วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

'อบจ.-เทศบาล-อบต.'จับตาเลือกตั้งลุ้นกฎหมายใหม่ปลุกเศรษฐกิจท้องถิ่น-พัฒนาเมือง

'อบจ.-เทศบาล-อบต.'จับตาเลือกตั้งลุ้นกฎหมายใหม่ปลุกเศรษฐกิจท้องถิ่น-พัฒนาเมือง
ประชาชาติธุรกิจ  ฉบับวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

          3 สมาคมองค์กรท้องถิ่น "อบจ.เทศบาล-อบต." เกาะติดขอบเวทีปลดล็อกเลือกตั้ง ลุ้นกฎหมาย 5 ฉบับคลอด ห่วงการตีความคุณสมบัติผู้สมัครป่วน ย้ำท้องถิ่นขนาดเล็กจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจฐานรากทั่วประเทศ
          นายประเสริฐ วชิรเขื่อนขันธ์ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมติดตามเรื่องการเลือกตั้ง ท้องถิ่นมาตลอด และล่าสุดเรื่องปลดล็อกเลือกตั้งท้องถิ่นบางระดับก่อน แต่เท่าที่เห็นปัจจุบันกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับท้องถิ่นยังไม่แล้วเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งส่วนท้องถิ่น กฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการ กระจายอำนาจส่วนท้องถิ่น กฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น กฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ส่วนท้องถิ่น กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น ที่ให้ กกต.เป็นผู้ดูแล ต่างจากเดิมที่ให้ กกต.เป็นผู้จัด ทั้งที่เป็นร่างของ สปท. คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร่างของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
          สิ่งที่ทำได้ขณะนี้ คือ ต้องรอ และปฏิบัติหน้าที่ต่อตามคำสั่งของ คสช.ไปจนกว่ารัฐบาลจะมีความชัดเจน อย่างไรก็ตามอุปสรรคที่ผ่านมา คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเดินหน้าทุกวัน แต่กฎหมายอยู่กับที่ บางครั้งท้องถิ่นมีความคิดริเริ่มที่จะดูแลประชาชน ช่วยรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น รัฐบาลก็บอกให้นำเงินสะสมออกมาใช้ แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครกล้าเอามาใช้ เพราะกฎระเบียบที่ไม่ปลดล็อกในหลาย ๆ เรื่อง พอท้องถิ่นขยับจะทำ แต่ไม่มีกฎหมายมารองรับ ที่สำคัญเรื่องการทุจริตมองว่าต้องตรวจสอบเป็นรายบุคคล ไม่ใช่เหมาท้องถิ่นทั้งหมดว่าไม่ดี
          "ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการควบรวม ควรกระจายให้มีประสิทธิภาพดีกว่า และเท่าที่สังเกตรัฐบาลให้ความสำคัญกับส่วนภูมิภาคมากขึ้น ทำให้บทบาทท้องถิ่นน้อยลง ยิ่งมีการติดตามตรวจสอบเข้มงวดทำให้ท้องถิ่นขยับยาก ความคิดริเริ่มของท้องถิ่นก็ชะงักงัน ดังนั้นการแก้กฎหมายท้องถิ่นครั้งนี้ หากจะให้ท้องถิ่นมีศักยภาพต้องกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ชัด เพื่อการทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ และการตรวจสอบที่ชัดเจน และอีกข้อกังวล คือ รัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติผู้ลงสมัครผู้บริหาร ท้องถิ่นว่าต้องไม่มีพฤติกรรมในทางทุจริต ซึ่งเรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ กกต.ต้อง ตีความ ซึ่งอาจจะเกิดการกลั่นแกล้งกันได้"
          นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถูกมองข้ามและมองไม่เห็นถึงความสำคัญ ทั้ง ๆ ที่เป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เข้าใจและเข้าถึงประชาชนมากที่สุด รัฐบาลอย่าไปเหมารวมว่า ถ้าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว มันไม่ดีไปเสียทั้งหมด อันไหนที่ไม่ดีก็ว่าไปตามเนื้อผ้า อันไหนที่ทุจริต ไม่ดี ก็ว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่อย่าไปเหมายกเข่งว่า มันไม่ดีเสียทั้งหมด อยากบอกไปยังรัฐบาลต่อ ๆ ไปว่า อย่ามองข้ามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องให้ความสำคัญกับองค์กรท้องถิ่น ตามหลักการกระจาย อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วเชื่อว่าเศรษฐกิจ สังคม บ้านเมือง การท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ของประเทศก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน
          ขณะที่รัฐบาลเริ่มออกมาบอกว่าอาจจะมีการขยับเกี่ยวกับเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น ต้องเรียนว่าการออกมาพูดของรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีเพียงการพูดลอย ๆ เท่านั้น เลือกตั้งท้องถิ่นในที่นี้ยังไม่รู้ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน เชื่อว่าแต่ละ ท้องถิ่นนั้นยังมีการรอความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม หากมีการปลดล็อกเลือกตั้งท้องถิ่นก็ดีกว่าอุบไว้เฉย ๆ เพราะเมื่อบ้านเมืองเข้าสู่สภาวะปกติ มีการเลือกตั้งกลับสู่ประชาธิปไตย ก็ส่งผลให้การพัฒนาบ้านเมืองมีความมั่นใจทุกด้าน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว
          ด้านนายนพดล แก้วสุพัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย นายก อบต.อ้อมเกร็ด จ.นนทบุรี กล่าวว่า กฎหมายท้องถิ่นขณะนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าหน้าตาจะออกมาแบบใด แต่ในส่วนของ 3 สมาคมนั้น ได้เข้าไปเป็นคณะทำงานของคณะกรรมการการกระจายอำนาจ ในการร่างกฎหมายท้องถิ่น ที่มีรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม เป็นประธาน ซึ่งโดยหลักการของร่างได้ยึดหลักการกระจาย การบริหารที่ทั่วถึง และพันธกิจที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ซึ่งแตกต่างจากร่างของ สปท.ที่เน้นด้านค่าใช้จ่าย
          นายนพดลกล่าวอีกว่า ยืนยันต้องมีท้องถิ่นขนาดเล็กในการดูแลครบถ้วนทุกครัวเรือน ถึงจะแก้ปัญหาในท้องถิ่น ได้ หากควบรวมพื้นที่ใหญ่ขึ้น การเข้าถึงประชาชนก็ยากขึ้น ขณะที่ท้องถิ่นขนาดเล็กสามารถดูแลเศรษฐกิจ พื้นฐานครบทุกครัวเรือน โดย อบต.คือตัวแทนในพื้นที่ ต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นตัวแทนภาพรวมที่ห่างไกล มองว่าท้องถิ่นขนาดเล็กจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจฐานรากมาก
          "รัฐบาลสามารถใช้ประโยชน์จาก ท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการพัฒนา ทำให้เกิดการจ้างงาน และใช้จ่ายในพื้นที่ เช่น ร้านค้าประชารัฐ ท้องถิ่นก็ช่วยได้ ทั้งหมด 8 พันกว่าแห่งก็ตั้งร้านขึ้นมา ตำบลไหนใหญ่ก็ขยายเป็น 2-3 ร้าน ชาวบ้านจะได้ประโยชน์มาก อีกทั้งเป็นที่แลกเปลี่ยน กระจายสินค้าเกษตร แต่หากควบรวมพื้นที่ใหญ่ชาวบ้านก็เข้า ไม่ถึง อย่างเช่นเรื่องบัตรสวัสดิการที่มีอยู่จำกัด ชาวบ้านก็เข้าถึงยาก ยังมีปัญหาในปัจจุบัน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น