วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560

บทความพิเศษ: จับตากระแสท้องถิ่นภายหลังรัฐธรรมนูญ'เหล้าเก่าในขวดใหม่'ตอนที่ 2

บทความพิเศษ: จับตากระแสท้องถิ่นภายหลังรัฐธรรมนูญ'เหล้าเก่าในขวดใหม่'ตอนที่ 2

สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๐

          ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย
          ที่บอกว่ากระแสท้องถิ่นเป็น "เหล้าเก่าในขวดใหม่" แรงมาตั้งแต่กลางปี 2558 ก็เพราะ "ไม่มีเรื่องใหม่" ที่จะเอามาเป็นประเด็นแก้ไขหรือปฏิรูปกันใหม่ หากมีแต่เรื่องเก่าเดิมๆความตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ลองวิพากษ์ เพียง 3 ประเด็น คือเรื่องงบประมาณท้องถิ่นที่ลดน้อยถอยลง เรื่องการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่มีสังกัดเหมือนเจ้าไม่มีศาล เรื่องการยึดอำนาจการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น
          สารพันปัญหาท้องถิ่น
          ที่จริงยังมีเรื่องต่างๆ อีกมากมาย อาทิ เรื่องการจัดการศึกษาปฐมวัยของท้องถิ่น การควบรวม อปท. (ถือเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ท้องถิ่นไทย) การเพิ่มอำนาจเก็บภาษีให้ท้องถิ่นการควบคุมมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมนักการเมืองท้องถิ่นการทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อนในท้องถิ่น การทุจริตการบริหารงานบุคคลและการใช้ระบบอุปถัมภ์ในราชการส่วนท้องถิ่น ขวัญกำลังใจของข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น เมื่อใดจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น อำนาจ อปท. ในการจัดทำบริการสาธารณะที่ลดลง การมีส่วนร่วมของประชาชนลดเมื่อเทียบรัฐธรรมนูญเก่า อยากให้มีการจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นก่อน ทำอย่างไรจึงจะทำให้ท้องถิ่นรองรับภารกิจใหม่ๆ ได้
          หากพิเคราะห์หาต้นตอ ต้นเหตุของปัญหาแล้ว มันจะพันกันไปมาจนหาสาเหตุจับต้นชนปลายไม่ถูก ด้วยความสับสนของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่มีหลากหลายกลุ่ม ที่ต่างมีเป้าประสงค์ของแต่ละฝ่ายที่ไม่ลงตัวกัน ทำให้ฝ่ายที่จะเข้ามาแก้ไขหรือฝ่ายที่เป็นกลางหลงประเด็น นอกจากนี้ กาลเวลาดังกล่าวผ่านล่วงเลยมาเฉยๆ 2-3 ปีแล้ว ตามอายุของ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)" ที่ได้ย่างเข้าปีที่ 4 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา แม้สหรัฐอเมริการับว่าประเทศไทยเหมาะกับการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลกอันดับ1 ติดต่อกันมา 2 ปีแล้ว เช่น ในด้านการท่องเที่ยว การเจริญเติบโต โดยภาพรวมและวัฒนธรรม
          ลองมาดูต่อกันอีกสักหน่อย ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 นี้มีอะไรดีๆ แม้บางอย่างดูออกจะขัดสายตาบ้าง แต่ท้องถิ่นก็ต้องรอ
          ประเทศไทยติดกับดักประชาธิปไตย
          การเกิดความวิตกว่าประเทศไทย "ติดกับดักประชาธิปไตย" "ติดกับดักความขัดแย้ง" และใช้ความรู้สึกในการตัดสินเหล่านี้คือปัญหาที่ต้องแก้ แต่ก็มีผู้แย้งอีกว่า "ติดกับดักรัฐประหาร"ด้วย ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หน.คสช. แนะนำว่าครูต้องสอนให้เด็กกล้าแสดงออก โต้แย้งได้แต่อย่าขัดแย้ง เราจะได้ไม่ติดกับดักประชาธิปไตย เพราะคนไทยคุ้นเคยประชาธิปไตยมาถึงกว่า 80 ปี มีสะดุดบ้างแต่ก็คงไม่ยืดเยื้อ ถ้าทหารปฏิวัติ(รัฐประหาร)อีก แก้ปัญหาผิดทาง ปัญหาอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นอีก ประเทศไทยจะยืนอยู่ในสังคมโลกอย่างไร สาเหตุหนึ่งมีผู้สรุปว่า มีมานับตั้งแต่การตกเป็นเหยื่อของพรรคการเมือง "การมีส่วนร่วมทางการเมือง" ที่ไม่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคม เกิดการ "เชียร์" พรรคการเมือง หรือขั้วฝ่ายการเมือง ทำให้คนไทยตกอยู่ในวังวน และ "ดักดานทางประชาธิปไตย" มาถึงปัจจุบัน ที่วนเวียนกับเรื่องเดิมที่ยังหาทางออกไม่ได้ และยังไม่มีใครบอกได้ว่าเราจะหลุดพ้นกับดักเรื่องนี้กันเมื่อไร จะหลุดพ้นกับดักประชาธิปไตยจอมปลอมนี้ไปได้อย่างไร โดยมีรากเหง้าประเด็นปัญหาที่ใช้ในการถกเถียงกันในทุกเรื่องก็คือ "หลักการประชาธิปไตย" นั่นเอง
          หากดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้แล้ว เชื่อว่าการชะลออยู่คงจะไปอีกนาน การติดกับดักประชาธิปไตยของไทยก็ต้องไปติดกับดักของท้องถิ่นอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ท่าน หน.คสช. รับปากแล้วว่าระยะเวลาจะไม่ยืดเยื้อ
          การกระจายอำนาจหยุดโลกท้องถิ่น
          คือ การถ่ายโอนอำนาจการตัดสินใจ ทรัพยากร และภารกิจ จากภาครัฐส่วนกลางสู่ระดับท้องถิ่น รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถเลือกตั้งผู้แทนของตัวเองเข้าไปบริหารสภาท้องถิ่นได้
          มีผู้ศึกษาว่า ทิศทางการปฏิรูปการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นหลังการรัฐประหาร 2557 พบว่า การกระจายอำนาจที่ผ่านมาของไทยเป็นการกระจายอำนาจตามแนวคิดกระแสหลักที่เน้นความสำคัญของรัฐมาโดยตลอด ส่งผลให้เกิดการปกครองท้องถิ่นแบบรัฐกิจที่เน้นไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รัฐจัดตั้งขึ้น เป็นกลไกหลักในการบริหารงานของท้องถิ่นมากกว่าการเน้นไปที่ประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่น การปกครองท้องถิ่นแบบรัฐกิจดังกล่าวนั้นก่อให้เกิดผลเสียต่อท้องถิ่นและประชาชนในท้องถิ่นอย่างมากทั้งปัญหาการคอร์รัปชันที่เกิดจากวัฏจักรธุรกิจการเมืองท้องถิ่น และปัญหาการถูกทำให้อ่อนแอขึ้นเรื่อยๆ ของประชาชนจากทัศนคติการหวังพึ่งพิงรัฐ หากเป็นเช่นนี้ต่อไปการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นของไทยต้องถึงทางตันในไม่ช้า
          ในประเด็นการกระจายอำนาจนี้พูดกันมานานมาก ตั้งแต่ปี 2540 เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงและพยายามพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตลอด คือ รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง ปัจจุบัน การกระจายอำนาจสู่ประชาชนในระดับท้องถิ่นต้องหยุดชะงักลงอย่างไม่มีกำหนดเมื่อ คสช. ทำการรัฐประหารและออกประกาศหัวหน้า คสช. ที่85/2557 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว และ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว เสมือนอนาคตการกระจายอำนาจท้องถิ่นหลังประกาศ คสช. ได้แช่แข็งการเมืองท้องถิ่นนอกจากนี้หลักการสากลว่าด้วยความจำเป็นในการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ไม่กล่าวชัดเจนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่มีแผนยุทธศาสตร์รองรับ ที่ลดความยืดเยื้อลงได้
          กฎหมายสามฉบับที่ กรธ. อยากได้
          ท่านวิษณุ เครืองาม กล่าวถึงอนาคตเส้นทางการปฏิรูปไทย ที่ต้องทำตามแนวทาง ป.ย.ป. 3 อย่าง คือ การปฏิรูป การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และ การปรองดอง เพราะจุดขายของรัฐธรรมนูญ คือ "หมวดปฏิรูป" และ "ยุทธศาสตร์ชาติ" เป็นภาพฝันที่ คสช. ใช้เป็นจุดขาย แต่การวางกรอบการปฏิรูปไว้กว้างๆ ต้องเริ่มในยุค คสช. นี้ และเพื่อให้เห็นผลในอีก 5 ปีในรัฐบาลหน้า ยุทธศาสตร์ชาติเป็นเครื่องมือใหม่ที่ คสช.จะใช้ควบคุมกิจการรัฐบาลชุดหน้า
          ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 278 ยังพูดถึงกฎหมายอีกสามฉบับที่เป็นประโยชน์มากๆ ที่ต้องเร่งรัดให้ออกให้ได้โดยเร็ว ได้แก่ (1) กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนและการรับฟังความคิดเห็นก่อนการดำเนินโครงการใด ตามมาตรา 58 (2) กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐตามมาตรา 62 และ (3) กฎหมายที่คุ้มครองประชาชนที่ชี้เบาะแสการทุจริตคอร์รัปชัน ตามมาตรา 63
          หากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ให้ดำเนินการร่างทั้งสามฉบับให้เสร็จภายใน 240 วัน และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้ช่วงเวลาที่รัฐบาล คสช. ยังอยู่ในอำนาจก่อนเลือกตั้งใหม่ และที่สำคัญ คือ กำหนดไว้ด้วยว่าหากหน่วยงานใดไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีสั่งให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพ้นจากตำแหน่ง
          รัฐต้องจัดเรียนฟรี 12 ปี จากอนุบาล 1 ถึง ม.3
          การศึกษาไม่เป็น "สิทธิ" แนวทางจัดการศึกษา เปลี่ยนจาก ความรู้คู่คุณธรรม เป็น ความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 54 วรรคสี่ กำหนดไว้ว่า "การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ" มาตรฐานการศึกษา ต้องเรียนตามมาตรฐานสากลเพื่อระบบการทำงาน มีกองทุนผู้ยากไร้ ลดความไม่เท่าเทียมในระบบการศึกษา เป็นต้น
          จะเห็นว่า เรายังมีดีๆ ในรัฐธรรมนูญอีกมาก ที่ท้องถิ่นเราคงต้องอดใจรอ ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น