วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

อนุมัติ ! โดยขาดความระมัดระวัง มีสิทธิ ! ถูกเรียกค่าเสียหาย


 อนุมัติ ! โดยขาดความระมัดระวัง มีสิทธิ ! ถูกเรียกค่าเสียหาย

คดีนี้เป็นคดีปกครองที่น่าสนใจสำหรับหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ในด้านการบริการสาธารณะ แต่ขาดความรอบคอบและระมัดระวังในการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนอนุมัติให้มีการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการก่อสร้างถนนจนไปรุกล้ำที่ดินของเอกชน และในที่สุดก็ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้น

ข้อเท็จจริงก็คือ ภายหลังจากที่ผู้ถูกฟ้ องคดีที่ 1 (เทศบาลตำบลเมืองแกลง)  ได้รับหนังสือของนาง ส.เจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) แจ้งว่าไม่อนุญาตให้ผู้ถูกฟ้ องคดีที่ 1 สร้างถนนเข้าไปในที่ดินของตนและต้องการยกเลิกถนนดังกล่าว ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมีความเห็นว่า เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ได้ทำการตรวจสอบทางสาธารณประโยชน์ก่อนมีการสร้างถนน ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่รอบคอบ ขาดความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเหตุให้มีการสร้างถนนผ่านเข้าไปในที่ดินของนาง ส. จริง โดยมีผู้ฟ้ องคดีเป็นผู้ลงนามอนุมัติแบบแปลนโครงการก่อสร้างถนนสายดังกล่าวในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี จึงมีความเห็นกำหนดความรับผิดของเจ้าหน้าที่ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้คิดเป็นเงิน36,353.85 บาท โดยมีผู้ต้องรับผิดชดใช้ 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผู้ปฏิบัติงานและควบคุมการปฏิบัติงาน และ 2) กลุ่มผู้รับผิดชอบการบริหารงาน โดยมีปลัดเทศบาลและผู้ฟ้ องคดีเป็นผู้ต้องรับผิดคนละ 5,000 บาท

หลังจากที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคำสั่งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีคำวินิจฉัยในแนวทางเดียวกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้ องคดีที่ 1 และที่ 2

               คดีนี้มีข้อกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. 2539 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 8 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้ามิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ซึ่งมาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง”

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดี (ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเมืองแกลง) ในการอนุมัติโครงการในแผนพัฒนาเทศบาลตำบลเมืองแกลงระยะปานกลาง5 ปี แผนพัฒนาประจำปี พ.ศ. 2544 และอนุมัติแบบแปลนโครงการก่อสร้างถนนเทศบาล เป็นการกระทำในฐานะ
เจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อดำเนินกิจการในด้านการบริการสาธารณะ อันเป็นการกระทำทางปกครองตามอำนาจหน้าที่ของตนตามมาตรา 48 เตรส แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล(ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 และการอนุมัติดังกล่าวมีผลผูกพันให้นายกเทศมนตรีคนใหม่ดำเนินการทำสัญญาจ้างกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ซ. ก่อสร้างถนนสายดังกล่าวโดยใช้แบบแปลนการก่อสร้างตามที่ผู้ฟ้องคดีอนุมัติ เมื่อรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของนาง ส. และได้ความจากการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดว่าไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการตรวจสอบเส้นทางก่อนการสำรวจออกแบบว่าทางทั้งหมดที่จะก่อสร้างเป็นทาง สาธารณประโยชน์ ไม่มีหลักฐานการตรวจสอบที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือไม่ และการที่ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้บังคับบัญชาและผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลการใช้ประโยชน์และบำรุงรักษาที่สาธารณะ อนุมัติแบบแปลนที่จะก่อสร้างถนนโดยไม่ตรวจสอบกรรมสิทธ์ในที่ดินดังกล่าวเสียก่อนนั้นเป็นการกระทำที่ขาดความระมัดระวังอันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

                                แม้นาง ส. จะยังมิได้ปิดกั้นถนนบริเวณพิพาทเพื่อห้ามการสัญจรไปมาและมิได้เรียกร้องค่าเสียหายนั้น
แต่เมื่อทางดังกล่าวมิได้ตกเป็นทางสาธารณประโยชน์ และนาง ส. ได้เคยแจ้งความประสงค์ให้ยกเลิกเส้นทางที่ก่อสร้างทับที่ดินของตนและสามารถปิดกั้นมิให้มีการใช้สัญจรเมื่อใดก็ได้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธ์ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นการก่อสร้างถนนในบริเวณพิพาทก็จะสูญเสียไปเปล่าๆ และนาง ส. ก็ได้ถมดินและเทคอนกรีตทับถนนลาดยางที่ได้ก่อสร้างแล้ว กรณีจึงถือได้ว่าหน่วยงานของรัฐเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามมาตรา 10 ประกอบมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

ดังนั้น คำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้ องคดีที่ 2 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 76/2554) คดีนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดีว่า แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วก็ตาม ถ้าการทำหน้าที่นั้นขาดความระมัดระวังตามหน้าที่ที่พึงต้องกระทำจนเกิดความเสียหายขึ้นกับเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ก็อาจต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หากความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ... ครับ
นายปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น