วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

เที่ยวแม่ฮ่องสอน

    
    วันนี้ของดเรื่องระเบียบกฎหมายสัก ๑ ตอน ขอเป็นเรื่องเที่ยว คลายเครียดปีใหม่ก็แล้วกัน  คือเพิ่งคิดได้ว่า ชีวิตคนเราไม่ควรหมกมุ่นทำแต่งานอย่างเดียว เราควรต้องมีการพักผ่อน เพื่อเติมพลังงานให้กับตัวเองบ้าง  หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการจัดงาน Count Down ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตอนเช้าก็ไปทำบุญตักบาตร ร่วมกับประชาชน จนเสร็จสิ้นภารกิจ ก็ออกเดินทางกันเลย (เนื่องจากทิปนี้เตรียมแผนการณ์ล่วงหน้าเอาไว้แล้ว จองตั๋วเครื่องไว้ล่วงหน้า แต่แอบลาพักผ่อนตอนใกล้ๆวัน อิอิ )
           เช้าวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๕ หลังเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว ก็เหินฟ้าสู่สนามบินสุวรรณภูมิ โปรแกรมครั้งนี้พวกเรา กลุ่มคนหนุ่ม(ที่เหลือน้อยเต็มที) ตกลงกันว่าเราจะไปประลองความหนุ่มกันด้วยการเดินทางสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยขับรถกันไปเอง ไปพิสูจน์ความแข็งเกร่งของร่างกาย แต่ก็มีข้อแม้เป็นตัวช่วยไว้หลายประการด้วยกัน คือ รถ ๑ คัน ให้มีคนช่วยขับได้ ๑ คน และในแต่ละวันเราจะเดินทางกันไม่มากมายนัก (คือพยายามพักกันตลอดทาง) และเราจะพยายามเดินทางกันด้วยความประหยัด คือจะหาที่พักราคาถูกๆ (แต่ก็ไม่ถึงกับต้องนอนวัด เพราะร่างกายอาจจะทนไม่ได้ ) วันนี้เป็นวันแรกของการเดินทาง คณะของเราไม่จำกัดเวลาออกเดินทาง ปล่อยกันตามสบาย ไปเจอกันที่จังหวัดตาก เพราะคืนแรกเราจะพักกันที่จังหวัดตาก ข้าพเจ้าเองถึงสนามบินสุวรรณภูมิเอาตอนประมาณบ่ายสอง มีเพื่อนเอารถมารับ และเริ่มทดสอบความหนุ่มตั้งแต่สนามบินสุวรรณภูมิเป็นต้นไป โดยขับรถจากสุวรรณภูมิ ไปถึงจังหวัดตากให้ได้ ซึ่งก็สามารถดำเนินการได้ โดยถึงจังหวัดตากเอาตอนทุ่มหนึ่งพอดิบพอดี หลังจากนั้นก็เขาพักที่สวนสินการ์เด้น รีสอร์ท (บอกแล้วนโยบายประหยัด ไม่พักที่พักราคาแพง ก็สวนสินคิดราคา ๓๘๐ บาท ต่อคืน ไม่มีอาหารเช้า มีกาแฟขนมปังให้ตอนเช้า แค่นี้ก็พอแล้ว)   เป็นอันสิ้นสุดการเดินทางในวันแรก


                                                      ภาพโรงแรมที่พัก

                                       ภายในห้องพัก มีห้องน้ำ ตู้เย็น แอร์ พร้อม

              สำหรับการเดินทางวันที่สอง(๒ มกราคม ๒๕๕๕) นี่ ค่อนข้างจะโหดเอาการ เพราะเราตั้งเป้าไว้ว่าจะเดินทางไปให้ถึงตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยใช้เส้นทาง ตาก - เถิน (ลำปาง) - ลี้ (ลำพูน) - ดอยเต่า (เชียงใหม่) - ฮอด (เชียงใหม่)  - แม่สะเรียง - แม่ฮ่องสอน ซึ่งนับว่าเป็นเส้นทางที่โหดเอาการมากๆ เส้นทางหนึ่งเลยครับ
              การเดินทางในวันที่สองคณะของเราไม่รีบร้อนมากนัก เพราะคำนวณระยะทางแล้วประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตรกว่าๆ (เอง) เราจึงปล่อยคณะตามสบายตื่นนอน อาบน้ำ เก็บของ กินกาแฟ ขนมปัง กว่าจะเสร็จเรียบร้อยล้อหมุนกันได้ ก็ปาไป ๙.๐๐ น.  เมื่อคณะออกเดินทางมาถึงอำเภอเถิน จังหวัดลำปางก็เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนสายเถิน - ลี้ - ฮอด โดยใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๖ เส้นทางสายนี้ก็นับว่าโหดเอาการอยู่มาก เพราะเป็นเส้นทางที่คดเคี้ยวไปตามไหลเขา สันเขา วกวนมากจนปวดหัวเอาการ


เส้นทางก็จะประมาณอย่างนี้ไปตลอดทาง แคบก็แคบ โค้งก็เยอะ แถมโค้งเหล่านี้คงไม่ได้นับรวมเข้าไปใน พันกว่าโค้งของการขึ้นแม่ฮ่องสอนซะด้วยซิ เรามาถึงฮอดเอาเที่ยงกว่าๆ ก็เลยต้องแวะข้างทางจัดการอาหารกลางวันกันตามอัธยาศัย ส่วนผมเองก็ตามถนัด แวะร้านอาหารพื้นเมือง จัดการสั่งส้มตำปูปลาร้า ลาบหมูคั่ว แกงอ่อมเนื้อ ตามด้วยโค็กอีก ๑ ขวด มาล้างคอ


หลังจากอิ่มหนำสำราญกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จัดการเติมน้ำมันรถให้เต็มถัง แล้วก็มุ่งหน้าสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนกันต่อไป โดยวิ่งผ่านอำเภอแม่สะเรียง แม่ลาน้อย และอำเภอขุนยวม ก่อนจะเข้าสู่อำเภอเมือง แม่ฮ่องสอน ซึ่งเขาบอกว่าได้ผ่านมาถึง ๑,๘๖๔ โค้งแล้ว เมื่อมาถึงแม่ฮ่องสอนเอาตอนประมาณสี่โมงเย็น คณะของเราแวะลงทะเบียนที่ศูนย์ศิลปาชีพแม่ฮ่องสอน ซึ่งตั้งอยู่ติดถนนสายหลักที่เข้าเมืองแม่ฮ่องสอน (ถ้าจำไม่ผิดคือถนนขุนลุมประพาส) เพราะคณะของเรามีเป้าหมายจะเข้าพักที่ โครงการพระราชดำริปางตอง ๒ หรือที่เรียกกันว่า ปางอุ๋ง ซึ่งการเข้าปางอุ๋งนี่ จะเข้าพัก หรือจะแวะไปเที่ยว จะจองที่พัก หรือจะไปกางเต็นท์ ก็จะต้องไปลงทะเบียนที่ศูนย์ศิลปาชีพก่อนทั้งสิ้น พร้อมทั้งรับบัตรอนุญาตผ่านเข้าปางอุ๋งก่อน จึงจะเข้าสถานที่นี้ได้ และจะเปิดให้ลงทะเบียนถึงแค่ห้าโมงเย็นเท่านั้น นอกจากนี้แล้วยังมีข้อกำหนดอีกว่า หลังจากหกโมงเย็นแล้ว จะไม่อนุญาตให้รถเข้าไปยังปางอุ๋ง (แต่วันที่ข้าพเจ้าไปพัก สองทุ่มยังได้ยินเสียงรถของนักท่องเที่ยวอยู่เลย ไม่เป็นไรเข้าใจว่ากฎทุกกฏมีข้อยกเว้นเสมอ) เมื่อลงทะเบียนเสร็จแล้วคณะของเราจึงเดินทางต่อเข้าไปในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อเข้าพัก โดยในคืนนี้เราจะนอนพักในเมืองแม่ฮ่องสอน โดยได้ที่พักที่โรงแรมพานอรามา  ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนขุนลุมประพาส เช่นกัน


โรงแรมตั้งอยู่กลางเมือง ค่าห้องพักสองคนก็ ๖๐๐ บาท ไม่มีอาหารเช้า ที่ตั้งของโรงแรมสะดวกต่อการหาอาหารรับประทานทั้งในตอนเย็นและมื้อเช้า แถมจากโรงแรมสามารถเดินไปถนนคนเดินที่บริเวณวัดจองกลางได้สะดวกอีกด้วย เพราะอยู่ห่างกันแค่ประมาณ ๒๐๐ เมตรเอง (ไม่รู้ว่าสองร้อยเมตรจริงหรือเปล่า น่าจะไกลกว่านั้นนะ) หลังจากเก็บของเข้าที่พักเรียบร้อยแล้ว เราก็พักผ่อนกันตามอัธยาศัย จนเวลาประมาณหกโมงเย็น เราจึงออกเดินไปที่บริเวณถนนคนเดินของเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อเยี่ยมชม (ต้องใช้คำว่าเยี่ยมชมจริงๆ เพราะเราไม่ได้ซื้ออะไรกันเลย นอกจากส้มสายน้ำผึ้งมากิโลเดียว)



 สภาพถนนคนเดินในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นช่วงหัวค่ำ คนเดินอาจจะยังมีน้อย ไม่หนาแน่น
วัดจองกลาง ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนคนเดิน
เมื่อชื่นชมสินค้าในถนนคนเดิน และความงามของวัดจองกลางจนเป็นที่พอใจแล้ว ก็หาอาหารมื้อเย็นกินกันและเดินทางกลับโรงแรมที่พักเพื่อพักผ่อน โดยมีการนัดหมายกันว่าประมาณ หกโมงเช้าเราจะเดินไปตลาดเช้า ซึ่งมีชื่อว่าตลาดสายหยุดกัน เพื่อดูวิถีชีวิตของชาวบ้าน หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันขึ้นห้องพักนอน
           เช้าวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๕ คณะของเราก็ตื่นมาพร้อมกันหลังเวลานัดหมายเล็กน้อย คือมาพร้อมกันเอาตอนเจ็ดโมงเช้า แล้วก็รวมตัวกันเดินไปตลาดสายหยุด
สภาพตัวเมืองแม่ฮ่องสอนยามเช้า มีหมอกจางๆ อากาศไม่หนาวเย็นอย่างที่คิด ที่สำคัญไม่มีรถราวิ่งกันให้เวียนหัว

ในท่ามกลางสายหมอกในยามเช้าของเมืองแม่ฮ่องสอน จะมีพระออกเดินบิณฑบาตเป็นระยะๆ คณะของเราจึงถือโอกาส ซื้ออาหารสำเร็จรูปที่พ่อค่าแม่ค้าจัดมาบริการนักท่องเที่ยวได้ใส่บาตร ทำบุญกัน ซึ่งพระท่านก็เมตตาจัดชุดใหญ่ให้กับคณะของเรา ด้วยบทกรวดน้ำ และบทให้ศีลให้พร เป็นที่อิ่มเอมเปรมใจ แล้วจึงหันหลังเข้าร้านข้าวต้มเลือดหมู กันคนละถ้วย พร้อมด้วยกาแฟและน้ำชา อีกคนละแก้ว เป็นที่เรียบร้อยสำหรับอาหารเช้า ก่อนเดินทางกลับโรงแรมที่พัก เพื่ออาบน้ำ อาบท่าเตรียมเดินทางต่อ

ภาพทิวทัศน์มองจากโรงแรม จะเห็นภูเขาด้านหลังหมอกค่อนข้างหนาทึบแทบมองไม่เห็น
อีกภาพครับเป็นภาพภายในวัดที่อยู่ติดกับโรงแรม

          เมื่อคณะพร้อม ล้อก็หมุน การเดินทางในวันนี้ไม่รีบเร่งใดๆ เพราะคณะของเราแค่เดินทางเข้าปางอุ๋ง เพื่อไปนอนรับบรรยากาศป่าเขาลำเนาไพร จึงออกเดินทางเอาตอนเกือบ ๙ โมงเช้า ออกตามถนนขุนลุมประพาสมุ่งหน้าไปทางอำเภอปาย สักพักเดียว ก็เจอป้ายบอกทางเข้าโครงการพระราชดำริ ปางตอง ๒ ซึ่งเป็นทางเข้าทางเดียวกับทางไปภูโคลน แหล่งสปาเอาโคลนในบ่อมาพอกหน้า ซึ่งข้าพเจ้าเคยเดินทางไปครั้งหนึ่งแล้ว เราเดินทางไปตามถนนสบายๆไม่ค่อยจะวกวนมากนัก จนถึงบ้านหมอกจำแป่ เส้นทางก็เริ่มเปลี่ยนไปสู่สถานะเดิม คือคดเคี้ยว วกวน สูงๆต่ำๆ ขึ้นๆลง ไปตามภูเขา ขับกันจนเวียนหัวแล้ว เวียนหัวอีก ก็มาถึงทางแยกเข้าโครงการตามพระราชดำริ ปางอุ๋ง แต่คณะของเรายังไม่รีบร้อนเข้าตอนนี้ เราจะตรงไปบ้านรักไทย กันก่อน ซึ่งต้องขับรถไปตามทางที่คดเคี้ยวต่ออีกเล็กน้อย คือประมาณ ๖ กิโลเมตร ก็ถึงบ้านรักไทย
ก็ขออนุญาต copy ประวัติบ้านรักไทย มาลงไว้เพื่อเป็นข้อมูลนะครับ

          บ้านรักไทย ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหมู่บ้านชาวจีนยูนนานอดีต ทหารจีนคณะชาติ (กองพล 93) “ก๊กมินตั๊ง” บ้านรักไทยอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล กว่า 1,776 เมตร ทำให้พื้นที่ เหมาะสมอย่างยิ่งกับการปลูกชาพันธุ์ดี และพืชเมืองหนาว ทิวทัศน์ของหมู่บ้านโอบล้อมไปด้วยทิวเขา แมกไม้ที่ อุดมสมบูรณ์ บ้านรักไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อในเรื่องของชาและขาหมูหมั่นโถว คล้ายกับดอยแม่สลอง (กองพลเดียวกัน) นักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวที่แห่งนี้เพื่อดื่มด่ำกับการชิมชา และ ทานขาหมูหมั่นโถว บ้างก็หลีกหนี ความวุ่นวายมาหาความเงียบสบายของบ้านรักไทยแห่งนี้ บ้านรักไทยยังมีกิจกรรมหลายอย่างไว้ให้นักท่องเที่ยว ได้สนุกสนาน เช่น การเดินป่าศึกษาเส้นทางโดยมัคคุเทศน์น้อยพาเข้าไปชม "คุกดิน" และการขี่ม้าพาข้ามแดนไป ฝั่งพม่า ที่บ้านรักไทยยังมีเกสถ์เฮาส์ริมน้ำ (บ้านดิน) ไว้บริการนักท่องเที่ยวที่ต้องกับสัมผัสกับธรรมชาติแบบใกล้ ชิดอีกด้วย


 ป้ายหลักกิโลเมตร แย่งกันทำหลายแบบเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก แต่แน่ๆก็คือเมื่อมาถึงบ้านรักไทย ก็หมายความว่ามาสุดเขตประเทศไทยไทยแล้ว ข้ามเขาไปก็ประเทศพม่า

      เราเดินทางถึงบ้านรักไทย ก็ประมาณ ๑๑ โมงกว่าๆ ก็แวะชิมชากันเลย เพราะตามข่าวว่าชาที่นี่อร่อยมาก เจ้าของร้านก็รับรองเต็มที่ชงชาสารพัดมาให้เราลองชิม กำลังเพลิดเพลินกับการจิบชา เจ้าของร้านก็แอบหยิบเมนูอาหารมาวางยั่วน้ำลายเราซะอีก แหมทนไม่ได้เพราะบ้านรักไทยนี่เขาขึ้นชื่อเรื่องขาหมู หมั่นโถว เล่นหยิบเมนูมายั่วกันอย่างนี้ก็ต้องลองกันซะหน่อย ว่าแล้วก็จัดแจงสั่งขาหมูมาหนึ่งขา หมั่นโถว แถมด้วย ผัดยอดถั่ว(จะเป็นยอดถั่วเหลืองหรือถั่วลิสง จำไม่ได้ จำได้แต่ว่ากินจนหมดจาน เพราะอร่อยมาก และแก้เลี่ยนขาหมูได้เป็นอย่างดี)


อาหารสามอย่างที่สั่งมาลิ้มลองรสกัน

  
ชัดๆขาหมูที่ขึ้นชื่อของบ้านรักไทย มาพร้อมน้ำจิ้มออกรสเค็มๆ อร่อยอย่าบอกใคร


หมั่นโถวเหนียวนุ่มอร่อย กินกับขาหมู (ไม่รู้ทำไมต้องเป็นขาหมู หมั่นโถว ก็กินตามเขามันก็อร่อยดี ใช้ได้เลยละ)

ผัดยอดถั่ว(เอาเป็นถั่วเหลืองแล้วกัน เห็นแถวนั้นเขาผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองกันมาก เช่น ถั่วเหลืองทอดอะ) ทำรสชาดถูกปากคนกินเผ็ดครับ เห็นพริกไหมครับ แก้เลี่ยนได้ดี

          หลังจากอิ่มหนำสำราญกับอาหารและน้ำชาแล้ว ต่อไปก็เป็นคิวการเดินเยี่ยมร้านขายของ ซึ่งจะขายสินค้าเหมือนๆกัน คือประเภทชา อุปกรณ์การกินชา ผลไม้แช่อิ่ม ประเภทต่างๆ


ร้านค้าภายในหมู่บ้านรักไทย


สภาพของหมู่บ้านรักไทย มีอ่างเก็บน้ำอยู่กลางหมู่บ้าน และโอบล้อมไปด้วยภูเขา

บ้านบางหลังก็ไปตั้งอยู่บนภูเขา

        หลังจากซื้อของเสร็จเรียบร้อยแล้ว (ได้บ๊วยเปรี้ยวๆเค็มๆ มาสำหรับอมเวลาเวียนหัวจากการขับรถวนไปตามไหล่เขา) คณะของเราก็ออกเดินทางกลับมาทางเดิมจนถึงทางแยกเข้าปางอุ๋ง ซึ่งที่นี่จะมีด่านของ อบต.หมอกจำแป่ คอยตรวจบัตรอนุญาต (ซึ่งได้รับตอนไปลงทะเบียนไว้ที่ศูนย์ศิลปาชีพแม่ฮ่องสอน) ก่อนจะอนุญาตให้เดินทางเข้าปางอุ๋ง การเดินทางเข้าปางอุ๋งจากจุดนี้เข้าไปอีกประมาณสิบกว่ากิโลเมตรนะครับ ต้องขอบอกว่าว่าเป็นเส้นทางที่คับแคบมากๆ รถสวนกันลำบาก และเส้นทางคดเคี้ยว วกวน วนเวียน ขึ้นเขา ลงเขาตลอดระยะทาง ดังนั้นตามกฎจึงไม่อนุญาตให้นำรถเข้าหลังหกโมงเย็นเพราะถ้ามืดกลางทางคนขับไม่ชำนาญทางจะอันตรายมากๆ และหากมีรถสวนก็ต้องเล็งทางหลบกันดีๆ ไม่งั้นได้กลิ้งลงไปนอนเชิงเขาแน่ๆ

 เส้นทางเข้าบ้านรวมไทย หรือ ปางอุ๋ง

ถึงแล้วบ้านรวมไทย

               เมื่อเดินทางถึงปางอุ๋ง เราจะต้องผ่านเข้าหมู่บ้านรวมไทยก่อน ซึ่งหมู่บ้านรวมไทยนี้ จะเป็นทั้งที่ตั้งของหน่วยทหารที่ดูแลพื้นที่ และบ้านพักของชาวบ้าน ซึ่งจะเปฺดเป็นร้านขายของ ทั้งขายข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาหาร ประเภทอาหารตามสั่ง น้ำชากาแฟ เครื่องดื่มต่างๆ อาหารเช้า ทั้งแบบไทยๆ เช่น โจ๊ก ข้าวผัด หรืออาหารฝรั่ง เช่น ไข่กะทะ (ฝรั่งหรือเปล่าเนี่ย) อาหารประเภทปิ้ง ย่าง ทอด เผา เช่น มันเผา ไข่ปิ้ง ถั่วเหลืองทอด (มันเผาอร่อยมาก อากาศเย็นๆ มันเผาร้อนๆ เข้ากันดีมาก โดยเฉพาะกินไปติดคอไป)  และขายของที่ระลึก ประเภทไปรษณีย์บัตร โปสการ์ด เสื้อ กางเกง ที่ระลึกจากปางอุ๋ง (ขอบอกแบบนินทา ร้านแรก ถ้าเดินออกจากที่พัก ผ่านวัดมาทางขวามือ ขายเสื้อผ้าและของที่ระลึก จะขายแพงกว่าเขา เช่น โปสการ์ดพร้อมแสตมป์ ขาย ๒๐ บาท ร้านอื่น ๑๕ บาท เสื้อผ้าขายตัวละ ๑๕๙ บาท ร้านอื่น ๑๓๙ บาท (เสื้อยืด) เอามาเล่าเพราะโดนมาแล้ว ดังนั้นท่านที่มาพักที่ปางอุ๋ง ไม่ต้องกลัวอดนะครับ มีของขายครบถ้วน บริบูรณ์ 
  
             เมื่อวิ่งรถผ่านกลางหมู่บ้านมาแล้ว ก็จะเข้าเขตที่พักของปางอุ๋ง คือบริเวณอ่างเก็บน้ำนะครับ ถ้าขับตรงไปก็จะเข้าไปบริเวณที่พักของอุทยาน ซึ่งจะมีทั้งบ้านพักของอุทยาน และบริเวณที่กางเต็นท์ ครับ ส่วนที่พักที่ทหารดูแล จะต้องแยกทางซ้ายครับ ก่อนที่จะลงไปทางบริเวณอ่างเก็บน้ำที่เป็นเขตที่พัก ก็จะมีวัดอยู่  ซึ่งวัดนี้(น่าจะชื่อว่าวัดรวมไทยนะครับ) จะใช้ที่ลานวัดเป็นที่จอดรถครับ เพราะบริเวณอ่างเก็บน้ำห้ามจอดรถครับ แต่สามารถขับรถเอาของไปลงที่บ้านพักได้แล้วขับวนกลับมาจอดที่วัด สำหรับคณะเราจองที่พักที่ รวมไทยเก้สท์เฮ้าส์ ซึ่งเป็นที่พักที่อยู่ในความรับผิดชอบของทหาร ราคาไม่แพง เริ่มที่ ๓๕๐ บาท ครับ (แอบนินทาอีกแล้ว บริเวณที่พักที่ดูด้วยตาเปล่านะครับ ในส่วนความรับผิดชอบของทหาร ค่อนข้างขาดระเบียบ ความสวยงามและความอะอาด ส่วนในเขตของอุทยาน สะอาด เป็นระเบียบดีครับ แต่มีข้อเสียคือ ที่พักในเขตอุทยาน อยู่ไกลหมู่บ้านครับ ถ้าไม่ขับรถออกมาหมู่บ้านก็เดินกันได้เหงื่อละครับ และที่สำคัญคือจุดขึ้นแพ อยู่ในเขตของทหารครับ)


ก็ยึดตามกฎกติกา เอาของไปลงแล้วขับรถวนไปจอดที่ที่วัด ที่พักที่นี่จะมีทั้งแบบให้บริการที่กางเต็นท์ เต็นท์ บ้านพักขนาดเล็ก ห้องน้ำรวม (คือไม่มีห้องน้ำในที่พัก ต้องไปใช้ห้องน้ำรวม) บ้านพักขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีห้องน้ำในบ้าน แต่ที่เหมือนกันคือทุกบ้าน จะได้รับแจกเทียนและไฟแช็ค เพราะที่นี่มีไฟฟ้าแบบปั่นเอง จะเปิดไฟตั้งแต่หกโมงเย็น และปิดประมาณ ๔ ทุ่ม ครับ ผู้ไปพักควรเตรียมไฟฉายไปด้วย เผื่อต้องการออกมาทำธุระยามดึก ครับ 


 ที่เห็นนี่เป็นบ้านพักขนาดเล็กครับ ไม่มีห้องน้ำในตัวที่พัก ตั้งอยู่ติดกับอ่างเก็บน้ำเลย แถมติดโรงอาหารด้วย แต่วันที่ไปพักโชคไม่ดีนิดหน่อย คือทหารที่เป็นพ่อครัว ประจำโรงอาหาร ได้รับอนุญาตให้ลาพักผ่อนวันปีใหม่ จึงไม่มีพ่อครัวครับ เลยต้องเดินออกไปหาของกินกันที่บ้านรวมไทย สำหรับห้องน้ำรวมจะอยู่บ้านหลังครับ เดินขึ้นเนินเขา(พอให้เหนื่อยเล็กน้อย) น้ำในห้องน้ำก็สูบมาจากในอ่างครับ ต้องขอบอกว่าเย็นมากๆ เวลาอาบเนื้อตัวจะชาเลย บ้านพักจะต้้งอยู่ในป่าสนนะครับ ร่มรื่นตลอด


บ้านพักจะมีนอกชานหน้าบ้าน สำหรับนั่งตากลมรับอากาศหนาวครับ ส่วนหลังสูงซ้ายมือสุด จะเป็นโรงอาหารครับ 

บ้านพักขนาดใหญ่และกลางจะอยู่ด้านบนเนินเขา

      หลังจากจัดการเรื่องที่พักกันได้ลงตัวเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็เป็นการเที่ยวชมทัศนียภาพโดยรอบอ่างเก็บน้ำในช่วงบ่ายและช่วงเย็น


ศาลาริมน้ำ เป็นแพนะครับ ตั้งอยู่ในน้ำ ผูกติดไว้กับต้นไม้สำหรับให้ผู้มาเที่ยวได้นั่งพักผ่อน หรือนั่งรับประทานอาหารกัน


มองไปอีกด้านหนึ่งจะเห็นสันทำนบดินด้านมุมซ้ายนะครับ และเห็นศาลาเรือนแพในน้ำอีกหลังหนึ่ง


แพนั่งชมความงามในอ่างเก็บน้ำครับ รับผู้โดยสารได้ไม่เกิน ๒ คน พร้อมคนแจวอีก ๑ คน นำผู้โดยสารชมความงามในอ่างน้ำ และพาไปดูหงส์ อัตราค่าบริการ ๑๕๐ บาท ครับ


ขอยืมภาพประกอบของคนอื่นมาลงให้ดูนะครับว่านั่งแพมันโรแมนติคขนาดไหน


สำหรับการนั่งแพชมความงามของอ่างเก็บน้ำ ที่ถือว่าเป็นสัญญลักษณ์อย่างหนึ่งของปางอุ๋งก็คือ การมาเยี่ยมเจ้าหงส์ ที่ถูกปล่อยให้หากินอยู่ในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งระหว่างทาง คนแจวแพ (คนที่นั่งท้ายสุดหันหน้าไปทางด้านหลังแพนั่นแหละ) ได้ชี้ชวนให้เราดูสาหร่ายในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ว่านี่คืออาหารของเจ้าหงส์ ที่เรากำลังจะไปเยี่ยม  ซึ่งจะหากินอยู่บริเวณที่เป็นที่พักของอุทยาน 

ปกติเจ้าตัวที่จะต้องออกมารับแขกคือตัวขาวดำคู่นี้ แต่วันนั้น เจ้าตัวขาวคู่หนึ่งถูกขังอยู่ในคอกกั้น ไม่ให้ออกมารับแขก คนแจวแพบอกว่า เป็นหงส์ขาวที่ได้มาใหม่ ยังไม่คุ้นกับคน ถ้าปล่อยออกมากลัวจะหนีเข้าป่า เลยต้องขังไว้ก่อน แต่เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวเหงา ก็ปล่อยขบวนหงส์ดำ ออกมารับรองนักท่องเที่ยวไปพลางๆก่อน


       เมื่อแวะทักทายกับหงส์ดำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงคราวกับเข้าฝั่ง ซึ่งสรุปว่าใช้เวลาบนแพไปประมาณ ๔๕ นาที สบายๆบนแพนะครับ

จุดถ่ายรูปบ่งบอกว่าเป็น "ปางอุ๋ง"
ถ่ายจากปากทางเข้าวัดไปยังทำนบดินอ่างเก็บน้ำ


แพที่จอดเรียงรายจอดรอนักท่องเที่ยวเรียกใช้บริการ


ความร่มรื่นของต้นสนบริเวณที่พักในปางอุ๋ง

หลังจากเดินชมวิว ชมบรรยากาศกันจนเมื่อยแล้ว ก็ได้เวลาอาบน้ำนอน ซึ่งตอนอาบน้ำนี่ก็เกี่ยงกันน่าดูเพื่อหาผู้นำในการทดสอบความเย็นของน้ำก่อน จนในที่สุดเราก็ต้องมาตกลงกันว่า ใครไม่อาบให้นอนนอกบ้าน ทุกคนจึงต้องอาบน้ำ ต้องขอบอกอีกครั้งว่าน้ำเย็นมาก เย็นจนตัวชา ยิ่งเวลาแปรงฟันแล้วสำหรับคนชอบเสียว (ฟัน) อย่างเรา ต้องขอบอกว่าฟันแทบหลุดตามออกมา บางคนเลยเล่นผิดกติกา แอบเอาน้ำสำหรับดื่ม ไปแปรงฟัน คืนนี้หลับแบบสลบ เพราะเหนื่อยมากกับการขับรถวนเวียนบนภูเขา และเมาขาหมูเมื่อตอนกลางวันอะครับ
            เช้าแล้ว เช้าของวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๕ พวกเราตื่นกันตามอัธยาศัย ช่วงเช้าๆจะมีพระออกเดินบิณฑบาตร ผ่านบริเวณที่พักด้วย ทั้งพระ ทั้งเณร นับได้ ๔ รูป บางท่านก็เอาอาหารแห้งที่เตรียมกันมาใส่บาตร บางท่านก็ถวายเป็นปัจจัย คือเงินสด ตามแต่แรงศรัทธา บางท่านก็เดินไปที่บ้านรวมไทย ซื้อชุดอาหารใส่บาตร (มักจะเป็นอาหารแห้ง เช่นพวกบะหมี่สำเร็จรูป เข้าใจเอาเองว่า อาหารสำหรับฉัน ชาวบ้านทั่วไปคงใส่บาตร สำหรับนักท่องเที่ยว ตักบาตรอาหารแห้งไว้ ในยามที่ไม่มีนักท่องเที่ยวมาพระได้มีอาหารสำหรับฉัน)  เช้าๆเราจะเห็นนักท่องเที่ยวตื่นแต่เช้ามาที่บริเวณสันทำนบดินเป็นจำนวนมาก เข้าใจว่ามารอดูพระอาทิตย์ขึ้น และมาถ่ายรูปหมอกที่ลอยตัวอยูในบริเวณอ่างเก็บน้ำ บางท่านก็ถือโอกาสนั่งแพชมความงามในอ่างเก็บน้ำท่ามกลางสายหมอกยามเช้า โรแมนติกไปอีกแบบ (แต่ข้าพเจ้าเลือกนั่งดูนางแบบโพสท่าแอ๊บแบ๊วอยู่หน้าบ้าน)

  เนี่ย นั่งแพยามเช้าจะได้บรรยากาศแบบนี้ สุดยอดไหมครับ


          หลังจากนั้นพอสายหน่อย แสงแดดเริ่มจ้า ความหิวก็เริ่มเรียกหา คณะของเราจึงเดินไปที่หมู่บ้านเพื่อหาอหารเช้าทาน ก็เลือกกันตามความชอบ อย่างที่บอกไว้มีอาหารตามสั่งมากมาย ข้าพเจ้าเลือกข้าวต้ม หมูใส่เห็ดหอม ไข่ดาว และกาแฟสด อิ่มอย่าบอกใครเลย


                  ข้าวต้มหมู

ไข่ดาว(จะบอกทำไมเนี่ยก็เห็นชัดๆว่าไม่ใช่ไข่เจียวหรือไข่เยี่ยวม้า)

เมื่ออิ่มกันเต็มที่แล้ว ก็ถึงเวลาต้องเก็บของเพื่อเคลื่อนย้ายไปหาที่นอนใหม่ เป้าหมายต่อไปของเราก็คือ ปาย ดินแดนในฝันของหลายๆคน ปายอินเลิฟ เก็บของเสร็จเราก็ออกเดินทางกันทันที ขากลับก็หวาดๆอยู่เหมือนกัน ด้วยเกรงว่าจะหลงทาง เพราะที่แม่ฮ่องสอนนี่มีเอกลักษณ์อยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่ค่อยจะมีป้ายบอกเส้นทางเท่าไหร่ นานๆจะเจอสักป้าย และป้ายบอกทางมักจะบอกชื่อหมู่บ้าน เป็นหลัก ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะออกไปเจอเส้นทางหลัก หรือไม่ (ตามประสาของคนแก่ที่ไม่ค่อยจะจำทางว่าตอนขาไปผ่านหมู่บ้านไหนบ้าง)
       ก่อนอำลาปางอุ๋ง เพื่อเป็นข้อมูลของผู้ที่สนใจจะไปพักผ่อน ขออนุญาต copy ข้อมูล ของเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวมาลงไว้ให้นะครับ

         ปางอุ๋ง หรือที่มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า “โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)” นั้น เป็นโครงการในพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ อันตราย อยู่ติดแนวชายแดนพม่ามีกองกำลัง ต่างๆ มีการขนส่ง ปลูกพืชเสพติด รวมไปถึงการบุกรุกพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่าอยู่เสมอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระราชินีนาถจึงมีพระราชดำริให้รวบรวมราษฎรกลุ่มน้อยบริเวณนั้น และ พัฒนาความเป็นอยู่ ส่งเสริม อาชีพปลูกป่า สร้างอ่างเก็บน้ำ โดยมีพระราชประสงค์สร้างความมั่นคงแนวชายแดน พัฒนาความเป็นอยู่ของ ราษฎร ให้ดีขึ้นและฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืนตลอดไป
        ปางอุ๋ง มีลักษณะเป็นพื้นที่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บนยอดเขาสูง ริมอ่างเก็บน้ำเป็นทิวสนที่ปลูกเรียงรายกัน ปางอุ๋ง ที่หลายๆ คนอาจยังไม่เข้าใจความหมาย คำว่า “ปาง” ซึ่งหมายถึงที่พักของคนทำงานในป่า ส่วน “อุ๋ง” นั้น เป็นภาษาเหนือหมายถึงที่ลุ่มต่ำคล้ายกระทะใบใหญ่มีน้ำขังเฉอะแฉะ ก็น่าจะหมายถึงที่พักริมอ่างเก็บน้ำนี่เอง ภาพอันสวยงามของไอหมอกที่ลอยเหนือทะเลสาป กับบรรยากาศอันหนาวเหน็บในยามเช้า ทำให้ปางอุ๋ง กลาย เป็น เป็นสถานที่ท่องเที่ยวมาแรง ยอดฮิต สุดแสนโรแมนติกติดอันดับต้นๆของแม่ฮ่องสอน จนได้รับขนานนาม ว่าเป็น "สวิตเซอร์แลนด์แห่งเมืองไทย" ยิ่งยามพระอาทิตย์ขึ้นจะสะท้อนผืนน้ำผ่านทิวสนและไอหมอกบางๆ ยิ่งเป็นภาพที่สร้างความประทับยากจะลืมเลือน แม้ในกระทั่งเวลาที่หมอกเลือนลางหายไปก็ยังคงความงาม 
         ที่ปางอุ๋งนอกจากชมบรรยากาศของสายหมอกในยามเช้าแล้ว กิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่พลาดไม่ได้ คือ การนั่งแพ ชมทัศนียภาพและบรรยากาศโดยรอบ รวมถึงชมนดาราแห่งปางอุ๋ง นั่นก็คือหงส์พระราชทานจากสมเด็จพระราชินี ซึ่งเป็นหงส์ดำและหงส์ขาวอย่างละ 1 คู่ด้วยกันและไม่ควรพลาดที่จะไปชมสวนปางอุ๋งใกล้กับ ที่ทำการของ โครงการพระราชดำริฯ ซึ่งจัดสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีพืชพรรณที่กลมกลืนกับสภาพภูมิประเทศบนที่สูงทด แทนไร่ฝิ่น ร้างแต่ดั้งเดิมซึ่งไว้ลูกพืชที่ให้ประโยชน์ทางด้านอาหารและยาแพทย์แผนไทย และสร้างความกลมกลืนกับ ภูมิประเทศ เช่น อะโวคาโด พลับ สาลี่ บ๊วยอีกทั้งยังมีการตกแต่งด้วยสวนไม้ ดอกไม้ประดับเมืองหนาว เช่น กุหลาบ ไฮเดรนเยีย พวงแสด อีกทั้งยังมีการพยายามนำพืชและสัตว์ประจำถิ่นของพื้นที่ปางอุ๋งกลับมา เช่น เอื้องแซะและกล้วยไม้ต่างๆ และสัตว์อย่างเขียดแลน เป็นต้น
       
ระเบียบข้อปฏิบัติในพื้นที่โครงการจัดหมู่บ้านรวมไทยตามพระราชดำริ (ปางอุ๋ง)
นักท่องเที่ยวประเภทพักค้างแรม
- ต้องลงทะเบียน ผ่านศูนย์ศิลปาชีพ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงจะสามารถนำรถเข้าปางอุ๋งได้
- โทรศัพท์ 053-611-244 มือถือ 085-618-3303 โทรสาร 053-611-649, 053-611-690
- การจองที่พัก ให้แจ้งชื่อและเบอร์ติดต่อกลับ แก่เจ้าหน้าที่ (พื้นที่รองรับได้ 500 คน/วัน)
- ถึงแม้จะมีบัตรค้างแรมแต่ก็นำรถเข้าออกพื้นที่ได้ระหว่างเวลา 09.00 - 18.00 น. เท่านั้น
.นักท่องเที่ยวประเภทไปกลับ
- ผู้ที่ไม่มีบัตรค้างแรม จะต้องนำรถไปจอดไว้ที่ โรงเรียนบ้านนาป่าแปก หรือ วัดนาป่าแปก
- โดยสารรถสองแถวของชุมชนเข้าไปที่ปางอุ๋งซึ่งให้บริการระหว่างเวลา 04.00 - 18.00 น.
- บัตรโดยสารคนละ 50 บาท (ใช้ได้ทั้งขาไปและกลับเหมือน Airport Link Express Line)
- รถออกทุก 20 นาที กรณีเหมาคัน (ผู้โดยสารไม่เกิน 6 คน) คิดค่าบริการต่ำสุด 300 บาท
รถที่เข้าปางอุ๋งได้
- รถรับจ้างประจำทางในพื้นที่
- รถของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
- รถของหน่วยงานราชการในพื้นที่โครงการ
- รถของหน่วยงานราชการที่ได้รับบัตรผ่านจากจังหวัด
- รถของนักท่องเที่ยวที่มีบัตรผ่านค้างแรม เข้าออกพื้นที่ได้ระหว่างเวลา 09.00 - 18.00 น.
.รถที่เข้าปางอุ๋งไม่ได้
- รถบัส รถบรรทุกขนาดใหญ่
- รถของนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ ที่เดินทางไปกลับวันเดียว ไม่พักค้างแรมที่ปางอุ๋ง
- รถของนักท่องเที่ยวที่มีบัตรผ่านค้างแรม แต่ทว่า เดินทางมาถึงปางอุ๋งหลังเวลา 18.00 น.
ข้อมูลอื่นๆ
- ที่พักบนปางอุ๋ง จะมีเครื่องปั่นกระแสไฟให้ใช้เฉพาะช่วงเวลา 18.00 - 22.00 น. เท่านั้น เป็นอีกเหตุผลท ี่สั่งห้าม รถเข้า-ออกหลังเวลา 18.00 น. เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง นักท่องเที่ยว ควรเตรียมไฟฉาย ส่องสว่าง และแบตเตอรี สำรองให้เพียงพอต่อการใช้งาน
ที่พักปางอุ๋ง
1. รวมไทยเกสท์เฮ้าส์ที่พักติดทะเลสาป 053-611244 มี 4 แบบ
- บ้านหลังใหญ่  2 หลัง นอนได้ 4 คน มีห้องน้ำในตัว ราคา 600 บาท
- บ้านหลังกลาง 3 หลัง นอนได้ 2 คน มีห้องน้ำในตัว ราคา 450 บาท
- บ้านชนเผ่า     4 หลัง นอนได้ 2 คน มีห้องน้ำในตัว ราคา 450 บาท
- บ้านหลังเล็ก   4 หลัง นอนได้ 2 คน ห้องน้ำรวม     ราคา 350 บาท
2. บ้านพักร่วมโครงการฯ ในหมู่บ้าน
- บ้านพัก       69 หลัง นอนได้ 2 คน มีห้องน้ำในตัว ราคา 400 บาท
- พักเกินจำนวน คิดเพิ่มคนละ 100 บาท
กรณีพักค้างแรมด้วยเต็นท์
- เต็นท์ จะไม่มีการจองล่วงหน้า ให้ติดต่อศูนย์ศิลปาชีพฯ ด้วยตนเอง ก่อนเวลา 12.00 น.
- พื้นที่กางเต็นท์จำกัด 100 พื้นที่ต่อวัน และต้องเดินทางไปถึงปางอุ๋ง ก่อนเวลา 18.00 น.
- พื้นที่สำหรับกางเต็นท์ (นำเต็นท์มาเอง) 70 พื้นที่ ราคา 100 บาท ต่อ 1 หลัง
- พื้นที่สำหรับกางเต็นท์ (มาเช่าเต็นท์ที่นี่) 30 พื้นที่ ราคา 300 บาท ต่อ 1 หลัง
***บริการล่องแพชมบรรยากาศและหงส์ ราคา 150 บาท
***ช่วงเทศกาลที่พักจะเต็มเร็วมากหากใครจะไปเที่ยวต้องจองล่วงอย่างน้อย 1 เดือน
ระเบียบการจองบ้านพัก
- โครงการจัดหมู่บ้านรวมไทยตามพระราชดำริ (ปางอุ๋ง) จะเก็บข้อมูลการจองเอาไว้ 7 วัน
- หากไม่โอนเงินภายใน 7 วัน ถือว่ายกเลิกการจอง และถูกตัดยอดไปให้ผู้อื่นต่อในทันที
- ส่งแฟกซ์ใบโอนเงินมาที่ 053-611-649, 053-611-690 ระบุชื่อผู้พัก/ผู้จอง วันที่เข้าพัก
- เงินที่โอนเข้าบัญชีแล้ว ไม่มีการคืน, สามารถเปลี่ยนวันเข้าพักได้ หากมีที่ว่างในเวลานั้น
- นำใบโอนเงินตัวจริงมาในวันเข้าพักด้วย
- รับจองบ้านพักเฉพาะวันและเวลาราชการ (จันทร์ - ศุกร์ ระหว่างเวลา 8.30 - 16.00 น.)
- รับบัตรค้างแรมได้ทุกวัน เวลาราชการ (จันทร์ - อาทิตย์ ระหว่างเวลา 8.30 - 16.00 น.) 
2. บ้านพักของโครงการพระราชดำริ ปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)
โครงการพระราชดำริ ปางตอง ปางอุ๋ง  (ส่วนป่าไม้)   มีบ้านพักจำนวน 5 หลัง และพื้นที่กางเต็นท์ จำนวน  50  เต็นท์ ต่อวัน ไว้บริการให้แก่หน่วยงานราชการ-รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา สมาคม-ชมรม และนักท่องเที่ยว เข้าไปพักแรมและเยี่ยมชม   เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ติดต่อเจ้าหน้าที่ีี่ โครงการฯ  หมายเลขโทรศัพท์  080 847 8456 และ 087 661 8594
3. โฮมสเตย์ของชาวบ้าน
นอกจากที่พักของโครงการซึ่งตั้งอยู่ใกล้กะบทะเลสาปแล้ว ในบริเวณทางเข้าปางอุ๋งยังมีที่พักแบบโฮมสเตย์ ซึ่งเป็นของชาวบ้านเปิดให้บริการหลายหลัง
           ในที่สุดเราก็เดินทางออกมาจนบรรจบถนนสายแม่ฮ่องสอน - ปาย จนได้ แล้วการขับรถวนเวียนบนยอดเขาก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง มาแวะพักรถกันที่ปางมะผ้า เพื่อเติมน้ำมัน แล้วก็ออกเดินทางต่อกันทันที มาพักเข้าห้องน้ำบนเข้านะครับ เป็นจุดชมวิวปางมะผ้า มีห้องน้ำและร้านขายของที่ระลึกมากมาย 
ทิวทัศน์มองจากจุดชมวิวปางมะผ้า
ร้านขายของที่ระลึก

ได้เวลาเดินทางต่อ เพราะเป้าหมายของเรา จะไปกินข้าวกลางวันที่อำเภอปาย และต้องไปหาที่พักกันด้วย เพราะไม่ได้จองที่พักไว้ เราจึงรีบเร่งเดินทางเข้าสู่อำเภอปายทันที่ ก็ทำเวลาได้ตามที่กำหนด คือเรามาถึงอำเภอปายตอนเที่ยงพอดี ขั้นแรกก็ต้องหาอะไรใส่ท้องกันก่อน จำได้ว่าเคยเปิดดูในเว็บไซต์ ว่า ร้านส้มตำหน้าอำเภอ เป็นร้านอาหารแนะนำ ซึ่งก็หาไม่ยากเพราะชื่อบอกแล้วว่าอยู่หน้าอำเภอ


ร้านนี้แหละ เขาบอกว่าเป็นเจ้าดังของอำเภอปาย วันที่เราไปเป็นวันราชการแล้วนะครับ คือวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๕ แต่ไปถึงตอนเที่ยงพอดี คนก็แน่น แต่ยังพอมีที่ว่างให้นั่งกันครับ ร้านนี้ไม่ใช่ไปแล้วสั่งกินได้เลยนะครับ ท่านต้องหาที่นั่งให้ได้ก่อน อ้อยังครับ ก่อนเข้าร้านต้องถอดรองเท้าของท่านจอดไว้หน้าร้านก่อน ร้านเขาไม่อนุญาตให้ใส่รงเท้าเข้าในร้านครับ และที่หน้าร้านจะมีคุณยายหุ่นอวบอิ่มนั่งคอยต้อนรับอยู่ แลกคูปองครับ ท่านคิดว่าจะกินสักกี่ร้อยแลกคูปองไปเลยครับ เหลือแลกคืนได้ หลังจากนั้นก็จดรายการอาหารในกระดาษครับ ส่งให้เด็กไป อาหารจะทะยอยมาส่ง พร้อมกับเก็บคูปองตามราคาอาหารครับ มาจานหนึ่งก็เก็บคูปองทีนึ่ง ไม่ต้องไปเสียเวลาเรียกเก็บเงินตอนกินเสร็จครับ คูปองเหลือเท่าไหร่แลกคืน คูปองไม่พอซื้อเพิ่ม สนุกไปอีกแบบ

ประกาศนียบัตรรับรองความอร่อยครับ

อาหารที่สั่งกินกันก็เป็นประเภทอาหารพื้นๆ เช่น ส้มตำปู ไก่ยาง ลาบหมู แล้วก็ไส้กรอกอีสาน (ใครสั่งเนี่ย มาถึงปาย เหนือสุด มาสั่งอาหารอีสาน แต่ก็กินอร่อยดี) กินเสร็จก็ขับรถวนหาที่พัก ด้วยสเป็ค ราคาไม่แพง มีที่จอดรถ ไม่ไกลถนนคนเดิน กว่าจะหาได้เพราะสเป็คมันเข้ากันไม่ค่อยได้ อย่างอื่นจะได้หมด ยกเว้นราคาไม่แพงนี่แหละ  ในที่สุดก็เลยต้องยอมรับราคาแพงนิดนึ่ง มีที่จอดรถ อยู่ไม่ไกลจากถนนคนเดิน ก็ได้ที่ เดอะ ฮาร์ท ออฟ ปาย รีสอร์ท 480 หมู่ 8 ถนนรังสิยานนท์ ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน 58130 อยู่เลย สภ.ปาย ออกไปทางนอกเมืองเล็กน้อย ราคาก็พอได้ คืนละ ๗๐๐ บาท ห้องพัดลม ที่จอดรถสะดวก ไม่มีอาหารเช้า มีกาแฟให้ชงกินเอง (แต่ตอนเช้าน้ำยังไม่ร้อนครับ) ห่างจากถนนคนเดินประมาณ ๒๐๐ เมตร เดินไปกลับได้สะดวก (ราคา ๗๐๐ บาทนี่เป็นราคาที่อยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่นะครับ ท่านที่ไปในช่วงปกติ ได้ราคาถูกกว่า เช่นราคาเริ่มที่ ๕๐๐ บาท ก็อย่ามาเยาะเย้ย ถากถางกันให้ได้อายนะครับ)

บ้านกลับหัวนี่แหละสัญญลักษณ์ของ เดอะ ฮาร์ท ออฟ ปาย รีสอร์ท ตั้งอยู่หน้าประตูเข้าเลยครับ สำหรับที่พัก ก็เป็นแบบสองชั้นครับ เราได้ที่พักชั้นสอง บรรไดขึ้นชันมาก เมามากๆกลิ้งลงบรรไดได้เองเลยครับ

ภาพที่พักครับ

ภายในห้องนอนครับ

เนื่องจากห้องนอนเป็นห้องพัดลม ที่หน้าต่างทั้งสองด้าน ก็เลยติดเป็นมุ้งลวดไว้ให้เปิดกระจกรับลมจากภายนอกได้ ทำให้อากาศเย็นสบายครับไม่ร้อน เพราะตอนกลางคืนอากาศที่ปายจะเย็นสบาย (ช่วงปีใหม่ไม่หนาวครับคนปายบอกไม่รู้เป็นอะไรปีนี้ไม่หนาว)

    ช่วงหัวค่ำ คณะของเราก็เดินออกไปเยี่ยมเยียนถนนคนเดินของปายยามค่ำคืน ซึ่งสำหรับคนที่เคยไม่เดินถนนคนเดินของปายมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน อย่างข้าพเจ้าค่อนข้างจะผิดหวังกับบรรยกาศเล็กน้อย เพราะดูแล้วเสน่ห์ของถนนคนเดินเมืองปายจะเปลี่ยนไป จากบรรยากาศอบอุ่น สบายๆ น่ารักๆ เดินไปทางไหน ก็มีมุทวยๆน่ารัก มีที่นั่งพักผ่อน มีร้ายขายโปสการ์ด ของที่ระลึก มีที่นั่งจิบกาแฟ สบายๆ ไม่วุ่นวาย มาเป็นบรรยากาศของการค้าขายอย่างเต็มตัว มองไปทางไหน ก็มีแต่แผงขายสินค้าที่ระลึก มีแต่นักท่องเที่ยว อย่างว่าแหละครับ บ้านเมืองเปลี่ยนไป ชื่อเสียงของเมืองเปลี่ยนไป การหลั่นไหลของนักท่องเที่ยวเข้ามาที่ปายอย่างมากมาย ทำให้เศรษฐกิจของเมืองต้องเปลี่ยนไปตามยุค ตามสมัย เป็นธรรมดา คณะขอเราเดินตลอดจากหัวถนนถึงปลายถนน เราก็ซื้อซื้อที่ระลึก สตอเบอร์รี่ พุทรานมสด แวะทานอาหารเย็น ประเภทก๋วยเตี๋ยว ข้าวซอย เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงเดินทางกลับเพื่อพักผ่อนที่โรงแรมที่พัก
     เช้าก่อนเดินทางออกจากปาย เราแวะกินโจ๊กสมันไพร ของลุงอะไรสักอย่างในตลาด ก่อนเดินทางข้ามเข้ามาตามเส้นทางปาย-บ้านแม่มาลัย มาลงที่อำเภอแม่แต่ง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนเข้าพักที่จังหวัดเชียงใหม่อีก ๑ คืน ที่เชียงใหม่เราแวะไปนมัสการครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ผู้นำในการบุกเบิกเส้นทางขึ้นดอยสุเทพ แวะไปเยี่ยมสันกำแพง เพื่อหาดูสินค้าพื้นเมือง แล้วก็นอนเอาแรง เตรียมเดินทางกลับ
      เช้าเราแวะไปรำลึกความหลัง ด้วยการไปกินข้าวหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ น้านจันทร์เพ็ญ (ตอนนี้มีชื่อ นิวเติมข้างหน้าด้วย) ด้วยว่าเป็นร้านที่ข้าพเจ้านิยมชมชอบตั้งแต่เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว เกาเหลารวม ข้าวเปล่า อร่อยมาก ก็เลยไปทดสอบรสชาดกันหน่อย หลังจากอิ่มหนำสำราญกันแล้ว การเดินทางก็เริ่มขึ้นอีก เป้าหมายในวันนี้แค่จังหวัดตาก ครับ เราจะแวะค้างที่ตากกันอีกคืน ยังไม่รีบร้อนเข้ากรุงเทพฯ ก็เดินทางเข้าจังหวัดลำปางเป็นด่านแรก แวะพักรถกันที่บ้านทุ่งเกวียน อำเภอห้างฉัตร ครับ ที่นี่สินค้าพื้นเมืองมากมาย ไม่ว่าจะเป็น อาหารการกิน เสื้อผ้า พวกถ้วยชาม แก้ว เซรามิค มีให้เลือกหากัน เรียกว่าเป็นการชอปปิ้งส่งท้ายก็ได้ โดยเฉพาะพวก หนอนและแมลงทอดสดๆใหม่ กินแล้วได้รสชาดดีมาก ลองแวะซิครับ

       เลยศูนย์โอทอป บ้านทุ่งเกวียนมาไม่มาก ก็จะมีศูนย์รวมสินค้าผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว น่าจะชื่อ กะลาพาซ่าส์ นะครับถ้าจำไม่ผิด เป็นที่น่าแวะอึกแห่งหนึ่ง ไม่ซื้อไม่เป็นไรครับ แวะไปดูไอเดีย การนำกะลามะพร้าวมาประยุกต์ทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ น่าสนใจมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีอาชีพในการแนะนำหรือส่งเสริมอาชีพประชาชน ครับ
 ผมชอบหน้ามันมากเลยครับไอ้ตัวนี้นะ น่ารักดี

            หลังจากแวะชมโน่น ชมนี่ ซื้อนั่น ซื้อนี่ตามอารมณ์แล้วคณะของเราก็มุ่งหน้าสู่จังหวัดตาก ครับ โดยเป้าหมายคืนนี้เราจะพักที่ แมกไม้โฮมสเตย์ ซึ่งอยู่ทางแยกจากตากไปทางสุโขทัย ห่างจากทางแยกประมาณสองกิโลเมตร ที่พักมีหลายระดับราคาเริ่มตั้งแต่ ๓๘๐ บาท เป็นต้นไป ภายในที่พัก มีร้านอาหารด้วย สะดวกสบายดีครับ

           วันรุ่งขึ้น คณะของเราก็อำลากันแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา ของใครของใหม่ พร้อมกับการนัดหมาย ว่าถ้าเรายังไหว เราจะนัดหมายกันเดินทางไปเที่ยวกันอีก ส่วนข้าพเข้าก็เดินทางกลับสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อเดินทางกลับมาทำงานต่อ โดยรวมระยะทางที่ตัวเองขับรถทั้งสิ่นประมาณ ๒,๐๐๐ กว่ากิโลเมตร เล็กน้อย แถมด้วยกลับมาถึงบ้าน ก็เป็นหวัดอย่างรุนแรงต้องมานั่งรักษาตัวอีกหลายวัน นี่แหละผลของการไม่เจียมสังขาร แก่แล้วไม่ยอมแก่ ฮ่าๆๆ

 เป็นอันสิ้นสุดการเดินทางครับผม

           


   

2 ความคิดเห็น:

  1. อยากไปจัง แต่กลัวเมารถ กับเมาถนน

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขับเองไม่เมา แต่เมื่อยมากๆ นั่งให้คนอื่นขับ เมาแต่ไม่เมื่อย
      คำขวัญ หลับ + อ๊วก = แม่ฮ่องสอน

      ลบ