วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

ท้องถิ่นจัดการตนเอง

คอลัมน์ ไทยมองไทย: ท้องถิ่นจัดการตนเอง (1)
มติชนสุดสัปดาห์  Issued date 7 September 2012

          สมหมาย ปาริจฉัตต์
        
          เวที เสวนา ปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 7 ยังมาไม่ถึง สัปดาห์นี้เลยขอคั่นรายการ ว่าด้วยเรื่อง จังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งเป็นกระแสที่น่าติดตามไม่น้อยเช่นกัน
          หลังจากล่าสุด ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมพูดถึงการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาล และราชการส่วนกลาง รับฟังความเห็นของภาคประชาสังคมจังหวัดต่างๆ ที่ขอให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในรูปของจังหวัดจัดการตนเองหลายต่อหลายแห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น สงขลา ปัตตานี อำนาจเจริญ ยังคึกคักอยู่นะครับ
          โดยชี้ ว่า ไม่น่าจะเกิดขึ้นง่ายนัก เพราะเป็นเรื่องใหญ่ในความคิดของนักปกครองฝ่ายความมั่นคงทั้งหลาย ไม่อยากให้เกิดขึ้นง่ายๆ เกรงจะเป็นไฟลามทุ่งออกไปทั่วประเทศ
          แต่การที่จะต้านทานกระแสที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นเรื่องยากเช่นเดียวกัน
          วันนี้ เลยขอลำดับความเป็นมา เป็นไปกันอีกครั้ง หลังจากเมื่อกรรมการปฏิรูปประเทศไทย โดย นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอให้ยุบการปกครองส่วนภูมิภาค ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว กระแสดังกล่าวหาได้ลดลง หรือ หายเข้ากลีบเมฆไปไม่
          การผลักดัน หรือเสนออย่างเป็นทางการเกิดขึ้นอีกครั้งใหญ่ สภาพัฒนาการเมือง ซึ่งมี ศ.สุดจิต บุญบงการ เป็นประธาน ได้จัดประชุมสมัชชาประชาธิปไตยชุมชนสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ได้ส่งมอบข้อเสนอเชิงนโยบายจากเวทีระดับภาค 5 ภาคต่อรัฐบาล โดย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับมอบ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2555 ที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ
          หลังรับ ข้อเสนอแล้ว นายยงยุทธ กล่าวให้ข้อสังเกตว่า "ข้อเสนออยู่ในหัวใจของรัฐบาลอยู่แล้ว เป็นความเข้าใจที่แจ่มแจ้งชัดเจน และอย่าได้เคลือบแคลงว่ารัฐบาลจะไม่เข้าใจเจตนาของท่าน เพียงแต่ว่าบางเรื่องต้องใช้เวลา"
          "ผมพยายามที่จะให้มีการ เลือกตั้งผู้ว่าราชการ ที่ว่า การปกครองที่ดีที่สุดคือการปกครองตนเองของพี่น้องประชาชน ไม่มีใครทราบปัญหาท้องถิ่นได้ดีกว่าคนในท้องถิ่นเอง ไม่มีใครสามารถแก้ไขปัญหาท้องถิ่นได้ดีกว่าคนในท้องถิ่นเอง"
          หลัง จากรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล รับข้อเสนอแล้ว ต่อมาเกิดความเคลื่อนไหวอย่างน้อยสองปรากฏการณ์
          ผม จะลำดับทีละเหตุการณ์ ที่น่าจะสะท้อนถึงความพยายามปรับตัวของบุคคลที่มีอำนาจและส่วนราชการที่มี บทบาทสำคัญ ในความเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ในเรื่องนี้ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย
          ในโอกาสครบรอบ สถาปนากระทรวงมหาดไทย ครบ 120 ปี ในปี 2555 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดสัมมนาวิชาการ เปิดบ้าน-เปิดใจ
          (Open-House Seminar) "ถอดรหัสมหาดไทย : ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง" วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2555 ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพฯ
          ต่อมาได้สรุปผล สัมมนาโดยละเอียดแจ้งต่อที่ประชุมกระทรวงมหาดไทย ซึ่งประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดทุกกรม ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา และถ่ายทอดไปยังนายอำเภอ ปลัดอำเภอทุกคนทั่วประเทศ
          ทั้งความเคลื่อนไหวและเนื้อหาสาระ การพูดคุย น่าสนใจ ผมจึงเอามาบอกต่อ เพื่อร่วมกันติดตามว่า สุดท้ายแล้วรัฐบาลและมหาดไทยปรับตัวกับข้อเสนอ ท้องถิ่นหรือจังหวัดจัดการตนเองอย่างไร หรือไม่
          เวทีเสวนาดัง กล่าว ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นายสมพร ใช้บางยาง อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ นักวิชาการ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย มี นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการอภิปราย ผู้ฟังหลายร้อยคน
          แต่เนื่องจากพื้นที่จำกัด ต้องขอเสนอทีละท่านตามลำดับ แต่ละคนมีมุมมองเรื่องนี้และข้อเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยอย่างไร
          นาย สมพร ใช้บางยาง เมื่อกล่าวถึงการ กระจายอำนาจหรือการปฏิรูป ในมุมมองของกระทรวงมหาดไทย อาจคิดว่าจะทำให้อำนาจลดลง แต่อยากจะแลกเปลี่ยนจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยได้พัฒนามาร้อยกว่าปีโดยใช้การรวมศูนย์ซึ่งช่วยให้บ้านเมืองอยู่ รอดมาได้ เนื่องจากความซับซ้อนของสังคมยังน้อย
          ขณะที่ผู้ปกครองสมัยก่อนยังมีคุณธรรมจริยธรรมต่อประชาชนและจิตสำนึกต่อสังคมมาก
          "แต่ ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา โลกาภิวัตน์และทุนได้ทำลายฐานทางสังคม โดยเฉพาะสังคมฐานล่างที่กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบอย่างมาก ขณะที่ผู้บริหารประเทศหรือมีอำนาจปกครองก็เปลี่ยนไป การรวมศูนย์จึงมีลักษณะที่เป็นไปเพื่อส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม การรวมศูนย์จึงตอบโจทย์ (ปัญหา ความต้องการของชุมชนฐานราก) ของประชาชนไม่ได้ เราจึงควรสร้างฐานประเทศ คือ ชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง โดยชุมชน ก็คือ ประชาชน ส่วนท้องถิ่น คือ
          องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นซึ่งเป็นองค์กรรองรับที่ใกล้ตัวประชาชนมากที่สุดและมาจากประชาชนเอง ถ้าฐานเข้มแข็ง ยอดก็จะเข้มแข็ง ดังนั้น จึงนำมาสู่แนวคิดข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) ในการปรับโครงสร้างอำนาจที่ผ่านมา"
          "หลังจากการกระจายอำนาจใน ปี พ.ศ.2540 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ทุกตารางนิ้ว ดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้น การสร้างชุมชนเข้มแข็งจึงไม่ได้เกินเลยจากอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย และเมื่อมองภาพรวมของประเทศก็จะเห็นว่ามีความจำเป็นในการปรับโครงสร้างอำนาจ ดังนั้น การปฏิรูป อาทิ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอาจจะยังไม่ได้เกิดในตอนนี้ หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ แต่ทำอย่างไรให้ชุมชนฐานรากเข้มแข็งซึ่ง
          สอด คล้องกับวิสัยทัศน์ของกระทรวงมหาดไทยอยู่แล้ว สาระสำคัญคือ ยึดเป้าหมายที่ประโยชน์ของประชาชนร่วมกันจะเป็นการเสริมความเข้มแข็งของ ประเทศและกระทรวงมหาดไทยต่อไป" มนุชญ์ "มหาดไทย/ราชการส่วนภูมิภาคต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรให้ประชาชน/ท้องถิ่นเข้ม แข็ง" สมพร "ขอให้ยึดแผนยุทธศาสตร์กระทรวงมหาดไทย และกรมในสังกัดซึ่งเป็นแนวทางที่กำหนดไว้แล้ว และทำงานโดยยึดประชาชนเป็นตัวตั้ง ตลอดจนเปลี่ยนแปลงทัศนคติ รับฟังความเห็นที่เปิดกว้าง และเน้นให้เกิดการปฏิบัติจริงโดยหาความสมดุลระหว่างการบริหารงานและการตอบ สนองทางการเมือง" มนุชญ์ "ภายใต้ความต้องการของท้องถิ่นที่จะต้องตอบสนอง บทบาทของภูมิภาคควรเป็นอย่างไร บทบาทของมหาดไทยในการส่งเสริมภูมิภาคควรเป็นอย่างไร"
          สมพร "โดยส่วนตัวไม่ได้ติดใจว่าจะมีหรือไม่มีภูมิภาค ตราบใดที่ชุมชนมีความเข้มแข็งก็อาจไม่ต้องปรับเปลี่ยนมาก แต่ปัจจุบันการปรับโครงสร้างเป็นสิ่งจำเป็น โดยในระยะสั้น ภูมิภาคยังคงมีความจำเป็น แต่ต้องมีการปรับบทบาทซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้บริหารจัดการทรัพยากรใน จังหวัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นพี่เลี้ยงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วลดบทบาทในการเป็นผู้ปฏิบัติลง อีกด้านหนึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยค่อนข้างละเลยวิชาการ/ข้อมูลช่วงสิบปี ข้างหน้า มหาดไทยจึงควรให้ความสำคัญด้านนี้อย่างจริงจังโดยสร้างให้เป็นวัฒนธรรม องค์กรเพื่อทำให้การทำงานระดับภูมิภาคมีความเข้มแข็ง"
          "ที่ ผ่านมา จากการทำงานร่วมกับท้องถิ่น การสร้างชุมชน/ท้องถิ่นเข้มแข็งต้องอาศัยท้องที่ท้องถิ่น และชุมชน ซึ่งหากกระทรวงมหาดไทยสามารถทำให้ทั้งสามส่วนนี้พัฒนาไปพร้อมกัน ก็จะทำให้สังคมโดยรวมเข้มแข็งได้ โดยมองเป้าหมายระยะยาว คือ การให้ท้องถิ่นเป็นโรงเรียนประชาธิปไตยและพัฒนาประชาชนให้เป็นพลเมือง"
          คนต่อไปเห็นอย่างไร ขอไว้ต่อสัปดาห์หน้า ละครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น