วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

รายงาน: โรงเผาขยะชุมชนไร้มลพิษ'อบต.เขาไชยราช'นำร่อง14จังหวัดใต้

รายงาน: โรงเผาขยะชุมชนไร้มลพิษ'อบต.เขาไชยราช'นำร่อง14จังหวัดใต้
มติชน  ฉบับวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐

          ทวีลาภ การะเกด
          เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์มติชนรายวันนายนักรบ ณ ถลาง นายอำเภอเมืองชุมพร ได้นำผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้นำชุมชนใน อ.เมือง จ.ชุมพร อาทิ นายธรรมนูญ ศรีนวล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านนา นายสุวาพิน ฤกษ์พล รองนายก อบต.บ้านนา นายฉลวย อุชุภาพ รองประธานสภา อบต.บ้านนา นายประเสริฐ วัดนครใหญ่ กำนัน ต.หาดพันไกร ฯลฯ เดินทางไปดูการบริหารจัดการโรงเผาขยะชุมชนไร้มลพิษบ้านเขาเลี้ยว หมู่ 1 ต.เขาไชยราช อ.ปะทิว จ.ชุมพร ซึ่งอยู่ในความดูแลของ อบต.เขาไชยราช
          นายนักรบเปิดเผยว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้ว สมัยเป็นนายอำเภอปะทิวได้จัดโครงการนำผู้นำ อปท.กำนัน ผู้ใหญ่บ้านใน อ.ปะทิว เดินทางไปศึกษาดูงานโรงเผาขยะชุมชนไร้มลพิษของ อบต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ต่อมา นายสฤษติ์ ปิ่นเกตุ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านเขาเลี้ยว ต.เขาไชยราช ได้บริจาคที่ดิน 4 ไร่ ให้ อบต.เขาไชยราช ใช้สร้างโรงเผาขยะ 1 ไร่ และทำบ่อน้ำ 3 ไร่ โดยได้นำรูปแบบโรงเผาขยะของ อบต.สะลวง มาประยุกต์ให้เข้ากับสภาพพื้นที่ อยากให้ทุกท้องถิ่นลองมาศึกษาและนำกลับไปสร้างบ้าง เพราะใช้งบประมาณน้อย แต่ผลประโยชน์ที่จะได้รับในระยะยาวมีมากมายมหาศาล
          "ในฐานะนายอำเภอเมืองชุมพร จะนำเรื่องโรงเผาขยะของ อบต.เขาไชยราช เข้าที่ประชุมจังหวัดชุมพร เพื่อต้องการผลักดันทุกท้องถิ่นให้ความสำคัญเรื่องการจัดการขยะในลักษณะขยะใครขยะมัน ต้องบริหารจัดการกันเอง โดยไม่เอาขยะของตนไปสร้างภาระให้ท้องถิ่นอื่น เพราะขณะนี้ปัญหาขยะได้กลายเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว การเริ่มต้นจัดการปัญหาขยะง่ายๆ ที่เราสามารถทำได้คือการคัดแยกขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ และขยะมีพิษก่อน รวมทั้งลดการสร้างขยะของแต่ละคนลงบ้างเท่านั้น" นายนักรบกล่าว ด้าน นายชัชวาล จิตรภิรมย์ นายก อบต.เขาไชยราช กล่าวว่า อบต.เขาไชยราชได้พยายามหาทางแก้ปัญหาขยะ ที่ถือเป็นปัญหาใหญ่มาโดยตลอด เพราะจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เดิม อบต.เขาไชยราช เคยนำขยะไปทิ้งที่เขากล้วย ต.หาดพันไกร อ.เมืองชุมพร ซึ่งเป็นบ่อขยะของเทศบาลเมืองชุมพร แต่หลังจากเดินทางไปดูโรงเผาขยะชุมชนของ อบต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว จึงได้มีมติให้ขอรูปแบบโรงเผาขยะของ อบต.สะลวง มาสร้างใน ต.เขาไชยราช โดยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านเขาเลี้ยว บริจาคที่ดินให้ ใช้งบประมาณเพียง 756,000 บาทเท่านั้น และมี พ.ท.ธัชพล ขบวนฉลาด ผู้บังคับหน่วยส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ที่ 4 สำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา นำเครื่องจักรกลเข้ามาช่วยพัฒนาเส้นทางการเดินทางเข้าสู่โรงเผาขยะ โดยมีแขวงทางหลวงชุมพรให้การสนับสนุนเศษวัสดุที่เหลือจากการรื้อถนนลาดยางมาใช้ทำถนนด้วย
          "ปัจจุบัน ต.เขาไชยราช มี 11 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 4,000 คน ในแต่ละสัปดาห์มีขยะประมาณ 2 ตัน ที่จะถูกส่งเข้ามากำจัดที่โรงเผาขยะแห่งนี้ สรุปคือโรงเผาขยะแห่งนี้จะมีการเผาขยะเดือนละประมาณ 8 ตัน โดย อบต.เขาไชยราช เก็บค่ากำจัดขยะจากชาวบ้านหลังละ 40 บาทต่อเดือนเท่านั้น แต่ในอนาคตอาจต้องมีการสร้างโรงเผาขยะเพิ่มขึ้นอีก หากชุมชนมีการขยายตัวมากขึ้น" นายชัชวาลกล่าวขณะที่นายประเสริฐ ใจแก้ว ผู้อำนวยการกองช่าง อบต.เขาไชยราช ผู้ควบคุมการก่อสร้างโรงเผาขยะไร้มลพิษดังกล่าว เผยว่า การก่อสร้างโรงเผาขยะแห่งนี้ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร เริ่มจากโครงสร้างต้องแข็งแรงมั่นคงตามหลักวิศวกรรม ด้านในเตาเผาใช้อิฐทนไฟฉาบปูนที่ทนไฟได้ถึง 500-1,000 องศาเซลเซียส ส่วนด้านนอกเป็นอิฐบล็อกประสานที่ไม่มีความร้อนและไม่มีอันตรายต่อผู้ดูแล ประตูใส่ขยะทำจากเหล็กเป็นช่องเล็กๆ หากช่องใหญ่จะสะสมความร้อนมากเกินไป อาจทำให้เตาเผาเกิดการแตกร้าวได้ สำหรับขั้นตอนการนำขยะเข้าเตาก็ไม่ยุ่งยาก เมื่อใส่ขยะแล้วก็ใส่กระดาษสำหรับเป็นเชื้อเพลิงเข้าไป แล้วใช้ไม้ขีดก้านเดียวจุดไฟโยนเข้าไปเท่านั้น ก็สามารถเผาขยะได้แล้ว โดยจะใช้เวลาเผาขยะ 1 ตัน ประมาณ 1 ชั่วโมง หลังเผาขยะแล้วจะได้ขี้เถ้าที่นำมาทำอิฐมวลเบาได้ ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำส้มควันไม้ที่นำมาใช้ไล่มด แมลงได้
          ส่วนสาเหตุที่เรียกว่า โรงเผาขยะชุมชนไร้มลพิษ นายประเสริฐแจกแจงว่า เพราะเป็นเตาที่มีระบบบำบัดควันและกลิ่นเพื่อลดมลพิษ โดยใช้ปั๊มน้ำ น้ำ ปูนขาว (หรือผงซักฟอก) และพัดลมดูดอากาศ มาช่วยในการทำให้ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ขยะเจือจาง จากที่เป็นควันดำมีกลิ่นเหม็น ก็กลายเป็นควันขาวที่ไร้กลิ่น หากน้ำที่ใช้มีน้อยจะมีระบบน้ำวนที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งขั้นตอนการก่อสร้างมี 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1.จัดหาสถานที่ที่มีถนนเข้าถึง มีแหล่งน้ำและระบบไฟฟ้า (หรือ Solar Cell) 2.ปรับพื้นที่ สร้างพื้นปูนซิเมนต์เพื่อรองรับเตาเผา 3.สร้างอาคารโรงเรือนและรั้วกำแพง 4.ก่อสร้างเตาเผาขยะพร้อมระบบสเปรย์น้ำและปูนขาว (หรือผงซักฟอก) เพื่อบำบัดควัน
          ผู้อำนวยการกองช่างระบุว่า สำหรับการดำเนินงานของโรงเผาขยะแห่งนี้มี 7 ขั้นตอน คือ 1.สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน โรงเรียน วัด สถานประกอบการ ด้วยการ
          รณรงค์ อบรมให้มีความรู้ในการคัดแยกขยะจากต้นทางคือครัวเรือน ผ่านกระบวนการ 3R คือ Reduce (ลดการก่อขยะ) Reuse (การใช้ซ้ำ) และ Recycle (การนำกลับมาใช้ใหม่) โดยจัดตั้งตลาดนัดขยะ เพื่อสนับสนุนการคัดแยกขยะของครัวเรือนให้มีแหล่งรับซื้อ แลกเปลี่ยนขยะที่ได้จากการคัดแยก 2.ตั้งคณะทำงานบริหารจัดการขยะชุมชน และคณะทำงานตลาดนัดขยะชุมชน 3.จัดฝึกอบรมและศึกษาดูงานให้คณะทำงานเพื่อสร้างความรู้และประสบการณ์การจัดตลาดนัดขยะชุมชนที่เป็นต้นแบบและประสบความสำเร็จ เพื่อนำมาเป็นแนวทางและประยุกต์ใช้ 4.ประสานผู้ประกอบการรับซื้อขยะ Recycle ให้เข้าร่วมตลาดนัดขยะและกำหนดราคาขยะ 5.ประชุมคณะทำงานเพื่อกำหนดแนวทาง วัน เวลา จัดตลาดนัดขยะ 6.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบพื้นที่ วัน เวลา เปิดตลาดนัดขยะ และ 7.จัดตลาดนัดขยะตามวัน เวลา สถานที่ที่กำหนด
          โรงเผาขยะชุมชนไร้มลพิษของ อบต.เขาไชยราช ที่จำลองรูปแบบมาจากโรงเผาขยะชุมชนของ อบต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ คงถือเป็น อบต.นำร่องแห่งแรกของ 14 จังหวัดภาคใต้ ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาขยะที่กำลังกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ และเป็นวาระแห่งชาติอยู่ในขณะนี้ หาก อปท.หรือชุมชนใดสนใจจะเดินทางไปศึกษาการบริหารจัดการโรงเผาขยะแห่งนี้ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปลัดและกองช่าง อบต.เขาไชยราช โทร 0-7765-1272

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น