วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

บทความพิเศษ: เมื่อ ป.ป.ช.เสนอเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล

บทความพิเศษ: เมื่อ ป.ป.ช.เสนอเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล 

ไทยโพสต์  ฉบับที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๙

          ถวิล ไพรสณฑ์
          คณะ รัฐมนตรีได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 รับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามที่ ป.ป.ช.เสนอ ซึ่งมีหลายประเด็น
          และได้มอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทยที่ทำหน้าที่กำกับ ดูแล อปท. ไปพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของมาตรการดังกล่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ และจะต้องแก้ไขกฎหมายหรือไม่ แล้วรายงานให้ ครม.ทราบอีกครั้ง
          ผมต้องเริ่มต้นยืนยันว่า อปท.เป็นหน่วยงานเดียวที่ประชาชนเลือกตั้งคนในท้องถิ่น ทั้งฝ่ายสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งรู้ปัญหาท้องถิ่น ใกล้ชิดกับประชาชน ประชาชนมีส่วนร่วมได้มากกว่าองค์กรของรัฐอื่นๆ แก้ปัญหาได้ถูกจุดมากกว่าหน่วยงานส่วนกลาง และทันต่อความต้องการของประชาชน อันเนื่องจากมีขั้นตอนการทำงานที่สนองต่อความต้องการของประชาชนน้อยไม่ เหมือนหน่วยงานภูมิภาคหรือส่วนกลาง ที่รวมศูนย์อยู่ที่ กทม.
          ที่ จริงเรื่องคอร์รัปชันในหน่วยงานของรัฐนั้น มีทุกหน่วยงาน ทั้งราชการส่วนกลาง และราชการส่วนภูมิภาค ทั้งทหาร รัฐวิสาหกิจ แต่ที่เห็นมีข่าวเกิดขึ้นใน อปท.มาก อาจเป็นเพราะ อปท.มีเกือบ 8,000 แห่ง และทำงานมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าหน่วยงานอื่น และการเลือกตั้งทุกครั้งมีผู้แพ้และผู้ชนะ และประชาชนที่สนับสนุนผู้แพ้คอยตรวจสอบการทำงานของฝ่ายชนะตลอดเวลา
          ซึ่ง ต่างจากหน่วยงานของรัฐ เพราะประชาชนแทบตรวจสอบไม่ได้ และขณะเดียวกันก็เป็นเงินจำนวนมากด้วยคือ เป็นหมื่นล้านบาท หรือมากกว่านั้นก็มี
          มาถึงประเด็นที่ผมต้องเขียนแย้งข้อเสนอ ของ ป.ป.ช. คือ การกำหนดห้ามพรรคการเมือง ส.ส. ส.ว. หรือผู้บริหาร อปท. ให้การสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหาร ท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น และกำหนดห้ามผู้สมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นแทรกแซงการเลือกตั้งสภาท้องถิ่น รวมทั้งห้ามผู้สมัครสมาชิกสภาท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นแทรกแซงการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นด้วย
          ผม ไม่ทราบว่า ป.ป.ช.ไม่รู้หรือว่าพรรคการเมือง ไม่ว่าที่ไหนในโลก แม้แต่ประเทศในกลุ่มอาเซียน ก็ไม่มีการห้ามพรรคการเมืองส่งผู้สมัครหรือสนับสนุนการเลือกตั้ง อปท. เหตุผลก็คือ
          - อปท.เป็นเวทีสอนประชาธิปไตยให้กับประชาชน
          - อปท.เป็นเวทีสร้างผู้นำ โดยเริ่มจากท้องถิ่นขึ้นมาเป็นนักการเมืองระดับชาติ เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ คนที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนล่าสุดก็มาจากการเป็นนายกเทศมนตรีของ เทศบาลมาแล้ว 7 สมัย หรือประธานาธิบดีของประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบันก็เคยเป็นผู้ว่าการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาก่อน 2 จังหวัด รวมทั้งจาการ์ตาเมืองหลวงด้วย
          ประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ส่วนใหญ่ผู้ที่มาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดี ก็ไต่เต้ามาจากเป็นผู้นำท้องถิ่นมาก่อน หรือการเป็น ส.ส.ที่สังกัดพรรคการเมืองมาก่อน
          ผมขอถาม ป.ป.ช.ว่า มีเหตุผลอะไรที่เสนอเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามผู้สมัครในนามพรรคหรือห้ามพรรคการเมืองหรือนักการ เมืองไปหาเสียงให้ผู้สมัครผู้บริหารท้องถิ่นหรือสภาท้องถิ่น
          ขอ ถาม ป.ป.ช.ว่า กรณีพรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกพรรค 2 ล้านกว่าคน  มีสาขาพรรค 175 สาขา ทั้งหมดนี้ กกต.รับรองแล้วทั้งสิ้น กกต.จะตรวจสอบคนนับจำนวนล้านได้อย่างไรว่าเอาชื่อพรรคไปหาเสียง
          สมมติ ว่า ผู้สมัครเป็นผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แต่สมัครด้วยตนเองโดยไม่เกี่ยวกับพรรค ถ้าหัวหน้าพรรค หรือประธานสาขาพรรค หรือกรรมการบริหารพรรค ได้ไปช่วยหาเสียงเหมือนบุคคลทั่วไป โดยไม่เอ่ยชื่อพรรคเลย  แต่ภาพความเป็นหัวหน้าพรรคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือกรรมการบริหารพรรคหรือกรรมการสาขาพรรคจะไม่สามารถลบออกจากความเป็นพรรค ได้ กรณีอย่างนี้ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ทั้งๆ ที่นายอภิสิทธิ์ กรรมการบริหารพรรค กรรมการสาขาพรรค ออกไปหาเสียง โดยไม่ได้เอ่ยชื่อพรรคแต่อย่างใด
          ถามตรงๆ ว่าที่ ป.ป.ช.เสนอประเด็นนี้ขึ้นมา ป.ป.ช.ใช้อะไรเป็นตัววัดว่าที่ อปท.เป็นอย่างนี้ เพราะพรรคการเมืองหรือคนของพรรคการเมืองทำขึ้นมาหรือ เป็นการให้ร้ายมากเกินไปหรือเปล่า เพราะที่ผ่านมาพรรคการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องทั่วประเทศ 10 เปอร์เซ็นต์ และขอถามอีกว่า ข้อเสนอนี้เป็นความเห็นของ ป.ป.ช.ชุดนี้หรือชุดเก่า
          ผม คิดว่าแทนที่จะห้ามตามข้อเสนอนี้ ในทางตรงกันข้าม ต้องส่งเสริมให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัคร อปท.ได้ และควรบัญญัติให้มากกว่านั้นว่า ถ้าผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรคการเมืองพ้น จากการเป็นสมาชิกพรรค ก็ให้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวเหมือนกรณี ส.ส. ที่เมื่อพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ด้วย
          ผลดี ที่จะเกิดขึ้นก็คือ พรรคจะต้องคอยตรวจสอบการทำงานของสมาชิกพรรคที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น เพราะถ้าตัวแทนเหล่านี้มีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชัน หรือมีเรื่องเสื่อมเสียอะไรเกิดขึ้น ก็จะมีผลกระทบกับพรรคที่ตนสังกัดด้วย เพราะเหตุนี้พรรคจึงต้องคัดเลือกคนดี มีฝีมือในการทำงานมาลงสมัครรับเลือกตั้ง ในทำนองเดียวกับผู้สมัครในนามพรรค เมื่อได้รับการเลือกตั้งก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ตั้งใจทำงาน มิฉะนั้นพรรคอาจจะดำเนินการลงโทษทางใดทางหนึ่งได้
          ป.ป.ช.คิด ถึงประเด็นนี้บ้างไหม หรือเกรงว่าพรรคจะสั่งการให้ตัวแทนของพรรคใน อปท.หาประโยชน์ให้ ผมไม่เชื่อว่าเรื่องอย่างนี้ในอนาคตจะเกิดขึ้นได้ง่าย ในเมื่อมีองค์กรตรวจสอบหลายองค์กร และที่สำคัญคือ ประชาชนจะเป็นผู้ตรวจสอบเอง เพราะ อปท.เป็นองค์กรเดียวที่ประชาชนมีความใกล้ชิด และสามารถตรวจสอบได้ง่าย
          กรณี เรื่องนี้ก็น่าแปลกใจครับ เพราะผมเคยเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2528 (30 ปีมาแล้ว) ซึ่งช่วงนั้นกำลังจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก ตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร     พ.ศ.2528
          ซึ่ง เวลานั้นมีความเห็นของบุคคลเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้อง ถิ่น อีกฝ่ายหนึ่งมีความเห็นในทางตรงกันข้าม
          ซึ่งบทความนี้ผมขอนำมาพิมพ์อีกครั้งเพื่อผู้อ่านได้เข้าใจเรื่องนี้มีการถกเถียงกันมาแล้วเมื่อ 30 กว่าปี
          หัว ข้อ คือ "พรรคการเมืองควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปกครองท้องถิ่นหรือไม่" โดยมีเนื้อหาที่ผมเขียนดังนี้"ในห้วงเวลาที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภาเขต ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ที่ได้ประกาศใช้โดยถูกต้องแล้วนั้น
          ก็ปรากฏว่ามีการแสดงความคิดเห็นทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ ป้ายผ้า ปิดตามสะพานคนเดินข้ามว่า
          การ ปกครองท้องถิ่นสมควรที่พรรคการเมืองจะส่งบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค หรือไม่ บางฝ่ายก็เห็นว่าสมควรเป็นอย่างยิ่งที่พรรคการเมืองจะส่งบุคคลลงสมัครรับ เลือกตั้ง เพราะถือว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นรากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยจึงควรเริ่มต้นที่จุดนี้ และนั่นก็หมายถึงว่าพรรคการเมืองก็ต้องเริ่มต้นกันจุดนี้เช่นกัน
          ส่วน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็เห็นว่า การปกครองท้องถิ่นควรจะปลอดจากการเข้าไปยุ่งเกี่ยวของพรรคการเมือง ผู้บริหารควรอิสระจากข้อผูกพันทั้งปวงเพื่อจะได้ทำงานทำการกันอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องพะวงหรือผูกมัดกับพรรคการเมือง
          สำหรับส่วนตัวของผม เองนั้น เห็นว่าถ้าเราต้องการจะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยกันอย่างจริงจังแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่พรรคการเมืองจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเลือก ตั้งในทุกระดับ
          คำตอบนี้น่าจะต้องพิจารณาถึงหลักการและแนวความคิดในการจัดให้มีการปกครอง ส่วนท้องถิ่นหรือการปกครองตนเองของประชาชนเสียก่อน
          ทำไม เกือบทุกประเทศในโลกนี้จึงจำเป็นต้องมีการปกครองท้องถิ่นกันอีก ทั้งๆ ที่มีราชการส่วนกลางหรือในบางประเทศมีราชการส่วนภูมิภาคอยู่แล้ว
          เหตุผลที่แท้จริงไม่ว่าจะมองทางด้านวิชาการหรือภาคปฏิบัติ ไม่ว่าจากประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่กำลังพัฒนาก็จะพบว่า
          ประการ แรก เพื่อให้ราชการส่วนท้องถิ่นแบ่งเบาภาระของรัฐบาลกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของประชาชน เพราะมิฉะนั้นแล้ว รัฐบาลกลางก็จะต้องรับภาระเสียเองหมดทั้งประเทศ ซึ่งคงทำไม่ได้อย่างแน่นอน
          ประการที่สอง เพื่อให้ประชาชนได้ปกครองตนเอง ดูแลกันเอง เพราะคงไม่มีผู้ใดรู้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ดีเท่ากับประชาชนใน ท้องถิ่น และเมื่อเอาคนท้องถิ่นซึ่งรู้ปัญหาดีมาแก้ปัญหาก็พอจะเป็นหลักประกันได้แล้ว ว่า การแก้ปัญหาคงจะสามารถทำได้ตรงจุดอย่างแน่นอน รัฐบาลกลางจะไปรู้ปัญหาของประชาชนในท้องถิ่นได้ดีกว่าคนในท้องถิ่นจึงเป็น เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
          ประการที่สาม ซึ่งเป็นเหตุผลอันสำคัญยิ่งสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาปกครองระบอบ ประชาธิปไตยก็คือ เพื่อให้การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นโรงเรียนสอนประชาธิปไตยให้กับประชาชน
          เป็น ที่ยอมรับกันมาหลายร้อยปี และแม้กระทั่งปัจจุบันรวมทั้งในอนาคตว่า การเรียนรู้ประชาธิปไตยนั้นจะต้องเรียนโดยการปฏิบัติ (LEARNING BY DOING) เท่านั้น ไม่ใช่เรียนรู้ทฤษฎีประชาธิปไตยจากสถาบันการศึกษา หรือจากการอบรม แล้วจะประกาศตนเองว่าเข้าใจประชาธิปไตยแล้วหาได้ไม่
          การสอน ประชาธิปไตยให้กับประชาชนนั้นจะต้องสอนโดยวิธีการให้เขาปฏิบัติจริง ให้เขาเรียนรู้จากการกระทำของเขาเอง ให้เขาได้บทเรียนจากการกระทำของเขา ให้เขารู้ว่าการเลือกตั้งที่จะได้ตัวแทนที่ดีควรจะเลือกตั้งกันอย่างไร เป็นต้น
          และเวทีที่จะสอนบทเรียนที่เหมาะสมและดีที่สุดก็คือ เวทีเลือกตั้งในขอบเขตจำกัด เช่น อบจ. เทศบาล เป็นต้น เพราะเวทีนี้หากเกิดการเสียหายขึ้น ก็คงเสียหายเฉพาะจุดเล็กๆ เพียงไม่กี่จุด แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงมีอยู่ ตัวอย่างเช่น เทศบาลในปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ 123 เทศบาล หากเกิดการเสียหายก็คงไม่เสียหายทั้งหมดทุกเทศบาล และถ้าเกิดเสียหายสามารถแก้ไขได้ง่าย
          แต่ถ้าใช้เวที ประชาธิปไตยระดับชาติเป็นที่ฝึกหัดบ้าง ถ้ามีอะไรเสียหายก็จะเสียหายทั้งประเทศ ซึ่งเราคงจะปล่อยให้กรณีอย่างนั้นเกิดขึ้นไม่ได้
          ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นจะต้องใช้การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเวทีสอนประชาธิปไตยขั้น รากฐานเพื่อความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยส่วนรวมของชาติ ซึ่งก็เปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับการสร้างบ้านที่จะต้องวางรากฐานก่อนแล้ว จึงทำโครงสร้างอื่นๆ ได้
          เมื่อเขามีประสบการณ์จากหน่วยการ ปกครองท้องถิ่นมาแล้ว เมื่อขึ้นไปการเมืองในระดับชาติ ไม่ว่าฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร เขาก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ยากนักเหมือนดังตัวอย่างเกือบทุกประเทศ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
          ถ้าความต่อเนื่องเป็นไปในลักษณะนี้การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยก็จะก้าวหน้าไปได้ในทิศทางที่ถูกต้องอย่างแน่นอน
          เมื่อ กลับมามองพรรคการเมืองบ้าง ก็ต้องยอมรับกันอีกว่า องค์กรความสำคัญทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยคือ พรรคการเมือง ถ้าตราบใดพรรคการเมืองยังไม่มั่นคงและไม่เป็นพรรคแห่งมวลชนทั่วประเทศแล้ว ตราบนั้นระบอบประชาธิปไตยก็ยังไม่ถือว่ามีการพัฒนา
          พรรคการ เมืองกับประชาธิปไตยจึงเป็นของคู่กันทีนี้มีคำถามเกิดขึ้นว่า ทำอย่างไรจึงจะให้พรรคการเมืองมีความมั่นคงและเป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ของ ประชาชนอย่างแท้จริง คำตอบประการหนึ่งก็คือ พรรคการเมืองจะต้องมีบทบาทตั้งแต่การเลือกตั้งในหน่วยการปกครองท้องถิ่น เหมือนดังเช่นในหลายๆ ประเทศ
          เทศบาลนครซานฟรานซิสโกปัจจุบัน เป็นของพรรคเดโมแครต ผู้ว่าการมลรัฐแคลิฟอร์เนียครอบคลุมนครซานฟรานซิสโกด้วย ก็เป็นพรรครีพับลิกัน ส.ส.ของรัฐแคลิฟอร์เนียส่วนใหญ่เป็นของพรรครีพับลิกัน
          นายกรัฐมนตรีนครนิวยอร์ก และนครวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นของพรรคเดโมแครต
          นายกเทศมนตรีของมหานครลอนดอน เป็นของพรรคเลเบอร์เทศบาลเมืองโน้น เทศบาลเมืองนี้เป็นของพรรคนั้น พรรคนี้
          นายกรัฐมนตรีนครปารีสเป็นของพรรคอนุรักษนิยม เทศบาลในฝรั่งเศสส่วนใหญ่เป็นของฝ่ายอนุรักษนิยม
          ผู้ ว่าการมหานครโตเกียวเป็นของพรรครัฐบาล เหล่านี้เป็นข้อยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ประเทศประชาธิปไตยนั้นพรรคการเมืองจะต้องเข้าไปมีบทบาทตั้งแต่การปกครอง ระดับต่ำสุดเสมอ
          ผมจึงมีความเห็นมาเป็นเวลาช้านานและจนกระทั่ง ปัจจุบันว่า สาเหตุประการสำคัญประการหนึ่งที่ระบอบประชาธิปไตยของไทยเราไม่พัฒนาก็เนื่อง มาจาก เราไม่ให้ความสำคัญของการปกครองท้องถิ่น
          เท่าที่ผ่านมาเราไม่ให้ความสำคัญต่อการปกครองตนเองของประชาชน เราให้ความสำคัญแต่การปกครองในระดับชาติ
          เพียง มองกันง่ายๆ ก็จะพบว่า ส.ส.ในรัฐสภาบางคนเมื่อขาดประสบการณ์มาก่อน พอได้เป็น ส.ส.หรือรัฐมนตรีจึงกำหนดบทบาทของตนเองไม่ถูก ทำให้เกิดปัญหาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนทั่วไปเสมอ
          นี่ ถ้าเราเริ่มต้นหาประสบการณ์ ความชำนิชำนาญกันจากท้องถิ่นกันมาก่อน ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากเวทีระดับชาติของนักการเมืองเหล่านั้นก็จะลดน้อยลงไป
          ผม จึงเห็นว่า การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการปกครองท้องถิ่นรูปหนึ่ง หรือการเลือกตั้งในระดับสภาจังหวัด, สภาเทศบาลในต่างจังหวัด พรรคการเมืองควรจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง จะไปถือว่าพรรคการเมืองไม่ควรจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้
          เพราะ ถ้าไปคิดเช่นนั้นแล้ว โอกาสที่พรรคการเมืองจะเติบโตเป็นพรรคของมวลชนหรือประชาชนจะได้เรียนรู้ ระบอบประชาธิปไตยในภาคปฏิบัติจริงๆ ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอน
          และนั่นก็หมายถึงว่า ประชาธิปไตยของไทยเราก็คงจะวนเวียนในวัฏจักรครึ่งๆ กลางๆ เพียงแค่นี้เท่านั้นเอง
          การ ที่มีผู้ส่งลงสมัครรับเลือกตั้งกันเป็นทีมๆ โดยไม่ใช่พรรคก็เท่ากับเป็นการยอมรับแล้วว่ากลุ่มหรือทีมนั้นมีความจำเป็น ต่อการบริหารท้องถิ่น
          ซึ่งกลุ่มหรือทีมก็คือบุคคลที่มีแนว นโยบายมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันจึงมาร่วมกันทำงาน ก็เช่นเดียวกับพรรคการเมือง ซึ่งเกิดจากหมู่คนที่มีความคิดคล้ายคลึงมารวมกันตั้งพรรค
          ก็ ไม่เห็นว่าจะมีอะไรในขั้นพื้นฐานที่แตกต่างกันการที่พรรคการเมืองจัดส่งคนลง รับสมัครรับเลือกตั้งในหน่วยการปกครองท้องถิ่นน่าจะเป็นผลดีกว่า เพราะผู้ที่ได้รับเลือก พรรคจะต้องเข้าไปควบคุมการทำงานแทนประชาชนผู้เลือกตั้ง
          ใน ระบอบประชาธิปไตย ประชาชนเลือกตั้งมีโอกาสแสดงตนเป็นเจ้าของประเทศได้จริงๆ ก็ตอนวันเลือกตั้งเท่านั้น นั้นก็คือ 4-5 ปีต่อครั้ง แต่พรรคการเมืองต้องคอยควบคุมโดยตลอด ผลดีจึงน่าจะมีมากกว่ามาก
          การที่กล่าวหาว่าถ้าผู้บริหารท้องถิ่นอยู่ภายใต้สังกัดพรรคการเมืองแล้วจะเป็นผลเสียต่อประชาชนนั้น
          ผม กลับคิดไปในทางตรงกันข้ามว่า คงไม่มีพรรคการเมืองใดมีเจตนาที่จะไปใช้อิทธิพลให้ผู้บริหารท้องถิ่นซึ่ง เป็นพรรคของตน กระทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรเป็นอันขาด
          เพราะถ้าพรรคการเมืองทำอย่างนั้นแล้วก็เท่ากับว่าเป็นการทำลายพรรคการเมืองนั้นให้ล้มหายไปอย่างแน่นอน
          ตัวอย่าง ในกรุงเทพมหานคร ถ้าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่สังกัดพรรคการเมืองบริหารงานให้ประชาชน เดือดร้อน เข้าไปทุจริตคอร์รัปชัน หรือหาประโยชน์ให้แก่ตนหรือพรรคพวกแล้ว พรรคการเมืองที่เป็นต้นสังกัดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครผู้นั้นก็จะกระทบ กระเทือนอย่างหนักด้วย แล้วพรรคการเมืองใดจะทำเช่นนั้น
          ผมจึง เห็นว่าถ้าผู้บริหารท้องถิ่นจะอยู่ภายใต้สังกัดของพรรคการเมืองแล้ว ก็คงจะต้องทำในสิ่งที่ดีงาม เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนเท่านั้น แล้วอย่างนี้จะไม่พอใจกันอีกหรือ การที่มีสถาบันพรรคการเมืองคอยควบคุมผู้บริหารท้องถิ่นแทนประชาชนกับกลุ่มคน ที่ไม่มีใครผู้ใดหรือองค์กรใดควบคุมหรือเป็นหูเป็นตาให้ อย่างไหนจะดีกว่ากัน ขอได้โปรดคิดพิจารณาด้วย
          อย่าไปคิดแต่ เพียงว่า การที่พรรคการเมืองส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ก็เพื่อหวังผลการเลือก ตั้ง ส.ส.ในปี 2530 เท่านั้น ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก
          ผมไม่เชื่อว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือสมาชิกสภา จะทำอะไรในทางมิชอบให้กับพรรคของตนได้ง่ายเหมือนอย่างที่บางคนคิด
          ดี ไม่ดีถ้าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทำงานไม่ได้ผลหรือสร้างความเดือดร้อนให้ กับประชาชนหรือแก้ปัญหาของประชาชนไม่ได้ พรรคการเมืองที่ผู้ว่าราชกรุงเทพมหานครสังกัดจะเสียคะแนนเสียงได้"นี่คือข้อ เขียนของผมที่ลงหนังสือพิมพ์มติชนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และความเห็นเช่นนั้นกลับเกิดขึ้นมาอีก
          โดยสรุปแล้วผมจึงเห็น ว่า การที่พรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่น นอกจากจะได้ผลงานเพื่อประชาชนแล้ว ก็ยังช่วยในการพัฒนาและรักษาระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย
          จึงขอ เรียกร้องให้พรรคการเมืองต่างๆ ให้ความสนใจและเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นอย่างจริงจัง เพื่อผลที่ดีดังกล่าวแล้ว.
          "ผมจึงมีความเห็นมาเป็นเวลาช้านาน และจนกระทั่งปัจจุบันว่า สาเหตุประการสำคัญประการหนึ่งที่ระบอบประชาธิปไตยของไทยเราไม่พัฒนาก็เนื่อง มาจาก เราไม่ให้ความสำคัญของการปกครองท้องถิ่น"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น