วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2560

บทความพิเศษ: ความเข้าใจผิด และ ข้อสังเกตเกี่ยวกับค่าขยะราคาใหม่ 150 บาท

ความเข้าใจผิด และ ข้อสังเกต เกี่ยวกับค่าขยะใหม่ 150 บาท (1)

เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวตามสื่อมวลชนหลายแขนงเกี่ยวกับค่าขยะที่กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศ ออกมาบังคับใช้ใหม่ ว่าจะเก็บถึงเดือนละ 150 บาทต่อบ้าน และหากชาวบ้านปฏิเสธการจ่ายก็จะถูกดำเนินคดีไปจนถึงจำคุก จากนั้นก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อมาว่าค่าขยะใหม่นี้แพงเกินไป และบทลงโทษก็รุนแรงเกินไปเพราะการไม่ชำระค่าขยะนี้มิใช่การก่ออาชญากรรมรุนแรงใดๆ เหตุไฉนจึงต้องถึงกับมีการจำคุกกัน ตรงนี้เข้าใจว่าสังคมยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันอยู่บ้างในบางประเด็น ผู้เขียนจึงขออธิบายให้ฟังถึงความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมทั้งขอถือโอกาสนี้ให้ข้อสังเกตอื่นๆไปพร้อมกัน
ข้อหนึ่ง หลักคิดตั้งต้น หลักคิดของการประกาศเก็บค่าขยะใหม่ให้สูงกว่าเดิมเป็นเพราะเดิมเก็บถูกเกินไป ถูกชนิดที่เรียกว่าทำไปขาดทุนไป และยิ่งทำมากก็ยิ่งขาดทุนมาก ดังนั้น เมื่อทำแล้วขาดทุนเทศบาลเจ้าของพื้นที่ก็ไม่สนใจที่จะทำให้ดี เพราะไม่รู้จะทำไปทำไม จะเก็บให้แพงขึ้นหรือก็มีเสียงต่อต้านจากความเคยชินและความเคยตัวของประชาชน เทศบาลต่างๆจึงมิกล้าขึ้นค่าขยะเพราะจะกลายเป็นประเด็นการเมืองท้องถิ่นไป เทศบาลทุกเทศบาลจึงพร้อมใจกันหันหน้ามายังรัฐบาลส่วนกลาง ขอให้ออกกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ ให้สามารถเก็บแพงขึ้นได้ แล้วเขาจะได้เอาเกณฑ์นี้เป็นสิ่งที่ไว้อ้างอิงพิงหลัง และบอกกับประชาชนเพื่อขอเก็บค่าขยะเพิ่มขึ้น
ข้อสอง แพงกว่า 150 บาท ค่าขยะใหม่ที่ว่านั้นไม่ใช่เพียง 150 บาทต่อบ้าน แต่เป็น 150+200 หรือ 350 บาทต่อบ้านต่อเดือน ตัวเลขแรกเป็นค่าเก็บขยะและค่าขนขยะไปให้พ้นบ้านชาวบ้าน แต่เมื่อขนไปแล้วก็ต้องเอาไปกำจัดต่อ ค่ากำจัดนี้อีก 200 บาท จึงรวมเป็น 350 บาทต่อบ้านต่อเดือน มิใช่ 150 บาทดังที่หลายคนเข้าใจไปตามที่สื่อหลายสำนักได้นำเสนอไว้
ข้อสาม อัตราสูงสุด เพียงแค่ 150 บาทต่อบ้านต่อเดือนก็บ่นกันระนาวแล้ว หากเก็บมากถึง 350 บาทเทศบาลจะมิเผชิญกับแรงต้านอย่างมหาศาลหรือ คำอธิบายคือ อัตราค่าขยะ 350 บาทในประกาศฯนั้นเป็นอัตราค่าบริการสูงสุดที่ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดเก็บได้ แต่การจัดเก็บจริงเชื่อว่าจะยังไม่ถึงขึ้นนั้น ซึ่งทางการจะประกาศเก็บไม่แพงนักในขั้นต้น และทยอยเพิ่มค่าขยะให้สมเหตุสมผลกับค่าใช้จ่ายจริงในภายหลัง เป็นเท่าไหร่เดี๋ยวจะเอาข้อมูลมาแจกแจงให้ดู (อยู่ในข้อหก)
ข้อสี่ คุ้มหรือไม่คุ้ม สมมุติว่าถ้าช่วงแรกนี้เทศบาลจะเก็บเพิ่มเป็น 120 บาทต่อบ้านต่อเดือน แทนที่จะเก็บกันเพียง 20-40 บาทต่อบ้านต่อเดือนอย่างที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน แล้วเรายังเห็นว่าแพงอยู่ดีหรือไม่ สำหรับประเด็นนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่าเราไม่ควรมองปัญหาและการแก้ไขปัญหานี้ในลักษณะว่าแพงหรือไม่แพง แต่ควรมองในแง่มุมที่ว่าคุ้มหรือไม่คุ้มมากกว่า เพราะหากเราเลือกที่จะจ่ายน้อยในวันนี้ แต่ภายหลังพบว่ามีสารพิษละลายจากกองขยะซึมลงไปในบ่อบาดาล แหล่งน้ำกินเกิดเน่าเสีย เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้กองขยะ(ที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งและเดือดร้อนกันไปทั่ว เช่นที่แพรกษา จ.สมุทรปราการเมื่อ 2-3 ปีก่อน เมื่อเร็วๆนี้ก็เกิดที่ขอนแก่นและสามโคก ปทุมธานี) มีมลพิษอากาศระบายออกมาทำให้อากาศปนเปื้อนและฝนจะชะเอาสารพิษนี้กลับมาสู่คูคลองที่เป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ให้เรา กุ้งหอยปูปลาที่อยู่ในน้ำนั้นก็จะมีสารพิษปนเปื้อน กินไปแล้วอาจเป็นมะเร็งตามมา เราก็จะต้องจ่ายค่าฟื้นฟูแหล่งน้ำ ค่ากรองน้ำประปา ฯลฯ แพงขึ้นในวันหลัง และความแพงที่ว่านี้จะแพงขึ้นอย่างมากมายมหาศาลจนน่าตกใจเสียด้วยซ้ำ
ถ้ารู้แบบนี้ก็ลองตรองดูเองแล้วกันว่าจะจ่ายตอนนี้หรือจะจ่ายภายหลัง และแบบไหนคุ้มกว่ากัน
ข้อห้า ค่าโทรมือถือ เอาละ บางคนอาจยังมองไม่เห็น และเลือกที่จะจ่ายถูกในตอนนี้โดยยังยืนยันว่าค่าขยะใหม่ที่จะเก็บนี้ (ซึ่งเป็นเท่าไหร่ยังไม่รู้เพราะตัวเลขจะแปรผันไปตามอปท.ที่ตัวเองอยู่ ว่าจะกำหนดเป็นเท่าใด) แพงเกินไป ตรงนี้อยากชวนให้คิดว่าการถูกแพงนั้นบางครั้งเราก็ไม่มีเหตุผลรองรับมากนักสักเท่าไร เช่น เปรียบเทียบกับค่าโทรศัพท์มือถือก็ได้ ว่าในแต่ละเดือนเราจ่ายกันไปคนละเท่าไร จากการสอบถามมาหลายคนพบว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 200-800 บาทต่อหมายเลขต่อเดือน เอามาเฉลี่ยต่ออีกทีสมมติให้เป็น 400 บาทต่อหมายเลขต่อเดือน และสมมติว่าแต่ละคนมีหมายเลขเดียว รวมทั้งแต่ละบ้านมีคนอยู่เฉลี่ย 2.5 คนต่อบ้าน นั่นคือแต่ละบ้านจะจ่ายค่าโทรศัพท์มือถือ 2.5 x 400 =1,000 บาทต่อบ้านต่อเดือน และที่ต้องคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อบ้านเพราะค่าขยะเขาจะเก็บเป็นราคาต่อบ้าน(ไม่ใช่ต่อคน) ตัวเลขนี้จึงจะเอามาเปรียบเทียบกันได้
สมมติว่าในช่วงเริ่มต้นเทศบาลหรืออปท.จะเริ่มจัดเก็บค่าขยะรวมค่าเก็บขนและค่ากำจัดเพิ่มเป็น 120 บาทต่อบ้านต่อเดือน ซึ่งน้อยกว่าค่าโทรศัพท์เท่ากับ 1000÷120 หรือประมาณ 8 เท่า และตกประมาณเพียงบ้านละ 120÷30 = 4 บาทต่อวัน หรือเป็นค่าใช้จ่ายเพียงแค่ไม่ถึง 2 บาทต่อคนต่อวัน ถ้ารู้แล้วว่าข้อมูลเป็นแบบนี้และในยุคที่เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ที่ใกล้ตัวเข้ามาทุกทีแล้วนี้ เรายังคิดว่าค่าขยะใหม่ที่จะเก็บนี้ยังแพงอยู่อีกหรือไม่ และคิดว่าคุ้มค่ากับประโยชน์ที่ตัวเองได้รับหรือไม่ เมื่อเทียบกับค่าความบันเทิง หรืออาจมีทำงานบ้าง ที่ได้จากการเสพผ่านมือถือ ในราคาที่แพงเป็น 8 เท่านี้ เรื่องแบบนี้ก็คงต้องช่วยกันพิจารณาในฐานะที่เราเป็นพลเมืองของประเทศที่นอกจากจะมีสิทธิ์แล้วต้องมีหน้าที่ประกอบควบคู่กันไปด้วย
เรื่องค่าขยะนี้หากเป็นหนังก็คงเป็นหนังยาวหลายตอนเพราะมีประเด็นที่ต้องกล่าวถึงอีกมาก ในตอนที่ 2 และที่ 3 ที่จะพูดต่อไปเราจะแจงแจงให้เห็นถึงเรื่องค่าใช้จ่ายจริงหรือต้นทุนในการจัดการขยะว่าเป็นเท่าใด และโอกาสที่ชาวบ้านอาจถูกทั้งจำทั้งปรับว่ามีโอกาสมากน้อยเพียงไร
------------------------
บทความพิเศษ: ความเข้าใจผิด และ ข้อสังเกตเกี่ยวกับค่าขยะราคาใหม่ 150 บาท (2) 

กรุงเทพธุรกิจ  ฉบับวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๐

          ในบทความตอนแรกเราได้พูดถึงหลักคิดและความคุ้มของการจ่ายค่าขยะแพงขึ้น ในครั้งนี้เราจะได้วิเคราะห์เพิ่มเติมในเรื่องต้นทุนที่แท้จริง การจำ การปรับ และค่าขยะที่เป็นธรรมดังนี้
          ข้อหก ต้นทุนจริง ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นมีอยู่หลายตอนที่ใช้ตัวเลขสมมติซึ่งก่อให้เกิดความคลางแคลงสงสัยได้ว่าอาจไม่จริง ถ้าเช่นนั้นลองมาดูตัวเลขจริงกัน จากการเก็บข้อมูลมาเป็นเวลาหลายปีของหลายหน่วยงานพบว่าค่าใช้จ่ายที่ควรต้องจ่ายจริง (real cost) ในการเก็บและขนขยะออกไปยังสถานที่กำจัดขยะ ไม่ว่าจะเป็นหลุมฝังกลบ หรือเตาเผา หรือเอาไปทำเป็นแท่งเชื้อเพลิง RDF หรือแม้กระทั่งเพียงเอาไปเทกองทิ้งไว้เฉยๆก็ตาม ขึ้นอยู่กับระยะทางที่ต้องขนไป หากเป็นอปท.เล็กค่าขนก็ไม่แพงนักเพราะสามารถหาสถานที่กำจัดขยะได้ไม่ยากด้วยมีพื้นที่ว่างไม่ไกลชุมชนอยู่มากพอ ถ้าเป็นเมืองใหญ่เช่นเมืองอุบลราชธานีหรือเชียงใหม่ แบบนี้ค่าขนขยะก็จะแพงกว่าที่อื่น ตัวเลขที่เป็นค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจริงตกอยู่ประมาณ 650 ถึง 1,300 บาทต่อตัน หรือเฉลี่ยประมาณ 850 บาทต่อตัน
          เมื่อไปถึงสถานที่กำจัด ก็ต้องกำจัดต่อให้ถูกต้องตามวิธีทางเทคนิคต่ออีก (หมายเหตุ: ที่อปท.ทำกันอยู่ในปัจจุบันทำกันผิดหลักแทบทั้งสิ้น ส่วนใหญ่ทำเพียงขนไปให้พ้นหูพ้นตาชาวบ้าน และนำไปเททิ้งที่กองขยะหรือหลุมขยะในลักษณะที่ทางการเขาเรียกว่า เทกอง ซึ่งหลุมขยะแบบเทกองนี้ก่อให้เกิดปัญหาได้มากมาย เมื่อเร็วๆนี้ก็เห็นผลกระทบได้ชัดเจนเมื่อมีน้ำท่วมไปท่วมบ่อขยะของเทศบาลนครศรีธรรมราชที่ตกเป็นข่าวใหญ่โต) ซึ่งวิธีกำจัดขยะพวกนี้จะแพงมากแพงน้อยขึ้นกับวิธีการที่ใช้และระดับความระมัดระวังในการป้องกันไม่ให้สิ่งแวดล้อมปนเปื้อน แต่โดยรวมแล้วตกอยู่ประมาณ 315 ถึง 1,500 บาทต่อตัน ซึ่งเมื่อรวมงานทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันต้นทุนของเทศบาลจะตกอยู่ประมาณ (850+315) = 1,165 ถึง (850+1,500) = 2,350 บาทต่อตัน (ที่มา: ร่างคู่มือแนวทางปฏิบัติในการจัดการขยะในเขตพื้นที่อปท. 2559)
          แต่ราคาสูงสุดที่จะจัดเก็บค่าขยะ (ใหม่) ได้ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 15 มกราคม 2560 ออกตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ 2560 ของกระทรวงมหาดไทย กำหนดไว้เป็น 150 (ค่าเก็บ+ค่าขน) + 200 (ค่ากำจัด) หรือรวมแล้วได้เป็น 350 บาทต่อบ้านต่อเดือน ราคานี้เขาเทียบกับปริมาณขยะ 120 กิโลกรัมที่ออกมาจากต่อบ้านต่อเดือน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเขาเรียกขยะ 120 กิโลกรัมนี้ว่าหนึ่งหน่วยขยะ (ส่วนบ้านเราจะทิ้งออกมาเท่านี้หรือน้อยกว่านี้ เดี๋ยวจะเอามาวิเคราะห์ต่อให้ฟัง, ดูข้อเก้า) นั่นคือเทียบเท่ากับ (1000?120) x 350 หรือเกือบ 3,000 บาทต่อตันขยะ ซึ่งเห็นได้ว่าค่าขยะสูงสุดที่จะจัดเก็บจากประชาชนแพงกว่าต้นทุนที่อปท.ต้องจ่ายออกอยู่มากทีเดียว แต่ต้องขอย้ำอีกครั้งว่านั่นเป็นอัตราสูงสุดที่จะเก็บได้ตามกฎหมาย ส่วนจะเก็บจริงเท่าไรนั้นเป็นอีกเรื่อง ซึ่งมหาดไทยเองก็กำลังจะประกาศค่าขยะใหม่นี้ออกมาในเร็วๆนี้ว่าต่ำสุดจะเก็บเท่าไร และมากสุดเท่าไร ทั้งนี้ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าอัตรานี้ควรแปรผันไปตามสภาพของท้องถิ่นที่แตกต่างกันออกไปด้วย เพราะบริบทมันต่างกันและต้นทุนก็ต่างกัน
          ข้อเจ็ด คิดเผื่ออนาคต ผู้เขียนชี้ให้เห็นแล้วว่าหากเก็บค่าขยะใหม่ตามอัตราสูงสุดหรือ 350 บาทต่อบ้านต่อเดือน อปท.จะมีกำไรมากทีเดียว และคงมีบางคนที่จะแย้งว่าการเก็บขยะและกำจัดขยะนี้เป็นกิจการบริการสาธารณะอันไม่ควรมุ่งสร้างกำไร ข้อนี้ผู้เขียนเห็นด้วยเต็มร้อย แต่มีข้อสังเกตต่อไปว่านอกจากอปท.จะไม่เก็บในอัตราสูงสุดในภาวะปัจจุบันหรือในช่วงแรกอย่างที่กล่าวไว้แล้วหลายครั้ง เราต้องตระหนักด้วยว่าการแก้ไขกฎหมายบ้านเรานั้นยากเสียยิ่งกว่ายาก ยิ่งเป็นการแก้กฎหมายที่ไม่ใช่ประชานิยมก็จะยิ่งยากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ ไปจนถึงแก้ไม่ได้เอาเลยทีเดียว ผู้เขียนจึงเห็นสมควรแล้วที่จะกำหนดอัตราสูงสุดไว้ให้มากไว้ก่อน ให้เกินกว่าค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนจริงในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้อัตราสูงสุดนี้สามารถใช้งานได้จริงในอนาคตอีกหลายสิบปี แล้วเราค่อยมาใช้ระบบบริหารเพื่อจัดการการเก็บค่าขยะให้ต่ำกว่าค่าอัตราสูงสุดนี้ รวมทั้งให้เป็นธรรมทั้งต่อประชาชน ต่อรัฐ และต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในสำนึกของผู้เขียน เราเห็นว่าเรื่องสุดท้ายนี่แหละที่สำคัญที่สุด
          ข้อแปด ทั้งจำทั้งปรับ สิ่งที่ประชาชนน่าจะกังวลมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องอาจถูกจับไปจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรืออาจถูกปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับหากไม่ทำตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ฉบับนี้ เรื่องสำคัญแบบนี้จึงต้องมาดูในรายละเอียดกัน ในพ.ร.บ.เขาบอกว่า ข้อ (1) ในมาตรา 34/3 ของพ.ร.บ.ที่อ้างถึงไว้ในตอนแรกๆ กำหนดหลักเกณฑ์การจัดให้มีที่รองรับสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย (ก็คือขยะนั่นแหละ) ในสถานที่เอกชน ที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปได้ อ่านดูรายละเอียดของข้อความแล้วเห็นได้ว่าเป็นเรื่องการทำธุรกิจของเอกชนที่จะให้บริการแก่ประชาชน ข้อนี้จึงไม่เกี่ยวกับชาวบ้าน แต่ข้อที่น่ากังวลอยู่ที่ข้อ (5) ที่มีข้อความว่า กำหนดการอื่นใดที่จำเป็นเกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย เพื่อให้ถูกต้องด้วยสุขลักษณะ อันนี้คลุมเครือและครอบจักรวาลไปนิด แต่ด้วยวลีต่อท้ายที่บ่งว่า เพื่อให้ถูกต้องด้วยสุขลักษณะ ผู้เขียนจึงเห็นว่าถ้าเช่นนั้นก็ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล เพราะถ้าไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกสุขลักษณะข้อกำหนดหรือกำหนดการอื่นใดของท้องถิ่นนี้ก็ออกไม่ได้ ส่วนถ้ามันถูกต้องและถูกสุขลักษณะเพื่อประโยชน์แก่ตัวเรา ต่อสังคม ต่อรัฐ ต่อประเทศ ต่อสิ่งแวดล้อม มันก็เป็นเรื่องที่สมควรต้องทำอยู่ด้วยประการทั้งปวง มิใช่หรือ
          ข้อเก้า ค่าขยะที่ไม่ยุติธรรม จากข้อห้าที่บอกว่าประกาศกระทรวงฉบับนี้เขากำหนดอัตราค่าบริการด้านขยะของแต่ละบ้านเรือนไว้รวมทั้งหมดสูงสุดที่ 350 บาทต่อบ้านต่อเดือน (อีกครั้งนะคะ (ครับ) ที่ต้องบอกว่านั่นเป็นอัตราสูงสุดที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย แต่เก็บจริงจะต่ำกว่าอัตราสูงสุดเป็นเท่าไรนั้นต้องรอดูกันต่อไป, ดูข้อสิบ) โดยคิดเทียบกับปริมาณขยะหนึ่งหน่วยหรือ 120 กิโลกรัมที่แต่ละบ้านทิ้งออกมาในแต่ละเดือน ปัญหาที่ต้องช่วยกันพิจารณาคือ แล้วเราทิ้งออกมามากเท่ากับ 120 กก.ต่อเดือนนี้หรือไม่ เรามาลองคำนวณตัวเลขกันดู สมมุติบ้านเรามีคนเพียง 2 คน และผลิตขยะออกมา 0.75 กก.ต่อวัน (ตัวเลขปกติประมาณนี้) นั่นคือบ้านเราจะผลิตขยะออกมาเพียง 2x0.75x30 = 45 กก.ต่อเดือนเท่านั้น แล้วใยเราจึงต้องจ่ายค่าขยะเท่ากับที่ทางการกำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 120 กก.ต่อเดือน ที่หากเราจะทิ้งออกมามากเท่านี้เราต้องใช้เวลานานถึง 120?45 = 2.7 เดือน
          อันนี้สิไม่เป็นธรรมกับเรา และต้องร้องเรียนขอความเป็นธรรม โดยเก็บให้ตรงกับปริมาณขยะที่เราทิ้งออกมาในแต่ละเดือน ซึ่งราคาต้องถูกกว่านี้
          (โปรดติดตามในตอนที่ 3 ต่อไป)
          'บางคนอาจจะแย้งว่าการเก็บขยะและกำจัดขยะเป็นบริการสาธารณะอันไม่ควรมุ่งสร้างกำไร'

ดนยภรณ์ พรรณสวัสดิ์
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น