วันพุธที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2561

สัมภาษณ์: 'สุทธิพงษ์' อธิบดี สถ. โซ่ข้อกลางเชื่อม 'รัฐบาล-ท้องถิ่น'

สัมภาษณ์: 'สุทธิพงษ์' อธิบดี สถ. โซ่ข้อกลางเชื่อม 'รัฐบาล-ท้องถิ่น'
ประชาชาติธุรกิจ  ฉบับวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๑

          ชื่อของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย อาจยังไม่คุ้นหูสำหรับใครหลายคน เพราะกรมเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ มีอายุเพียง 15 ปี แต่บทบาทหน้าที่กลับทวีความสำคัญทุกขณะ ไม่เพียงรัฐบาลที่หันมาให้ความสำคัญกับท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นเองก็ตระหนักถึงการพัฒนาตนเองอย่างยิ่ง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม
          ประชาชาติธุรกิจ สัมภาษณ์ "สุทธิพงษ์ จุลเจริญ" อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กับคำถามทุกแง่มุม ตั้งแต่บทบาทหน้าที่การทำงาน อุปสรรคที่ต้องเผชิญ และโครงการต่าง ๆ ที่จะผลักดันให้ท้องถิ่นเจริญรุ่งเรือง
          อธิบดี สถ.เปิดฉากว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเกิดขึ้นจากกระแสของประชาธิปไตย มีเป้าหมายสูงสุด คือ ให้คนในชุมชน ในท้องถิ่นมีอิสระที่จะบริหารจัดการตัวเอง ภายใต้หลักคิดที่ว่าท้องถิ่นต้องรู้ความต้องการ ปัญหา และเป้าหมายของพื้นที่ตนเอง มีคำขวัญที่ยืมมาจากยูเอ็นเอฟซีซีซี คือ Change for good  โซ่ข้อกลาง "รัฐบาล-อปท."
          บทบาทของกรม คือ "โซ่ข้อกลาง" ระหว่างท้องถิ่น กับรัฐบาล ไม่เพียงเรื่องกระจายอำนาจเท่านั้น ยังเป็นเรื่องความมั่นคงด้วย ฉะนั้นหน้าที่ของกรมจึงต้องอำนวยความสะดวกให้ท้องถิ่นสามารถทำงานได้คล่องตัวมากที่สุด นำนโยบายจากรัฐบาลกลางไปพูดคุยกับท้องถิ่น ขณะเดียวกันนำปัญหาท้องถิ่นมาคุยกับรัฐบาล ทำให้เกิดการยึดโยงกัน
          "อปท.ไม่ได้อยู่ใต้บังคับบัญชาเรา แต่การทำงานอยู่ภายใต้การกำกับดูแล เป็นเหมือนครอบครัว โดยการทำงานของเราเหมือนเป็นรัฐบาล คือ งานฟังก์ชั่น ของทุกกระทรวง ทบวง กรม ท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมหมด ไม่ว่าจะเป็นถนน การศึกษา เด็ก คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส คนชรา ศิลปวัฒนธรรม โบราณสถาน สิ่งแวดล้อม การทำมาหากิน หรือ สาธารณภัย แต่เมื่อประเทศเรามีทรัพยากรจำกัด กรมจึงต้องช่วยรัฐบาล ในการทำดีมานด์ของท้องถิ่น กับซัพพลาย ของรัฐบาลให้ลงตัว นอกจากนี้ยังมีเรื่อง ของกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ที่ท้องถิ่นอยากให้ปรับแก้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป"
          ส่วนอุปสรรคที่ท้องถิ่นพบ คือ การตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ที่มีอีกมุมมองหนึ่งตามกฎหมาย เช่น คุณกอบกาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวฯ ในขณะนั้น ได้โทร.มาหาบอกว่า สตง.ไม่ยอมให้ อบจ.กระบี่ ภูเก็ต และชลบุรี ไปโรดโชว์ที่งานท่องเที่ยวใหญ่ที่สุดในโลกที่เบอร์ลิน ถูกเรียกเงินคืน เนื่องจาก สตง.บอกว่านี่คือฟังก์ชั่นของกระทรวง เรื่องเหล่านี้ท้องถิ่นเขากลุ้มใจ
          ในฐานะโซ่ข้อกลางได้ประสานไปยัง สตง. ซึ่งกรุณาให้กรมมีโอกาสพูดคุยแบบตัวต่อตัวได้ตลอดเวลา แม้ในเชิงระบบยังแก้ไม่ได้ แต่ได้มีการขยับรับฟังปัญหาแล้ว และอย่าคิดว่าคนนั้นเป็นผู้ร้าย คนนั้นเป็นพระเอก เพราะทุกคนทำตามหน้าที่ด้วยเจตนาที่ดีทุกฝ่าย เพียงแต่ใส่แว่นคนละแว่น
          บุกตลาดประชารัฐ
          เพื่อตอบสนองนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน กรมดำเนินการตลาดประชารัฐท้องถิ่นสุขใจซึ่งเป็น 1 ใน 9 ตลาด มีผู้ที่มาลงทะเบียน 4 หมื่นกว่าราย โดยท้องถิ่นมีตลาดเทศบาลในมือ 4 พันแห่ง ต้องปรับปรุงให้มีมาตรฐานมากขึ้น พร้อมกับจัดหาพื้นที่ใหม่ให้รายใหม่เข้าไป นอกจากนี้ไปจับมือกับเอกชนขอพื้นที่ เช่น เอสซีบีได้เปิดพื้นที่ให้ ล่าสุดกำลังจะเปิดขายที่โฮมโปร เริ่มที่สาขาหัวหินเป็นการนำร่อง เริ่มขาย 30 มกราคม 2560 ถึง 11 กุมภาพันธ์ 2561 นอกจากนี้ยังมีเรื่องท่องเที่ยวเมืองรองกรมพยายามเข้าไปมีบทบาท
          "ตลาดจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี อย่างที่เอสซีบีคนซื้อแฮปปี้มาก รู้ว่าได้ซื้อจากชาวบ้าน ซึ่งตลอดปีกรมเราก็ต้องช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างนี้ ล่าสุดโครงการเทศกาลข้าวใหม่ที่ให้ท้องถิ่นจังหวัดทุกจังหวัดประสานร้านอาหารที่พร้อม ให้นำข้าวที่สีใหม่จากชาวนามาหุงขายให้ลูกค้า กระตุ้นให้คนในสังคมเห็นคุณค่าของข้าวใหม่ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง หอม มียาง และอร่อย ขณะเดียวกันให้ชาวนามีโอกาสขายข้าว และรู้จุดแข็งของตัวเอง เทศกาลนี้เริ่มแล้วตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2560 ไปถึงกลางเดือนมกราคม 2561" ขยะ-การศึกษา วาระแห่งชาติ
          การจัดการขยะ คือ สิ่งที่กรมถูกคาดหวัง ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยออกประกาศ เรื่อง การจัดการมูลฝอย 2560 เนื้อหาสาระ คือ การลดขั้นตอนการเข้ามามีส่วนร่วมของบุคคลภายนอกกับท้องถิ่นที่จะมาลงทุนขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันกรมได้ขอตั้ง "อาสาสมัครท้องถิ่น รักษ์โลก" ตั้งเป้าครอบครัวละ 1 คน สร้างทัศนคติ จิตสำนึก โดยคิกออฟ วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นโครงการมอบของขวัญให้กับแผ่นดินไทย
          ส่วนเรื่องการศึกษา เนื่องจาก สถ.ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 19,500 ศูนย์ มีเด็กในความดูแล 9 แสนกว่าคน และมีโรงเรียนประถม มัธยม อาชีวะ อีกเป็นพันโรง ในเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้เซ็นเอ็มโอยูกับสถาบันอาศรมศิลป์ และโรงเรียนรุ่งอรุณ มาช่วยดูหลักสูตร นอกจากนี้ได้เซ็นเอ็มโอยูกับมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา มาออกแบบสนามเด็กเล่นให้เกิดพัฒนาการในทุกด้าน
          คาดกลางปี'61 เลือกตั้งท้องถิ่น
          ร่างกฎหมายท้องถิ่นขณะนี้มี 2 ชุด คือ ของสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งร่างของกฤษฎีกา อยู่ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีการวบรวม ความคิดเห็นเพื่อนำเสนอรัฐบาล ถ้ารัฐบาล เห็นชอบ ก็จะส่งไปให้สภานิติ บัญญัติ (สนช.) พิจารณา 3 วาระ จะรวดเดียวหรือทีละวาระก็แล้วแต่ จากนั้นก็ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับ ใช้ คาดว่าไม่น่าเกินพฤษภาคม 61 จะแล้วเสร็จ ซึ่งท่านรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ได้บอกว่าถ้ามีกฎหมาย ภายใน 45 วันก็เลือกตั้งได้
          ส่วนเรื่องการควบรวม อบต.นั้น ที่เราเสนอไปให้มี อบต.อยู่ แต่ขอให้ลดจำนวนสมาชิกของ อบต. จากหมู่บ้านละ 2 คน เหลือเพียง 1 คน เท่าที่ฟังเขาก็แฮปปี้ เพราะถ้าควบรวมเป็นเทศบาล จะไม่ใช่หมู่ละ 1 คน แต่ทั้งเทศบาลจะเหลือแค่ 12 คนเท่านั้น และทั้ง 12 คนไม่จำเป็นต้องเป็นคนละหมู่บ้าน สามารถอยู่หมู่เดียวกัน 5 คนได้ แต่ที่เราเสนอให้หมู่บ้านละ 1 คน ถือว่ายังยึดโยงเรื่องเขตการปกครอง ที่สำคัญลดลงไปหมู่บ้านละ 1 คน อบต.จะมีงบฯเพิ่มมาถึงปีละ 4,700 ล้านบาท นำไปทำงบพัฒนาดีกว่าเยอะ
          ทิศทาง สถ.กับคนรุ่นใหม่
          การจัดสอบข้าราชการท้องถิ่นครั้งล่าสุด เป็นครั้งแรกที่กรมได้นำมาจัดเอง โดยมีผู้สมัครสอบ 6-7 แสนคน จากที่ ผ่านมากระจายอำนาจให้ อปท.จัดสอบเอง แต่พบปัญหาทุจริต เรียกเงินทองตามมาอธิบดี สถ. มองว่า เด็กรุ่นใหม่ น่าจะทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น จากการสอบผ่านคู่แข่งหลายแสนคน มั่นใจว่าต้องมีศักยภาพ แต่การ ทำงานต้องเข้าใจบริบทสังคมไทย คือ มีผู้บังคับบัญชา ขณะเดียวกันหน่วยงานก็ต้องไม่ปิดกั้นการนำเสนอ
          ทั้งหมดคือการขยับของท้องถิ่น ที่จะเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น