รายงานพิเศษ: ข่าวเด่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปี'60 |
สยามรัฐ ฉบับประจำวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๐ |
ข่าวเด่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปี'60 มท.1 ชงลดสมาชิก อบต.เหลือหมู่บ้านละ 1 คนชี้ประหยัดงบ 4.7 พันล้านต่อปี 19 ธันวาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่นจำนวน 6 ฉบับ กระทรวงมหาดไทยได้ส่งความเห็นไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นความเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้จะลงสมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ หากกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเสร็จก็จะส่งให้ ครม.พิจารณา ก่อนที่จะเสนอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตามความเห็นของกระทรวงมหาดไทยเสนอไปมีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล(ส.อบต.) จากเดิมกำหนดให้มาจากหมู่บ้านละ 2 คน ทางมหาดไทยได้เสนอให้เหลือหมู่บ้านละ 1 คน เพื่อประหยัดงบประมาณได้ 4.7 พันล้าน แต่ก็อยู่ที่การพิจารณาของ ครม.ว่าจะได้ข้อยุติอย่างไร ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชง "ตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการปกครองท้องถิ่น โดยชุมชนท้องถิ่น" 2 ธันวาคม 2560 ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่ายุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลไม่มีเรื่องของท้องถิ่น การปฏิรูปประเทศก็ไม่มีเรื่องของท้องถิ่นเลย แต่คนท้องถิ่นกลับอยู่เฉยโดยไม่คิดอะไร จึงคิดว่าสมาคมท้องถิ่นต่างๆที่มีอยู่ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการกระจายอำนาจเท่าที่ควร มีการจัดสัมมนากันอย่างต่อเนื่องแต่ก็ไม่ได้เกิดผลอะไรขึ้นมา จึงคิดว่าอยากจะทำให้ส่วนท้องถิ่นมีพลังในการสื่อสารไปยังรัฐบาลบ้างว่าคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องการปฏิรูปประเทศ เพราะที่ผ่านมารู้สึกว่าบทบาทของสมาคมต่างๆของท้องถิ่นนิ่งเกินไป จึงได้มีการเสนอให้มีการจัดตั้ง "สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการปกครองท้องถิ่น โดยชุมชนท้องถิ่น" คู่ขนานไปกับการปฏิรูปประเทศของรัฐบาล ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการต่อต้านรัฐบาล แต่เป็นการทำข้อเสนอต่อรัฐบาลว่าการปฏิรูปประเทศต้องคำนึงถึงท้องถิ่นบ้าง สมาคม อบต.ขานรับปลดล็อกงบท้องถิ่น 1 แสนล้าน ขอเลือกตั้งสุดท้ายหลังได้ข้อสรุปเรื่องควบรวม 22 พฤศจิกายน 2560 ที่ห้องประชุม โรงแรมป่าตองรีสอร์ท อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายวิชัช ไตรรัตน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดการประชุมสัมนา "การเพิ่มบทบาท อปท.ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปการเมือง" ซึ่งสมาคมอบต.แห่งประเทศไทยจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 20 -22 พ.ย. 2560 โดยมี นายชัชวาลล์คงอุดม อดีต ส.ว.กทม. คอลัมนิสต์อาวุโสหนังสือพิมพ์สยามรัฐนายก อบต. ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคม อบต.แห่งประเทศไทยและผู้แทนจากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน โดยในที่ประชุมได้มีการพูดถึง กรณีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุมสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมาที่ จ.สุราษฎร์ธานี ว่า กระทรวงมหาดไทยได้เสนอให้มีการปลดล็อกแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับการใช้เงินของ อบจ.และ อบต.นำเงินของหน่วยงานที่มีอยู่กว่า 1 แสนล้านบาทออกมาใช้ในโครงการที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในระยะยาวได้ เช่น โครงการด้านการท่องเที่ยวในชุมชน โครงการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการปลูกพืชเกษตรแล้วหาตลาดรองรับ เช่น การจำหน่ายในร้านธงฟ้าประชารัฐเป็นต้น โดยจากการแก้ไขระเบียบดังกล่าวในที่ประชุมจึงให้แต่ละ อบต.มีการสำรวจแต่ละพื้นที่ในชุมชนของตัวเองว่ามีความเหมาะสมจะทำโครงการใดได้บ้าง นอกจากนี้ยังให้สำรวจสินค้าชุมชน ซึ่งจะทำสรุปข้อมูลข้อเสนอ เพื่อเสนอไปยังรัฐบาลต่อไป "วิษณุ"เผย คสช.หารือปลดล็อกเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนระดับชาติ 9 พฤศจิกายน 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองามรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กำลังพิจารณาเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นอยู่โดยเลือกตั้งท้องถิ่นมีทั้งระดับอบต. อบจ. เทศบาล กทม.เมืองพัทยา โดย คสช.ดูมาเป็นระยะๆ และได้หารือกับกระทรวงมหาดไทยว่าอาจจะต้องปลดล็อกให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่เป็นแค่บางระดับ ไม่ใช่ทั้งหมด วันนี้ชุดเก่ายังสามารถทำหน้าที่อยู่ได้ ไม่ได้เกิดปัญหาอะไร หลายพื้นที่รายงานมาว่าดี ไม่มีปัญหาอะไร คสช.กำลังคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ แต่ไม่ใช่ว่า จะนึกปลดล็อกแล้วทำได้ทันที เพราะคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งท้องถิ่นเหล่านี้ จะไม่เหมือนคุณสมบัติเก่า รัฐธรรมนูญใหม่ได้เขียนไว้อีกแบบหนึ่งแล้ว ดังนั้นต้องแก้กฎหมายก่อน อีกไม่กี่วันตนจะนัดปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมาหารือว่าจะทำกฎหมายท้องถิ่นให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญอย่างไร แต่คงไม่ต้องแก้หลายมาตรา นอกจากนี้ อาจจะต้องคิดถึงไทม์ไลน์หรือโรดแมปของการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย นี่คือ โจทย์แต่คำตอบยังไม่มี สหพันธ์องค์การข้าราชการและลูกจ้างท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ชง 7 ข้อ เสนอ สถ.แก้ปัญหาให้ท้องถิ่น 18 ตุลาคม 2560 นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากกรณีสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นฯ ร่วมกับ มูลนิธิปลัดอบต.แห่งประเทศไทย สมาคมลูกจ้างประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัด สหพันธ์พนักงานจ้างท้องถิ่นแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เครือข่ายวินัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทยและชมรมพัฒนาชุมชนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ในนาม"สหพันธ์องค์การข้าราชการและลูกจ้างท้องถิ่นแห่งประเทศ ไทย" ได้จัดให้มีเวทีสัมมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความเห็นจากตัวแทนผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และข้าราชการ ส่วนท้องถิ่น ทั่วประเทศ เกี่ยวกับการปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอดีตและปัจจุบัน ในรอบปี 59-60 และข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำและพนักงานจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ และได้รวบรวมสรุป 7 ข้อ เป็นข้อเสนอต่ออธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ สำหรับเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ข้อเท็จจริงกรณีข่าวลือยุบ อบต. 8 กันยายน 2560 มีกระแสข่าวลือว่าท้องถิ่นจะมีการยุบ(ยกฐานะ) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ประมาณ5,334 แห่ง เป็นเทศบาลตำบล และ มีการ "ควบรวม" เทศบาลที่มีขนาดเล็กๆ เหล่านั้นเข้าด้วย เพื่อให้เป็น "เทศบาลที่ใหญ่ขึ้น"ทั้งนี้ด้วยเหตุผลประการเดียวคือ "ประสิทธิภาพของ อปท. ในการจัดบริการสาธารณะ" เพราะข้อเท็จจริงมีว่า เรื่องการ "ปฏิรูปท้องถิ่น" นั้นได้รับการพิจารณาในตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านแล้วอย่างเข้มข้น โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และ สภา ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) แต่ปรากฏว่ากลับ "ไม่มีความชัดเจนคืบหน้า" จึงเป็นที่สงสัยกังขาของฝ่ายผู้มีส่วนได้เสียอีกฝ่าย ที่จ้องตั้งตาเฝ้ารอคอยฟังข่าวคราว หรือข้อสรุปในเรื่องนี้อยู่อย่างใจจดใจจ่อ โดยมีการนำและตีข่าวเผยแพร่ในกลุ่มไลน์ โซเชียลเน็ตเวิร์กปลัด อปท. และในเวลาไล่เลี่ยกันก็เผยแพร่ลงข่าวในเว็บไซต์ไปหลายแห่ง ซึ่งเป็น "ข่าวเก่าการยุบ อบต. การควบรวม อปท." ที่เงียบหายมาตั้งแต่วันที่22 สิงหาคม 2559 นับแต่ "สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ"(สปท.) ได้มีมติเห็นด้วย 163 ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 2 (เข้าประชุม 166) สรุปจึงไม่มีการยุบ ควบรวม หรือตรากฎหมายที่เกี่ยวกับท้องถิ่น หรือการกระจายอำนาจ เพราะกำลังดำเนินการร่างอยู่ ใน สนช. โดยชูประเด็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 249 ว่าต้องฟังเสียงประชาชนและผู้เกี่ยวข้องให้รอบด้านเสียก่อน ตั้ง "สุทธิพงษ์ จุลเจริญ" เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 8 สิงหาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.หญิงทักษดาสังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.อนุมัติแต่งตั้งนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นปลัดกระทรวงเกษตรฯน.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ น.ส.ดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติเป็นรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ นายสุรจิตต์ อินทรชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ เป็นเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นายโอภาส ทองยงค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ เป็นอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางกุลณี อิศดิศัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นายบุณยฤทธิ์กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นอธิ บดีการค้าภายใน นางจันทิรา ยิมเรวัตวิวัฒน์รัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม ผวจ.ยโสธรเป็นรองปลัดกระทรวง นายเกียรติศักดิ์จันทรา วิศวกรใหญ่ กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงนายสมชาย วิทย์ดำรง ผวจ. ฉะเชิงเทรา เป็นผวจ.นครพนมนายสุวิทย์ คำดี ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็น ผวจ. ฉะเชิงเทรา นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นรองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.60 สมาคม อบต.แห่งประเทศไทย ระดมทุนช่วยน้ำท่วมสกลนคร 31 กรกฎาคม 2560 จากกรณีที่พื้นที่ภาคอีสานได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพายุ "เซินกา" โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดสกลนคร ที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดน้ำท่วมขังอย่างหนักในหลายจุด ด้วยเหตุนี้นายวิชัช ไตรรัตน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แห่งประเทศไทย จึงได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ในแต่ละภูมิภาคในการช่วยกันสมทบทุนเพื่อจัดซื้อสิ่งของและอาหารแห้ง ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.สกลนคร ม.44 ฟัน 70 จนท.รัฐ ผู้บริหาร-ขรก.ท้องถิ่น 27 กรกฎาคม 2560 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 35/2560 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 9 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 โดยบัญชีแนบท้ายคำสั่งหัวหน้า คสช. กลุ่มที่ 1 ผู้บริหารสถานศึกษา 1 ราย กลุ่มที่ 2 ข้าราชการพลเรือน 6 ราย กลุ่ม 3 พนักงานอื่นของรัฐ 2 ราย กลุ่ม4 ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 37 ราย กลุ่มที่ 5 ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น24 ราย ตีกรอบสอบปลัด-รองฯ-ผอ.ท้องถิ่น คสช.สั่งประเมินความรู้ทั้งภาคบังคับ-เฉพาะตำแหน่ง หวังสร้างความเข้มแข็ง 7 มิถุนายน 2560 จากกรณีหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 8/2560 กำหนดให้คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น(ก.จ.กท. และ ก.อบต.) เข้ามาทำหน้าที่เกี่ยวกับการสอบแข่งขันการคัดเลือก การสอบคัดเลือก และการโอนข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นเพื่อให้เป็นไปตามระบบคุณธรรมนั้น จากข่าวมีการเผยแพร่ ระเบียบวาระประกอบการประชุม ก.กลาง มีส่วนหนึ่งที่ อ.ก.ท.โครงสร้างได้ออกมา โดยระบุว่า เฉพาะตำแหน่งปลัด ไม่ว่าจะเป็นระดับกลาง/ระดับสูง ไม่จำเป็นต้องทดสอบความรู้พื้นฐาน เฉพาะตำแหน่งระดับสูง ให้ทดสอบสมรรถนะทางการบริหาร ซึ่งเมื่อเทียบกับสายรองปลัด/อำนวยการ ต้องทดสอบความรู้ทางกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องที่ผู้ดำรงตำแหน่งนั่น ดำรงตำแหน่งบริหารอยู่ ที่จำเป็นต้องมีความรู้เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจวินิจฉัยสั่งการพนักงานผู้ใต้บังคับบัญชา คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีจุดมุ่งหวังต้องการให้ข้าราชการท้องถิ่นในสายงานผู้บริหารเป็นผู้ขับเคลื่อน และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ท้องถิ่นในการดำเนินงานให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายจึงจำเป็นอย่างยิ่งผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ปลัด/รองปลัด/ ผอ.จะต้องมีความรู้พื้นฐานด้านกฎหมาย ระเบียบที่เป็นหลักปฏิบัติราชการอย่างถ่องแท้ จึงจำเป็นต้องมีการประเมินความรู้ทั้งภาคบังคับและภาคเฉพาะตำแหน่ง 'วิชัช'นั่งนายกสมาคมอบต.'ธีรศักดิ์'ปัดตำแหน่งเลขาฯมุ่งเป้าขับเคลื่อนพลังท้องถิ่นไท 29 พฤษภาคม 2560 ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แห่งประเทศไทย ได้จัดประชุมเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการบริหารสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย หลังจากชุดเดิมได้ครบวาระ โดยได้ทำการคัดเลือกคณะผู้บริหารสมาคม อบต.แทนชุดเดิมขึ้นมาใหม่จำนวน 30 คนซึ่งผลการเลือกตั้งที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์เลือก นายวิชัชไตรรัตน์ นายก อบต.กะไหล อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ให้ทำหน้าที่นายกสมาคม อบต.แห่งประเทศไทยคนใหม่ โดยไม่มีผู้แข่งขันทั้งนี้ นายวิชัช ไตรรัตน์ นายกสมาคม อบต.แห่งประเทศไทยได้แต่งตั้งนายกัมพล กลั่นเนียม นายก อบต.ตาหลวง อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขาธิการสมาคม อบต.แห่งประเทศไทยแทนนายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ ซึ่งคาดว่านายธีรศักดิ์ ไม่ประสงค์รับตำแหน่งเนื่องจากต้องการไปดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ขับเคลื่อนพรรคพลังท้องถิ่นไท ด้วยเหตุผลจากที่ผ่านมาแนวทางการต่อสู้ของสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย นั้นทำได้เพียงแค่ร้องเรียน ยื่นหนังสือ หรือเข้าร่วมกับคณะต่างๆเพื่อเสนอแนวทางและข้อคิดเห็นเท่านั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีกลไกตัวแทนที่อยู่ในระบบรัฐสภา และระบบการบริหารงานของประเทศ เพราะหากไม่มีกลไกในระบบศูนย์กลางท้องถิ่นและทิศทางกระจายอำนาจจะไม่ส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนและการจัดการตนเองของชุมชน ขรก.ท้องถิ่นยื่นหนังสือร้องนายกฯขอชะลอคำสั่งยกเลิกบัญชีสอบพนักงานส่วนตำบล 19 พฤษภาคม 2560 นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าสมาคมฯได้รับการประสานจากข้าราชการส่วนท้องถิ่นในสังกัดอบจ.เทศบาล และอบต.ในหลายจังหวัด ร้องขอให้นำเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือผู้แทน เพื่อร้องทุกข์ขอความเป็นธรรม กรณี คณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล(ก.อบต.) มีมติเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.59 และวันที่ 27 เม.ย.60 ให้ยกเลิกบัญชีการสอบแข่งขันพนักงานส่วนตำบลซึ่งจัดสอบโดย อบต.ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจำนวน 8 แห่ง เมื่อปี 59 โดยอ้างเหตุผลขั้นตอนการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบและการคัดเลือกข้อสอบไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก.ก.ถ.ชี้ ร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่นขัดเจตนารมณ์การกระจายอำนาจ 5 เมษายน 2560 ที่ห้องประชุมคณะรัฐมนตรีชั้น 2 อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุเครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(ก.ก.ถ.) โดยที่ประชุมได้ให้ข้อสังเกต และไม่เห็นด้วยในร่าง พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายท้องถิ่น ในประเด็น1.การปรับเปลี่ยนสถานะ อปท. (ไม่เห็นด้วยที่จะยกฐานะ อบต. ทั้งหมดเป็นเทศบาล) 2.วิธีและหลักเกณฑ์การควบรวม 3.การกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้บริหาร อปท.4.ความสัมพันธ์ และบทบาท อปท. กับการกระจายอำนาจ โดย ที่ประชุมสรุปความเห็นว่ารัฐไม่ควรบังคับให้มีการควบรวม เนื่องจากอาจขัดร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ..... แต่ควรให้ควบรวมโดยความสมัครใจของ อปท. ในเรื่องการจัดสรรรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรรายได้ให้แก่ อปท.ใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ อปท. ขนาดเล็กกับขนาดกลางและใหญ่โดยให้รัฐเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือ อปท.ขนาดเล็กแทนการควบรวม ซึ่งมติที่ประชุมได้มอบหมายให้นายบุญเลิศ น้อมศิลป์กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่ยกร่าง พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายท้องถิ่น เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป สมาคม อบจ.แห่งประเทศไทยร่วมเสนอกรอบปฏิรูปท้องถิ่น ชงกำหนดอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน 5 เมษายน 2560 ที่ห้องประชุมชั้น 5 อาคารรัฐสภา 3 นายนิพนธ์ บุญญามณี นายก อบจ.สงขลา ในฐานะกรรมการบริหารสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายบุญสิงห์วรินทร์รักษ์ เลขาธิการสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย และนายทนงศักดิ์ ทวีทอง นายก อบจ.สุราษฏร์ธานี เข้าร่วมเสนอความคิดเห็นการปฏิรูปท้องถิ่นในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยมีนายวัลลภ พริ้งพงษ์ประธานอนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น รูปแบบทั่วไป สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เป็นประธานการประชุม โดย นายนิพนธ์บุญญามณี กล่าวว่า สมาคม อบจ.แห่งประเทศไทยได้มีการเสนอให้มีการแก้ไขในประเด็นเรื่องอำนาจหน้าที่ของ อบจ. ให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคไปให้ท้องถิ่นทำต้องมีความชัดเจน เมื่อเรื่องอำนาจหน้าที่ชัดเจนแล้ว ก็ต้องมาคุยกันเรื่องงบประมาณที่จะต้องสอดคล้องกับภารกิจที่มอบให้กับท้องถิ่น ไม่ใช่มอบแต่ภารกิจมากมายแต่ไม่มีการมอบงบประมาณมาให้ด้วย หรือแม้แต่เรื่องงบประมาณที่ส่งผ่านมายังท้องถิ่นก็ควรเป็นภารกิจของท้องถิ่นโดยตรง ส่วนที่เป็นนโยบายจากส่วนกลางหรือภารกิจที่เป็นของกระทรวง หรือกรมต่างๆ ก็ไม่ควรส่งผ่านท้องถิ่น และไม่ควรนับรวมเป็นงบประมาณของท้องถิ่น 3 สมาคมท้องถิ่นร้อง มท.1ค้านควบรวม อปท. 13 ม.ค.60 ที่กระทรวงมหาดไทย 3 สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) นำโดย นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)แห่งประเทศไทย นายบำรุง ปิยนามวานิช นายก อบจ.พังงา ในฐานะประธานสมาพันธ์ อบจ.ภาคใต้ นายประเสริฐ วชิรเขื่อนขันธ์ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย(ส.ท.ท.) นายนภดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แห่งประเทศไทย และนายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ เลขาธิการสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย เดินทางเข้าพบ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการควบรวม อปท.และหารือแนวทางขอยกเลิกระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยมี นายราเชนทร์ คูวงษ์วัฒนาเสรีหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับเรื่องแทน |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2560
รายงานพิเศษ: ข่าวเด่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปี'60
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น