนโดยใช้ภาษาจีน และให้ย้ายไปรวมกับมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ที่ใช้ภาษาอังกฤษ ทุกวันนี้ประเทศสิงคโปร์จึงเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการ "เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาค"ประชานิยมการเรียนแบบสองภาษา
          ในช่วงประมาณปี พ.ศ.2544 เป็นต้นมา "สังคมโลกาภิวัตน์"หรือสังคมโลกไร้พรมแดนแห่งอนาคตอันใกล้ ทำให้ "การเปิดสังคมไทยสู่อาเซียน" (ASEAN or AEC) เป็นสิ่งจำเป็น เพราะมองว่า"การสื่อสารด้านภาษากับสังคมโลกด้วยภาษากลาง" จะได้เปรียบโดยเฉพาะโอกาสทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น "ประชานิยม" ที่แห่แหนตามกัน หรืออย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระแสความนิยมของผู้ปกครองในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียน "สองภาษา" หรือที่มีการเรียนภาษาต่างประเทศสากลอื่นเสริม ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีนภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส เป็นต้น ส่งผลให้โรงเรียนที่สอนแบบสอง(หรือสาม) ภาษามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และในภูมิภาคโดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีทุนทรัพย์เพียงพอ นี่ก็ถือเป็นความเหลื่อมล้ำประการหนึ่งในการเข้าถึง "โรงเรียนระบบสองภาษา" ของเด็กเยาวชนที่มีผู้ปกครองที่ขาดทุนทรัพย์
          ประเภทโรงเรียนสองภาษาในประเทศไทย
          ในที่นี้มาพิจารณาเฉพาะโรงเรียนสองภาษาที่ใช้ "ภาษาสากล"คือ "ภาษาอังกฤษ" เท่านั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดระบบโรงเรียนซึ่งจัดการเรียนการสอนแบบสองภาษา แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
          (1) Mini English Program (MEP) เป็นโรงเรียนสองภาษาที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษได้ไม่เกิน 50% ของชั่วโมงสอนทั้งหมดต่อสัปดาห์ ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้มีโครงการสอนแบบสองภาษา ไทยคู่อังกฤษ ที่เรียกว่า "Eng
          lish Bilingual Education (EBE)"
          (2) English Program (EP) เป็นโรงเรียนสองภาษาที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษได้ทุกวิชา ยกเว้นภาษาไทย และสังคมศึกษา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทย กฎหมายไทย ประเพณีและวัฒนธรรมไทย
          สำหรับโรงเรียนอีกประเภทหนึ่งที่จัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศล้วน ตามหลักสูตร เรียก "โรงเรียนนานาชาติ" (International Program: IP) คือ การจัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรของต่างประเทศ ที่โรงเรียนแต่ละแห่งจะเลือกใช้
          โรงเรียนสองภาษาควรเปิดสอนในระดับใด
          ประเทศไทยปี 2553 มีโรงเรียนสองภาษารวมกันอยู่จำนวนกว่า 200 แห่ง จากเดิมที่ให้เปิดสอนโปรแกรม EP ในปีการศึกษา2542 จำนวน 112 แห่ง เปิดสอนโปรแกรม MEP ในปีการศึกษา2546 จำนวน 109 แห่ง และปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้มีหลายระดับ เช่น ระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา
          จากข้อมูลสถิติชีพประมาณว่าเด็กไทยเกิดปีละแปดแสนคน ต้องใช้งบประมาณอบรมฝึกภาษาเด็ก ปีละ 4 พันล้านบาท ที่ถือว่าไม่มากนัก สำหรับช่วงอายุเด็กที่เหมาะสม คือ ช่วง 3-4 ขวบ เป็นช่วงที่เด็กเริ่มหัดพูด ที่สามารถเริ่มสอนภาษาได้ เพราะเป็นวัยที่เด็กเริ่มพูดและซักถาม เริ่มสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว เด็กเล็กจะรับรู้ภาษาได้ง่ายและเป็นธรรมชาติ
          ข้อสังเกตการสอนภาษาอังกฤษ บางประการใน รร. อปท.
          (1) ปัญหาประการแรกที่พบในโรงเรียน อบจ. ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมเกือบ 100% ในช่วงชั้นที่ 3 (ม.1-3) และ ช่วงชั้นที่ 4 (ม.4-6) ก็คือเด็กนักเรียนมีปัญหาในการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ระดับประถม ในช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-3) และช่วงชั้นที่ 2 (ป.4-6) ปัญหาสืบเนื่องตามมาอีกเรื่องก็คือ เด็กส่วนที่สามารถอ่านออกเขียนได้ แต่ไม่สามารถพูดฟังหรือสื่อสารออกมาได้ เนื่องจากการเรียนภาษาอังกฤษแบบใช้ภาษาไทยสอน แม้แต่ครูเอกวิชาอังกฤษเองก็มีน้อย จึงไม่มีการเรียนการสอนพูดแต่ภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ทักษะและสื่อการสอนของครูก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เช่น ต้องมีวัสดุครุภัณฑ์อุปกรณ์ต่างๆ ที่พร้อม อาทิไมค์เคลื่อนที่ติดตามตัวครูทำให้เสียงดังฟังชัด เรียกความสนใจเด็กได้เป็นต้น
          (2) สำหรับเด็กนักเรียนที่ไม่มีปัญหาเรื่องการอ่าน แม้ว่าต้องมีการสอนโดยเน้นทักษะการสื่อสาร ทำยังไงให้เด็กกล้าใช้ กล้าพูด ครูต่างชาติอาจช่วยได้ เพราะครูที่ใช้ภาษาอังกฤษ 100% และอย่างน้อยการสื่อสารต่างๆ เป็นการบังคับไปในตัวว่าเด็กจะต้องสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ เด็กก็จะคุ้นเคยกับคนต่างชาติมากขึ้น ครูเองก็ได้ประโยชน์เพราะต้องทำงาน ต้องอยู่ร่วมกัน ประชุม อบรม จัดกิจกรรมต่างๆภายในโรงเรียนร่วมกัน มีประโยชน์สองต่อ กล่าวคือได้พัฒนาเด็กและก็พัฒนาครูไปพร้อมกัน
          (3) อย่างไรก็ตามปัญหาหลักที่ติดตามมาก็คือ เรื่องงบประมาณเช่น การใช้ครูต่างชาติ มีงบประมาณที่สูง แม้จะมีหน่วยงานหรือองค์กรที่ช่วยเหลือสนับสนุนครูต่างชาติฟรีบ้างก็ตาม แต่โรงเรียนที่ไกลไม่สะดวก ปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่อง ที่พักหรือการเดินทาง เหล่าครูอาสาสมัครหรือครูแลกเปลี่ยนฯ คงไม่อยากไปปฏิบัติงาน ฉะนั้นครูอาสาเหล่านี้จึงอยู่แต่โรงเรียนใหญ่ในเมืองที่สะดวกสบาย ปลอดภัยด้วย วิธีการแก้ไข โดยหาก อบจ. ต้องการความสนับสนุนจากองค์กรที่จะสนับสนุนครูต่างชาติ ให้ทำข้อตกลงในเรื่องการสนับสนุนดูแลที่พักที่สะดวกปลอดภัย การจัดหาครูพี่เลี้ยง ต่างๆ เป็นต้น จะทำให้ได้รับการสนับสนุนครูต่างชาติจากองค์กรนั้นอย่างทั่วถึง ได้ครูต่างชาติที่เป็นเนทีฟจริงมาสอน โดยไม่ต้องจ่ายเงินเดือนค่าจ้างแพง โดยเฉพาะครูที่มาจากประเทศที่ใช้ภาษาแม่อังกฤษแบบเนทีฟ เพราะส่วนมากเป็นครูที่มาจากฟิลิปปินส์ที่สำเนียงอาจไม่ดีเท่าครูที่มาจากฝั่ง ยุโรป อเมริกา
          (4) หากสามารถจัดการเรียนการสอนแบบโรงเรียนสองภาษาในระดับมัธยมได้ โดยเฉพาะในระดับมัธยมต้น นับเป็นสิ่งที่ดีแน่นอนแต่ควรมีการร่วมมือกันจริงจังหลายภาคส่วน เพราะประเทศเพื่อนบ้านต่างใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก และเป็นภาษาที่สองมานานแล้วด้วยเคยอยู่ภายใต้อาณานิคมมาก่อน แต่เหตุผลข้อนี้คงมิใช่ข้ออ้างอีกต่อไป การเริ่มพัฒนาภาษาสากลภาษาที่สองให้ได้จึงเป็นสิ่งจำเป็น
          (5) ในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ โรงเรียนใช้แบบเรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด สำหรับประทศไทยเราขอเพียงยกเอาภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองควบคู่กันไปกับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่ต้องเริ่มต้นแต่บัดนี้ โดยทุกภาคส่วนต้องสนับสนุนช่วยกันทั้งหมดเป็นภาพรวม ทั้งด้านงบประมาณความพร้อมของเด็ก ความพร้อมของครู ที่ต้องสืบค้นหาสภาพปัญหาแก้ไขเป็นขั้นตอน
          (6) ประการสำคัญที่สุดคือ จะทำอย่างไรให้ปัญหาการจัดการศึกษาท้องถิ่น "มีคุณภาพ" ที่เท่าเทียมกัน เพราะเป็นปัญหาส่วนใหญ่ของท้องถิ่น ที่จะทำให้มีคุณภาพได้ แต่ข้อเท็จจริงท้องถิ่นส่วนใหญ่อาจทำเพื่อหาเสียงสนองนโยบายนักการเมืองท้องถิ่น ที่ไม่สนใจในเรื่องคุณภาพการศึกษาเท่าใด นอกจากนี้ท้องถิ่นหลายแห่งมีบุคลากรคนที่มีศักยภาพ แต่ระบบการเมืองหรือ ผู้บริหารท้องถิ่นที่มีวิสัยทัศน์การพัฒนาที่จำกัด ทำให้บุคลากรเหล่านั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ภาวะกดดันได้ และขาดขวัญกำลังใจ เป็นต้น
          (7) ไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษาเด็กในช่วงชั้นใด ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ อปท. ขาดบุคลากรที่มีความรู้ด้านการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนาท้องถิ่นไป ฉะนั้น อปท.ควรมีการปรับปรุงแก้ไขสร้างบุคลการเพื่อดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะท้องถิ่นมีความได้เปรียบเรื่องงบประมาณที่มีงบอยู่ในมือเอง
          (8) การพัฒนาทักษะ "ภาษาอังกฤษ" จะส่งผลกระทบกับเด็กนักเรียนทั่วประเทศที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ "ภาษาสากล"จะใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับคนทั่วโลกได้ เมื่อประชาชนมีคุณภาพประเทศก็จะมีคุณภาพตามมาอย่างแน่นอน ไทยจะไม่ด้อยพัฒนาเพราะคนเก่งภาษาจะสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เร็วกว่า โดยเฉพาะทุกวันนี้เครื่องมือสื่อสารถึงกันและกันได้ทั่วโลกในพริบตา ภาษาสากลกับการพัฒนาทั้งคนและวัตถุจึงไม่อาจแยกกันได้ หากคนไทยทุกคนเก่งภาษา สามารถสื่อสารกับคนทั่วโลกได้ อปท. จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็น "ผู้นำร่อง" ในเรื่องนี้ไม่ว่าการเรียนสองภาษา ซึ่งเป็น "ภาษาสากล" จะเป็นการทำตามกระแสสังคมหรือไม่ก็ตาม แต่สำหรับนักการศึกษาทั้งหลายแล้วถือว่านี่คือโอกาสและทางเลือกที่สำคัญของการศึกษาไทยในยุคปัจจุบันและในอนาคต นี่อาจเป็นคำตอบหรือทางออกของวังวนการศึกษาของประเทศไทย และนี่คือ "การเรียนการสอนแบบสองภาษา" เป็น"การศึกษาทางเลือก" (Alternative Education) ของคนมีวิสัยทัศน์กว้างไกลสำหรับบุตรหลานในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น