หนุนปลดล็อกเลือกตั้ง'ท้องถิ่น' เชียร์คสช.แยก'อปท.'พ้น'มท.' ชูนายกอบจ.เหมือนผู้ว่าฯกทม. |
มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ |
กรณีนายวิษณุ
เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เชิญกระทรวงมหาดไทย และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
(กรธ.) หารือเพื่อแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น
ในวันที่ 16 พฤศจิกายน ก่อนรวบรวมข้อมูลเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
เพื่อเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่น นั้น นายอุดร ตันติสุนทร ประธานมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า หากรัฐบาล คสช.จัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2561 เชื่อว่าผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ใช้อำนาจรักษาการขณะนี้ อาจจะสอบตกมากกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากประชาชนเริ่มตื่นตัวมากขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้หลายด้าน เห็นได้ชัดเจนว่าการทำหน้าที่รักษาการนานเกินไป ได้ส่งผลกระทบกับแนวทางการพัฒนาประเทศหลายด้าน ที่สำคัญประชาชนในท้องถิ่นที่สัมผัสใกล้ชิดจะทราบดีว่านักการเมืองแต่ละรายมีพฤติกรรมอย่างไร "แนวทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะทำให้ในอนาคตจะมีนักการเมืองท้องถิ่นที่มีคุณภาพมากขึ้น ขณะเดียวกัน คสช.จะต้องให้ความสนใจในการปรับปรุงระบบราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่มีอำนาจทับซ้อนกับท้องถิ่น ดังนั้น ควรแก้ไขอำนาจหน้าที่ของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในปัจจุบันให้เหมือนกับผู้ว่าฯ กทม. ระยะแรกอาจนำร่องให้ประชาชนเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในบางจังหวัดเพื่อใช้ในการประเมินผล น่าจะดีกว่าบางจังหวัดมีการย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด 3 คน ภายในเวลา 4 ปี" นายอุดรกล่าว นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ ที่ปรึกษาสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย อดีต สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ขอให้แยกการเลือกตั้งของการเมืองระดับท้องถิ่นออกจากระดับชาติ อย่ายึดติดกับการครอบงำในรูปแบบเก่าที่อาจสร้างความขัดแย้งให้กับประเทศในอนาคต หลังจากหลายฝ่ายประเมินว่ากรณี คสช.จะเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อประเมินฐานคะแนน ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกัน ประชาชนใช้ดุลพินิจในการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและนักการเมืองระดับชาติแตกต่างกัน สังเกตได้จากภาคใต้ ฐานการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ นายวิจารณ์ กุลชนะรัตน์ ที่ปรึกษานายกสมาคมข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนที่ คสช.จะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ควรกำหนดรูปแบบโครงสร้างของ อปท.ให้ชัดเจน โดยเฉพาะบทบาทในการใช้อำนาจหน้าที่ของนายก อบจ.ไม่ให้ทับซ้อนกับ อปท.ขนาดเล็ก การยุบ อบต.หรือควบรวมกับเทศบาลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตอบสนองการทำงานให้กับประชาชนได้ตามแนวทางปฏิรูปท้องถิ่น นอกจากนั้น คสช.ควรแยก อปท.ออกมาจากการกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทยที่มีอำนาจมากเกินไปในการบริหารราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ขณะที่เจตนารมณ์ของ อปท.คือการกระจายอำนาจให้ประชาชน แต่การทำหน้าที่ของมหาดไทยคือการรวบอำนาจในรูปแบบเก่าที่ล้าหลัง "ที่ต้องปรับเปลี่ยนคือโครงสร้าง อบจ. ระยะแรกควรมีนายกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงเหมือนเดิม สำหรับสมาชิกสภาจังหวัดให้มีนายกเทศมนตรีเข้ามาทำหน้าที่ จากนั้นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งดูแลยุทธศาสตร์การใช้งบประมาณ เมื่อมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่งที่สามารถพึ่งพาตนเองได้จากการเก็บภาษีรายได้ก็ให้พัฒนาเป็นจังหวัดจัดการตนเอง แต่ปัญหาที่อาจจะเปลี่ยนยากเพราะกระทรวงมหาดไทยยังหวงอำนาจ ทำให้พัฒนาการในการกระจายอำนาจในประเทศไทยต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว" นายวิจารณ์กล่าว นายเกรียงไกร กิจประเสริฐ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านแก่ง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า มีประชาชนหลายท้องถิ่นสะท้อนให้ฟังว่า มีผู้บริหารท้องถิ่นที่ทำงานไม่เป็น ผลกระทบตกอยู่ที่ชาวบ้าน บางแห่งที่ไม่มีผู้บริหารท้องถิ่นแต่มีข้าราชการประจำรักษาการก็ไม่สามารถบริหารงานได้อย่างเต็มที่ ไม่เหมือนกับการมีผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้ง "ปัญหาหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจระดับรากหญ้าซบเซา เป็นผลมาจากไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีโครงการใหญ่ลงไปทำ ร้านค้าก็เงียบเหงา ไม่มีการจับจ่ายของประชาชนเท่าที่ควร ต้องยอมรับว่างบประมาณที่กระจายอยู่ในท้องถิ่นเกิดจากการกระจายงบประมาณของท้องถิ่นลงไปสู่ชุมชนในรูปแบบของโครงการ แน่นอนหากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจระดับรากหญ้าฟื้นตัวขึ้นมาอย่างแน่นอน" นายเกรียงไกรกล่าว |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
หนุนปลดล็อกเลือกตั้ง'ท้องถิ่น' เชียร์คสช.แยก'อปท.'พ้น'มท.' ชูนายกอบจ.เหมือนผู้ว่าฯกทม.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น