วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปัดเลือกท้องถิ่น'ป้อม'แค่สมมติ

ปัดเลือกท้องถิ่น'ป้อม'แค่สมมติ
มติชน (กรอบบ่าย)  ฉบับวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๐     

'บิ๊กป้อม'ชี้เลือกตั้งท้องถิ่นแค่สมมุติ
          พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึงกระแสข่าวการเตรียมจัดการเลือกตั้งในท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปว่า ไม่เคยระบุเช่นนั้น เป็นเพียงแค่สมมุติว่าน่าจะมีเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะกฎหมายลูกยังไม่ออก ส่วนจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 หรือไม่นั้น คิดว่าไม่สามารถทำได้ เพราะทุกอย่างต้องรอรัฐธรรมนูญบังคับใช้ หากรัฐธรรมนูญออกก็ต้องว่าไปตามนั้น ส่วนกรณีจะมีการออกกฎหมาย เรื่องการยึดทรัพย์หากมีการซื้อสิทธิขายเสียงเลือกตั้งหรือไม่นั้น ไม่ทราบ เพราะไม่ใช่นักการเมือง ทุกอย่างต้องรอกฎหมายออกมาว่าเป็นอย่างไร รัฐบาลยืนยันว่าจะเดินตามโรดแมปและกฎหมายทุกอย่าง
          เมื่อถามว่ากระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังสงกรานต์ พล.อ.ประวิตรปฏิเสธว่าผู้สื่อข่าวคิดกันไปเอง พร้อมยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ จะปรับครมเป็นเรื่องเลอะเทอะ
          'มีชัย'แจงกฎหมายยังไม่เสร็จ
          นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความเหมาะสมในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ยังจัดไม่ได้ทันที เพราะต้องรอให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 ฉบับ คือ ร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสร็จสิ้นก่อน และยังจะต้องรอแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญที่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของเจ้าหน้าที่ ผู้บริหาร และสมาชิกสภาท้องถิ่นใหม่ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น
          นายมีชัยกล่าวถึงกรณีบุคคลที่ คสช.แต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลง ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ก่อนหน้านี้ เมื่อถึงเวลาการจัดทำ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง และผู้บริหารท้องถิ่น จะมีการกำหนดในบทเฉพาะกาลว่าจะดำเนินการอย่างไรกับบุคคลเหล่านี้ต่อไป ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้นจะต้องสอบถามกับกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ และจะเป็นผู้ยกแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ส่วนที่มีผู้เสนอว่าให้มีการเลือกตั้งโดยยึดกฎหมายเก่าไปก่อน คิดว่ายุ่งยาก เพราะคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญกำหนดมีการเปลี่ยนแปลง เพราะผู้ได้รับการเลือกตั้งอาจจะต้องหลุดออกจากตำแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติอีก
          สมาพันธ์ปลัดดันเทศบาลอำเภอ
          นายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศ กล่าวว่า สมาพันธ์ปลัดเทศบาลฯร่วมกับสมาพันธ์ปลัด อบต.แห่งประเทศไทย มีมตินำเสนอความคิดเห็นแนวทางการปฏิรูปท้องถิ่นเสนอ พล.อ.ศุภวุฒิ อุตะมะ เลขานุการคณะกรรมาธิการปกครองท้องถิ่น สนช. ในการประชุมสัมมนาประจำปี จัดโดยสมาพันธ์ปลัด อบต. ที่โรงแรมแอสบาสเดอร์ซิตี้ จอมเทียน เมืองพัทยา จ.ชลบุรี โดยมีปลัดเทศบาล ปลัด อบต. เข้าร่วมสัมมนากว่า 3,000 คน เพื่อนำเสนอรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในเขตเทศบาลนครและเทศบาลเมือง ให้รวมเป็นเทศบาลระดับอำเภอโดยใช้เขตพื้นที่อำเภอเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.)
          นายศักดิพงศ์กล่าวว่า ได้เสนอแนวทางให้ สนช.ใช้รูปแบบการเลือกตั้งตัวแทนผู้บริหารและสมาชิกกรุงเทพมหานครมาปรับใช้ในการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาเทศบาลระดับอำเภอ โดยสำนักงานเทศบาลตำบลและ อบต.เดิม เป็นหน่วยบริการระดับพื้นที่ เทียบเท่าเขตของ กทม. มีปลัด อปท.เดิมเป็นผู้อำนวยการเขตตำบล จากนั้นปรับบทบาทหน้าที่ อบจ.มีพื้นที่ทับซ้อน ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทอำนาจหน้าที่ใหม่ เช่น เป็นหน่วยงานสนับสนุน ส่งเสริมท้องถิ่น จัดสรรงบประมาณ ติดตามการรายงาน การใช้จ่ายงบประมาณ รายงานรัฐบาลกลาง และประสานแผนพัฒนา ระดับท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัด นอกจากนั้นเสนอให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีระดับอำเภอโดยตรง พร้อมกับนายก อบจ. ให้นายกเทศมนตรีระดับอำเภอ นายกเทศมนตรีเมือง นายกเทศมนตรีนคร เป็นสมาชิกสภา อบจ.โดยตำแหน่ง และรับค่าตอบแทนจากเบี้ยประชุม
          เผยลดจำนวนท้องถิ่นได้80%
          "สำหรับสมาชิกสภาเทศบาลระดับอำเภอมาจากเลือกตัวแทนระดับตำบล จำนวนมากน้อยตามสัดส่วนประชากร อาจให้ฝ่ายปกครองท้องที่โดยเฉพาะกำนันสามารถทำหน้าที่สมาชิกสภาเทศบาลระดับอำเภอ หากในอนาคตมีการปฏิรูปท้องถิ่น ตามรูปแบบที่นำเสนอจะทำให้มี อบจ. 76 แห่ง เทศบาลระดับอำเภอ 878 แห่ง เทศบาลเมือง 176 แห่ง และเทศบาลนคร 30 แห่ง รวม อปท.จะคงเหลือ 1,160 แห่ง ลดจำนวนท้องถิ่นจากเดิม 7,853 แห่ง ลดลง 6,691 แห่ง ทำให้ประหยัดค่าใช้ประจำเป็นค่าตอบแทนผู้บริหาร สมาชิกเดือนละ 1,000 ล้านบาท ปีละ 12,000 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าสวัสดิการด้านอื่นๆ ลดความเหลื่อมล้ำในการบริการประชาชน ประชาชนสามารถได้รับบริการดีขึ้น เพราะงบพัฒนาเพิ่มขึ้น สำหรับนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด มีหน้าที่ในการกำกับดูแลเหมือนเดิม ส่วนข้อกังวลในพื้นที่อำเภอชายแดน เกรงจะมีปัญหาด้านความมั่นคงนั้น อาจปรับเป็นเทศบาลระดับอำเภอ มีนายกเทศมนตรีมาจากคัดสรร หรือโดยตำแหน่ง การปฏิรูปตามแนวทางนี้จะทำให้ลดจำนวนท้องถิ่นลงเกือบ 80% อีกทั้งกำกับดูแลง่าย เทศบาลระดับอำเภอ สามารถพัฒนาเป็นเทศบาลเมืองหรือนครได้ในอนาคต ส่วนเทศบาลนครเดิมสามารถพัฒนาเป็นเมืองรูปแบบพิเศษได้" นายศักดิพงศ์กล่าว
          นายศักดิพงศ์กล่าวว่า ส่วนกรณีการส่งสัญญาณอาจให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนนั้น ควรปรับรูปแบบท้องถิ่นเสียก่อน หรือนำร่องเลือกตั้งท้องถิ่นในพื้นที่เทศบาลเมือง เทศบาลนคร หมดวาระไปแล้ว เนื่องจากไม่อยู่ในเงื่อนไขข้อเสนอควบรวม อบต.และเทศบาลขนาดเล็ก ตามรูปแบบที่นำเสนอ จึงไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด แต่หากจะเลือกตั้ง อบต. เทศบาลขนาดเล็กด้วย จะเป็นเงื่อนไขของฝ่ายการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปใช้เป็นข้ออ้างเพื่อคงสถานภาพเดิมต่อไป
          อดีตนายกประจวบฯทวงตำแหน่ง
          นายเกรียงไกร ไกรทอง หัวหน้าทีมพลังบ้านเกิด อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า หลัง คสช.ใช้มาตรา 44 มีคำสั่งแขวนโดยให้ตนยุติการทำงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 ต่อมานายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) นำนายกเทศมนตรี 8 รายที่ถูกแขวนเข้าพบ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเมื่อปี 2559 ได้รับการยืนยันว่าการสอบสวนข้อเท็จจริงจากข้อกล่าวหามีข้อยุติ แต่ถึงปัจจุบันยังไม่มีการคืนตำแหน่งให้กลับไปทำหน้าที่ตามปกติ ส่วนแนวทางการเลือกตั้งใหม่หลังจากผู้บริหารและสมาชิกท้องถิ่นหมดวาระ รัฐบาลควรตัดสินใจดำเนินการตามความเหมาะสม และหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ถ้าไม่มีข้อห้ามหรือเงื่อนไขใดๆ สำหรับผู้บริหารที่ถูกพักงาน ตนพร้อมสมัครรับเลือกตั้งแข่งขันในตำแหน่งเดิมเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจตามนโยบายที่ประกาศ หลังจากก่อนหน้านี้ทำหน้าที่ได้ไม่นาน ล่าสุดหาก คสช.ไม่คืนตำแหน่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการตัดสินใจเพื่อยื่นใบลาออก จะมีผลทำให้รองนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษา พ้นจากตำแหน่งทันที เพื่อไม่ให้ทีมพลังบ้านเกิดตนเป็นผู้ก่อตั้งเพื่อทำงานรับใช้ประชาชนเสื่อมเสียชื่อเสียงไปมากกว่านี้
          นายกบ่อนอกขอทหารคุมเลือกตั้ง
          นายอำนาจ สูงยิ่ง นายก อบต.บ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า พร้อมลงสมัครรับเลือกตั้งทันที หลังจากรักษาการตั้งเดือนสิงหาคม โดยปรับเปลี่ยนให้อำนาจของผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น แยกออกจากกันอย่างชัดเจนตามเจตนารมณ์ของกฎหมายตั้งแต่ปี 2546 เพื่อให้ผู้บริหารถูกตรวจสอบจากฝ่ายสภาเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่ที่ผ่านมากฎหมายกำหนดให้เลือกนายก อบต.โดยตรง แต่ผู้สมัครนายกเป็นนายทุนหาเสียงให้ผู้สมัคร ส.อบต. ในฐานะหัวคะแนนในหมู่บ้าน นอกจากนั้นขอให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาคุมการเลือกตั้งแทน กกต. เพื่อปราบการทุจริต การซื้อเสียง เนื่องจากการทำหน้าที่ของ กกต.ฝ่ายสืบสวนสอบสวนไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ควรกำหนดให้ปลัดท้องถิ่นทำหน้าที่ ผอ.การเลือกตั้ง อปท.แบบเก่า
          กกต.พร้อมจัดเลือกตั้งทุกระดับ
          นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อยากให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนเลือกตั้งระดับชาติว่า กกต.ได้เตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งทุกระดับอยู่แล้ว เนื่องจากมีประสบการณ์ในการจัดการเลือกตั้งมาเกือบ 19 ปีแล้ว ย่อมมีความชำนาญ ในการจัดการเลือกตั้ง กกต.มีวัสดุและอุปกรณ์ในการจัดการเลือกตั้งต่างๆ พร้อม แต่มีบางอย่างเป็นวัสดุสิ้นเปลืองก็ต้องซื้อใหม่ อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฉบับใหม่ได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้ง ภายใต้การควบคุมดูแลของ กกต.
          'มีชัย'หาลู่ทางตรวจสอบป.ป.ช.
          ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดโครงการสัมมนาเรื่องการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวเปิดโครงการว่า กฎหมายว่าด้วย ป.ป.ช. มีความสำคัญสูงสุด เกือบเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ช่วยทำตามวัตถุประสงค์การป้องกันการทุจริต ปัญหาของ ป.ป.ช.ในอดีต ทำงานโดยระบบคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน ไม่ใช่กระบวนการที่ดีที่สุด รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้ กรรมการมีอำนาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นได้ เพื่อไม่ต้องตั้งอนุกรรมการ
          นายมีชัยกล่าวว่า กฎหมายลูก ป.ป.ช.จึงตัดสิ่งพะรุงพะรังออกไป ให้มุ่งไปที่ทุจริต ส่วนการประพฤติมิชอบให้เป็นส่วนราชการดูแลกันเอง ภายใต้การกำกับของ ป.ป.ช. พร้อมทั้งสร้างกระบวนการไต่สวนให้รวดเร็ว มีกรอบเวลาแล้วเสร็จ ไม่ปล่อยให้ไปหมดอายุความที่อัยการ พร้อมทั้งกลไกควบคุมเจ้าหน้าที่ หากสงสัยในความสุจริตให้เอาออกจากงานก่อน จุดสำคัญคือ ป.ป.ช.ตรวจสอบหน่วยงานของรัฐและองค์กรอิสระทั้งหมด กรธ.จึงกำลังหาลู่ทางว่าแล้วใครจะมาตรวจสอบ ป.ป.ช.หากเจ้าหน้าที่ไม่สุจริต สำหรับกลไกลงโทษข้าราชการ ใช้กันครึ่งๆ กลางๆ ก็ต้องหาจุดพอดี หลายหน่วยงานลงโทษตามคำสั่ง ป.ป.ช.ด้วยความอึดอัด เพราะเชื่อว่าไม่ผิด บางทีก็ไปฟ้องศาลปกครอง
          'บิ๊กกุ้ย'รุกขอเพิ่มดาบปปช.
          ทั้งนี้ ในการเสนอความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. และ พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ อดีต ส.ว.สรรหา ร่วมอภิปราย เริ่มจาก พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า การไต่สวน ป.ป.ช.เสนอในร่างกฎหมายลูกกำหนดเวลาไว้ 2 ปี เพื่อให้มีความเป็นไปได้ในการทำงาน ส่วนคดีอาญาข้ามชาติต้องใช้ความร่วมมือจากต่างประเทศอาจขยายระยะเวลาได้ การทำงานมีทั้งกระจายอำนาจ และมอบอำนาจ ให้เจ้าหน้าที่แต่ละพื้นที่ ส่วนเรื่องความรวดเร็ว ก็มีศาลทุจริตคอยดูแล เชื่อว่าจะทำให้เกิดความเกรงกลัว ในอนาคตคดีจะลดลง แล้วเพื่อประสิทธิภาพจึงเสนอกฎหมายเพิ่มอำนาจสืบสวนสอบสวนแบบพิเศษ เหมือนการปราบอาชญากรรมข้ามชาติ และให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี
          พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ป.ป.ช.ยังได้ขอเพิ่มอำนาจในการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการเงิน ขอขยายเวลาอายัดทรัพย์สินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคดีระหว่างประเทศ เส้นทางการเงินจะเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาคดี แล้วติดตามทรัพย์สินให้คืนสู่รัฐให้ได้มากที่สุด สำหรับการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ป.ป.ช.เสนอให้กรรมการ ป.ป.ช.กำหนด ให้ผู้ต้องรายงานที่มีข้อมูล ต้องรายงานเป็นพิเศษ สำหรับสำนักงานจังหวัดก็จะเป็นจุดสำคัญ ไม่ใช่แค่ปราบปราม แต่หมายถึงการป้องกันด้วย สงครามการทุจริตจะชนะด้วยการป้องกัน หลายเรื่องที่มองว่า ป.ป.ช.ช้า ก็เพราะต้องคำนึงถึงการกระทบสิทธิผู้อื่น ป.ป.ช.ทำงานอย่างมืออาชีพ ไม่ได้ทำงานให้เป็นข่าว  หากสเปกมีปัญหาพร้อมออก
          พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวถึงคุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระ ตามร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับผ่านประชามติ ทำให้ตัวเองเข้าข่ายพ้นจากตำแหน่งว่า ป.ป.ช.เสนอกฎหมายลูกให้ กรธ.พิจารณา มีเนื้อหาคุ้มครองให้กรรมการ ป.ป.ช.อยู่ในตำแหน่งต่อไป เป็นการทำตามหน้าที่ ขึ้นอยู่กับ กรธ.และ สนช.จะพิจารณาว่าจะเห็นด้วยกับร่างกฎหมายลูกที่ ป.ป.ช.เสนอหรือไม่ รัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ กำหนดคุณสมบัติกรรมการ ป.ป.ช. ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา การพิจารณาคุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระก็ต้องขึ้นอยู่กับกรรมการสรรหา
          "ผมเข้ามาทำงานตามกฎหมาย เมื่อกรรมการสรรหาเห็นเป็นอย่างไร ผมก็พร้อมทำตาม" ประธาน ป.ป.ช.กล่าว
          'วิชา'แนะกระชับเป็นระดับภาค
          นายวิชากล่าวว่า ร่างกฎหมายที่ ป.ป.ช.เสนอให้กำหนดเวลา การแสวงหาข้อเท็จจริงให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน และการไต่สวนให้เสร็จภายใน 2 ปี แล้วสามารถเพิ่มเวลาได้ รวม 2 ปีครึ่ง ถือว่าล่าช้า คงไม่ตรงความต้องการของประชาชน ส่วนคณะกรรมการต้องเปิดเผยโปร่งใสตรวจสอบได้ กระบวนการสรรหา ป.ป.ช.สำคัญที่สุด การปล่อยให้คดีทุจริตหมดอายุความจะต้องไม่มี สำหรับขนาดองค์กรต้องกระชับ ข้อท้วงติงเรื่องหน่วยงานต่างจังหวัด ตนเห็นด้วยว่าต้องตัดให้กระชับลง เหลือไม่มากเป็นระดับภาค ไม่ใช่แพร่กระจายไปทุกที่ แต่การทำงานต้องมีประสิทธิภาพ
          'อภิสิทธิ์'ติง4จุดอ่อนกม.ปปช.
          นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สนับสนุนประเด็น กรธ.พยายามแก้ปัญหาขั้นตอนมากเกินไปและต้องการลดงานของ ป.ป.ช. แต่อยากเสนอให้แยกประเภทเรื่องร้องเรียน เช่น หากเป็นนักการเมืองก็ใช้ระบบให้กรรมการ ป.ป.ช.ดูแลสำนวนด้วยตัวเอง นอกจากนี้สิ่งที่เป็นห่วงในร่างกฎหมายนี้คือ 1.เดิมเวลาคนร้องเรียนเรื่องการทุจริตไม่ต้องเปิดเผยชื่อ แต่กฎหมายใหม่บอกว่าการกล่าวหาใครต้องหนังสือพิมพ์มติชนรายวันเซ็นชื่อระบุว่าผู้กล่าวหาคือใคร ปัจจุบันมีคนจำนวนมากทราบเรื่องการทุจริตแต่ไม่กล้าร้องเรียน เพราะกลัวว่าจะรู้ว่าใครเป็นคนร้อง จะถูกคนทุจริตมีอำนาจเล่นงาน สุดท้ายจะทำให้การปราบปรามการทุจริตทำได้ยากขึ้น 2.มีการขยายอำนาจ ป.ป.ช.มากเกินไป ป.ป.ช.ไม่ควรมีลักษณะเหมือนตำรวจ ทหาร และนึกไม่ออกว่าทำไม ป.ป.ช.ต้องมีอาวุธยุทโธปกรณ์อยู่ด้วย 3.เรื่องกองทุน ป.ป.ช.บูรณาการงบประมาณด้านการปราบปรามการทุจริตของรัฐบาล มีข้อห่วงใยว่าจะเกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความเกรงใจ ผลประโยชน์ขัดกัน หรือสร้างความเป็นเครือข่ายขึ้นมา และ 4.อยากให้กระบวนการปราบปรามการทุจริตสามารถใช้ประโยชน์จากภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น และให้ประชาชนสามารถร้องเกี่ยวกับการทุจริตได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น