'ตลาดประชารัฐ'ฉบับมหาดไทยจัดให้ |
คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ |
ต้องยอมรับว่านาทีนี้
ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง เงินยังไม่หมุนไปในภาคชนบทหรือชุมชนเมือง
รัฐบาลประยุทธ์ จึงพยายามผลักดันให้มีการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจฐานราก
ภายใต้ยุทธศาสตร์ประชารัฐ โมเดล "ร้านประชารัฐร่วมใจ" ขึ้น โดย
ปตท.ขานรับเรื่องนี้ รวมถึงตลาดประชารัฐออมสิน และตลาดประชารัฐ ธ.ก.ส. สำหรับปีงบประมาณ 2560-2561 รัฐบาลประยุทธ์เปิดโครงการ "ตลาดประชารัฐ" ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัท ประชารักสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และ บริษัท ประชารักสามัคคีวิสาหกิจ (วิสาหกิจ เพื่อสังคม) จำกัด โดยบูรณาการตลาดประชารัฐ ทั้ง 9 ประเภท เพื่อขยายพื้นที่ตลาดเดิมและ เพิ่มพื้นที่ตลาดใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการและเกษตรกรมากขึ้น กระทรวงมหาดไทย ใช้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและอำเภอ เป็นที่รับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตลาดประชารัฐ โดยกระทรวงตั้งใจที่จะเปิดการลงทะเบียนในวันที่ 10-30 พฤศจิกายน เป็นเวลา 20 วัน และตลาดประชารัฐจะเปิดให้ประชาชนได้เข้ามาอุดหนุนผู้ประกอบการและเกษตรกรภายในช่วงวันที่ 12 ธันวาคม เป็นต้นไป "ตลาด" ตามโครงการตลาดประชารัฐ รวม 9 ประเภท มีดังนี้ 1.ตลาดประชารัฐ Green Market ดำเนินการโดย องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย เป็นการขยายพื้นที่ตลาดที่ตลิ่งชัน ตลาดบางคล้า ฉะเชิงเทรา ตลาดลำพูน จำนวน 3 แห่ง เป้าหมายเพิ่มผู้ประกอบการรายใหม่เกษตรกร อาหาร ปลอดภัย กว่า 847 ราย 2.ตลาดประชารัฐคนไทยยิ้มได้ ดำเนินการโดย กรมการพัฒนาชุมชน มีตลาดที่ดำเนินการอยู่แล้ว จำนวน 2,155 แห่ง โดยจะมีการเพิ่มจำนวนวันที่ขาย และจำนวนผู้ประกอบการรายใหม่ด้านเกษตร สินค้าชุมชน โอท็อป หาบเร่ แผงลอย จำนวนประมาณ 21,550 ราย 3.ตลาดประชารัฐท้องถิ่นสุขใจ ดำเนินการโดย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศที่มีตลาดในความรับผิดชอบ จำนวน 3,822 แห่ง โดยการบริหารจัดการพื้นที่ตลาดเดิมให้มีประสิทธิภาพมากเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ด้านเกษตร อาหาร หาบเร่ แผงลอย จำนวน 45,864 ราย เข้าไปค้าขายได้ 4.ตลาดประชารัฐ กทม. คืนความสุข ดำเนินการโดย กรุงเทพมหานคร จำนวน 14 จุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้ประกอบการอาหาร หาบเร่ แผงลอย ที่เดือดร้อนเนื่องจากไม่มีพื้นที่ค้าขาย จำนวน 11,033 ราย 5.ตลาดประชารัฐของดีจังหวัด ดำเนินการโดย จังหวัดและบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด....(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ดำเนินงานจัดพื้นที่ขายสินค้าเกษตรที่ล้นตลาด สินค้าเด่นของจังหวัด เป็นระยะๆ เพื่อระบายสินค้าช่วยเหลือเกษตรกร สินค้าชุมชน อาหาร เพิ่มพื้นที่ให้เกษตรกรที่เดือดร้อน ผู้ประกอบการสินค้าชุมชนทั้งรายเก่าและรายใหม่ๆ ได้มีพื้นที่ระบายสินค้าในที่ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สถานที่ท่องเที่ยว หรือพื้นที่ชุมชนที่มีศักยภาพด้วยตัวเอง ซึ่งจะดำเนินการใน 76 จังหวัด มีผู้ประกอบการใหม่ๆ กว่า จำนวน 15,200 ราย 6.ตลาดประชารัฐ Modern Trade ดำเนินการโดย กระทรวงพาณิชย์ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด และจังหวัดโดยร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าในพื้นที่จังหวัด 76 จังหวัด ทั่วประเทศจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในห้างสรรพสินค้าทั้งแบบถาวร หรือเป็นครั้งคราวในลักษณะการสร้างคุณค่าร่วมกัน (Creating Share Value) ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเกษตร สินค้าชุมชน รายเก่าและรายใหม่มีพื้นที่ค้าขายมากเพิ่มขึ้นกว่า 3,800 ราย 7.ตลาดประชารัฐของดีวิถีชุมชน ธ.ก.ส. ดำเนินการโดย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ได้เปิดพื้นที่ค้าขายอยู่แล้ว 147 แห่งทั่วประเทศหน้าธนาคาร ธ.ก.ส. ซึ่งจะ มีการบริหารจัดการพื้นที่ให้มีผู้ประกอบการ รายใหม่ที่เป็นเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย เข้ามาค้าขายจำนวนกว่า 1,470 ราย 8.ตลาดประชารัฐต้องชม ดำเนินการโดย กระทรวงพาณิชย์ เป็นตลาดที่กระทรวงพาณิชย์เข้าไปส่งเสริมกิจกรรมทางการสร้างแบรนด์ ส่งเสริมการขาย ส่งเสริมการตลาด การประชาสัมพันธ์ในตลาดเดิมเพื่อให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้แก่ชุมชน โดยจะดำเนินการครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด ซึ่งจะมีผู้ประกอบการรายใหม่ได้รับโอกาสเข้าไปค้าขายกว่า 3,080 ราย 9.ตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม ดำเนินการโดย กระทรวงวัฒนธรรม เป็นตลาดที่กระทรวงวัฒนธรรมเข้าไปส่งเสริมการตลาดสินค้าวัฒนธรรม สร้างแบรนด์ ส่งเสริมการขาย การประชาสัมพันธ์ และการจัดแสดงประเพณีวัฒนธรรม ครอบคลุม 76 จังหวัด รวมตลาดทั้ง 9 ประเภท จำนวน 6,447 แห่งทั่วประเทศ ที่จะมาร่วมเปิดพื้นที่ใหม่ ขยายพื้นที่เดิม ให้โอกาสผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่เป็นเกษตรกร สินค้าชุมชน อาหาร หาบเร่ แผงลอย มีโอกาส มีพื้นที่ค้าขาย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง นำไปสู่การพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน รัฐบาลคาดการณ์ว่า เดือนธันวาคมเป็นเดือนของการจับจ่ายใช้สอยของผู้คน จึงคาดหมายว่า จะมีผู้มาอุดหนุนตลาดรัฐประชารัฐทั่วไทยอย่าง อุ่นหนาฝาคั่ง และจะส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจฐานรากช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 'ประชารัฐ' ในนิยามเอ็นจีโอ เบื้องแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขานรับยุทธศาสตร์ "ประชารัฐ" มาจากคลังความคิดของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ว่า "ประชารัฐ" นั้นมีต้นตอมาจากกลุ่มเอ็นจีโอสาย นพ.ประเวศ วะสี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป มือทำงานภาคประชาสังคมสายหมอประเวศเปิดเผยว่า คำว่า "ประชารัฐ" นั้น มาจากท่อนแรกของเพลง ชาติไทย ซึ่งมีใจความว่า "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ไผทของไทย ทุกส่วน อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี..." ดังนั้น "ประชารัฐ" จึงเป็นแนวทางในการสามัคคีรวมพลังของผู้คนในสังคมไทย โดยไม่แยกฝัก แยกฝ่าย และไม่กันใครออกไป อีกทั้งยังเป็นทั้งสำนึกและหน้าที่ที่พี่น้องคนไทยทุกคนจะต้องร่วมมือกันในการปกป้องแผ่นดินแม่จากภยันตรายทั้งปวง และร่วมกันพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติ ให้เจริญก้าวหน้ามั่นคงและยั่งยืน สำหรับ "ประชารัฐ" ตามความหมายอย่างแคบในทางวิชาการหมายถึง การที่ประชาชนและรัฐร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สอดคล้องกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ "สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก" "หมอพลเดช" เชื่อในหลักการทำงาน "ประชารัฐ" ต้องการมีส่วนร่วมโดยใช้กำลังของภาคราชการบวกกับพลังทางสังคม และพลังทางธุรกิจ ขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปไม่ได้ ทุกเรื่องควร มีครบทั้ง 3 องค์ประกอบเสมอ ผลัดกันนำ ผลัดกันตาม "หลักคิดตามแนวทางประชารัฐ คือ ต้องร่วมมือกันทั้ง 3 ส่วน และสร้างการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังทำโครงการ เพื่อเรียนรู้ ถ่วงดุล หนุนเสริม ตรวจสอบซึ่งกันและกัน ทำให้แต่ละฝ่ายระวังไม่ทำเรื่องไม่ดี" ระยะแรกๆ "หมอพลเดช" มีโอกาสเข้าไปเป็นกรรมการระยะตั้งไข่ใน "คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ" ที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และฐาปน สิริวัฒนภักดี เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน โดยร่วมเป็นหนึ่งในกรรมการภาคเอกชนว่า คณะทำงานชุดดังกล่าว แบ่งเป็น 3 ขบวน ขบวนแรกเกิดขึ้นจากเครือข่ายของหมอประเวศ และหมอพลเดช ซึ่งทำงานชุมชนประชาสังคมกับคณะทำงาน สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจที่ก่อตัวขึ้น และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2558 จากนั้นคณะทำงานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประชารัฐชุดนี้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุก 2 เดือน โดยมีหมอประเวศ นั่งหัวโต๊ะประชุม กระทั่งเห็นว่า ขบวนประชารัฐเคลื่อนไปได้ หมอประเวศและหมอพลเดช จึงถอยออกมา |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
'ตลาดประชารัฐ'ฉบับมหาดไทยจัดให้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น