วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ปฏิรูปท้องถิ่นยุบอบจ.ยกฐานะอบต.เป็นเทศบาล

ปฏิรูปท้องถิ่นยุบอบจ.ยกฐานะอบต.เป็นเทศบาล 
โพสต์ทูเดย์  Issued date 19 December 2015

          ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
          แม้ การปฏิรูปโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินยังไม่มีความคืบหน้า แต่ผลการศึกษาการบริหารราชการส่วนกลางและท้องถิ่นของคณะอนุกรรมการศึกษาโครง สร้างฝ่ายบริหารที่มี "อภิชาต สุขัคคานนท์" กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นประธานได้จัดทำรายงานเรียบร้อยแล้ว และได้จัดส่งให้ คณะ กรธ.พิจารณาเพื่อนำไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระน่าสนใจดังนี้
          โครง สร้างบริหารราชการ แผ่นดินควรมีขนาดที่เหมาะสม บริหารจัดการง่าย สอดคล้องกับภารกิจหลัก และควรให้มีการทบทวนภารกิจของหน่วยงานรัฐเป็นระยะ การดำเนินการในการบริหารราชการแผ่นดินต้องไม่ซ้ำซ้อน มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ ขอบเขตการทำงาน ความรับผิดชอบของหน่วยงานราชการแต่ละภาคส่วนให้ชัดเจน
          ขอบเขต อำนาจหน้าที่ของราชการส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น และส่วนภูมิภาค ให้แยกเป็นสัดส่วนมากขึ้น โดยพิจารณาจากหลักการ กระจายอำนาจ หลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักการถ่ายโอนอำนาจ การงบประมาณและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
          ในการจัดตั้งหน่วย งานในจังหวัดจะต้องเป็นการจัดตั้งหน่วยงานที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจบังคับบัญชาร่วมด้วย มิใช่พิจารณาเพียงจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมบริการประชาชนเท่านั้น อย่างไรก็ดี นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว ควรพิจารณาด้านความคุ้มค่าของผลงานและ งบประมาณที่ต้องใช้ในการจัดตั้งองค์กรกับผลที่ประชาชนพึงได้รับร่วมด้วย ไม่ควรจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม เพิ่มขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมือง ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างข้าราชการแต่ละประเภท หากจะมีความแตกต่างกัน จะต้องเป็นความแตกต่างที่ตั้งบนหลักการและเหตุผล
          ควรกำหนด คุณสมบัติของ ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งสมาชิก และผู้บริหารส่วนท้องถิ่นให้เป็น ผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรมจริยธรรมเป็นที่ประจักษ์ พร้อมกับส่งเสริมนโยบายจังหวัดจัดการตนเองในพื้นที่ที่ประชาชนมีความเข้ม แข็งและมีความพร้อมทางด้านทรัพยากร และไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของนักการเมือง เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม อันจะส่งผลให้ประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งมากขึ้นด้วย
          การปฏิรูป โครงสร้างการ บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรพิจารณาจากภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่ามีภารกิจใดบ้าง นอกจากนี้ การบริหารงาน ท้องถิ่นไม่ควรอยู่ภายใต้การเมืองมากเกินไป ควรที่จะมีคณะกรรมการคณะหนึ่งขึ้นมากำกับดูแลการบริหารงานส่วนภูมิภาคและการ บริหารงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งอำนาจหน้าที่ของการบริหารงานส่วน ภูมิภาคควรจะดูเรื่องความมั่นคงและการจัดการภารกิจที่มีความสำคัญ เช่น การอำนวยการ ภารกิจด้านการศึกษาโดยกำหนดหลักสูตรที่มีความเชื่อมโยงกับท้องถิ่น เป็นต้น รวมทั้งควรกำหนดให้มีการศึกษาโครงสร้างและภารกิจของการบริหารงานท้องถิ่น เช่น ความมั่นคง ความปลอดภัย ด้านการดำรงชีพ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม เป็นต้น
          โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันใช้ระบบการบริหาร 2 ชั้น กล่าวคือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั้งจังหวัด ส่วนเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะมีเขตพื้นที่ รับผิดชอบครอบคลุมในเขตเทศบาลหรือองค์กรบริหารส่วนจังหวัดนั้นๆ
          ดัง นั้น เพื่อให้เกิดการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงควรมีการเปลี่ยนแปลงให้มีระบบการบริหารระดับเดียวโดยไม่มีองค์การบริหาร ส่วนจังหวัด และยกฐานะขององค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเทศบาลและนำเทศบาลตำบลเหล่านั้นมาควบ รวมกัน โดยใช้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของพื้นที่ จำนวนประชากร และการจัดเก็บรายได้ในพื้นที่เป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งจากการศึกษาเทียบเคียงในประเทศญี่ปุ่นพบว่าในแต่ละปีจะมีการลดลงของ จำนวนองค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารงาน
          ทั้ง นี้ ควรมีการควบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารงาน บุคคล การบริหารเครื่องมือเครื่องใช้ในการดูแลสาธารณประโยชน์ เช่น รถเก็บขยะ รถบดถนน เป็นต้น รวมถึงการส่งเสริมให้มีปราชญ์ชาวบ้านรวมกันในท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการใช้ ทรัพยากรท้องถิ่นร่วมกัน และควรพิจารณาการใช้ถ้อยคำที่จะบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญจากคำว่า "การปกครองส่วนท้องถิ่น" เป็นคำว่า "การบริหารส่วนท้องถิ่น" เพราะ คำว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็น การถ่ายโอนอำนาจในการปกครองจากการบริหารราชการส่วนกลางให้กับนายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน
          การกำหนดรูปแบบโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้อง ถิ่น ควร มีการกำหนดขนาดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความ ใกล้เคียงกันเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสร่วมกันในการพัฒนา และช่วยกันดูแลท้องถิ่น ซึ่งอาจกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีจำนวนประชากร 5,000 คน มีฐานะเป็นเทศบาลตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีจำนวนประชากร 5 หมื่นคน มีฐานะเป็นเทศบาลเมือง องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นที่มีจำนวนประชากร 5 แสนคน มีฐานะเป็นเทศบาลนคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีจำนวนประชากร 1 ล้านคน มีฐานะเป็นการบริหารงานท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ
          หากท้องที่ ใดมีจำนวนประชากรไม่ถึงตามจำนวนที่กำหนดเป็นเทศบาลตำบล ให้มีการควบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเทศบาลตำบล เพื่อเป็นการลดการซ้ำซ้อน ช่วยประหยัดงบประมาณ และจะทำให้เกิดการพัฒนาใน ท้องถิ่นที่เป็นรูปธรรม
          โครงสร้างนี้จะได้ยอมรับหรือไม่ขึ้นอยู่กับ กรธ.จะตัดสินใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น