วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: ของแสลงรัฐบาล

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: ของแสลงรัฐบาล
สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๙

          ผม ในฐานะที่ให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น โดยเป็นทั้งผู้สอนผู้บรรยายให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ ผู้ทำวิจัย ผู้ประเมินผล และเป็นทั้งผู้เขียนหนังสือ ตำรา ด้านการปกครองท้องถิ่น การบริหารจัดการขององค์กรปกครองท้องถิ่น รวมทั้งการเขียนบทความที่สะท้อนถึงการบริหารจัดการชุมชนท้องถิ่นในคอลัมน์ ประชาคมท้องถิ่น สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ติดต่อกันมามากกว่า 20 ปีแล้ว จึงได้ข้อสรุปที่เป็นคำตอบสำคัญประการหนึ่งว่า "การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้า ดังนั้น ประเทศที่เจริญและมีรากฐานประชาธิปไตยที่มั่นคง โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นประเทศที่มีการกระจายอำนาจ และส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้มแข็งเกือบทั้งสิ้น"
          ผม จึงเชื่อว่า การเปลี่ยนวิธีคิด วิสัยทัศน์ประเทศไทยใหม่โดยการกระจายอำนาจ สู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน่าจะเป็นคำตอบในการพัฒนาประเทศทั้งในปัจจุบัน และอนาคต และถ้าเป็นไปในแนวทางดังกล่าวนี้ การปฏิรูปประเทศย่อมจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นกับการเสนอแนวทางในการกระจายอำนาจให้ แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการปฏิรูปโครงสร้างประเทศจึงเป็นวาระสำคัญของชาติ
          ที่กล่าว มาเช่นนี้เพราะว่า ตั้งแต่เรามีการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข การดำเนินการบริหารประเทศ "เรารวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง" จึงทำให้เห็นว่าปัญหาประเทศจึงฝากความหวังไว้ที่ราชการส่วนกลางในการบริหาร จัดการ ซึ่งผลที่ออกมาก็เป็นอย่างที่เราเห็นกันอยู่ว่าประเทศไทยมักมีปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ พูดแล้วพูดอีกมาเป็นเวลา 20 - 30 ปี โดยที่ปัญหาเดิมๆก็ยังไม่ได้แก้ แต่กลับมีปัญหาใหม่มาเพิ่มพูนอยู่เรื่อยๆ ทั้งนี้เป็นเพราะสาเหตุอะไรก็จะต้องวิเคราะห์วิจัยกันให้ถ่องแท้แต่คำตอบ หนึ่งที่พูดกันมากก็คือ "การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางมากเกินไป"
          แม้ แต่การทำท่าจะปฏิรูปประเทศมาหลายสิบปี เราก็ไปไม่ถึงไหน มีแต่วาทกรรมคำพูดว่า "เราจะปฏิรูปประเทศ"เราจะปฏิรูปประเทศมาหลายยุค หลายสมัย และหลายรัฐบาลแต่ผลลัพธ์สุดท้ายเราก็ย่ำอยู่กับที่ไปไม่ถึงไหน
          ใน ปัจจุบันเราก็เข้ายุคการปฏิรูปประเทศที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็กล่าวย้ำเช่นเดียวกันว่าจะปฏิรูปประเทศและสร้างเครื่องมือกลไกต่างๆ ออกมาหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)และตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งประชาชนทั่วไปก็คาดหวังว่ากลไกเหล่านี้น่าจะทำได้รวดเร็วและเป็นไปในทาง ที่ดี แต่ในที่สุดองค์กรทั้งสองประเภทดังกล่าวก็ได้แต่อภิปรายและพูดๆ จนทำให้การปฏิรูปประเทศไปไม่ถึงไหนเช่นเดียวกัน หรืออาจจะมีผลได้บ้างก็เป็นเพียงเอกสารรายงานการปฏิรูปประเทศ ซึ่งในที่สุดก็ได้คำตอบว่า "การปฏิรูปประเทศไทยก็ยังไปไม่ถึงไหนเช่นกัน"
          ผม จึงเข้าใจว่า การปฏิรูปประเทศควรที่จะให้รัฐบาลได้วางนโยบายและเป้าหมาย จัดหมวดหมู่เรื่องที่จะปฏิรูปให้ชัดที่สำคัญที่สุดจะต้องฟันธงให้ชันเจนว่า เราจะยึดแนวสร้างและพัฒนาประเทศแบบใด เราจะสร้างประเทศแบบรวมศูนย์อำนาจแบบเดิมๆ หรือเราจะสร้างประเทศด้วยการกระจายอำนาจและส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้อง ถิ่นให้เข้มแข็งและถือเป็นการสร้างชาติจากฐานล่างอย่างแท้จริง
          ส่วน ผมเองก็มักจะถูกถามอยู่บ่อยๆ ครั้งมาก ในฐานะที่เป็นครูบาอาจารย์ เป็นนักวิจัย และเป็นนักให้คำแนะนำปรึกษาคลุกคลีอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาเป็น เวลานาน ในปัจจุบันมักจะถูกถามว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญและรัฐบาลจะเอาอย่างไรกับการกระจายอำนาจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ถามว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังจะร่างจะบรรจุหมวดการกระจายอำนาจและการปกครองท้อง ถิ่นอย่างไร ส่วนคำถามที่มีต่อรัฐบาล รัฐบาลจะมีจุดยืนอย่างไรกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งคำถามทั้ง 2 ประการดังกล่าวถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลและผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องพูด อธิบายและสร้างความเข้าใจถึงจุดยืนให้ถูกต้อง นี่คือสิ่งที่รัฐบาลจะต้องสร้างความกระจ่างให้เกิดขึ้น
          ผมจึง เห็นว่า การร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศจำเป็นจะต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม อย่างหลากหลายโดยการรับฟังความคิดเห็นและนำทุกความเห็นมาสังเคราะห์ วิเคราะห์อย่างจริงจัง โดยการนำข้อมูลเหล่านั้นไปตัดสินใจทั้งผู้ร่างรัฐธรรมนูญและรัฐบาลว่าจะทำ อย่างไร
          ผมจึงเข้าใจว่าในส่วนของการกระจายอำนาจและการปกครอง ท้องถิ่น จึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะมีแนวทางอย่างไร จะให้มีการปรับเปลี่ยนไปอย่างไรหรือไม่ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลจะต้องพูดอธิบาย เพื่อจะทำให้คำถามต่างๆ ถูกคลี่คลายไปในทางที่ชัดเจนมากขึ้น และที่สำคัญข้อปฏิบัติดีๆ ของชุมชนท้องถิ่น(Best Practice) ก็เป็นส่วนหนึ่งของการนำไปเป็นบทเรียนรู้และปฏิบัติการการปฏิรูปประเทศ
          สำหรับ ผมแล้วมีความเห็นว่า การปฏิรูปประเทศต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการบริหารจัดการใหม่ โดยเฉพาะทางออกที่สำคัญก็คือ จะต้องสร้างรากฐานชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็งและมีตัวอย่างข้อปฏิบัติที่ดีๆ ที่จับต้องได้ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำตัวทำตนเป็นตัวอย่างแบบอย่างที่ดี จนทำให้เชื่อมั่นได้ว่าการปฏิรูปประเทศ และการพัฒนาประเทศใหม่ต้องเริ่มต้นที่ชุมชนท้องถิ่น หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น