วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อวสานแรงเงานอกจอ ! : บทสรุปชีวิตจริงที่ต้องอิงข้อกฎหมาย

อวสานแรงเงานอกจอ ! : บทสรุปชีวิตจริงที่ต้องอิงข้อกฎหมาย



       ระยะนี้...วงสนทนายามเช้าวันจันทร์และวันอังคาร หรือแม้แต่ในโลกของสังคมออนไลน์ คงไม่พ้นที่จะพูดคุยหรือวิพากษ์วิจารณ์กันถึงละครเรตติ้งแรงเรื่องแรงเงา ซึ่งกำลังเข้มข้นและน่าจะใกล้ถึงตอนอวสานเต็มที... ละครเรื่องนี้มีเนื้อหาที่สะท้อนสภาพปัญหาครอบครัวและสังคม โดยเฉพาะในบทของ ผอ.เจนภพ สามีผู้มากรัก กับมุตาและนพนภา ตัวแทนฟากภรรยาน้อยและภรรยาหลวง ที่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง หรือบ้างก็ว่าชีวิตจริงยิ่งกว่าในละครอีกครับ…
      
       ความแรงของละครเรื่องนี้จึงเปรียบเสมือนดาบสองคมที่ผู้ชมควรใช้วิจา รณญาณและดทพิจารณาให้เห็นถึงโทษภัยของกิเลสตัณหาซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน เพราะหากไม่สามารถควบคุมไว้ด้วยกรอบของศีลธรรมได้ มันก็จะย้อนกลับมาทำร้ายเจ้าของกิเลสตัณหานั้นเองแบบไม่เลือกหน้า !
      
       เช่นเดียวกับคดีปกครองในวันนี้... ผมได้นำเรื่องราวชีวิตจริงของอาจารย์ท่านหนึ่งที่ได้มีความสัมพันธ์ในเชิง ชู้สาวกับหญิงซึ่งมีสามีแล้ว จนสุดท้ายความจริงถูกเปิดเผย... อวสานชีวิตจริงในคดีนี้จะเป็นอย่างไร รวมทั้งให้แง่คิด บทเรียน และความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายอะไรบ้าง มาดูกันเลยครับ…
      
       คดีนี้สืบเนื่องมาจากนายเจนรัก ข้าราชการครูในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ได้ถูกนายวิกฤติซึ่งเป็นผู้บริหารของโรงเรียนอีกแห่งหนึ่ง ร้องเรียนว่าแอบไปมีความสัมพันธ์ในทางชู้สาวกับนางมุษาภรรยาของตน ซึ่งเคยเป็นนักเรียนอยู่ในโรงเรียนที่นายเจนรักสอน จนเป็นเหตุให้ครอบครัวต้องแตกแยก...
      
       เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ข้อเท็จจริงขึ้น โดยคณะกรรมการสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อ กล่าวหาให้นายเจนรักทราบ และนายเจนรักได้มีหนังสือชี้แจงข้อกล่าวหารวมทั้งได้อ้างพยานหลักฐานเพื่อนำ สืบแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าวแล้ว
      
       จากการสอบสวนนายวิกฤติให้การว่า ในคืนที่นางมุษากลับบ้านดึกผิดปกติตนได้พยายามคาดคั้นจนภรรยายอมรับว่าได้ไป อยู่และมีความสัมพันธ์กับนายเจนรัก และหลังจากนั้นนางมุษาก็ทำบันทึกสัญญาว่าจะประพฤติตนใหม่โดยเลิกติดต่อกับ นายเจนรักต่อหน้านายอำเภอ แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็ได้ไปจดทะเบียนหย่ากันโดยให้เหตุผลว่าสาเหตุเกิดจาก ภรรยาไปมีความสัมพันธ์กับชายอื่น นอกจากนี้นายวิกฤติยังให้การอีกว่า เมื่อ 3 ปีก่อนก็ได้เคยเกิดเหตุเช่นนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ในตอนนั้นภรรยาและมารดาของนายเจนรักได้ขอเจรจาโดยจ่ายเงินให้ 80,000 บาท เพื่อให้ตนยุติเรื่องร้องเรียน ซึ่งตนก็ได้ตกลงรับเงินดังกล่าว
      
       ส่วนนายเจนรักให้การว่าไม่เคยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับภรรยาของนาย วิกฤติตามข้อกล่าวหา ซึ่งในวันที่นางมุษากลับบ้านดึกนั้น ตนได้ไปพักอยู่ที่บ้านเพื่อนมิได้อยู่กับนางมุษาแต่อย่างใด อีกทั้งนายวิกฤติต้องการที่จะเรียกร้องเงินจากตนอีกแต่ตนไม่ยอมตกลงด้วย ส่วนเงินที่เคยจ่ายให้กับนายวิกฤติไปนั้น ก็เนื่องมาจากมารดาของตนเกรงว่าจะเสื่อมเสียชื่อเสียงในเรื่องที่ถูกกล่าวหา แม้จะไม่เป็นความจริงก็ตาม
      
       เรื่องนี้คณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่า แม้จะไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของทั้งคู่ แต่ก็มีมูลพอที่จะเชื่อได้ว่าบุคคลทั้งสองมีความสัมพันธ์กันเชิงชู้สาวจริง โดยจากพยานแวดล้อมที่มารดาและภรรยาของนายเจนรักยอมจ่ายเงินให้แก่นายวิกฤติ เมื่อ 3 ปีก่อน อีกทั้งต่อมานายวิกฤติและภรรยาก็ได้จดทะเบียนหย่ากันจริง แต่หลังจากหย่ากันแล้วนายวิกฤติและภรรยายังมีการติดต่อไปมาหาสู่กันอยู่ จึงถือได้ว่าครอบครัวยังไม่แตกแยก
      
       นายเจนรักจึงมีความผิดทางวินัยฐานกระทำการอันได้ชื่อว่า เป็นผู้ประพฤติชั่ว ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ สมควรลงโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น แเต่ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมอีก 9 รายการ อาทิ สอบปากคำภรรยาและมารดาของนายเจนรักเกี่ยวกับการจ่ายเงิน 80,000 บาท สอบปากคำผู้ที่นายเจนรักอ้างว่าไปพักด้วยในคืนที่ภรรยาของนายวิกฤติกลับบ้าน ดึก ตรวจสอบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการลาของนายเจนรัก ฯลฯ ซึ่งหลังจากที่ได้รับรายงานผลการสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเห็นว่า จากพยานแวดล้อมพยานบุคคลเป็นเครื่องยืนยันว่านายเจนรักมีความสัมพันธ์ฉันชู้ สาวกับภรรยาของ
       ผู้กล่าวหาจริง จนเป็นเหตุให้ต้องไปจดทะเบียนหย่าอันทำให้ครอบครัวต้องแตกแยก จึงถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่า เป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ จึงมีคำสั่งลงโทษปลดนายเจนรักออกจากราชการ
      
       นายเจนรักได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวและต่อมาได้ถูกยกอุทธรณ์ แต่นายเจนรักก็ยังไม่สิ้นหวังครับเพราะยังพอเห็นช่องทางที่จะต่อสู้คดี จึงได้ยื่นฟ้องเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อศาลปกครองเพื่อขอ ให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยอ้างว่าในการสอบสวนเพิ่มเติมนั้นมิได้มีการดำเนินการตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ส่งผลให้คำสั่งที่ลงโทษตนไม่ชอบด้วยกฎหมาย
      
       ...เหตุใดนายเจนรักจึงได้นำกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้ เป็นข้ออ้างเพื่อต่อสู้คดี กฎหมายฉบับนี้มีผลอย่างไรต่อความชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งลงโทษทาง วินัยซึ่งถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ? ก่อนที่จะไปดูคำวินิจฉัยของศาล เรามาทำความรู้จักกับกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองกันก่อนครับ..
      
       พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เป็นกฎหมายที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการออกคำสั่งทางปกครองและกระบวนการภายหลัง การออกคำสั่งทางปกครองเอาไว้ ทั้งนี้เพื่อให้การปฏิบัติราชการของ เจ้าหน้าที่มีมาตรฐานและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน อันเป็นหลักประกันความเป็นธรรมให้กับบุคคลที่จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของคำ สั่งทางปกครองนั้นๆ เราจึงมักเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็น “กฎหมายกลาง”
      
       เพราะแต่เดิมก่อนที่จะมีการตรากฎหมายดังกล่าว ในการพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมาย เฉพาะในเรื่องนั้นๆ กำหนดไว้ ซึ่งกฎหมายเฉพาะแต่ละฉบับก็จะมีหลักประกันความเป็นธรรมที่ต่ำบ้าง สูงบ้าง แตกต่างกันไปไม่เป็นเอกภาพ จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในทางปฏิบัติซึ่งไม่เป็นผลดีต่อคู่กรณี
      
       ฉะนั้น ในปัจจุบันการออกคำสั่งทางปกครองต่างๆ จึงต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฉบับนี้ เป็นหลัก เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายเฉพาะในเรื่องนั้นๆ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ากฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง จึงให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะในเรื่องนั้นๆได้
      
       การบังคับใช้กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองนี้ได้เกิดผลเป็น รูปธรรมภายหลังจากที่ได้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้น โดยในการวินิจฉัยว่าคำสั่งทางปกครองใดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองดังกล่าว โดยจะพิจารณาใน 2 ส่วน คือ 1. รูปแบบหรือขั้นตอนกระบวนการในการออกคำสั่งทางปกครอง และ 2. เนื้อหา โดยดูว่าการใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งนั้นมีความสมเหตุสมผลหรือไม่
      
       การตรวจสอบในส่วนของรูปแบบ เช่น ในการออกคำสั่งทางปกครองต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในเรื่องนั้น (มาตรา 12) ต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ที่มีความเป็นกลาง (มาตรา 13 และ 16) การให้โอกาสคู่กรณีในการนำทนายความเข้ามาในการพิจารณาทางปกครอง (มาตรา 23) การให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้ แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน (มาตรา 30) ซึ่งเป็นไปตามหลักการฟังความสองฝ่ายที่คู่กรณีซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาย่อม ต้องมีโอกาสในการชี้แจงหรือหักล้างแก้ข้อกล่าวหานั้น ฯลฯ สำหรับการตรวจสอบในส่วนเนื้อหาของคำสั่ง มาตรา 37 ได้กำหนดให้ในการออกคำสั่งทางปกครองเจ้าหน้าที่ต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย โดยเหตุผลนั้นต้องประกอบด้วย ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง และข้อพิจารณาหรือข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ
      
       คราวนี้เรากลับมาดูคดีของนายเจนรักกันต่อ... จะเห็นได้ว่านายเจนรักพยายามที่จะต่อสู้ในส่วนของรูปแบบ โดยยกมาตรา 30 ขึ้นมาอ้างว่า ในการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจำนวน 9 รายการนั้น เจ้าหน้าที่มิได้ให้โอกาสตนในการโต้แย้งหรือชี้แจงแสดงพยานหลักฐาน ซึ่งส่งผลให้คำสั่งลงโทษทางวินัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
      
       โดยประเด็นที่โต้แย้งนี้ศาลมีความเห็นว่า การสั่งให้ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมของผู้ถูกฟ้องคดี เป็นการใช้อำนาจตามข้อ 33 ของกฎ ก.พ. ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2540) ซึ่งแม้กฎหมายดังกล่าวจะมิได้กำหนดว่าต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบและ โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการสอบสวนเพิ่มเติมนั้นด้วย อันถือว่าเป็นกรณีที่มีมาตรฐานในการปฏิบัติที่ต่ำกว่ามาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฯ ดังนั้นหากข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนเพิ่มเติมนั้นเป็น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์อันจะนำไปสู่การลงโทษได้
      
       ผู้ถูกฟ้องคดีก็ต้องให้นายเจนรักได้มีโอกาสโต้แย้งตามมาตรา 30 ดังกล่าวด้วย
      
       แต่เมื่อศาลได้ตรวจพิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้จากสอบสวนเพิ่ม เติมดังกล่าวแล้ว เห็นว่ายังคงเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำและพฤติการณ์เดิม ซึ่งนายเจนรักได้ทราบและได้เคยโต้แย้งไว้ในการสอบสวนครั้งแรกแล้ว กรณีนี้จึงไม่ถือเป็นข้อกล่าวหาหรือข้อเท็จจริงใหม่ที่ต้องแจ้งให้นายเจนรัก ทราบและโต้แย้งตามมาตรา 30 ดังกล่าวอีก
      
       ดังนั้นการตรวจสอบในส่วนรูปแบบของคำสั่งที่พิพาทนี้จึงถือว่าผ่านครับ...
      
       มาดูการตรวจสอบในส่วนของเนื้อหาซึ่งมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การออกคำสั่งลงโทษปลดนายเจนรักออกจากราชการเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วย กฎหมายหรือไม่ ? โดยมีประเด็นย่อยที่ต้องพิจารณาก่อนว่าการกระทำของนายเจนรักถือเป็นความผิด วินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ ?
      
       จากข้อเท็จจริงที่รับฟังและพยานหลักฐานทั้งหมด ศาลเชื่อว่านายเจนรักมีความสัมพันธ์กับนางมุษา ภรรยาของนายวิกฤติจริง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรม อันถือได้ว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ส่วนที่ว่าครอบครัวของนายวิกฤติจะแตกแยกจริงหรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็นอันเป็นสาระสำคัญที่ต้องพิจารณา ดังนั้นการกระทำของ นายเจนรักจึงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ ชอบด้วยกฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือนแล้ว
       
       เมื่อศาลได้ตรวจสอบแล้วว่าผ่านทั้งในส่วนของรูปแบบและเหตุผลในการใช้ดุลพินิจ คำสั่งลงโทษปลด
       นายเจนรักออกจากราชการจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง
      
       บทสรุปหรือตอนอวสานของชีวิตจริงในคดีนี้ก็คือ นายเจนรักต้องก้มหน้ารับกรรมโดยจบชีวิตราชการไปอย่างน่าเสียดาย !
      
       ความรักเป็นสิ่งที่สวยงาม... แต่หากเป็นรักต้องห้ามหรือพบกันเมื่อสายไป ก็ควรต้องยับยั้งและยึดหลักศีลธรรมมาเป็นที่พึ่งให้กับชีวิต ความรักที่บริสุทธิ์ไม่ได้อยู่ที่การครอบครอง เพราะบางครั้งบางคนอาจไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน หากแต่ว่ายังสามารถช่วยเหลือ ห่วงใย เป็นกำลังใจและเป็นกัลยาณมิตรต่อกันได้ ในทางตรงกันข้าม...ความรักที่เกิดขึ้นมาจากกิเลสตัณหาเพียงอย่างเดียว มักไม่ยั่งยืนและก่อให้เกิดปัญหาตามมาซึ่งไม่เป็นผลดีแก่ฝ่ายใดเลย โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูก...
      
       มาช่วยกันยับยั้งไม่ให้เกิดแรงเงานอกจอขึ้นนะครับ !
      
       ครองธรรม ธรรมรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น